เลียบม่านไม้ไผ่ ฟังวิทยุปักกิ่ง อ่านมุมมองสื่อจีนกรณีทิเบต

ในขณะที่สื่อค่ายตะวันตกให้ความสำคัญกับการรายงานสถานการณ์ทิเบต และการประท้วงคบเพลิงโอลิมปิคอย่างเกาะติด ประชาไทชวนเลียบ "ม่านไม้ไผ่" ฟัง "วิทยุปักกิ่ง" ภาคภาษาไทย เพื่อ "อ่าน" สื่อจีนใกล้ตัว ว่าเขานำเสนออะไร มีมุมมองอย่างไรต่อเรื่องทิเบต และดู "การทูตจีน" เขา "หยั่ง" ท่าทีต่อไทยอย่างไร

ในขณะที่สื่อค่ายตะวันตกให้ความสำคัญกับการรายงานสถานการณ์ทิเบต และการประท้วงคบเพลิงโอลิมปิคอย่างเกาะติด เพื่อการบริโภคสื่อรอบด้าน สุดสัปดาห์นี้ ประชาไทขอชวนเลียบ "ม่านไม้ไผ่" เพื่อ "อ่าน" สื่อค่ายจีน ว่าเขานำเสนออะไร มีมุมมองอย่างไรต่อเรื่องทิเบต

 

สำหรับ "สื่อค่ายจีน" ที่เราจะเฝ้าติดตามในโอกาสนี้เป็นสื่อกระจายเสียง คือ สถานีวิทยุสากลแห่งประเทศจีนหรือซีอาร์ไอปักกิ่ง (China Radio International) ซึ่งรับฟังได้ในประเทศไทยทั้งระบบคลื่นสั้น และระบบ FM (หรือฟังออนไลน์ที่ http://thai.cri.cn/)

 

โดยสถานีวิทยุซีอาร์ไอดังกล่าวเป็นกิจการสื่อสารมวลชนที่สำคัญแห่งหนึ่งของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อตั้งในปี พ.ศ.2488 ทำการกระจายเสียงทั่วโลกวันละ 290 ชั่วโมง ด้วยช่องสถานีภาษาต่างประเทศ 38 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย นอกจากนี้ยังกระจายเสียงเป็นภาษาจีนกลาง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน กวางตุ้งและฮากกา

 

วิทยุสากลแห่งประเทศจีนภาคภาษาไทยเริ่มทำการกระจายเสียงเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2493 ปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่ภาคภาษาไทย 20 คน ทำการกระจายเสียงในภาษาไทยวันละสองครั้ง รวมสองชั่วโมง ในระบบคลื่นสั้น [1]

 

นอกจากนี้วิทยุสากลแห่งประเทศจีนยังออกอากาศผ่านเครือข่ายสถานีวิทยุระบบ FM ของสถาบันอุดมศึกษาของไทย วันละครึ่งชั่วโมง ได้แก่ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM 101.5 MHz สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ FM 88 MHz สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร FM 107.75 MHz และสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม FM 102.25 MHz โดยสถานีวิทยุสากลแห่งประเทศจีนระบุว่าสามารถกระจายเสียงครอบคลุมกว่า 50 จังหวัดของไทย [2]

 

ความครอบคลุมการกระจายเสียงดังกล่าว จึงนับได้ว่าสถานีวิทยุสากล หรือ ซีอาร์ไอ เป็นอีกหนึ่งสื่อกระจายเสียง "ภาคภาษาไทย" ของชาติมหาอำนาจใกล้บ้านที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญ ซึ่งความครอบคุลมการกระจายเสียงดังกล่าวทำให้ซีอาร์ไอ ช่วงชิงพื้นที่ในคลื่นความถี่กับ "วอยซ์ ออฟ อเมริกา" ภาคภาษาไทยได้อย่างสูสีน่าสนใจ

 

