Skip to main content
sharethis


กฎหมายสูงสุดที่ทำหน้าที่เพียงแค่แก้แค้นนี้มันใช้ปกครองประเทศไหนบนโลกนี้ไม่ได้


กฎหมายสูงสุดจะต้องเป็นของปวงชนชาวไทยในระบอบประชาธิปไตย


 



แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขทั้งฉบับ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน


ภาพอนาคตที่ผมมองเห็นก็คือว่า มันจะเกิดความขัดแย้งแน่นอน


แล้วถ้ามีรัฐบาลชุดอื่นขึ้นมาที่ไม่ได้เป็นฝ่ายของพลังประชาชนก็จะมีการแก้ไขอีก


วงจรการแก้แค้นก็จะไม่มีจุดจบ


 



ควรจะให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยใช้กระบวนการหรือกลไกเช่นเดียวกับฉบับปี 2540


คือการทำประชาพิจารณ์ แล้วหลังจากที่ประชาชนทำประชาพิจารณ์แล้ว


รัฐธรรมนูญถูกร่างเสร็จเรียบร้อย ก็ควรมีการลงประชามติ 


 



การมองรัฐธรรมนูญ จะต้องมองในลักษณะที่มันเป็นสหสัมพันธ์ เป็นเชิงบริบท


คุณจะไปแก้ไขบางส่วนไม่ได้ มันมีความเกี่ยวโยงสอดคล้องกันอยู่


 



เราจะต้องออกแบบรัฐธรรมนูญขึ้นมาฉบับหนึ่งที่ให้ฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ


มันคานอำนาจซึ่งกันและกันให้เกิดดุลภาพ พร้อมกันนั้นต้องส่งเสริมเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน


 



ผมถามว่าพรรคพลังประชาชนใครเป็นตัวแทนกลุ่มผู้หญิง ใครเป็นตัวแทนแรงงาน


ใครเป็นตัวแทนกลุ่มคนจนในภาคอีสาน...ปรากฏว่าคุณจะหาไม่พบ


แล้วคุณบอกว่าเป็น "ผู้แทนของปวงชน" มันเป็นการพูดแบบนามธรรม ทุกพรรคการเมืองก็พูดแบบนี้ 


 


o o o o



 


หลังจากได้คลายร้อนจากเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว แต่สถานการณ์ทางการเมืองก็ยังคงมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ล่าสุด, เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา รายการ "มองคนละมุม" ของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน FM.100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย นายมาณพ คีรีภูวดล ผู้ดำเนินรายการ ได้สัมภาษณ์ "รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม" อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ถึงประเด็นกรณีที่ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายรัฐบาลที่มีแนวทางจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งเกิดกระแสทั้งต่อต้านและสนับสนุน


 


รศ.สมเกียรติ ได้นำเสนอทางเลือกที่ 3 ให้แก้ไข รธน.ทั้งฉบับโดยใช้กลไกเช่นเดียวกับฉบับ 2540 คือมี สสร.ที่มาจากประชาชน มีการทำประชาพิจารณ์และการลงประชามติ พร้อมเสนอให้รัฐเจียดงบเพื่อร่าง รธน.ฉบับคู่ขนานโดยประชาชนอย่างแท้จริง แล้วนำมาเปรียบเทียบกับร่าง รธน.ฉบับรัฐบาล ก่อนให้ประชาชนลงประชามติเลือกฉบับใดฉบับหนึ่ง เพื่อตัดวงจรการแก้แค้น


 


o o o o


 


มีเหตุผลสมควรมากน้อยเพียงใดที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จะนำไปสู่การแก้ไขในครั้งนี้


ในส่วนตัวผมคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับแก้แค้น บางคนเรียกว่าเป็นฉบับอำมาตยาธิปไตย บ้างก็เรียกว่าฉบับอุบาทวาธิปไตยมากกว่า เพราะว่าอำนาจทั้ง 3 อำนาจ คือ ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่เคยคานอำนาจกันโดยครรลองของประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันนี้มันเกิดความสับสน อำนาจฝ่ายตุลาการค้อนข้างมีอำนาจสูง นี่คืออันตรายที่นำอำนาจของตุลาการ อาจจะทำให้ขาดความน่าาเชื่อถือของฝ่ายตุลาการก็เป็นได้


