บทความ : "เบี้ยยังชีพ" ที่ทั่วถึงและเพียงพอ เรื่องที่ไม่ได้ยิน แม้ในวันผู้สูงอายุ

หมายเหตุชื่อบทความเดิม : "เบี้ยยังชีพ" ที่ทั่วถึงและเพียงพอ "ความกตัญญู" ที่รัฐไทยควรมอบให้ผู้สูงอายุ

 

 

มุกดา ตฤณชาติ

 

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์การบริหารส่วนตำบลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทบทุกแห่ง คงจัดงานเพื่อแสดงความเคารพ ความกตัญญูต่อผู้สูงอายุ ...ตามประเพณีที่ดีงามของไทย...??? )

 

กิจกรรมหลักๆ ประกอบด้วยกล่าวรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้สูงอายุที่ได้มีส่วนในการสร้างสถาบันครอบครัว พัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติมาจนถึงวันนี้ การรดน้ำให้ผู้สูงอายุและขอพรจากท่าน มีการละเล่น การประกวด และตบท้ายด้วยการมอบของขวัญแด่ผู้สูงอายุซึ่งก็หนีไม่พ้น ผ้าขนหนู ยา มาม่า ปลากระป๋อง หรือของใช้เล็กๆ น้อยๆ และเป็นช่องทางในการทุจริตงบประมาณที่จะลงสู่ผู้สูงอายุ

 

คุณยายท่านหนึ่งซึ่งเข้าร่วมงานวันผู้สูงอายุมาทุกปีที่ทาง อบต.จัด ได้บอกกับผู้เขียน ถึงสิ่งที่ได้รับเป็นของขวัญ และสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการว่า

 

"ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ผู้สูงอายุได้เบี้ยยังชีพกันทุกคน ทุกวันนี้ได้เพียงบางคนเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ และปีที่แล้วก็ไม่ได้ แล้วเบี้ยยังชีพที่ได้รับเดือนละ 300 บาท ก็ไม่พอใช้หรอก แค่ค่ากับข้าวไปวัดทุกวันก็ไม่พอแล้ว ยายอาศัยเก็บขวด เศษกระดาษ เศษพลาสติกขายให้รถที่มารับซื้อ ตอนที่ ส.ส.มาหาเสียง เขาบอกว่ารัฐบาลมีงบจะให้เบี้ยยังชีพเดือนละ 2,000 บาท แต่พอได้เป็นเขาก็เงียบหายไป ถ้าได้เดือนละ 2,000 จริงก็คงจะพอใช้"

 

ผู้เขียนพบว่า เสียงสะท้อนจากผู้สูงอายุเพียงคนเดียวนี้ กลับสอดคล้องอย่างยิ่งกับข้อมูลจากรายงานการศึกษาโครงสร้างและขยายโอกาสการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ (2549) ซึ่งพบว่า ผู้สูงอายุต้องการได้รับการเกื้อหนุน โดยแบ่งตามฐานะของผู้สูงอายุ

 

ทั้งผู้สูงอายุที่มีฐานะดี หรือพอมีกิน และ มีฐานะยากจน ต่างก็ต้องการได้รับการเกื้อหนุนทางการเงินมากที่สุด (64.4 % และ 66.7%) [1]

 

งบประมาณที่ใช้ในการจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และมีรายได้ต่ำกว่าปีละ 10,000 บาท ในอัตราเดือนละ 500 บาท/คนนั้น เป็นงบประมาณจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดสรรผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

ตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แสดงจำนวนผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปี 2550 ประมาณ 1.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25.05 จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งประเทศ 7 ล้านคน [2]

 

จะเห็นว่ามีเพียง 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุเท่านั้นที่ได้รับเบี้ยยังชีพ อีก 3 ใน 4 เป็นผู้ที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาท/ปีเช่นนั้นหรือ คงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในระดับท้องถิ่น งบประมาณจากกระทรวงจัดสรรให้ผู้สูงอายุได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น อบต.ต้องจัดสรรงบประมาณของตนเองเพื่อจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ โดยร่างเป็นข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี ซึ่งอาจจ่ายได้ไม่เท่าอัตราของกระทรวงฯ และส่วนใหญ่แล้วก็ยังไม่สามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง และหมายความว่า ถ้าข้อบัญญัติงบประมาณของ อบต.ไม่ผ่านการพิจารณาจากอำเภอ ความซวยก็จะตกอยู่ที่ผู้สูงอายุที่จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพในปีนั้น ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วกับ อบต.แห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร

 

ถ้าหากพิจารณาดูแนวนโยบายของภาครัฐที่มีต่อสวัสดิการผู้สูงอายุในฐานะบุคคลที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคม เรามีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ ที่ประกาศใช้ในปี 2546 ซึ่งสาระสำคัญน่าจะอยู่ที่มาตรา 11 ผู้สูงอายุ (หมายถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) มีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่างๆ และในมาตราดังกล่าวยังกล่าวถึงการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม [3]

 

คำว่า "เป็นธรรม" หากตีความว่าเท่าเทียมกันทุกคน หรือตีความว่าเพียงพอแก่การยังชีพ การดำเนินงานของภาครัฐที่ผ่านมาก็อาจประเมินได้ว่า ยังไม่บรรลุถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้

 

สังคมอาจยอมรับได้เพราะพระราชบัญญัติเพิ่งประกาศใช้ได้เพียง 5 ปี การเตรียมการด้านงบประมาณ และการบริหารจัดการอาจยังไม่พร้อม แต่ถ้าหากไปดูวิสัยทัศน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ปรากฏคือ... "ที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่สรุปเรื่องการปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตีกลับให้ไปศึกษาและทบทวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใหม่ เผยมีการเสนอแนวทาง"ระบบบำนาญแห่งชาติ" ให้เก็บเงินคนในวัยทำงานเดือนละ 200-300 บาทเป็นเงินออมไปเรื่อยๆ แล้วจ่ายให้ภายหลังเมื่ออายุ 60 ปีหรือเกษียณ" [4]

 

และบทความเรื่อง "เพียง 500 บาทต่อเดือน ทำไมเบี้ยยังชีพคนชรา ถึงสำคัญนัก?" โดย ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ผอ.กลุ่มงานดุลยภาพการเงิน การออม และการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในมติชนรายวัน ก็ฉายให้เห็นจุดยืนและวิธีคิดของรัฐไทยในระบบทุนนิยมได้อย่างชัดเจน "...สิ่งที่สำคัญมากกว่าก็คือความคุ้มค่าของทรัพยากรสาธารณะ โดยหากนำเงินก้อนนี้ ไปใช้ด้านอื่นจะเกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจ และสังคมมากกว่าหรือไม่? เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ต้นทุน และผลประโยชน์ของเบี้ยยังชีพ ซึ่งคิดว่ายังไม่มีใครเคยวิเคราะห์ประเด็นนี้ ด้านของต้นทุนค่อนข้างชัดเจนว่าปีปีหนึ่ง ต้องใช้งบประมาณ หนึ่งหมื่นล้านบาท แต่การวัดผลประโยชน์จะยุ่งยากมากกว่ามาก เพราะมีตัวแปรเชิงคุณภาพจำนวนไม่น้อย ที่ต้องประมาณค่าออกมา เช่น ทำให้ผู้ชรามีสุขภาพแข็งแรงขึ้น อาจสามารถทำงานมีรายได้ได้ด้วย เป็นต้น...ดังนั้น คงต้องศึกษา Cost Benefit ของโครงการนี้อย่างจริงจัง ด้านต้นทุนคงรู้แน่ชัดว่าปีหนึ่งหมดไปหมื่นกว่าล้าน แต่ประโยชน์ที่ได้รับ ทั้งในมิติด้านเศรษฐศาสตร์ และทางสังคมได้เท่าที่คาดไว้หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่เครื่องมือให้นักการเมือง และเครือข่ายหัวคะแนน ใช้ประโยชน์เพื่อหาเสียงโดยใช้เงินภาษีอากรของประชาชน" [5]

 

นั่นคือ แทนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหาแนวทางในระดับนโยบายให้การจัดสรรเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุเป็นไปอย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่ ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้แล้ว ซึ่งแม้แต่ ดร.วโรทัย ก็ยังกล่าวถึงการประชุมร่วมระหว่าง UNESCAP, องค์กรแรงงานโลก (ILO) และ Help Age International (หน่วยงาน NGO ที่ติดตามเรื่องการสนับสนุนผู้สูงอายุ) ว่า "ทุกประเทศที่เข้าร่วมมีความเห็นตรงกันว่า เบี้ยยังชีพมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีพของคนแก่ ..." [6]

 

