Skip to main content
sharethis


 


ชุลมุนเล็กน้อยเมื่อคบเพลิงมาถึงซานฟรานฯ


 


เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ไม่พอใจการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมในทิเบต ได้มาชุมนุมประท้วงกันที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นเมืองที่คบเพลิงโอลิมปิกกำลังจะมาถึง แต่ทางด้าน นายชาร์ค รอจจ์ ประธานจัดงานโอลิมปิกกล่าวว่า จะไม่มีการเปลี่ยนเส้นทางการวิ่งคบเพลิงรอบโลกให้สั้นลง แม้จะต้องเผชิญกับการประท้วงก็ตาม


 


ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมกว่าร้อยคนได้มารวมตัวกันกลางถนนที่ซานฟรานซิสโก ก่อนจะมีการวิ่งคบเพลิงผ่าน เพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมในทิเบต โดยผู้ชุมนุมหลายคนถือธงทิเบตและมีการตะโกนประณามจีนด้วย


 


เจ้าหน้าที่ทางการซานฟรานซิสโก เกรงว่าการประท้วงในซานฟรานซิสโก จะเกิดความรุนแรงแบบเดียวกับที่เกิดในลอนดอนและปารีส ขณะที่เจ้าหน้าที่จัดงานโอลิมปิกกลัวว่าจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บในตวามโกลาหลของการประท้วง โดยในช่วงแรกๆ ได้มีเกิดการปะทะตะลุมบอนกันเล็กน้อยระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนจีนและกลุ่มต่อต้านจีน แต่ก็ไม่มีรายงานความรุนแรงในระดับร้ายแรง


 


ผู้วิ่งคบเพลิงได้มาถึงที่หมายในสหรัฐฯ เมื่อเวลา บ่ายโมง 20 นาที ตามเวลาท้องถิ่น (2020 ตามเวลาสากล, 2020 GMT) โดยคบเพลิงในครั้งนี้มาพร้อมกับกองกำลังตำรวจอารักขา ซึ่งมีทั้งผู้คุ้มกันในขบวน, มอเตอร์ไซค์ และถึงขั้นใช้หน่วยสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก แต่ภายในไม่กี่วินาทีถัดมา นักวิ่งคนแรกก็หลบหายเข้าไปในโกดังสินค้าของท่าเรือ เป็นสัญญาณว่าผู้จัดได้เปลี่ยนแปลงแผนการวิ่งคบเพลิงไปจากเดิมแล้ว


 


เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เผยนามผู้หนึ่งบอกว่า "เพราะมีคนพากันมาปิดเส้นทางเดิม พวกเราจึงต้องอาศัยเส้นทางอื่นที่สั้นกว่า" เจ้าหน้าที่ยังกล่าวอีกว่า แม้จะมีเหตุปะทะเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ไม่มีการจับกุมผู้ประท้วง


 


อย่างไรก็ตาม ช่างภาพ AFP รายงานว่ามีจับกุมผู้ประท้วงหนุ่มโปรทิเบตรายหนึ่ง หลังจากที่เกิดการปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนจีน ซึ่งเป็นชาวอเมริกันที่เกิดในจีน รู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นผู้ชุมนุมที่สนับสนุนทิเบตพยายามจะคลี่ธงทิเบตห่างออกไปจากสถานที่ชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนจีนไม่กี่หลา


 


หลายชั่วโมงต่อมา ในทางตะวันตกของจีน กลุ่มลามะชาวทิเบตได้รวมตัวกันเข้ามาขัดขวางเจ้าหน้าที่รัฐที่พาขบวนผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้าไปในเขตพื้นที่ทิเบต โดยกลุ่มลามะดงักล่าวเรียกร้องให้องค์ดาไล ลามะ กลับประเทศ พร้อมทั้งตะโกนว่าพวกเขาไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างมีสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องครั้งนี้มีส่วนทำให้การประท้วงของนักเคลื่อนไหวในประเทศอื่นๆ เกิดปะทุขึ้น


 



 


ริชาร์ด เกียร์และกลุ่มผู้สนับสนุนทิเบตรวมตัวหน้า UN Plaza


 


ในวันเวลาเดียวกัน ขณะที่มีการวิ่งคบเพลิงผ่านซานฟรานซิสโก กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวทิเบตรวมตัวกันที่ลานที่ทำการสหประชาชาติในซานฟรานซิสโก เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนสทธิมนุษยชนและต่อต้านการมาถึงของคบเพลิงโอลิมปิก


 


ในการชุมนุมได้มีการชูธงทิเบตและป้ายมากมาย มีการปล่อยนกพิราบ 50 ตัว เป็นเครื่องหมายแทน 50 ปี ที่ทางการจีนได้เข้ายึดครองทิเบต มีการเริ่มต้นกิจกรรมประท้วงคบเพลิงโอลิมปิกด้วยการวิ่งคบเพลิงเพื่อเสรีภาพของทิเบต ผู้ชุมนุมประสานเสียงร่วมกันว่า "จงปลดปล่อยทิเบตเดี๋ยวนี้" "รัฐบาลจีนต้องออกไปจากทิเบต" ขณะเดียวกันก็มีป้ายเขียนว่า "พวกเราจะลุกขึ้นสู้จนกว่าทิเบตจะเป็นอิสระ" และ "ทางการจีนหยุดสังหารชาวทิเบตได้แล้ว"


 


นอกจากนี้ยังได้มีการเดินขบวนจากลานที่ทำการของสหประชาชาติ ไปยังสถานกงสุลสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนจะกลับมายังลานสหประชาชาติอีกครั้ง


 


มีการจุดเทียนสำหรับพิธีการในช่วงกลางคืนของวันที่ 9 ขณะเดียวกันก็มี เดสมอนด์ ตูตู อาร์คบิชอพแห่งแอฟริกาใต้, ริชาร์ด เกียร์ พระเอกชื่อ รวมถึงผู้นำชาวทิเบตและบุคคลอื่นๆ ได้ขึ้นพูดบนเวที


 


โดยตูตูกล่าวว่า "เราอยากจะบอกกับทางการจีนว่า "โอลิมปิกเกมจะช่วยพัฒนาสิทธิมนุษยชนของคุณได้บ้าง" เรายังหวังเช่นนั้นอยู่ แต่สิ่งที่เราอยากจะบอกกับผู้นำ ประธานาธิบดี จอร์จ บุช ก็คือ "ขอให้ทำเพื่อความดีงามอย่างหนึ่งได้ไหม ขอให้คุณไม่ต้องไปในงานโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งจะได้ไหม ถือว่าทำเพื่อลูกหลานของเรา เพื่อประชาชนที่งดงามของทิเบต อย่าได้ไปเลย!" "


 


ส่วนนักแสดงชื่อดัง ริชาร์ด เกียร์ ได้ขึ้นพูดบนเวทีว่า "ไม่มีทางที่จะเกิดความสามัคคี ไม่มีทางจะเกิดความปรองดองอย่างแท้จริงได้ หากปราศจากความจริงแท้"


 



 


คบเพลิงเปลี่ยนเส้นทาง ผู้คนที่เฝ้ารอต้องผิดหวัง


 


หลังจากที่คบเพลิงได้เปลี่ยนเส้นทางไปแล้ว ก็มีการวิ่งนำคบเพลิงไปยังสนามบินนานาชาติของซานฟรานซิสโก เพื่อปิดพิธีอย่างเป็นทางการสำหรับเมืองนี้ โดยการเปลี่ยนเส้นทางวิ่งกระทันหันทำให้ผู้สนับสนุนโอลิมปิกในครั้งนี้หลายคนรู้สึกผิดหวัง เพราะทำให้พวกเขาพลาดโอกาสจะได้ยลโฉมคบเพลิง


 


นายกเทศมนตรีซานฟรานซิสโก กาวิน นิวซัม ออกมาพูดถึงการตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางในครั้งนี้ว่า "มีผู้ชุมนุมรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก และมันก็มีความไม่แน่ไม่นอนจนเกินจะคาดเดาได้ พวกเราจึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง แล้วมันคงทำให้คนอีกหลายคนพลาดโอกาสสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตไป"


 