 


รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นมาหลังจากที่ คปค.(คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) กระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยกลไกทางคณิตศาสตร์แบบ "มีชัย ฤชุพันธ์" เราก็ได้ 30 อรหันต์ มาร่างรัฐธรรมนูญ  และในระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ข่าวที่ออกมาเสมอๆ ก็คือ ความพยายามที่จะกำจัดหรือควบคุมอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราย้อนกลับไปก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็คือ พรรคไทยรักไทยนั้นเอง จนในที่สุดก็มาออกผลโดยการยุบพรรคไทยรักไทยในที่สุด 


 


ผมบอกบริบทในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมานี้ รัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้นมาจากบริบททางการเมืองในลักษณะนี้  แล้วผลที่ออกมาก็คือว่า ถ้าคุณเพ่งเล็งที่จะกำจัดฝ่ายตรงข้ามโดยผ่านกฎหมายสูงสุดอันนี้ มันไม่ได้เป็นประโยชน์ที่แท้จริงกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยเลย ดังนั้น จึงมีใครบางคนเรียกว่า "รัฐธรรมนูญฉบับแก้แค้น"


 


ทีนี้ หากถามว่าเราควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ผมไม่ได้เสนอแค่แก้ไข และว่าควรจะมีการร่างใหม่เลย เพราะว่ากฎหมายสูงสุดที่ทำหน้าที่เพียงแค่แก้แค้นนี้มันใช้ปกครองประเทศไหนบนโลกนี้ไม่ได้  กฎหมายสูงสุดจะต้องเป็นของปวงชนชาวไทยในระบอบประชาธิปไตย


 


แล้วฝ่ายที่ต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด


ผมอยากให้มองยาวๆ นิดหนึ่งนะครับว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้จะถูกแก้ไขโดยรัฐบาลตั้งแต่ต้นๆ แล้ว โดยระบุไปค่อนข้างชัดเจนว่าจะแก้มาตรา 237 หรือบางมาตราที่ไปกระทบต่อผลประโยชน์ของ ส.ส.เป็นที่ตั้ง 


 


เมื่อมีเสียงเรียกร้องของนักวิชาการที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ที่มีการให้แก้ไขทั้งฉบับ รัฐบาลก็ฟังเสียงของประชาชนและนักวิชาการในกลุ่มนี้ ก็เกิดเหตุการณ์ที่ตอนนี้พยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทั้งฉบับแล้ว  ทีนี้รายละเอียดขึ้นอยู่กับว่าจะแก้ไขโดยใครเป็นคนแก้ แต่ที่เราฟังข่าวหรือว่าติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองโดยใกล้ชิด เราก็จะเห็นว่า รัฐบาลต้องการที่จะให้รัฐบาลนี้เป็นคนแก้รัฐธรรมนูญ ผมมองว่ามันจะเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ทางตันที่เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งพรรคฝ่ายตรงข้ามก็ไม่พอใจอีก โดยพรรคประชาธิปัตย์ก็มีการส่งสัญญาณมาแล้วว่า ไม่พอใจที่จะให้มีการแก้ไขโดยพรรคพลังประชาชน 


 


ย้อนไปที่ท่านสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ท่านกล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้  เพราะว่าเป็นตัวแทนของประชาชน แล้วนักข่าวก็ถามต่อไปว่า เมื่อแก้ไขเสร็จแล้วจะมีการลงประชามติหรือไม่ นายกฯ สมัครบอกว่า จะไม่มีการลงประชามติเพราะว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณกว่า 2 พันล้านบาท และในขณะที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคพลังประชาชนก็จะไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายค้านด้วย


 


ผมคิดว่าภาพที่เห็นได้ชัดเจนก็คือว่า เราจะได้ "เผด็จการรัฐสภา" กลับคืนมาอีกครั้ง ถ้าทำอย่างนี้และพูดอย่างนี้ ฉะนั้น จริงๆ แล้ว แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขทั้งฉบับ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน ภาพอนาคตที่ผมมองเห็นก็คือว่า มันจะเกิดความขัดแย้งแน่นอน แล้วถ้ามีรัฐบาลชุดอื่นขึ้นมาที่ไม่ได้เป็นฝ่ายของพลังประชาชนก็จะมีการแก้ไขอีก วงจรการแก้แค้นก็จะไม่มีจุดจบ อย่างนี้ไม่ใช่เป็นกฎหมายสูงสุดของปวงชนชาวไทยครับ แต่เป็นแค่กลไกหรือเครื่องมือทางการเมืองในการสยบฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแบบนี้มันไม่ใช่ภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น


 


ข้อเสนอของผมก็คือว่า ควรจะให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยใช้กระบวนการหรือกลไก  เช่นเดียวกับฉบับปี 2540  คือการทำประชาพิจารณ์ แล้วหลังจากที่ประชาชนทำประชาพิจารณ์แล้วก็รัฐธรรมนูญถูกร่างเสร็จเรียบร้อยก็ควรมีการลงประชามติ  อันนี้คือข้อเสนออันที่หนึ่ง 


 


อีกข้อหนึ่งก็คือ หากนายกสมัครยังยืนยันว่าผู้แทนราษฎร ปัจจุบันเป็นเสียงตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงและจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผมก็ขอเสนอว่าเราควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับคู่ขนาน โดยที่ฉบับหลังนี้ให้รัฐบาลให้งบประมาณกับประชาชนเพื่อที่จะทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศแล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นมาเป็นคู่ฉบับ เรียกว่ามีรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างมานี้ 2 ฉบับ โดยฝ่ายรัฐบาล 1 ฉบับ และฝ่ายประชาชน 1 ฉบับ เราก็จะเห็นรัฐธรรมนูญที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ว่าฉบับไหนเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็คือว่าให้มีการลงประชามติให้ประชาชนเลือกฉบับใดฉบับหนึ่ง เป็นฉบับที่ใช้ในการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยต่อไป ผมคิดว่าอย่างนี้แหละถึงจะสิ้นสุด ทำให้รัฐธรรมนูญเกิดฉันทามติหรือยอมรับร่วมกันในสังคมโดยว่าฉบับที่ได้รับการลงประชามติเป็นฉบับของประชาชนอย่างแท้จริง ผมคิดว่าจะตัดวงจรการแก้แค้นอะไรต่างๆ ลงได้


 


มีความเห็นอย่างไรกับกรณีที่ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ออกมาบอกว่า จะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาเป็นหลักและมาเปลี่ยนแปลงบางมาตรา


คือการมองรัฐธรรมนูญ จะต้องมองในลักษณะที่มันเป็นสหสัมพันธ์ เป็นเชิงบริบท คุณจะไปแก้ไขบางส่วนไม่ได้ มันมีความเกี่ยวโยงสอดคล้องกันอยู่ รัฐธรรมนูญทั้งฉบับคุณจะแก้เพียงแค่บางส่วนนั้น ถ้ามันเป็นส่วนหนึ่งที่สอดคล้องกับบริบทเดิม อันนี้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าแก้ไขแล้วไปขัดแย้งหรือขาดความสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่กะโผลกกะเผลก


 


เท่าที่ผมเห็นก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่มีคุณสมบัติพอที่จะใช้ปกครองประเทศ เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมันแฝงอยู่ไว้หลายมาตราจะมาโผล่ชัดเจนที่ มาตรา 309 ก็จะเห็นว่ามันเป็นกฎหมายสูงสุดไม่ได้


 


ในความหมายของกฎหมายสูงสุด ในหลักการนั้นต้องเป็นเช่นใดบ้าง


คือต้องเริ่มจากการดำเนินการที่ถูกต้องก่อน หลักการที่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตยก็คือมีเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพของพลเมือง เสรีภาพทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ อันนี้เป็นที่ตั้ง กลไกต่างๆ ต้องมาตอบสนองต่อเสรีภาพแบบนี้ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ


 


แต่ผมมามองรัฐธรรมนูญปี 2550 คุณจะเห็นว่าการพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าจะเอามาจากฉบับปี 2540 ก็ตามนี้ ในมาตราที่40 กว่าๆ ยังมีเขียนว่าทั้งนี้แล้วแต่กฎหมายกำหนด อยู่ในการใช้สิทธิในการถอดถอนหรืออะไรก็ตามแต่ ยังมีอยู่หลายอันที่มันถูกซ้อนเอาไว้


 


ดังนั้น จริงๆ แล้ว ก็คือสิทธิเสรีภาพที่บอกว่ามาจาก ปี 2540 มันยังมีบางอย่างที่มันติดๆ ขัดๆ อยู่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอำนาจฝ่ายบริหาร ไม่ให้เขามีอำนาจมากพอในการบริหารหรือในการปกครอง  อันนี้เป็นกลไกที่ทำให้เขาเป็นง่อย ทำยังไงที่เราจะต้องออกแบบรัฐธรรมนูญขึ้นมาฉบับหนึ่งที่ให้ฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติมันคานอำนาจซึ่งกันและกันให้เกิดดุลภาพ พร้อมกันนั้นต้องส่งเสริมเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน


 


ในส่วนของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีหลักการอย่างไร


จะต้องยึดหลักของมันคือว่า ในหลักของกระบวนการ ผมอยากให้ใช้กระบวนการประชาพิจารณ์แบบปี 2540 และตามด้วยการลงประชามติ ในส่วนของเนื้อหาหลักการใหญ่ๆ ก็คือว่า เราต้องร่างรัฐธรรมนูญที่เท่าทันสังคมโลกก็คือโลกาภิวัตน์ เราจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบนี้อย่างไร ในขณะเดียวกันควรให้ความสำคัญในการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างไร เราต้องปฏิบัติ 


 


จริงๆ ก็คือว่ามองบริบทสังคมโลกผ่านมุมมองโลกาภิวัฒน์ อันนี้คือสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญต่อไปในอนาคต แน่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีกลไกอย่างไร ในการที่จะตอบสนองต่อบริบทของสังคมโลก และในทางปฏิบัติในสังคมไทยเราจะทำมันอย่างไร เพื่อที่จะให้ประชาชนทั้งหลายอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสังคมโลกนี้


 


โลกปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ความทันสมัย ความเท่าทันของกฎหมายสูงสุดของประเทศต้องมีความละเอียดมากด้วยใช่หรือไม่


ผมเห็นด้วยนะ ในบริบทสังคมโลกนั้น เราจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันเราอยู่ใต้โลกาภิวัตน์จากข้างบนไม่ใช่โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะตอบสนองอย่างไรกับประชาธิปไตยหรือโลกาภิวัตน์จากข้างล่างด้วย 


 


กล่าวให้เห็นชัดเจนคือว่า โลกาภิวัตน์นี้มันมีโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่อยู่ภายใต้การนำของอเมริกา ยุโรป และกลุ่มประเทศ จี8 ดังนั้น ทำอย่างไรที่เราจะต้องสามารถตอบโต้โลกาภิวัตน์จากข้างบนเหล่านี้ได้ มิใช่เดินตามโลกาภิวัฒน์จากข้างบนแบบเฉื่อยๆ  คือเราต้องมองสิ่งเหล่านี้แบบที่จะสามารถตอบสนองหรือตอบโต้มันได้อย่างเท่าทัน แล้วทำให้ประชาชนของเราส่วนใหญ่อยู่รอด


 


กระบวนการที่ชัดเจนในการร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นอย่างไร


ผมเสนอว่ามันต้องมี สสร.(สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) สมัยปี 2540 มาได้จากการที่คุณถูกเลือกจากองค์กรของคุณก็ได้ เช่น คุณเป็นองค์กรเกี่ยวกับแรงงาน กลุ่มอาชีพต่างๆ เป็นต้น  แต่สำหรับฉบับใหม่นี้คือว่า ถ้าคุณสนใจจะร่างรัฐธรรมนูญคุณสมัครเองก็ได้ เข้ามาแล้วก็หลังจากนั้นก็ต้องมีการจัดสรร หรือว่ามีการเลือกสรรกันอีกทีว่าใครจะเป็นตัวแทน สสร. บทบาทมันต่างกันตรงนี้ ก็คือตัวแทนที่เป็น สสร.นี้จะทำงานในฝ่ายที่เป็นการค้นคว้าในรัฐธรรมนูญทั่วโลกว่าเป็นอย่างไร 


 


อันที่สอง ก็คือว่า สสร.จะต้องติดตามสถานการณ์โลก อันที่สาม ก็คือว่า สสร.ที่ทำหน้าที่ประชาพิจารณ์  คุณต้องลงพื้นที่ เรามี 76 จังหวัด คุณต้องลงพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด ทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องนำมาประกอบกัน แล้วถูกร่างโดยนักกฎหมายมหาชน ร่างขึ้นมาเป็นมาตรา หลังจากนั้นก็ทำการลงประชามติ อันนี้ก็คือกลไกหรือเทคนิคทั้งหมดที่ผมเสนอ


 


อาจารย์ช่วยอธิบายถึงกลุ่มตัวแทนหรือผู้สนใจที่จะสมัครเป็น สสร. แบบนี้ด้วย?


อันนี้คือตัวแทนที่แท้จริงนะครับ ทุกวันนี้ที่เราไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง เราหย่อนบัตรเพราะว่านโยบายของพรรคการเมืองบางพรรค พูดง่ายๆ ก็คือ นโยบายแบบประชานิยม มันขายได้ เราซื้อก็คือบัตรเลือกตั้ง เราไม่ได้ใช้ธนบัตรซื้อ เราซื้อก็โดยไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง วันเดียวจบ หลังจากนั้นเราก็ถอนตัวออกมาจากเรื่องของการบริหาร เพราะเรามีตัวแทนแล้ว ซึ่งผมมองคนละด้าน อันนี้เป็นกลไกหรือวิธีการทางการเมือง ซึ่งมีผู้แทนซึ่งเป็นกลไกแบบประชาธิปไตยแบบเก่า โลกใบเก่าคือการที่มีประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน  ปัจจุบันโลกใบใหม่คือการมีประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยทางตรงมันเริ่มตั้งแต่วิธีการที่ผมเสนอ คือการคัดสรร สสร.เพื่อที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมาจากกลไกที่เป็นตัวแทนอย่างแท้จริง


 


นายสมัคร สุนทรเวช บอกว่า เราเป็นตัวแทนของประชาชน ทำไมเราจะร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ผมถามว่าพรรคพลังประชาชนใครเป็นตัวแทนกลุ่มผู้หญิง ใครเป็นตัวแทนแรงงาน ใครเป็นตัวแทนกลุ่มคนจนในภาคอีสาน ผมถามสิว่าในพรรคพลังประชาชนใครเป็นตัวแทนของกลุ่มดังกล่าวที่ผมกล่าวไป ปรากฏว่าคุณจะหาไม่พบ แล้วคุณบอกว่าเป็นผู้แทนของปวงชนมันเป็นการพูดแบบนามธรรม ทุกพรรคการเมืองก็พูดแบบนี้ 


 