การณ์กลับเป็นว่า รัฐหาทางหลีกเลี่ยงการแบกรับภาระอันนี้ ด้วยการตั้งคำถามกับสังคมถึงความคุ้มค่าคุ้มทุนในการจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุในลักษณะของเบี้ยยังชีพ รวมทั้งการเสนอ "ระบบบำนาญแห่งชาติ" ซึ่งเป็นระบบการออมเพื่อการชราภาพที่อยู่บนพื้นฐานการช่วยตนเองของประชากรวัยแรงงานเสียก่อน เพื่อลดภาระแก่รัฐและสังคม ทั้งหมดนี้สะท้อนทัศนะและจุดยืนของชนชั้นนำและนายทุนที่ล้าหลัง

 

หากคิดอย่างเป็นธรรม ผู้สูงอายุก็คือคนที่เคยอยู่ในวัยแรงงาน และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในบทบาทต่างๆ กัน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ช่างตัดผม ครู หรือข้าราชการ การคิดถึงความคุ้มทุนเมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยที่ไม่อาจใช้แรงงานได้อย่างเต็มที่ หรือการต้อนพวกเขาเข้าสู่ "ระบบบำนาญแห่งชาติ" โดยที่รัฐปฏิเสธที่จะรับผิดชอบหรือขอแสดงความรับผิดชอบต่อพวกเขาให้น้อยที่สุดนั้น เป็นธรรมแก่ผู้สูงอายุแล้วหรือไม่

 

แล้วในสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างสูงดำรงอยู่อย่างเป็นที่ประจักษ์ชัด คนชั้นล่างจำนวนมากมายมีรายได้ที่ไม่เพียงต่อการยังชีพของตนเองและครอบครัว คนจำนวนมากมายที่เป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน หรือ ธกส. หรือแหล่งอื่นๆ แล้วต้องหมุนหนี้โดยการกู้จากนายทุนนอกระบบมาใช้หนี้ เพื่อที่จะได้กู้ต่อ แล้วนำเงินที่กู้ใหม่ไปคืนนายทุนนอกระบบ เช่นนี้แล้ว รัฐยังหวังว่าพวกเขาจะนำเงินที่ไหนมาออมเพื่อการชราภาพทุกเดือน

 

รัฐยังคิดที่จะให้ผู้ที่มีรายได้น้อยไม่คุ้มหยาดเหงื่อแรงงาน ต้องเก็บออมทีละน้อยๆ และเข้าสู่วัยผู้สูงอายุด้วยเงินออมก้อนน้อยๆ ของตนเอง โดยไม่คิดที่จะเฉลี่ยทรัพยากรจากกลุ่มคนที่มั่งคั่งกว่าไปสู่กลุ่มคนที่ด้อยโอกาสกว่าเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันเลยหรือ

 

ทางออกต่อประเด็นปัญหานี้เห็นได้ชัดอยู่แล้ว คือการจัดสรรเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุทุกคน โดยไม่ต้องพิจารณาหรือพิสูจน์ว่ายากจน และให้เพียงพอแก่การยังชีพ โดยการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การจัดเก็บภาษีที่จะสามารถเฉลี่ยทรัพยากรมาจากคนรวย และการหักเงินสมทบตามสัดส่วนของรายได้ เป็นต้น มาเป็นงบประมาณที่ใช้ในการจัดสรร ทั้งนี้อยู่ที่คนในสังคมจะเลือกจุดยืนเช่นนี้ไหม และจะออกแรงผลักต่อรัฐอย่างไร

 

การรำลึกถึงพระคุณของผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมดังเช่นผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้เป็นคุณธรรมในสังคม แต่การแสดงออกตามประเพณีในโอกาสหรือวาระหนึ่งๆ เท่านั้น โดยไม่ได้เกิดการตอบแทนอันสมควรแก่คุณประโยชน์ อาจจะเป็นการสูญเปล่าเกินไป การคิดถึงการตอบแทนผู้สูงอายุที่ไม่ใช่ในฐานะปัจเจกบุคคลโดยการช่วยกันผลักดันระบบสวัสดิการในลักษณะของเบี้ยยังชีพอย่างทั่วถึงน่าจะได้ประโยชน์และตรงกับความต้องการของผู้รับมากกว่า

 

 

 

อ้างอิง

[1]รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2549 หน้า 115

[2] "เพียง 500 บาทต่อเดือน ทำไมเบี้ยยังชีพคนชรา ถึงสำคัญนัก?" โดย ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล

[3]พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546

[4] MCOT.NET

[5],[6] "เพียง 500 บาทต่อเดือน ทำไมเบี้ยยังชีพคนชรา ถึงสำคัญนัก?" โดย ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท