Skip to main content
sharethis


23-24 เมษายน 2551


 


1


 


เราติดตามคณะทนายความของสภาทนายความลงมายังพื้นที่เกิดเหตุ จังหวัดระนอง ....


 


คณะทนายความกลุ่มนี้เดินทางมาแจ้งสิทธิให้แก่ผู้ที่ยังเหลือรอดชีวิต จากโศกนาฏกรรมที่ชาวพม่า-ชาวมอญ 54 คน เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจในรถบรรทุกตู้แช่เย็นระหว่างลักลอบเข้าเมือง ข้ามจังหวัดจากระนองไปทำงานที่ภูเก็ต


 


มันเป็นข่าวดังก่อนเทศกาล "กลับบ้าน" ของคนไทยเพียงไม่กี่วัน


 


กลิ่นคาวปลาที่คละคลุ้งในบรรยากาศ บ่งบอกชัดเจนว่าด่านตรวจคนเข้าเมืองของระนองนั้นตั้งอยู่ไม่ไกลจาก "สะพานปลา" ซึ่งเป็นแหล่งการค้าสินค้าประมงที่สำคัญของที่นี่ ตัวเมืองเล็กๆ ที่เงียบเชียบ ทรุดโทรม และเต็มไปด้วยหญิงชายที่ข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ให้ความรู้สึกเหมือนหลงเข้ามาในที่ไม่คุ้นเคย


 


ระนองเป็นจังหวัดชายแดนที่ผู้คนให้สมญาว่า "เมียนมาร์ ทาวน์" เพราะอยู่ห่างจากเกาะสอง ประเทศพม่า เพียง 5 กิโลเมตร หรือใช้เวลานั่งเรือหางยาวโดยสารราวครึ่งชั่วโมง จึงไม่แปลกที่มีผู้คนข้ามฝั่งมาทำงานจำนวนมาก หลายคนเล่าว่า ชาวพม่าที่ข้ามมามีหลายเชื้อชาติ ไม่ว่า มอญ ทวาย โรฮิงยา (ชาวพม่าที่ถืออิสลาม) และมักมาเป็นครอบครัว ขนญาติพี่น้องทยอยมาเป็นหมู่เป็นเหล่ามากกว่าแรงงานพม่าที่เข้ามาตามพรมแดนด้านแม่สอด หรือด้านอื่นๆ


 


ในพื้นที่นี้ ชะตาชีวิตที่เลวร้ายของพวกเขาดูจะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ก่อนหน้ากรณีสูญเสีย 54 ชีวิต มีเรื่องเล่าของพ่อแม่ที่เสียลูกสาววัย 8 ขวบระหว่างให้ญาติรับจากฝั่งพม่าเข้ามาในไทย เนื่องจากรถบรรทุกที่ซ่อนตัวอยู่นั้นไม่หยุดรถเมื่อเจอด่านตรวจ เจ้าหน้าที่จึงยิงล้อและตัวถังรถ แต่ถูกเด็กได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมาก


 


เรื่องทำนองนี้มีให้ได้ยินอยู่เนืองๆ แผ่วเบา หม่นหมอง อยู่ในหมู่พวกเขา เพราะการร้องตะโกนออกมาภายนอกอาจหมายถึงหายนะที่พร้อมจะแพร่กระจายเหมือนโรคห่า


 


 


 


2


 


ในช่วงสาย คณะทนายความและเจ้าหน้าที่จากองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนหนึ่งก็เดินทางมาถึง พร้อมๆ กับนักข่าวทีวีจากสำนักข่าวชื่อดังอย่าง บีบีซี ซึ่งดูจะให้ความสนใจกับกรณีนี้เป็นพิเศษ ระหว่างหัวหน้าคณะกำลังประสานงานกับ ตม. นักข่าวก็เริ่มวิ่งวุ่นสัมภาษณ์เอ็นจีโอท่ามกลางเปลวแดดร้อนระอุ (และกลิ่นคาวปลาที่เริ่มคุ้นกันแล้ว)


 


คำถามส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่นโยบายของรัฐไทยต่อการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ รายละเอียด สาเหตุการหลบหนีเข้ามาที่นี่ รวมไปถึงคำถามที่ว่า สังคมไทยตื่นตัว ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แค่ไหน .... คนตอบใช้เวลาคิดอยู่นานสำหรับคำถามหลัง และใครจะรู้ว่าการประเมินของเขาถูกหรือผิดจากความเป็นจริงไปเพียงไหน


 


รออยู่เกือบครึ่งวัน จึงพบว่ามีหลายหน่วยงานต้องการเข้าไปเยี่ยม เก็บข้อมูลจากผู้รอดชีวิต ไม่ว่าพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้รอดชีวิตแบ่งเป็นชาย 27 คน หญิง 23 คน เด็กชาย (ต่ำกว่า 18 ปี) 5 คน เด็กหญิง (ต่ำกว่า 18 ปี) 9 คน ท้ายที่สุด ทุกหน่วยงานได้พบและพูดคุยกับเด็กๆ แต่ในส่วนการเก็บข้อมูลจากผู้ใหญ่ ได้รับอนุญาตให้เข้าเพียงผู้ที่เกี่ยวข้อง