จากการ "เฝ้าติดตาม" ซีอาร์ไอ พบว่า ซีอาร์ไอ รายงานข่าวกรณีจลาจลในทิเบต หรือที่สื่อจีนเรียกว่าเหตุการณ์ "14 มีนา" ตามเหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อ 14 มีนาคม 2551 การรายงานท่าทีของรัฐบาลจีน สื่อมวลชนจีนต่อสถานการณ์ในทิเบต และปฏิกิริยาต่อสื่อและรัฐบาลตะวันตก ตลอดจนนำเสนอข่าวขบวนวิ่งคบเพลิงโอลิมปิค ซึ่งกำลังผ่านประเทศไทยในขณะนี้ในมุมมองของจีน โดยแง่มุมในการนำเสนอของสถานีวิทยุแห่งนี้ มีดังต่อไปนี้

 

000

 

 

การทูตจีน มุมมองต่อทิเบต ท่าทีต่อไทย

ข่าวที่ "นายจาง จิ่วหวน" เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนไทยเมื่อวันที่ 8 เม.ย. และซีอาร์ไอนำมาเผยแพร่ในวันที่ 10 เม.ย. นั้น ความเห็นของทูตจีนผู้ใช้ภาษาไทยคล่องแคล่วผู้นี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนความเห็นของ "ปักกิ่ง" ต่อกรณีจลาจลทิเบต

 

ยังสะท้อนความสัมพันธ์ของ "ปักกิ่ง" กับ "กรุงเทพฯ" ได้เป็นอย่างดี

 

ข่าวดังกล่าวซีอาร์ไอใช้คำว่า นายจางได้ "เปิดเผยความเป็นจริงของเหตุการณ์ปล้นสะดมเผาทำลายทำร้ายผู้คน" ในเหตุการณ์ "14 มีนา" รวมทั้งแสดงความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิึคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสนับสนุนเเละเข้าใจรัฐบาลจีนเเละขอบคุณประชาชนไทยที่รักในวัฒนธรรมทิเบต [3]

 

โดยในข่าว นายจาง จิ่วหวนกล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา เมืองลาซา เมืองเอกของเขตปกครองตนเองทิเบตเกิดเหตุการณ์ปล้นสะดมเผาทำลายทำร้ายผู้คน การเผาทำลายสถานที่กว่า 300 เเห่ง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 380 คน เเละมีผู้เสียชีวิต 18 ศพ รัฐบาลท้องถิ่นได้ใช้มาตรการที่จำเป็นเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อป้องกันความปลอดภัยในชีวิตเเละทรัพย์สินของประชาชน ปัจจุบัน ทิเบตได้ฟื้นฟูคืนสู่ภาวะปกติเเล้วในทุกด้าน

 

ซีอาร์ไอภาคภาษาไทยให้ความสำคัญกับข่าวพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยเสด็จไปเยือนจีนด้วย โดยก่อนหน้านี้ ซีอาร์ไอภาคภาษาไทยได้รายงานข่าว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีหมายกำหนดการเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 2-9 เม.ย. 2551 ตามคำกราบทูลเชิญของรัฐบาลจีน นับเป็นการเยือนจีนเป็นครั้งที่ 25 ของพระองค์

 

โดยซีอาร์ไออ้างรายงานของสำนักข่าวซินหวาที่รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ปักกิ่ง ระหว่างที่พระองค์ทรงพบปะกับนาย ไต้ปิ่งกว๋อ มนตรีแห่งชาติจีน พระองค์มีพระราชดำรัสว่าจะทรงเข้าร่วมพิธีเปิดงานกีฬาโอลิมปิก ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ และทรงอวยพรให้งานกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งประสบความสำเร็จ [4] นอกจากนี้เมื่อวันที่ 3 เม.ย. พระองค์ยังทรงพบปะกับนายเจี่ยชิ่งหลิน ประธานสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีนที่กรุงปักกิ่งอีกด้วย [5]

 

นอกจากกรุงปักกิ่งแล้ว สมเด็จพระเทพยังจะเสด็จไปเยือนมณฑลซันตง มณฑลเฮยหลงเจียงและจี๋หลินซึ่งเป็นมณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งเมืองต้าเหลียนและชิงเต่าซึุ่่งเป็นเมืองท่าภาคเหนือที่มีชื่อเสียงของจีน และยังทรงเสด็จเยือนเมืองฮาร์บินเเละเมืองฉางชุนอีกด้วย

 

ซีอาร์ไอยังรายอีกด้วยว่า ในวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา ระหว่างที่คบเพลิงงานกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งส่งต่อถึงกรุงเทพฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะทรงเสด็จไปที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ และทรงเป็นประธานจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำต้อนรับคณะส่งต่อคบเพลิงงานกีฬาโอลิมปิก

 

โดยกรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกจีนและไทย สมาชิกคณะผู้แทนคบเพลิงงานกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง ผู้วิ่งคบเพลิงงานกีฬาโอลิมปิกของไทยที่ได้รับการคัดเลือก 80 คน ผู้แทนจากเทศบาลนครกรุงเทพฯและการกีฬาแห่งประเทศไทยตลอดจนสื่อมวลชนต่างๆ ประมาณ 300 คนจะรับเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งนี้ [6]

 

 

ท่าทีคนใน "รัฐบาลไทย" ต่อสถานการณ์ทิเบตและ "กีฬาโอลิมปิค"

ในช่วงนี้ ซีอาร์ไอยังนำเสนอมุมมองของคนในรัฐบาลไทยที่มีจุดยืนสนับสนุนจีนในการจัดการกิจการทิเบตและสนับสนุนกีฬาโอลิมปิค

 

เช่น กรณีซีอาร์ไอ รายงานข่าวการส่งต่อคบเพลิงโอลิมปิคที่จะเดินทางมายังประเทศไทยในระหว่างวันที่ 17-19 เมษายนนี้ มีการรายงานคำพูดของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ซึ่งกล่าวเมื่อ 17 เม.ย. ระหว่างการแถลงข่าวที่สนามกีฬาแห่งชาติ ถึงการเตรียมกิจกรรมวิ่งคบเพลิงงานกีฬาโอลิมปิคที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ที่ระบุว่า ทีมไทยอยู่ในอันดับที่ 25 ของงานกีฬาโอลิมปิกเอเธนส์เมื่อ 4 ปีก่อน เป็นหลักชัยสำคัญในประวัติศาสตร์กีฬาของไทย ปัจจุบัน คบเพลิงได้ส่งถึงประเทศไทยแล้ว นับเป็นหลักชัยสำคัญอีกประการหนึ่งเพื่อเผยแพร่เจตจำนงโอลิมปิกในไทย [7]

 

ขณะที่การออกอากาศของซีอาร์ไอ เมื่อ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ซีอาร์ไอได้รายงานข่าวของสำนักข่าวซินหวา ระบุคำพูดของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยที่กล่าวระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่งว่า ปัญหาทิเบตเป็นกิจการภายในของจีน ไทยคัดค้านการนำปัญหาทิเบตเชื่อมโยงกับงานกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง[8]

 

นายนพดลยังกล่าวว่าจะยืนหยัดนโยบายจีนเดียวต่อไป และเชื่อมั่นว่า จีนจะประสบความสำเร็จในการจัดงานกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง และทำให้เป็นความภาคภูมิใจของประชาชนเอเชียทั้งปวง

 

 

มุมมอง "สื่อจีน" ใน "ไทย" ฉะ "สื่อตะวันตก" ขาดจรรยาบรรณกรณีข่าวทิเบต

ขณะที่เกิดจลาจลทิเบตได้ไม่กี่อาทิตย์ การออกอากาศของซีอาร์ไอในวันที่ 28 มี.ค. มีการรายงานข่าวหัวข้อข่าว "นักวิชาการไทยแสดงความเห็นว่า สื่อตะวันตกขาดจรรยาบรรณในการรายงานปัญหาทิเบต" [9]

แม้เนื้อหาไม่ได้เป็นการสัมภาษณ์อาจารย์มหาวิทยาลัยชาวไทย แต่ก็เป็นการสัมภาษณ์ "นายเฉียนเฟิง" ซึ่งเขาเป็นรองผู้อำนวยการและบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์เอเชียรายวัน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาจีนของไทย

 

เทปสัมภาษณ์ดังกล่าวนายเฉียนเฟิง ให้สัมภาษณ์ด้วยภาษาจีนกลาง แล้วซีอาร์ไอ "พากย์ไทย" ทับลงไปอีกทีหนึ่ง โดยนายเฉียนเฟิงวิจารณ์สื่อตะวันตกว่า ผู้ทำงานด้านสื่อต้องพยายามรายงานข่าวให้เร็วเท่าที่จะเร็วได้ แต่ การรายงานข่าวอย่างรวดเร็วนั้นไม่ควรบิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ควรนำเรื่องตำรวจเนปาลสลายผู้แสดงกำลัง ซึ่งเป็นกลุ่มพลัดถิ่นแบ่งแยกทิเบต มารายงานว่า ตำรวจจีนกำลังจับกุมกลุ่มแบ่งแยกทิเบต เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่เนปาล แล้วหยิบมารายงานเข้ากับทิเบตของจีนได้อย่างไร

 

"สื่อตะวันตกรายงานข่าวเกี่ยวกับตำรวจจีนจับคน แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็น ตำรวจกำลังช่วยส่งผู้ได้รับบาดเจ็บขึ้นรถ รถคันนั้นเป็นรถปฐมพยาบาล ไม่ใช่รถตำรวจ บนจอโทรทัศน์ของตะวันตกจะถ่ายทอดภาพชาวทิเบตที่ถูกตีบาดเจ็บซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังบรรยายว่า เขาถูกทหารจีนรุมตี แท้ที่จริงแล้ว หนุ่มชนชาติทิเบตคนนั้นเป็นนายแพทย์ เขาถูกผู้ก่อเหตุทำร้ายจนศีรษะได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากว่า เขาไปช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กชนชาติฮั่นคนหนึ่ง เวลานั้น นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกจำนวนหนึ่งที่ได้เห็นกับตาถึงความไม่สงบที่ทิเบตได้บันทึกภาพเอาไว้ด้วยกล้องถ่ายรูปหรือกล้องถ่ายวิดีโอ หลังจากนั้น พวกเขาก็ได้ออกมาเล่าสิ่งที่ตนเองได้พบเห็น ซึ่งต่างจากสิ่งที่สื่อตะวันตกประโคมข่าวว่า ทหารจีนปราบปรามการเคลื่อนไหวแสดงกำลังที่สันติอย่างไร"

 

นายเฉียนเฟิงกล่าวว่า จากภาพข่าวที่เกี่ยวข้องเห็นได้ชัดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองลาซาเป็นเหตุการณ์ใช้กำลังรุนแรง ไม่ใช่การเคลื่อนไหวแสดงกำลังที่สันติ สื่อบางรายของเยอรมันได้ยอมรับแล้วว่ามีความผิดพลาดในการรายงานเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่พวกเขาไม่ได้กล่าวขอโทษ เพียงแต่แสดงความเสียใจ เท่านั้น นี่ไม่ใช่แบบอย่างและลักษณะท่าทางของผู้ทำงานในแวดวงสื่อเลย แสดงให้เห็นว่า มีผู้เจตนาจะรายงานข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงของปัญหาทิเบต รายงานเหตุการณ์ "14 มีนาคม" ว่า เป็นเหตุการณ์การเคลื่อนไหวประท้วงที่สันติของชาวบ้านชนชาติทิเบตในท้องถิ่นถูกทางการจีนปราบปรามด้วยกำลังอาวุธ นี่เป็นการกลับขาวเป็นดำ กลับดำเป็นขาว

 

นั่นคือทัศนะของนายเฉียนเฟิง

 

ปิดท้ายด้วยการชื่นชมนโยบายของรัฐบาลจีนที่ปฏิบัติต่อเหตุการณ์จลาจลในทิเบต ซึ่งนายเฉียนเฟิง กล่าวว่า "ผมมีความเข้าใจนโยบายชนชาติของรัฐบาลจีนลึกซึ้งมาก รัฐบาลจีนมีความสุขุมรอบคอบมากในปัญหาชนชาติ และมีความสุขุมรอบคอบในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินใด ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตชนชาติส่วนน้อย ช่วงเวลานั้น จีนกำลังจัดการประชุมสองสภา ผู้นำสำคัญของทิเบตส่วนใหญ่มาประชุมที่ปักกิ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรงขนาดนี้ ผู้นำที่อยู่ในเมืองลาซาไม่กล้าสั่งการให้จับกุมคนร้าย พวกผู้ร้ายจึงมีโอกาสทำร้าย ทำลาย ปล้นสะดมและวางเพลิง หากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างที่สื่อตะวันตกรายงาน ผมเชื่อว่า ผลจะไม่ร้ายแรงถึงขนาดนี้"

 

 

ภาพ "ดาไลลามะ" ในสื่อจีน: การสร้างแนวรบสื่อต่างประเทศ

ด้านข่าวต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับทิเบต เช่นเดียวกับสื่อของรัฐบาลจีน ซีอาร์ไอพยายามเสนอ "ภาพพจน์" อีกแบบหนึ่งของดาไลลามะ ที่ต่างจากภาพนักบวชตามที่พบเห็นในสื่อตะวันตก และมีมุมมองว่าดาไลลามะมีพฤติกรรมคอย "แยกปิตุภูมิ" กระทั่งเสนอข่าวว่ากลุ่มที่ใกล้ชิดกับดาไลลามะ "รบกวนการกลับชาติมาเกิด" ของพระพุทธเจ้า!

 

เช่น เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ซีอาร์ไอนำเสนอข่าว นางเจียง อยู๋ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวที่กรุงปักกิ่งว่า ประตูการพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐบาลส่วนกลางกับพระดาไลลามะเปิดเสมอ ขอแต่ว่าพระดาไลลามะหยุดกิจกรรมแบ่งแยกปิตุภูมิ และทำลายงานกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง หยุดพฤติกรรมปลุกปั่นการใช้ความรุนแรง รัฐบาลส่วนกลางของจีนก็ยินดีที่จะติดต่อและปรึกษาหารือกับพระดาไลลามะต่อไป

 

นางเจียง อยู๋กล่าวว่า รัฐบาลส่วนกลางของจีนมีความจริงใจและความอดทนมากต่อการติดต่อและหารือกับพระดาไลลามะตลอดมา แต่พระดาไลลามะไม่เคยมีการตอบสนองและไม่มีที่มีท่าทีแข็งขัน [10]

 

 

กลุ่ม "ดาไลลามะ" รบกวนการกลับชาติมาเกิดของพระพุทธเจ้า!

และวันเดียวกันนี้เองซีอาร์ไอยังนำเสนอข่าวที่ "หนังสือพิมพ์กวางหมิงรึเป้า" ตีพิมพ์บทความของนายเจิ้ง ตุย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศาสนาแห่งศูนย์ทิเบตศึกษาของจีน กล่าวว่า กลุ่มดาไลลามะทำลายและรบกวนการกลับชาติมาเกิดของพระพุทธเจ้านิกายทิเบต [11]

 

บทความกล่าวว่า การกลับชาติมาเกิดของพระพุทธเจ้านิกายทิเบตเป็นเรื่องที่เกิดจากการประสานทั้งศาสนาและการเมืองในกระบวนการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของทิเบต การกลับชาติมาเกิดของพระพุทธเจ้านิกายทิเบตของพุทธศาสนานิกายทิเบตมีพิธีการทางศาสนาและข้อกำหนดทางประวัติศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์ของทิเบต