"ผมจึงต้องขอโทษมา ณ ที่นี้ด้วย ผมต้องการให้งานในครั้งนี้สมบูรณ์แบบ ผมอยากให้โลกนี้เป็นโลกที่สมบูรณ์แบบ อยากให้เหตุที่เกิดในปารีสไม่ได้เกิดขึ้นจริงตั้งแต่แรก อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นในลอนดอนไม่ได้เกิดขึ้นจริงตั้งแต่แรกด้วย"


 


หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) รายงานว่า ประธานคณะกรรมการโอลิมปิก ชาร์ค รอจจ์ จะงดเส้นทางวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกภายนอกประเทศจีนเพื่อไม่ให้เกิดภาพไม่น่าดูจากการประท้วงอีก แต่ตัว ซาร์ค รอจจ์ ออกมาบอกว่ามันเป็นเรื่องเข้าใจผิด


 


"ผมรู้สึกเศร้า กับการได้เห็นว่า สัญลักษณ์แห่งคบเพลิงอันงดงาม ซึ่งก็คือการรวมผู้คนจากต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติ ต่างระบอบการเมือง ต่างวัฒนธรรมและต่างภาษาให้เป็นหนึ่งเดียว ต้องมาถูกโจมตี" รอจจ์ กล่าว


 


ประธานโอลิมปิกยอมรับวิกฤติ หนุนจีนให้เคลื่อนไหวด้านสิทธิ


 


ชาร์ค รอจจ์ ได้ออกมาบอกในวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า การประท้วงจนคบเพลิงจนทำให้การวิ่งคบเพลิงติดขัดนั้น ทำให้มหกรรมโอลิมปิกครั้งนี้อยู่ในภาวะวิกฤต และขอร้องให้ทางการปักกิ่งออกมาแสดงสัตยาบันในการปรับปรุงเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน


 


ในช่วงที่มีการวิ่งคบเพลิงผ่านซานฟรานซิสโก กำลังตำรวจปราบจลาจลกว่าร้อยนาย ถือโล่และกระบองมาคอยคุ้มกันคบเพลิง ไม่ให้เกิดความโกลาหลแบบเดียวกันที่เกิดในยุโรป รอจจ์ ออกมาเผย เขามั่นใจว่าทางการปักกิ่งยังสามารถเป็นเจ้าภาพที่ประสบความสำเร็จจากการจัดงานครั้งนี้ได้


 


เขาออกมาแนะว่า ผู้นำกีฬาควรทำให้นักกีฬารู้สึกมั่นใจ "บอกพวกเขาว่า ไม่ว่าพวกเขาจะได้เห็นหรือได้ยินอะไรมาก็ตาม งานมหกรรมกีฬาในครั้งนี้จะต้องเป็นงานที่จัดออกมาอย่างดีเยี่ยม บอกพวกเขาว่าพวกเราจะรับมือกับวิกฤติในขณะนี้ให้ได้"


 


รอจจ์ ได้ชี้ให้เห็นในการประชุมแถลงข่าวว่า เจ้าหน้าที่ทางการจีนได้เคยให้สัญญาเมื่อตอนที่ขอเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2008 ว่า หากพวกเขาได้รับอนุญาตเป็นเจ้าภาพ งานมหกรรมกีฬาจะทำให้ "เกิดการพัฒนาวาระทางสังคมของประเทศจีน รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย"


 


"นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าข้อเรียกร้องสำหรับคำมั่นสัญญาในเชิงจริยธรรม มากกว่าคำมั่นสัญญาในเชิงกฏเกณฑ์ แน่นอนว่าพวกเราจะร้องขอให้จีนเคารพในคำมั่นสัญญาเชิงจริยธรรมนี้" รอจจ์กล่าว


 


 


 


ที่มา


 


No plan to cut torch relay as U.S. protesters mass , Emma Graham-Harrison and Benjamin Kang Lim , Reuters , 9/4/2551


Confusion, protests mar US leg of Olympic torch relay , Rob Woollard , AFP , 9/4/2551


Olympic chief admits crisis, urges China to act on rights , Charles Whelan , AFP , 10/4/2551


San Francisco to Chinese government: "Free Tibet!" , Fog City Journal , 9/4/2551


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net