 


อันที่จริงมีผู้รอดชีวิตอีก 3-4 คน ที่ได้รับการปล่อยตัวไปก่อนหน้านี้เพราะมีเงินจ่ายค่าปรับฐานหลบหนีเข้าเมือง 2,000 บาท ส่วนที่เหลือต้องไปอยู่ในคุกเป็นเวลา 10 วันแทนเงินค่าปรับ แล้วถูกนำไปกักตัวไว้ที่ ตม.แห่งนี้  


 


ที่ ตม.มีอาคารองรับผู้ถูกกักตัวได้ราว 300 คน สภาพที่อยู่ของพวกเขาเป็นอย่างไรไม่อาจทราบได้เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมที่พัก รู้เพียงว่าจะมีการแยกหญิงและชายอยู่คนละด้านของตึก ประตูด้านล่างเป็นลูกกรงแน่หนาซึ่งระบุเวลาเยี่ยมเอาไว้ มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย 3 คนที่หมุนเวียนกันเฝ้าสถานที่นี้ ซึ่งโดยปกติเมื่อจับกุมผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองได้ ทาง ตม.จะพยายามผลักดันกลับประเทศให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณที่มีจำกัด


 


อาจเพราะเหตุนี้ ทำให้บางคนวิ่งไปตลาดเพื่อซื้อของใช้จำเป็นจำพวกสบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน ผ้าอนามัย กางเกงใน ฝากให้สมาชิกใหม่ที่เข้าไปอยู่ในนั้น


 


 


 


3


 


เด็กๆ ทั้ง 14 คน ทยอยเดินเข้ามาในห้องที่ทาง ตม.จัดเตรียมไว้ให้ พวกเขานั่งเก้าอี้กลางห้อง ซึ่งล้อมรอบด้วยผู้มาเยือนมากหน้าหลายตา เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่นุ่งผ้าถุงและเสื้อยืด บางคนทาแป้งพม่า (ทานาคา) ที่แก้มสองข้าง


 


วันนี้มีรองอธิบดีจากกรมพัฒนาสังคมฯ มาเยี่ยม แจกขนม และมีสภาทนายความมาชี้แจงสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหาย การชดเชย เยียวยาต่างๆ ทั้งหมดพูดผ่านล่ามชาวพม่า ทีละประโยค ทีละประโยค ทีละประโยค


 


เด็กๆ ตีสีหน้าเรียบเฉย บางคนนั่งฟังอย่างตั้งใจ บางคนนั่งแคะเล็บ บางคนแววตาเหม่อลอย การโต้ตอบมีเพียงคำถามเดียวจากเด็กหนุ่มวัยกระเตาะที่นั่งหลังสุด... ถ้าพวกเขาไมได้ผิดอะไรทำไมไม่ปล่อยกลับบ้านเสียที....


 


รองอธิบดีชี้แจงว่าพวกเขาจะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำผิดตลอดจนผู้มีส่วนร่วมในขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก


 


 


4


 


"นายหน้า" เป็นตัวจักรสำคัญในขบวนการค้ามนุษย์ที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันในประเทศไทย มีทั้งนายหน้าปกติทำหน้าที่ประสานงานนำพาเข้าประเทศจนถึงมือนายจ้าง กับนายหน้าที่ชักนำพวกเขาไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "การค้ามนุษย์" ขูดรีดแรงงาน บังคับให้ทำงานหนักห้ามออกนอกโรงงาน ส่งลงเรือประมง หรือค้าประเวณี


 


ทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นจาก "แรงผลัก" ของการดิ้นรนหนีชีวิตแร้นแค้นลำเค็ญในฝั่งโน้น เข้าหา "แรงดูด" ของความต้องการแรงงานระดับล่างในฝั่งนี้ ขณะที่รัฐไทยเปิดเพียงรูเล็กๆ สำหรับโอกาสที่พวกเขาจะได้มีตัวมีตน ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ  (อ่านเอกสารแนบ : ภาพรวมแรงงานข้ามชาติในไทย, สรุปสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในไทยปี 2551)


 


เป็นที่รู้กันว่านโยบายเรื่องแรงงานข้ามชาตินั้นไม่มีความชัดเจนมากนัก การขึ้นทะเบียนเพื่ออนุญาตทำงานก่อนที่จะส่งกลับนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายเกือบ 4,000 บาท ส่วนใหญ่ต้องผ่านนายหน้าในการประสานงานซึ่งเสียค่าใช้จ่ายกันตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท อีกทั้งการขึ้นทะเบียนก็ยังไม่เปิดให้สำหรับแรงงานใหม่ จะอนุญาตเพียงแรงงานที่จดทะเบียนอยู่แล้วไปต่ออายุปีต่อปีเท่านั้น ... ราวกับทุกอย่างหยุดนิ่งอยู่กับที่.... จึงไม่แปลกที่ขบวนการใต้ดินระหว่างนายหน้า เจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าของกิจการจะเกิดขึ้น เพื่อเสาะหาแรงงานราคาถูก เป็นการลักลอบเข้ามาทำงานโดยที่ไม่ได้รับสิทธิและการคุ้มครองใดๆ ในทางปฏิบัติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง (อ่านเอกสารแนบ : ข้อเสนอต่อการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติปี 2551)


 


 


นี่ยังไม่นับรวมคนที่ไม่ได้ตั้งใจเข้ามาทำงานตั้งแต่แรก แต่เป็นผู้ลี้ภัยการสู้รบมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย ซึ่งอยู่ได้ด้วยทุนจากต่างประเทศ แต่ก็มีสภาพที่ไม่ดีนัก  (อ่านเอกสารแนบ : ทำไมประชาชนจากพม่าต้องลี้ภัยมาที่ประเทศไทย )


 


 


5


 


 


 


"โอ๊ย ชีวิตพวกนี้เหมือนผักเหมือนปลา ตายกันเยอะนะ เป็นข่าวมั่งไม่เป็นมั่ง ไอ้ 54 คนนั่นถ้าเค้าไม่เปิดกลางทางก็ไม่มีใครรู้หรอก เจ้าหน้าที่ก็รู้เห็นด้วย"


"พวกนี้ก็ข้ามกันมาเยอะจริงๆ อยู่ที่นู่นมันคงลำบากมาก"


"อยู่นี่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรนะ ไม่กล้ากันหรอก จะมีก็เรื่องขโมยของเล็กๆ น้อยๆ เค้าแปลกกันอย่างที่ว่า ถ้าลูกขโมยของก็ไม่ดุลูก ผมก็ไม่เข้าใจ"


 


ลุงมอเตอร์ไซด์รับจ้างเล่า


 


 


6


 


 


ระหว่างที่ "ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง" ไปสอบถาม แจ้งสิทธิ เก็บข้อมูลจากผู้ใหญ่ที่รอดชีวิต เด็กๆ ยังคงนั่งรออยู่ในห้องเดิม เพื่อรอให้พนักงานสอบสวนมาสอบข้อเท็จจริงในช่วงบ่าย


 


มื้อกลางวันสำหรับวันนี้เป็นข้าวมันไก่หน้าตาน่ากิน พวกเขาเริ่มผ่อนคลายขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่และแขกเหรื่อทั้งหลายออกไปจากห้อง เหลือแต่เอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งที่พอพูดภาษาพม่าได้อยู่คอยเล่นกับพวกเขา


 


มันเป็นอย่างที่หลายคนบอกว่ารอยยิ้มของเด็กๆ ทำให้โลกเบิกบาน สว่างไสวในชั่วพริบตา สาวน้อยตัวกลมดูจะเป็นคนอารมณ์ดี เข้ากับคนง่ายที่สุดในกลุ่ม เราผลัดกันสอนเลข 1-10 ภาษาไทยและภาษาพม่า พูดคุยกันแบบรู้เรื่องมั่งไม่รู้เรื่องมั่งแล้วพากันขำ


 


ถัดไปสองแถว เด็กผู้หญิงหน้าตาน่ารักน่าชังสองคน นั่งนิ่ง วางกล่องข้าวมันไก่ไว้บนตักโดยไม่คิดจะเปิดมัน เราหันมาคุยกับเธอ ถามว่าทำไมจึงหน้าตาเหมือนกันอย่างกับแกะ เด็กผู้หญิงอ้วนหัวเราะอีกครั้งแล้วบอกว่าเขาเป็นพี่น้องกัน พวกเราพยายามหยอกเล่นและบอกให้กินข้าวรองท้องเสียหน่อย คนหนึ่งยอมเปิดกล่องข้าวมันไก่ ขณะที่อีกคนหนึ่งพูดเบาๆ บอกว่าไม่หิว กินไม่ได้ หัวใจมันสั่น


 


พี่ที่พูดภาษาพม่าได้ หันมากระซิบข้างหู "แม่น้องเค้าตายบนรถนั่น"


 


 


. . . . . . . . . . .


 


 


 


 


 


 


------------------------


อ่านเพิ่มเติม :


 


สภาทนายฯ ลุย ตม.ระนอง แจ้งสิทธิแก่แรงงานพม่าผู้รอดชีวิตจากรถห้องเย็นมรณะ


 


รัฐบาลพม่าส่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการค้าแรงงานเถื่อนหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง


 


รายงาน : 54 ความตายในตู้คอนเทนเนอร์ และอีกมากความตายที่ชายขอบ


 


เจาะโศกนาฏกรรมชีวิต...แรงงานเพื่อนบ้านกับปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย


 


 


 


 

เอกสารประกอบ

ภาพรวมแรงงานข้ามชาติในไทย

สรุปสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในไทยปี 2550

ข้อเสนอต่อการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติปี 2551

ทำไมประชาชนจากพม่าต้องลี้ภัยมาที่ประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net