Skip to main content
sharethis


 


 


ไม่น่าเชื่อว่า เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง สามารถต้านทานนายทุนต่างชาติจากที่จะเข้ามากว้านซื้อที่ดินสร้างรีสอร์ทหรูได้ ด้วยกฎระเบียบชุมชนเพียง 2 - 3 ประการ


 


เกาะที่ว่า คือ เกาะปอ หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ที่มีเนื้อที่เพียง 1,200 ไร่


 


ที่สำคัญ เนื้อที่กว่า 700 ไร่ ตกเป็นของนายทุนและคนต่างถิ่นไปแล้วเพียง 17 ราย


 


นอกจากนี้ยังมีที่สาธารณประโยชน์ ที่ไม่นับรวมพื้นที่ชายหาดแล้ว ก็มีโรงเรียน มัสยิดและกูโบร์ หรือ สถานที่ฝังศพของชาวมุสลิม


 


เกาะปอ มีประชากร 470 คน ประมาณ 50 ครัวเรือน ในจำนวนนี้มี 30 ครัวเรือน ปลูกบ้านเป็นกลุ่มใหญ่อยู่ริมชายหาดอ่าวท่าเรือ หรืออ่าวในบ้าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม เพราะตามกฎหมายกำหนดว่า พื้นที่บริเวณที่น้ำขึ้นสูงสุดเข้าไปในแผ่นดิน 50 เมตร ห้ามปลูกสร้างอะไรทั้งสิ้น


 


อีก 7 ครัวเรือน ยังอาศัยอยู่ในที่ดินของตัวเอง ที่เหลือปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินของเอกชนต่างถิ่น มาตั้งแต่ก่อนที่เจ้าของเดิมจะขายต่อ แน่นอน ย่อมไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซักวันก็ต้องหลีกทางให้เจ้าของใหม่ เฉกเช่นเดียวกับชาวบ้านกลุ่มใหญ่ของหมู่บ้าน ทั้งที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย


 


ปัจจุบันเกาะลันตาเป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จะประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


 


ขณะที่สำนักผังเมืองรวมผังเมืองเฉพาะ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดให้เกาะปอ เป็นเขตที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ไว้ในร่างผังเมืองรวมชุมชนเกาะลันตาใหญ่ - เกาะลันตาน้อย จังหวัดกระบี่ ก่อนจะประกาศใช้ต่อไป


 


ด้วยเหตุที่ เกาะปอ อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชาวฝั่งทะเลอันดามัน อย่างเกาะลันตา ห่างกันเพียงประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ และยังมีทัศนียภาพที่สวยงาม ก็ย่อมหนีไม่พ้นกระแสการท่องเที่ยวที่รัฐกำลังส่งเสริมอย่างเต็มที่ อย่างที่ไม่อยากพูดถึงผลกระทบที่ตามมากับการท่องเที่ยวด้วย


 



 


ปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลในแต่ละปี โดยเฉพาะในฤดูกาลท่องเที่ยวด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน ก็ส่งผลให้สถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ อย่างเกาะภูเก็ต เกาะพีพี หรือเกาะลันตา คับแคบลงไป ทำให้นักท่องเที่ยว เริ่มเสาะแสวงหาสถานที่ท่องเที่ยวแบบสงบเงียบและมีธรรมชาติที่สวยงาม ไม่ถูกแปดเปื้อนด้วยสิ่งแปลกปลอมมากนัก หรือผู้มีอันจะกินทั้งหลายมาหาซื้อที่ไว้ เพื่อสร้างบ้านพักนอนตากแดนตากลมยามว่าง


 


ยิ่งหลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มชายฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อปลายปี 2547 ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยว เริ่มหันมามองพื้นที่ท่องเที่ยวในอ่าวมากขึ้น เพราะคิดว่าน่าจะปลอดภัยมากกว่า


 


แน่นอนธุรกิจท่องเที่ยว ก็ย่อมจะตามมาตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และแสวงหากำไรจากการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งอาจตามมาด้วยสิ่งไม่พึงประสงค์ สำหรับชุมชนประมงดั้งเดิมที่นับถือศาสนาอิสลาม


 


เกาะปอ ก็ตกเป็นเป้าหมายหนึ่งด้วย ซึ่งเมื่อมีสัญญาณเตือนภัยจากสภาพชุมชนบนเกาะลันตาใหญ่แล้ว พวกเขาจึงต้องระวังและเตรียมรับมือ ซึ่งก็ได้ผลอย่างที่พวกเขาต้องการ


 


"เมื่อก่อนเกาะลันตายังสงบอยู่ คนไม่พลุกพล่านมาก พอหลังเกิดคลื่นสึนามิ ผู้ประกอบการบนเกาะพีพีก็ย้ายมาทำธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะลันตากันมาก ก็เลยทำให้ที่นั่นเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ทำให้ชุมชนที่นั่นตั้งตัวไม่ทัน สิ่งแปลกปลอมก็มีมากขึ้นสำหรับชุมชนมุสลิม รอบๆ มัสยิดก็เป็นร้านขายเหล้าและร้านคาราโอเกะ ซึ่งมันไม่น่ามาอยู่ด้วยกันได้" ผู้ใหญ่เอียด หรือ นายเอียด ย่าแหม ผู้ใหญ่บ้านเกาะปอให้ข้อมูล


 


"ตอนนี้เละกันใหญ่แล้ว เพราะเด็กวัยรุ่นมุสลิมพากันดื่มเหล้ามากขึ้น มีความวุ่นวายมาก เพราะแข่งขันกันทำธุรกิจ เราจะจอดรถจักรยานยนต์หน้าร้านเขาก็ไม่ได้" เขาฉายภาพให้เห็นถึงสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ


 


ดังนั้นเมื่อชาวบ้านเกาะปอเห็นตัวอย่างอย่างนี้แล้ว จึงคิดว่าไม่นานเกาะปอก็คงมีสภาพอย่างนั้นแน่นอน ถ้าไม่รีบป้องกันเสียก่อน เพราะนักท่องเที่ยวสามรรถเดินทางมาที่เกาะปอได้ไม่ยากนัก ประกอบกับคนในหมู่บ้านเองก็ทยอยขายที่ดินไปทีละแปลงสองแปลงให้กับนายทุน


 


กฎระเบียบหมู่บ้านจึงถูกกำหนดขึ้น โดยผ่านการประชุมหลายครั้ง ก่อนจะถูกประกาศออกมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2550 และได้มีการนำเสนออย่างเป็นทางการในงาน"เปิดเล เขเรือ" ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2550 ในวาระครบรอบ 3 ปีเหตุการณ์สึนามิที่เกาะลันตา


 


จากนั้นข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบชุมชนเกาะปอได้ถูกนำไปเผยแพร่ทางเว็บไซด์ของมูลนิธิชุมชนไทย (www.chumchonthai.or.th) เนื่องจากเกาะปอได้รับความช่วยเหลือ และสนับสนุนงบประมาณในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลและสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากสหประชาชาติ โดยผ่านมูลนิธิชุมชนไทย


 


นั่นคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ


 


"เราตั้งกฎขึ้นมาโดยใช้สิทธิตามมาตรา 66 และ 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในหมวดสิทธิชุมชน ที่ให้สิทธิพวกเราสามารถที่จะช่วยกันฟื้นฟู อนุรักษ์และมีส่วนร่วมในการปกป้องชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของเราได้" นั่นคือคำยืนยันของผู้ใหญ่เอียด


 



 


ผู้ใหญ่เอียด บอกว่า หลังเผยแพร่กฎระเบียบชุมชนได้ไม่กี่วัน ปรากฏว่า มีทนายความคนหนึ่งมาจากจังหวัดภูเก็ต บอกว่าเป็นตัวแทนนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ จะสอบถามเรื่องกฎระเบียบชุมชน เพราะกำลังเจรจาขอซื้อที่ดินทางด้านทิศเหนือของเกาะปอจำนวน 75 ไร่ เพื่อจะสร้างรีสอร์ทรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ


 


โดยทนายคนนั้นบอกว่า ได้ค้นเจอกฎระเบียบชุมชนเกาะปอในเว็บไซด์ของมูลนิธิชุมชนไทย แต่ไม่ทราบช่องทางจะติดต่อกับชุมชนได้ จึงสอบถามไปยังสหประชาชาติในฐานะที่ให้ความช่วยเหลือเกาะปอมาแล้ว ทางสหประชาชาติแนะนำไปที่มูลนิธิชุมชนไทย จนกระทั่งทราบหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใหญ่บ้านเอียด


 


เมื่อได้ทำความรู้จักและสอบถามรายละเอียดเพิ่มจากที่พบในเว็บไซด์ดังกล่าวแล้ว ผู้ใหญ่เอียดบอกว่า ทนายคนนั้นถึงกับอึ้งเลย


 


จนกระทั่งต่อมาได้ทราบว่า นักธุรกิจคนดังกล่าวได้ตันสินใจล้มเลิกความต้องการซื้อที่ดินสร้างรีสอร์ทหรูบนเกาะปอแล้ว ด้วยเหตุผล 2 - 3 ประการซึ่งระบุไว้ในกฎระเยียบชุมชน นั่นก็คือ


 


เรื่องการห้ามดื่มเครื่องดื่มมึนเมาบนชายหาด ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ จะปิดกั้นพื้นที่ชายหาดซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะไว้เป็นสถานที่ส่วนตัวไม่ได้ ห้ามให้มีการนอนอาบแดนบนชายหาดโดยการนุ่งน้อยห่มน้อย สุดท้ายห้ามขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลใช้เพื่อประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ยกเว้นเพื่อสาธารณะและห้ามใช้น้ำจากแห่งน้ำสาธารณะเกินกว่าประมาณน้ำที่คนส่วนใหญ่ในเกาะปอใช้อุปโภคบริโภค


 


แม้ว่า หลังประกาศใช้กฎระเบียบชุมชนไปได้ไม่นาน ชาวบ้านในอำเภอเกาะลันตาเองก็รับรู้รับทราบ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวเองก็มีการพูดปากต่อปากกันว่า หากจะมาเที่ยวเกาะปอก็ไม่ควรนุ่งน้อยห่มน้อย ไม่อย่างนั้นจะถูกปรับ แต่หลายคนก็ชื่นชอบแนวคิดนี้ อย่างน้อยก็มีส่วนสำคัญในการรักษาความบริสุทธิ์ของธรรมชาติเอาไว้ได้


 


"ส่วนใหญ่คนก็รู้ว่าเรามีกฎ ยกเว้นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากับเรือยอร์ช เพราะพวกนี้จะไม่มากับบริษัททัวร์ ก็เลยไม่รู้ เขามาจอดเรือแล้วก็ขึ้นเกาะเลย มีครั้งหนึ่ง นุ่งทูพีชขึ้นมาเลย ชาวบ้านก็ตก รีบเอาเสื้อไปให้เขาใส่ เขาก็งง ต้องอธิบายซักพักจึงเข้าใจ เขาก็ทำตาม"


 


เรื่องนี้ไม่เพียงแต่คนเกาะปอเท่านั้น แม้แต่คนระดับผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ก็ยังสนับสนุนแนวคิดนี้ เขากำลังรอวันเป็นประธานเปิดป้ายสัญลักษณ์กฎระเบียบชุมชนอยู่


 


เสียอย่างเดียว ชาวบ้านยังไม่รู้จะเงินจากไหนมาทำเท่านั้นเอง


 


 


 


 


.......................................................................................................






 


สรุปเนื้อหากฎระเบียบชุมชนเกาะปอ


 


สำหรับเนื้อหาของกฎระเบียบชุมชนเกาะปอมีหลายประการด้วยกัน ประกอบด้วยหมวดที่ว่าด้วย ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี หมวดทรัพยากรและสิงแวดล้อม หมวดการปกครองและหมวดการใช้พื้นที่ของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี


มีเนื้อหาสำคัญๆ สรุปได้ดังนี้


หมวดที่ว่าด้วย ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ให้แต่งกายสาภาพตามหลักศาสนา ห้ามแสดงชู้สาวในที่สาธารณะหรือในชุมชน ห้ามให้มีการเสพหรือดื่มสิ่งมึนเมาในที่สาธารณะ หากฝ่าฝืนปรับคนละ 5,000 บาท


หมวดทรัพยากรและสิงแวดล้อม มีหลายอย่าง เช่น ห้ามใช้เครื่องมือประมงผิดประเภท ต้องช่วยกันอนุรักษ์สัตว์น้ำและสัตว์บก


สามารถขุดเจาะนำบาดาลได้ แต่ห้ามนำน้ำบาดาลไปใช้ในกิจการส่วนตัวหรือกิจการการท่องเที่ยว ส่วนผู้ประกอบการนั้น อนุญาตให้ขุดบ่อน้ำตื้นหรือขุดสระเพื่อเก็บกับน้ำเท่านั้น


ห้ามนำหิน ทรายรอบเกาะปอไปใช้ในการก่อสร้างในธุรกิจส่วนตัว


ผู้ประกอบการที่พัก ร้านอาหารต้องทำระบบบำบัดน้ำเสียก่อน


ให้หารือกับคณะกรรมการชุมชนก่อนในเรื่องที่จอดเรือเพื่อมิให้ทับซ้อนกับที่จอดเรือประมงชุมชน


หากพบการใช้อวนลาก อวนรุน ซึ่งผิดกฎหมาย ชาวบ้านสามารถจับส่งตำรวจดำเนินคดีได้ทันที ถ้าเป็นครั้งแรกให้ตักเตือนก่อน เป็นต้น


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net