ประชาชนถ้าเปรียบให้เป็นอุปมาอุปมัยก็เป็นเหมือนสระน้ำขนาดใหญ่ คุณจะพูดถึงการปาก้อนหินลงสระน้ำยังไงมันก็ลงที่สระน้ำอยู่ดี แต่ไม่ใช่ ผมถามเลยว่าใครเป็นตัวแทนกลุ่มเกย์ในพรรคพลังประชาชน คนไหนบอกผมมาเลย ชื่ออะไร หรือผู้แทนสวนยาง แบบนี้คือคนไหน ที่ดูแลสวนยางมาโดยตลอด ไม่มีครับ ในสังคมไทยไม่มีแบบนั้น ไม่มีการต่อสู้เพื่อประชาชนมาในระยะยาว...ไม่มีครับ เราเลือกตั้งทุกครั้ง เราเลือกตั้งผ่านนโยบาย เราไม่เคยมีตัวแทนแบบนี้ครับ


 


ช่วยอธิบายความหมาย "ประชาธิปไตยโดยตรง" ในการที่ตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ เข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญในกระแสโลกาภิวัตน์เช่นนี้เป็นอย่างไร


ประชาธิปไตยโดยตรงมีเงื่อนไขอยู่ 3 ประการ ถ้าคุณไม่ทำตามเงื่อนไขนี้จะไม่เป็นประชาธิปไตยทางตรง คือ 1.คุณจะต้องมีพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ได้อย่างอิสระ  2. จะต้องมีการปรึกษาหารือ คือหมายความว่ามีการพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนอะไรก็ตามแต่  3. ต้องมีฉันทามติ ก็คือต้องมีการเลือกในสิ่งที่เป็นผลมาจากข้อ 2 เพื่อให้เกิดเป็นฉันทามติ ถ้าไม่มีข้อที่ 3 คุณจะมีคำตอบ


 


ข้อเสนอของอาจารย์น่าจะทำให้เกิดการสร้างรากฐานประชาธิปไตยที่ดี แต่การกระทำสิ่งใดสิ่งนั้นก็ต้องใช้งบประมาณ แล้วจะทำอย่างไรให้เป็นจริง


ก็คือจะต้องผ่านงบประมาณ รัฐบาลจะต้องให้เงินจำนวนหนึ่งให้เกิดกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ที่จะทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับคู่ขนานฉบับนี้ มันไม่มีหนทางอื่นในขณะนี้ในเรื่องของงบประมาณ 


 


คือผมตอบคำถามนี้ทันทีไม่ได้ว่ามีงบทางใดที่ผมมองเห็น ก็คือ ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาลเพื่อร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนานขึ้นมา แล้วเราก็ใช้ส่วนนี้ให้คุ้มค่า โดยให้ สสร.ที่ทำหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่ายนี้ทำหน้าที่ให้ถึงที่สุด ในเรื่องระยะเวลานั้น ถ้าคุณลงพื้นที่ทั้งหมดต้องเอามาร่างแต่ละมาตรา ผมคิดว่าไม่น่าจะเกินปีครึ่ง  หลังจากนั้นก็เอามาเปรียบเทียบกับฉบับที่มาจากรัฐสภาแล้วนำลงไปสู่สาธารณะ อาจจะมีการถกเถียงกันเล็กน้อย แล้วทำการลงประชามติเลยว่าเลือกฉบับใด นี้คือข้อยุติของการแก้ไขปัญหา เพื่อในอนาคตจะได้ไม่ต้องมานั่งแก้ไขกันใหม่ทับกันไปทับกันมา


 


เราจะทำอย่างไรให้แนวคิดแบบนี้กระจายออกไปสู่สังคมภายนอก ?


ผมคิดว่าสื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเสนอข่าวสารอย่างเช่น สถานีวิทยุ FM.100 ก็เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนได้ขึ้นมาพูด สื่อชนิดอื่นๆ ทั้งกระแสหลักและกระแสรอง หรือแม้แต่ประชาไทเองนี้ ที่คนส่วนมากเริ่มให้ความสนใจก็เปิดพื้นที่เสนอความคิดเห็นแบบนี้ให้กว้างขวางออกไป พลังต่างๆ ของสื่อเหล่านี้ก็คือพลังที่จะช่วยผลักดันให้แนวความคิดของกลุ่มอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้ ผมหวังว่าสื่อจะทำหน้าที่เป็นลำโพงให้กับเราในอนาคต


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net