 

บทความกล่าวว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ที่ได้ฟื้นฟูพิธีการกลับชาติมาเกิดของพระพุทธเจ้านิกายทิเบตเป็นต้นมา กลุ่มดาไลลามะไม่เคยหยุดทำลายและรบกวนกระบวนการดังกล่าว

 

 

สื่อ-รัฐบาลจีนเล่นงานผู้ประกาศซีเอ็นเอ็นใส่ร้ายประชาชนจีน

ขณะเดียวกัน อาจเรียกได้ว่าสื่อจีน ก็เป็นไม้เบื่อไม้เบากับสื่อตะวันตก และคอย "เฝ้าระวัง" การนำเสนอข่าวของสื่อตะวันตก เช่น กรณีที่ซีอาร์ไอก็นำเสนอข่าว สื่อของทางการจีนประณามการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมของนายแจค คาฟเฟอร์ตี (Jack Cafferty) ผู้ดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์ CNN ของสหรัฐอเมริกา

 

โดยซีอาร์ไออ้างรายงานของซินหวา ที่รายงานเมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า นายหลิว เจี้ยนเชา อธิบดีกรมสารสนเทศของกระทรวงการต่างประเทศจีนได้เรียกผู้รับผิดชอบสถานีเคเบิลทีวี CNN สาขาปักกิ่งของสหรัฐอเมริกา เพื่อทักท้วงกรณีที่นายแจค คาฟเฟอร์ตี ผู้ดำเนินรายการ CNN ประกาศคำพูดดูหมิ่นใส่ร้ายให้ประชาชนจีน [12]

 

และเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา นางเจียง อยู๋ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 17 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า จีนเรียกร้องอีกครั้งให้ CNN และนายแจค คาฟเฟอร์ตี ผู้ดำเนินรายการกลับคำพูดที่ชั่วร้าย กล่าวขอโทษต่อประชาชนจีนทันที โดยนางเจียงอยู๋กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา CNN ประกาศแถลงการณ์ไม่เพียงแต่ไม่ได้กล่าวขอโทษต่อประชาชนจีนเกี่ยวกับคำพูดชั่วร้ายที่ดูหมิ่นใส่ร้ายประชาชนจีนของนายแจค คาฟเฟอร์ตี หากยังหันไปโจมตีรัฐบาลจีน หมายจะยุยงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาลของจีน ซึ่งฝ่ายจีนรับไม่ได้เด็ดขาด [13]

 

ขณะเดียวกัน ซีอาร์ไอยังนำเสนอข่าวที่ หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้าฉบับวันที่ 17 เม.ย. ตีพิมพ์บทความที่มีเนื้อหาว่า คำพูดของนายแจค คาฟเฟอร์ตี ผู้ดำเนินรายการของสถานีทีวี CNN ของสหรัฐอเมริกาเกินเลยเหนือขอบเขตเสรีภาพทางด้านข่าวสารและคำพูด นายคาฟเฟอร์ตีบิดเบือน "ปัญหาทิเบต" ให้เป็น "ปัญหาสิทธิมนุษยชน" ทำลายชื่อเสียงของสินค้าที่จีนผลิตว่าเป็น "ขยะ" ใส่ร้ายป้ายสีประชาชนจีนเป็น "ผู้ก่อเหตุร้ายและโจร" ความจริงแล้ว พวกเขาได้บิดเบือนข้อมูลข่าวสารและภาษาอย่างรุนแรง

 

บทความระบุว่า ในรายการทีวีระดับโลก ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีคนใส่ร้ายป้ายสีชนชาติหนึ่งอย่างโจ่งแจ้ง และโฆษณาชวนเชื่อลัทธิเหยียดผิวซึ่งเป็นเรื่องที่สะเทือนใจ และก่อเกิดความโกรธแค้นอย่างยิ่ง [14]

