Skip to main content
sharethis

กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ(ปรส.)


 







กล่าวได้ว่า ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำหัวขบวนของกรรมกร ส่วนหนึ่งเป็นกรรมกรประเภทขุนนางที่รับใช้รัฐบาลนายทุนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม  ขณะที่ขุนนางกรรมกรอีกส่วนหนึ่งก็สวามิภักดิ์ต่อระบอบอำมาตยาธิปไตย เห็นชอบกับการรัฐประหาร ทั้งสองส่วนใช้กลวิธีต่างๆ ครอบงำมวลกรรมกรพื้นฐานภายใต้การนำ "แบบขุนนาง"


 


  


วันกรรมกรสากล หรือ วันเมย์เดย์ (May Day) มีจุดกำเนิดมาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น ที่ส่งผลให้ผู้คนอพยพจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องประสพกับการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด รวมทั้งไม่มีสวัสดิการและมาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานแต่อย่างใด


 


สภาพดังกล่าว เป็นสาเหตุทำให้ผู้ใช้แรงงานมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้การกดค่าจ้างแรงงานและให้ลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งแนวความคิดนี้ได้ขยายไปหลายประเทศทั้งในยุโรป อเมริกา ละตินอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย


 


ช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 คนงานแห่งเมืองชิคาโก ประเทศอเมริกา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องระบบสามแปด คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การต่อสู้ครั้งนั้นอำนาจรัฐนายทุนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง


 


ภายหลังจากนั้น ต่อมาสหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาก็ได้ฟื้นการต่อสู้เรียกร้องระบบสามแปดอีกครั้งหนึ่งโดยมีมติให้เดินขบวนทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2433


 


ขณะเดียวกันในช่วงนั้นก็เริ่มมีแนวคิดที่จะประกาศวันที่แน่นอนให้เป็นวันสามัคคีต่อสู้ของขบวนการกรรมกรทั่วโลก จนกระทั่ง พ.ศ. 2432 ที่ประชุมของสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้มีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคม 2433 เป็นวันเดินขบวนเรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงานตามที่สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้กำหนดไว้แล้ว และได้ กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันกรรมกรสากล และเป็นวันเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก


 


มติดังกล่าวได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง และการยืนหยัดต่อสู้ของคนงานชิคาโกและอื่นๆ ก็สามารถทำให้นายจ้างลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือ 8 ชั่วโมงในทุกๆ แห่ง ดังนั้น จึงถือว่า 1 พฤษภาคม วันกรรมกรสากล เป็นสัญลักษณ์แห่งการสามัคคีต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นกรรมกร ซึ่งกรรมกรทั่วโลกจะจัดให้มีการชุมนุมเดินขบวน เพื่อสร้างวัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจากการกดขี่ขูดรีดของทุนนิยม


 


 


รัฐไทยกับมายาคติ "วันแรงงานแห่งชาติ"


 


ในประเทศไทย การจัดงานวันกรรมกรสากลในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยครั้งแรก มีขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ที่สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์ จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพรวมกับสมาคมไตรจักร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ3พันคน ปีต่อมา การชุมนุมวันกรรมกรสากล พ.ศ. 2490 มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายใต้คำขวัญกรรมกรทั้งหลาย จงสามัคคีกัน


 


กล่าวได้ว่าเป็นการแสดงพลังความสามัคคีของชนชั้นกรรมกรไทยครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกในประเทศไทย คือ สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย วันกรรมกรสากลปีนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน นับเป็นการจัดงานที่มาจากจิตสำนึกของกรรมกรโดยกรรมกรและเพื่อกรรมกรอย่างแท้จริง


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 มีการรัฐประหารยึดอำนาจเกิดขึ้น และรัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์   ธนะรัตน์  ได้ห้ามจัดงานวันกรรมกรสากลอีก จนกระทั่งในปี 2499 กรรมกร 16 หน่วย ซึ่งเป็นการรวมตัวแบบใหม่ของขบวนการกรรมกร มีเป้าหมายเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายรับรองสิทธิด้านต่างๆ ได้เคลื่อนไหวให้มีการจัดงานวันกรรมกรสากลขึ้นอีกครั้ง ผลการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเผด็จการ ทำให้กรรมกรจำต้องยอมรับเงื่อนไขให้เปลี่ยนชื่อ วันกรรมกรสากล เป็น วันแรงงานแห่งชาติ


การควบคุมแทรกแซงโดยรัฐบาลเผด็จการในครั้งนั้น ทำให้วันกรรกรสากลถูกแทรกแซงจากรัฐมาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบัน เนื้อหา และรูปแบบของการจัดงานมักจะถูกควบคุมโดยรัฐบาล และบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งเน้นไปในเรื่องกิจกรรมบันเทิงสนุกสนาน ไม่มีการสะท้อนปัญหาและวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงาน


 


ในอีกส่วนหนึ่งของปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำหัวขบวนของกรรมกร ส่วนหนึ่งเป็นกรรมกรประเภทขุนนางที่รับใช้รัฐบาลนายทุนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม  ขณะที่ขุนนางกรรมกรอีกส่วนหนึ่งก็สวามิภักดิ์ต่อระบอบอำมาตยาธิปไตย เห็นชอบกับการรัฐประหาร ทั้งสองส่วนใช้กลวิธีต่างๆ ครอบงำมวลกรรมกรพื้นฐานภายใต้การนำ "แบบขุนนาง"


 


 


ระบบสามแปดกับกรรมกรไทย


 


อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทย พบว่า มีกรรมกรจำนวนมากที่ต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงโดยอาศัยการจ้างงานแบบกึ่งบังคับของชนชั้นนายทุน เช่น ย่านนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างคนงานแบบชั่วคราวทำให้กรรมกรไม่สามารถใช้กฎหมายแรงงานพื้นฐานได้ เนื่องจากอายุการทำงานไม่ถึง


นอกจากนี้แล้ว มีการกำหนดในคนงานต้องทำงานเป็นกะ บีบบังคับให้คนงานแข่งขันกันเองเพื่อจะได้มีการจ้างงานตลอด รวมทั้งระบบการจ้างงานแบบรับเหมาช่วง-เหมาค่าแรงทั้งในเมืองและในชนบทที่ทำให้คนงานไร้ซึ่งสวัสดิการพื้นฐานที่นายทุนไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด


 


ขณะเดียวกันค่าจ้างขั้นต่ำของกรรมกรเพียงไม่ถึงสองร้อยบาทนั้น ทำให้ชีวิตกรรมกรอัดคัตขัดสนมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมันที่จะเป็นผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามรัฐไทยได้เมินเฉยข้อเรียงร้องให้ออก พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ฉบับของขบวนการแรงงาน รวมถึงพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับผู้ใช้แรงงานและอื่นๆ


 


นอกจากนี้แล้ว รัฐไทยยังได้มีนโยบายขาย หรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจ สู่ตลาดหลักทรัพย์ ให้กับนายทุนไทย และนายทุนข้ามชาติ ซึ่งเป็นการโอนทรัพย์สินของสาธารณะไปเป็นของนายทุนไม่กี่คน เช่น การไฟฟ้า ประปา น้ำมัน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นผลให้มีการบริการจะเลวลง ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น คนงานถูกไล่ออก ตัดสวัสดิการพื้นฐานคนงาน ฯลฯ ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศแถบลาตินอเมริกาหลังจากแปรูปรัฐวิสาหกิจ ที่สำคัญรายได้ควรเป็นของประชาชนทั้งประเทศ กลับกลายเป็นของนายทุนเพียงไม่กี่ตระกูล เหมือนเช่นการขายการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)


 


อย่างไรก็ตาม ภายใต้ระบบทุนนิยมในสังคมไทยที่ผูกติดกับระบบทุนนิยมโลกโดยรัฐไทยไม่ว่ากลุ่มทุนไทยรักไทย หรือพลังอำมาตยาธิปไตยครองเมืองก็ตาม ล้วนมีธาตุแท้เอารัดเอาเปรียบกรรมกร


 


ดังนั้น การสร้างพลังอำนาจอำนาจนาจของกรรมกรอย่างอิสระจากรัฐและทุน องค์กรจัดตั้งมีลักษณะประชาธิปประชาธิปไตยประชาธิปไตย มีกลุ่มผู้นำ มีฐานมวลสมาชิก พลังสมาชิก ยกระดับจากการต่อสู้เฉพาะหน้า  มีนโยบายด้านรัฐสวัสดิการสวัสดิการ มีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รองรับสิทธิ์การเลือกตั้งทุกระดับสิทธิให้คนงานเลือกตั้งในพื้นที่ทำงานและด้านอื่นๆ  พิทักษ์สิทธิเสรีภาพ ตลอดทั้งประสานระดมข้อเสนอจากกลุ่มพลังแนวร่วมอื่นๆในสังคมไทยจึงเป็นภารกิจสำคํญเร่งด่วน เพื่อป้องศักดิ์ความเป็นมนุษย์ จึงเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้กรรมกรมีชีวิตที่ดีขึ้น และสร้างสร้างสังคมสร้างสรรค์สังคมที่ยุติธรรมที่ไม่ทำลายศักดิ์ความเป็นมนุษย์อย่างที่เห็นและเป็นอยู่


 


กรรมกรทั้งหลาย จงสามัคคีกัน สร้างอำนาจที่เป็นอิสระ!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net