Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดประชุมแก้ไขปัญหาเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี โดยได้เชิญนายอำเภอหรือ ผู้แทนนายอำเภอ 9 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีพื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี รวมทั้งผู้แทนกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงและคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) พร้อมด้วยผู้นำชุมชนในพื้นที่ ได้ประชุมร่วมกัน


พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาใช้แนวทางการให้ชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นหลักในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ด้วยการให้ชุมชนจัดทำข้อมูล สำรวจพื้นที่ จัดทำแผนที่ทำมือ และแผนที่จีไอเอสมาตราส่วน 1 : 4,000 โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจัดอบรมให้ความรู้ด้านการเก็บข้อมูล การใช้งานคอมพิวเตอร์ และการทำแผนที่


ขณะเดียวกันประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้แก่ นายอำเภอบาเจาะ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้แทนชุมชนเพื่อเป็นการบูรณาการข้อมูลจากฝ่ายราชการ และฝ่ายประชาชน และร่วมกันสำรวจพื้นที่ ชี้แนวเขตพื้นที่ เพื่อให้เกิดการยอมรับข้อมูล และแผนที่จากทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้ข้อมูลทุกอย่างพร้อมแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ออกพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เพื่อนำไปสู่การออกเอกสารสิทธิที่ดินต่อไป


นายพระนาย สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการ ศอ.บต. กล่าวว่า กรณีที่อำเภอบาเจาะถือเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาที่เอาความจริงขึ้นมาพิจารณากัน และศอ.บต.ยืนยันว่า เรื่องนี้ต้องทำ ซึ่งไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาที่ดิน แต่เป็นการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงอย่างยั่งยืน


"เมื่อที่อำเภอบาเจาะทำได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่อีก 8 อำเภอที่เหลือจะทำไม่ได้ ถ้าร่วมมือกันทุกฝ่าย สำหรับจังหวัดนราธิวาสที่มีถึง 7 อำเภอที่ติดเขตอุทยานฯ ผมจะประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเพื่อหาแนวทางต่อไป ส่วนจังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ติดจังหวัดละ 1 อำเภอให้ดำเนินการทันที พร้อมให้รายงานการดำเนินงานภายในวันที่ 11 เมษายน 2551


ผอ.ศอ.บต. กล่าวว่า ส่วนกรณีที่อำเภอบาเจาะ ซึ่งกำลังเตรียมนำเข้าคณะรัฐมนตรีนั้น ตนจะเสนอผ่าน กอ.รมน. เพราะถือว่าเป็นเรื่องความมั่นคง พร้อมทั้งนัดพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยาน เพื่อเสนอให้แก้ไขแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าน่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนเมษายน 2551


ส่วนพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ส่งเจ้าพนักงานที่ดินไปดูพื้นที่จริง พร้อมทั้งนำแผนที่ของกรมที่ดินไปเทียบเคียงกับแผนที่ที่คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินอำเภอบาเจาะได้จัดทำไว้แล้ว หากสามารถออกเอกสารสิทธิได้ให้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป พร้อมให้รายงานผลภายในวันที่ 11 เมษายน 2551


สำหรับการแก้ปัญหาอุทยานแห่งชาติเขาบูโด - สุไหงปาดี ทับที่ชาวบ้านนั้น เนื่องจากคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ของ ศจพ.ซึ่งอยู่ภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เมื่อพ.ศ. 2542 ทับที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส


โดยจากการรวบรวมข้อมูลสามารถแบ่งกลุ่มผู้เดือดร้อนดังนี้ หนึ่งกลุ่มที่มีที่ดินอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าอุทยานแห่งชาติ จำนวน 745 ราย 994 แปลง รวม 4,116 ไร่ ซึ่งไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้เนื่องจากแนวเขตไม่ชัดเจน สองกลุ่มที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งขาติจำนวน 795 ราย 1,108 แปลง รวม 4,942 ไร่ และสามกลุ่มที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 332 แปลง รวม 2,439 ไร่



ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ เจ้าของสวนยางในพื้นที่ไม่สามารถโค่นต้นยางที่หมดอายุแล้วเพื่อปลูกต้นยางรุ่นใหม่ อีกทั้งเนื่องจากแนวเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ชัดเจนส่งผลกระทบต่อเจ้าของที่ดินที่มีที่ดินอยู่ใกล้เคียงแนวเขตป่าอนุรักษ์ที่ไม่สามารถดำเนินการขอให้ทางราชการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net