 

 

สื่อฝรั่งเล่นข่าว "ทิเบตประท้วงจีน" จีนเล่นข่าว "จีนประท้วงทิเบต"

ในขณะที่สื่อตะวันตกหรือสื่อไทยเองการประท้วงการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิค ตามรายทางเส้นทางการวิ่งคบเพลิงมาโดยตลอดแต่ข่าวเช่นนี้หาติดตามได้ยากทั้งในซีอาร์ไอ หรือสื่ออื่นของรัฐบาลจีน ข่าวที่มีการนำเสนอมักจะเป็นการนำเสนอท่าทีของบุคคลระดับโลกที่ไม่เห็นด้วยต่อการประท้วงการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิค

 

เช่น ข่าวนายเฟรดริก ไรน์ฟิลด์ นายกรัฐมนตรีสวีเดนกล่าวตอบคำถามนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ระหว่างการปาฐกถาว่า ไม่เห็นด้วยกับการต่อต้านงานกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง [15] หรือ กรณีที่นายฮวน อันโตนิโอ ซามารานช์ (Juan Antonio Sanaranch) ประธานกิตติมศักดิ์ตลอดชีพของคณะกรรมการโอลิมปิคสากลให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ "ละ วันกวาร์เดีย" (La Vanguardia) ของสเปน ระบุว่า การใช้งานกีฬาโอลิมปิกคัดค้านจีนนั้นเป็นที่ไม่ยุติธรรม [16]

 

เช่นเดียวกัน มีข่าวการชุมนุมสนับสนุนทิเบตประณามจีนในสื่อตะวันตก ก็มีข่าว การชุมนุมสนับสนุนจีนประณามทิเบตในสื่อจีน

 

เช่น ซีอาร์ไอยังรายงานข่าวจากสำนักข่าวซินหวา ที่ระบุว่าเมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา ชาวจีนโพ้นทะเลและชาวต่างชาติเชื้อสายจีนในรัฐมินิสโซตาของสหรัฐอเมริกาจัดเดินขบวนเพื่อประท้วงดาไลลามะดำเนินกิจกรรมให้ทิเบตเป็นเอกราช และเปิดเผยพฤติกรรมของพระดาไลลามะที่ยุยงให้ทิเบตเป็นเอกราชและมุ่งทำลายงานกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง

 

สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า เช้าวันเดียวกัน ชาวจีนโพ้นทะเลและชาวต่างชาติเชื้อสายจีนในรัฐมินิสโซตากว่า 50 คนชูธงชาติจีนและป้ายคำขวัญเดินขบวนตามถนนในเมืองโรเชสเตอร์ พวกเขากล่าวกับสื่อมวลชนว่า คำพูดและพฤติกรรมหลอกลวงของดาไลลามะเกี่ยวกับ "เหตุการณ์ 14 มีนา" ทำให้พวกเขาโกรธแค้น และไม่อยากให้นักการเมืองของสหรัฐฯ แทรกแซงกิจการภายในของจีน [17]

 

 

สถานการณ์ทิเบตในมุมสื่อจีน: "เหตุร้าย" และภาพ "อารี" ของรัฐบาลจีน

เช่นเดียวกับวิธีการนำเสนอข่าวประท้วงคบเพลิงโอลิมปิค ต่อสถานการณ์ในเขตปกครองตนเองทิเบต สื่อจีนมักรายงานสถานการณ์จลาจลในทิเบต ที่พวกเขาเรียกว่า "เหตุการณ์ 14 มีนา" โดยใช้พล็อตเรื่อง เหตุร้าย คนร้าย การทำร้าย ทำลาย การปล้มสะดม การวางเพลิง เพื่ออธิบายเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งแน่นอนพล็อตนี้ผิดไปจาก การละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต การกดขี่คนทิเบต แบบที่สื่อตะวันตกพยายามนำเสนอ

 

โดยในช่วงที่เกิดการจลาจลเกิดขึ้น สื่อจีนสำนักต่างๆ มีการแพร่ภาพจลาจลที่เกิดขึ้นในกรุงลาซาและอธิบายว่าเป็นการทำร้ายผู้บริสุทธ์ด้วยฝีมือคนกลุ่มเล็กๆ ตามด้วยการสำทับตัวเลขผู้เสียชีวิตโดยรัฐบาลว่าอยู่ในหลักสิบ และในระยะหลังๆ ซึ่งรัฐบาลจีนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทิศทางข่าวมักจะเป็นการรายงานข่าวการฟื้นฟูสภาพความเสียหายจาก "วงการต่างๆ" ในจีน การช่วยกันบริจาคให้ผู้ประสบภัย และข่าวการจับกุมตัวผู้ก่อการจลาจลที่พวกเขาได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล "อย่างโอบอ้อมอารี"

 

เช่น เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.) ซีอาร์ไอรายงานข่าวของสำนักข่าวซินหวา ที่รายงานถึงเหตุการณ์จลาจลในกรุงลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต หรือที่ทางการจีนเรียกว่า "เหตุการณ์ 14 มีนา" ทำให้ประชาชนที่ "ไร้ความผิด" จำนวน 18 คนเสียชีวิต มีผู้ประสบภัยมากมายกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย หลายวันมานี้ เพื่อให้ผู้ประสบภัยสร้างบ้านเรือนใหม่ รัฐบาลท้องถิ่นทิเบต หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนประชาชนวงการต่างๆ ร่วมกันบริจาคเงินเเละสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่านความยากลำบากเเละฟื้นฟูชีวิตเป็นปกติ

 

โดยปัจจุบัน หน่วยงานรัฐบาลทิเบตได้เเจกจ่ายเงินชดเชยเเก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตกว่า 3 ล้านหยวนเเล้ว [18]

 

หรือข่าวที่ซีอาร์ไออ้างการรายงานของสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีน ที่รายงานข่าว กรมสันติบาลเมืองลาซา ที่เผยว่า จนถึงปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัยที่มีหลักฐานว่าได้เข้าร่วมในเหตุการณ์จลาจลในกรุงลาซา ซึ่งรัฐบาลจีนเรียกว่า "เหตุการณ์ 14 มีนา" จำนวน 170 คน ปัจจุบัน มี 82 คนถูกจับ ในจำนวนนี้ มี 11 คนเข้ามอบตัวเพื่อจะได้รับการปฏิบัติ "อย่างโอบอ้อมอารี" [19]

 

หรือข่าวที่อ้างอิงจากสำนักข่าวซินหวา ที่รายงานจากกรมตำรวจมณฑลกานซู่ว่า ผู้ต้องสงสัยสองคนที่ได้เข้าร่วมเหตุการณ์ใช้ความรุนแรง 18 มีนาในเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบตทางภาคใต้ของมณฑลกานซู่ได้เข้ามอบตัว

 

โดยสำนักข่าวซินหวาใช้คำว่าเหตุการณ์ใช้ความรุนแรง "ภายใต้การปลุกปั่นยั่วยุของบุคคลจำนวนน้อย" ทำให้เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงในตำบลดบกาบ (Dob Gab) อำเภอโจเน (Jone) เขตปกครองตนเองทางภาคใต้ของมณฑลกานซู่ได้สร้างความเสียหายคิดเป็นเงินกว่า 7,500,000 หยวน [19]

 

000

 

หากสื่อของรัฐบาลชาตินั้นสะท้อนว่าชาตินั้นคิดอย่างไร มีมุมมองอย่างไรแล้ว

 

นี่ก็คือสิ่งที่จีนคิดต่อกรณีทิเบต และนี่คือสิ่งที่จีนกำลังมองโลก และบอกโลกว่าเขาคิดอะไร จะทำอะไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท