นักข่าวไทม์แจงบทความวัดพระบาทน้ำพุฉบับแปล "มีปัญหา" ทั้งตัดทอน-เพิ่มข้อความยั่วยุ

 





 

สืบเนื่องจากกรณีหนังสือพิมพ์ของไทยฉบับหนึ่งเสนอข่าวเรื่องวัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นสถานดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่สังคมไทยส่วนใหญ่ยอมรับ โดยระบุว่า นิตยสารไทม์สเผยแพร่บทความโจมตีเจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ เรื่องความโปร่งใสของการใช้เงินบริจาค และการใช้ภาพลักษณ์ของผู้ป่วยที่ติิดเชื้อเอชไอวีเพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากผู้บริจาค (1) โดยอ้างถึงบทความชื่อ "Is the temple of Buddha"s footprints the temple of doom?" ของ นายแอนดรูว์ มาร์แชล ซึ่งตีพิมพ์ลงในนิตยสารซันเดย์ไทม์ส เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2551 ที่ผ่านมา

 

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2551 พระครูอุดมประชาทร หรือ "พระอลงกต ติกขปัญโญ" เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุได้ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยกล่าวว่า บทความของนายแอนดรูว์เกิดจากความไม่เข้าใจและการไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ในขณะที่ผู้จัดการมูลนิธิธรรมรักษ์ซึ่งดูแลเรื่องเิงินบริจาคของทางวัดกล่าวว่าบทความของนายแอนดรูว์เกิดจาก "อคติ" ของผู้เขียน

 

ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้นายแอนดรูว์ มาร์แชล ส่งจดหมายถึง "ประชาไท" โดยแจ้งให้ทราบว่า บทความที่ถูกแปลลงในหนังสือพิมพ์ของไทยมีการ "ตัดทอน" ข้อความที่สำคัญ และมีหลายจุดที่แปลผิดพลาด ขณะที่อีกบางจุด ใช้คำที่มีความหมายยั่วยุ ในฐานะผู้เขียนบทความดังกล่าว นายแอนดรูว์ได้ส่งต้นฉบับบทความที่ตีพิมพ์ลงในซันเดย์ไทม์ส พร้อมด้วยต้นฉบับแปลที่ถอดความโดยนักแปลมืออาชีพซึ่งตนไว้วางใจ เพื่อนำมาให้ผู้อ่านประชาไทได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และนำไปสู่การถกเถียงร่วมกันอย่างมีเหตุผล

 

อ่านบทความต้นฉบับ ที่นี่

อ่านบทความแปลโดยหนังสือพิมพ์ไทย ที่นี่

 

 

 

หรือวัดพระบาทจะเป็นวัดแห่งความเคราะห์ร้าย?

 

ที่นี่เป็นวัดพุทธที่ดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ใกล้ตาย และยังเป็นกิจการสร้างรายได้ที่ประสบความสำเร็จมหาศาล ดึงดูดนักท่องเที่ยวนับพันคนได้จากการแสดงศพมัมมี่ แล้วเงินทั้งหมดที่ว่า ถูกใช้ไปอย่างไร?

 

"ซ็อกเกอร์บ็อต" เป็นเครื่องช่วยฝึกซ้อมควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ สามารถยิงลูกฟุตบอลด้วยความเร็วสูงถึง 55 ไมล์ต่อชั่วโมง มันสามารถเตะลูกเรียดพื้น ลูกโค้ง และลูกเตะมุมได้ด้วยความแม่นยำอย่างไร้ความเหน็ดเหนื่อย ราคาของซ็อกเกอร์บ็อตอยู่ที่ราว 80,000 ปอนด์ และถูกสร้างมาเครื่องเดียวเท่านั้น วันนี้ เจ้าเครื่องต้นแบบตัวนี้ตั้งอยู่ด้านนอกบ้านเด็กกำพร้าสำหรับเด็กติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย มันกำลังพ่นลูกฟุตบอลออกมาด้วยกำลังแรงที่สามารถชนประทะเด็กๆ ที่นั่นตัวกระเด็นเท้าเล็กๆ ลอยจากพื้นได้เลย

 

สถานเลี้ยงเด็กกำพร้านี้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรการกุศลอันมั่งคั่ง ก่อตั้งโดย พระอลงกต ติกขปัญโญ วัย 54 พรรษา พระชาวพุทธชื่อดัง ซึ่งเริ่มดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์มาตั้งแต่ปี 1992 ยุคที่เพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่ยังหลีกหนีคนเป็นโรคเอดส์ อาณาจักรของท่านแบ่งเป็นสองส่วน คือกลุ่มอาคารบนพื้นที่ 1,200 เอเคอร์อันห่างไกลแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่พำนักของเด็กมากกว่าหนึ่งพันคน มีเด็กกำพร้าติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมากรวมอยู่ด้วย กับอีกส่วนคือวัดพระบาทน้ำพุ สร้างอยู่บนเชิงเขาแห้งแล้งห่างจากที่นี่ไป 50 ไมล์ มีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีอาศัยอยู่ราว 200 คน และมีราว 10,000 คนที่เสียชีวิตที่วัดแห่งนี้ สำหรับคนทั้งประเทศ ชื่อของวัดมีความหมายเดียวกันกับความทุกข์และความตาย เป็นภาพลักษณ์ที่เปิดโอกาสให้เจ้าอาวาสของวัดเรี่ยไรเงินบริจาคเทียบได้เป็นจำนวนหลายล้านปอนด์ ภาพคนไข้ของวัดนี้ในสภาพเจ็บป่วยผอมแห้งมีให้เห็นอยู่บนโปสเตอร์และกล่องรับบริจาคทั่วประเทศ

 

ยา Anti-retroviral (ARV) ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยโรคเอดส์มีชีวิตยืนนานขึ้น ทำท่าจะกลายเป็นตัวกัดกร่อนพื้นฐานเหตุผลของการเรี่ยไรเงินบริจาค และสั่นคลอนสถานภาพทางการเงินของวัด แม้แต่ผู้ประดิษฐ์ซ็อกเกอร์บ็อตผู้ภูมิใจในผลงานของตัว ก็ยังไม่เข้าใจนักว่าเจ้าอาวาสท่านซื้อมันทำไม

 

"ผมมานี่ คาดว่าจะได้เห็นทีมนักเตะ 30 คนหรือมากกว่านั้น" พุทธชัย รัตนาลังการ กล่าว "แต่ไม่มีใครเลย มีแต่เด็กๆ พวกนี้"

 

เงินบริจาคเข้าวัดเป็นรายได้ปลอดภาษี โดยหลักๆ ได้มาจากนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวตะวันตกที่มาเยือนวัดนี้อาทิตย์ละนับพันคน วันนี้ ไกด์ประจำวัดชื่อ แม็กซ์ วัย 37 ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี เป็นคนนำกลุ่มคนไทยวัยกลางคนกลุ่มหนึ่งไปยังจุดแวะจุดแรกของทัวร์ ซึ่งก็คือ "พิพิธภัณฑ์ชีวิต"

 

"เข้าไปดูข้างในเลยครับ" เขาเร่งเร้าผ่านโทรโข่ง "ไม่ต้องถอดรองเท้าก็ได้ครับ"

 

ข้างในมีศพมัมมี่ของผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เสียชีวิตสิบกว่าศพ ทุกคนตกลงยินยอมบริจาคศพของตนก่อนเสียชีวิต ศพเหล่านี้คือ การแสดงภาพว่า "ความตายมีผลใหญ่หลวงต่อเราทุกคน นำพาเราไปสู่ความจริงที่ว่า เราต้องทำความดีกับผู้อื่นในยามมีชีวิต" เป็นข้อความบนป้ายที่เขียนไว้ ศพที่มีแมลงกัดกินศพหนึ่งยังมีถุงซิลิโคนสองถุงห้อยตกจากอกโดยถูกยึดรั้งไว้ด้วยกลุ่มเส้นใยกล้ามเนื้อ ป้ายเขียนระบุอาชีพในอดีตของเจ้าของศพว่าเป็น "นักร้อง คนขายบริการทางเพศ (กะเทย)"

 

เราเดินผ่านเมรุ (วัดนี้มีเตาเผาศพแปดเตา แม็กซ์ให้ข้อมูล) ผ่านสวนประติมากรรมหยาบๆ ปั้นจากเถ้ากระดูกผู้ป่วยที่เสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่ง แล้วไปหยุดที่อาคารชั้นเดียวหลังหนึ่ง "อันนี้เป็นอาคารสำหรับคนที่อยู่ในระยะสุดท้าย" แม็กซ์ประกาศ "ถ้าคุณต้องการถ่ายรูป กรุณาขอพวกเขาก่อน"

 

นักท่องเที่ยวเดินเรียงแถวกันเข้าไป ในวอร์ดมีชาย-หญิงอยู่ 31 คน ไม่มีใครใส่ใจอะไรกับนักท่องเที่ยว บางคนใส่ผ้าอ้อมเดินเตาะแตะกระย่องกระแย่ง ใบหน้าประแป้งกลบซ่อนมะเร็งและโรคผิวหนังอื่นๆ บางคนนอนคุดคู้อยู่บนเตียง ตัดขาดโลกอยู่ในความเจ็บปวดและความมึนชา ชายคนหนึ่งกำลังถูกมะเร็งลำไส้กัดกินใกล้ตาย ผู้ป่วยบางคนตาบอด อีก 11 คน (ในจำนวนนี้มี 5 คนที่ผอมแห้งเหลือแต่โครงกระดูก พักอยู่ในห้องกักกันโรคที่ไม่ได้มาตรฐานแยกออกไปต่างหาก) กำลังสู้อยู่กับวัณโรค แมวและสุนัขจรจัดเดินกันตามสบายอยู่ทั่ววอร์ด

 

นักท่องเที่ยวเดินเรียงแถวกันออกมา จุดแวะชมจุดสุดท้ายคือพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยกำแพงถุงทราย เป็นถุงทรายบรรจุเถ้ากระดูกของผู้ตาย ถุงกระดูกนับร้อยๆ รอแล้วรอเล่าให้ญาติมารับกลับไป จากนั้นนักท่องเที่ยวก็ได้รับแจกแผ่นพับเรื่องราวทางพุทธ และโอกาสที่จะบริจาค มีกลุ่มนักเรียนกลุ่มใหญ่ตามหลังมาติดๆ

 

ความตายและนักท่องเที่ยว คือสิ่งที่ ไมเคิล บัสซาโน พบเจอตลอดเวลา บาทหลวงคาทอลิกจากทางเหนือของรัฐนิวยอร์กท่านนี้เป็นอาสาสมัครที่ทำงานให้วัดนี้ยาวนานกว่าใครอื่น บัสซาโนเป็นคนรูปร่างแข็งแรง อายุ 59 ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีมาแล้ว 4 ปี อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายที่เปราะบาง บีบนวดเนื้อหนังที่เป็นโรค กอดพวกเขาระหว่างลมหายใจสุดท้าย "ไม่สำคัญหรอกว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหน เป็นเพศอะไร พวกเขาก็เหมือนกับเรานี่แหละ" เขาบอก "พวกเขาเป็นมนุษย์ ทำกับเขาให้เหมือนชีวิตเขามีค่าและความหมายกันดีกว่า"

 

"ที่นี่คือวัดแห่งชีวิต ไม่ใช่ที่แห่งความตาย"

 

ผู้ป่วยบางคนมาที่วัดนี้เองโดยสมัครใจ คนอื่นๆ ถูกเอามาทิ้งไว้ราวเป็นขยะ บัสซาโนเล่าว่า คืนหนึ่ง มีรถคันหนึ่งดับไฟแล่นมาจอดที่รั้ววัด แล้วก็มีผู้ชายคนหนึ่งถูกผลักลงมาจากรถ เขาตายในสองวันต่อมา นอกจากนี้เขายังจำได้ว่า มีผู้ป่วยรายหนึ่งที่ถูกทางบ้านทอดทิ้งไม่ดูแล จนขาข้างซ้ายเป็นอัมพาตไปเจ็ดปี  "มีวันหนึ่งเขาบอกผมว่า "ผมอยากเดิน"" บัสซาโนเล่า และด้วยความช่วยเหลือจากบาทหลวงท่านนี้ เขาก็เดินได้ "เขาเดินทุกวันในระหว่างห้าเดือนต่อมา แล้วโรคก็รุกมาถึงระบบทางเดินอาหารของเขา แล้วเขาก็ไป แต่ในช่วงเวลาหนึ่ง เขาเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในโลก"

 

เรื่องนี้ดลใจให้บัสซาโน "ทำสิ่งง่ายๆ เพื่อให้ผู้คนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง" หญิงติดเชื้อเอชไอวี วัย 28 ชื่ออำพัน มาที่นี่เมื่อ 6 ปีก่อน แล้วตกหลุมรักผู้ป่วยอีกคนหนึ่ง พอเขาเสียชีวิตไปในปี 2003 อำพันกระโดดลงมาจากหลังคาตึกสี่ชั้น กระดูกเชิงกรานแตกละเอียด นอนอยู่กับเตียงตลอดนับแต่นั้นมา

 

ทุกวันบาทหลวงท่านนี้จะพาเธอนั่งรถเข็นไปที่พิพิธภัณฑ์ชีวิต ศพของแฟนเธอถูกเก็บรักษาไว้ที่นั่น "เธอรู้สึกสบายใจขึ้นเวลาได้คุยกับเขา" บัสซาโนบอก "ไม่งั้นเธอก็จะเอาแต่นั่งอยู่บนเตียงทั้งวัน แล้วก็ไม่มีใครคุยกับเธอด้วย"

 

บุคลากรชาวไทยคอยดูเรื่องความทุกข์โศกกันอยู่เหมือนกัน แต่ "ไม่ค่อยจะทำอะไรกันโดยตรงเท่าไร" ส่วนหนึ่งเขาโทษความเชื่อเรื่องกรรมของชาวพุทธ "พอมีใครใกล้ตาย ปกติพวกเจ้าหน้าที่จะบอกผมว่า "อย่าไปยุ่งอะไรกับเขาเลย ชาติหน้าจะดีกว่านี้"" เวลามีคนใกล้ตายร้องเหมือนสัตว์ คนงานไทยบางคนเชื่อว่าเขาผู้นั้นกำลังชดใช้โทษกรรมจากอาชีพในชาติก่อน คือเคยทำงานในโรงฆ่าสัตว์มาก่อน

 

ผู้ป่วยยังเชื่อด้วยว่าเอชไอวีคือคำสั่งประหารชีวิตที่เกิดจากกรรม ชูเกียรติ สั่งสอน อายุ 51 อดีตวิศวกร ตกใจมากเมื่อรู้ว่าตนเป็นโรคนี้หลังตรวจเลือดในช่วงที่มีการรณรงค์ให้ตระหนักถึงภัยเอดส์ "เมียผมเป็น แต่ไม่เคยบอกผม" เขาว่า "ผมไม่โกรธนะ กรรมไม่ดีมันตามมาสนองผม ผมทำอะไรไม่ดีไว้กับเมียเมื่อชาติก่อน เลยต้องมาชดใช้ในชาตินี้" ชูเกียรติดูแลเธออยู่ที่บ้านจนเธอเสียชีวิต และหลังจากทั้งครอบครัวและเพื่อนไม่มีใครดูแลเขาอย่างนั้นบ้าง เขาก็พาตัวเองมาที่วัดนี้เมื่อหกปีที่แล้ว

 

นอกจากนี้บุคลากรยังได้ค่าจ้างกันน้อยมาก (3,500 ถึง 7,000 บาทต่อเดือน) และผ่านการฝึกกันมาน้อยมากสำหรับงานที่หนักหนาสาหัสขนาดนี้

 

"ฉันทำงานวันละ 12 ชั่วโมง" วิไลวรรณ ขันติวงศ์ บอก เธอเป็นสาวร่างบาง วัย 26 ท่าทางเอาจริงเอาจัง และเป็นผู้กำกับดูแลวอร์ดนี้ "มีบ่อยๆ ที่ฉันทำอะไรให้คนไข้ไม่ได้มากนัก จนรู้สึกอยากเลิกไปเลย แต่ถ้าฉันไป ใครจะดูแลพวกเขา" วิไลวรรณเป็นพยาบาลประกาศนียบัตร ทำงานที่นี่มาตั้งแต่อายุ 17 "ฉันทำทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นคนทำความสะอาดจนถึงเป็นหมอ" เธอบอก

 

วันนี้เธอไม่ได้พกหูฟังหมอ แต่ถือช็อกโกแลตโทเบิลโรนอยู่แท่งหนึ่ง ซึ่งเป็นของบริจาคจากนักท่องเที่ยวชาวสวิสคนหนึ่ง พาราเซตตามอลคือยาแก้ปวดที่แรงที่สุดของเธอ "เรามีมอร์ฟีนอยู่นิดหน่อย แต่ตอนนี้คงหมดอายุไปแล้ว ไม่มีหมออยู่ด้วยเลยสักคนแบบนี้ ฉันไม่กล้าใช้"

 

จะให้ดีที่สุด วัดควรจะมีหมอสองคน พยาบาลวิชาชีพ 3 คน บัสซาโนบอก หมอรายสุดท้ายที่ทำงานที่นี่เป็นอาสาสมัครชาวเบลเยียมชื่อ พอล อีฟส์ เวอรี่ ซึ่งออกไปแล้วเมื่อปี 2004 เขาเขียนเล่าถึงช่วงเวลาหลายปีที่ทำงานอยู่ที่วัด บรรยายสถานที่ว่าไม่ถูกสุขลักษณะ ขาดแคลนเครื่องมือ และระบบจัดการแย่ เวอรี่เรียกพวกเจ้าหน้าที่ว่า "ทาส" เรียกพวกนักท่องเที่ยวว่า "มนุษย์กินคน" ส่วนเจ้าอาวาสวัดเป็นบุคคลที่ไม่ชัดเจน ผู้ดูแลบริหาร "สิ่งที่กลายเป็นโรงงานความตาย [เหมือน] ธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก" หลังหนังสือของเวอรี่ถูกตีพิมพ์ออกมา อาสาสมัครต่างชาติทุกคน ยกเว้นบัสซาโน ก็ถูกขอให้ลาออกหมด

 

ทุกวันนี้ ผู้ป่วยได้พบแพทย์เพียงเดือนละครั้ง คือเมื่อถูกพาไปโรงพยาบาลที่เมืองใกล้เคียงในจังหวัดลพบุรี เพื่อตรวจร่างกายตามกำหนด และรับยา ARV ล็อตใหม่มา เวลาที่เหลือส่วนมากก็ต้องพึ่งพยาบาลวิไลวรรณกัน "มีครั้งหนึ่งเรามีเรื่องฉุกเฉินทางการรักษา แล้วฉันไม่อยู่ มีแต่คนทำความสะอาดอยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าต้องทำยังไง" เธอเล่า "บางครั้งคนไข้ก็เสียชีวิตระหว่างทางไปโรงพยาบาล"

 

หลายชั่วโมงต่อมา หนึ่งในไกด์นำชมวัดเกิดเป็นลมล้มพับไป วิไลวรรณรีบนำส่งโรงพยาบาล เขาเสียชีวิตเมื่อไปถึง

 

คนไข้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมากเป็นโรคจิตเสื่อมเนื่องจากเอดส์ ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยอารมณ์เสีย พูดจาไม่เชื่อมโยงต่อเนื่อง และรุนแรง เนื่องจากขาดบุคลากร บางครั้งผู้ป่วยที่ควบคุมตัวเองไม่ได้จะถูกจับไปขังในกรงเหล็กติดกับบริเวณอาบน้ำ ตอนผมไปเยือน มีกรงหนึ่งที่มีผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งเที่ยวฉีกมุ้งไปทั่ววอร์ดถูกขังอยู่ คนบางคนต้องถูกจับขังกรงเพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง หญิงใกล้ตายคนหนึ่งกรีดร้องมากมายจนถูกเพื่อนผู้ป่วยด้วยกันตบตีและอุดปากไว้

 

ในประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 17,000 รายในปี 2006 เทียบกับ 143,000 รายในปี 1990 ตามรายงานของโครงการ UNAIDS แต่อัตราการติดเชื้ออาจเพิ่มสูงขึ้นได้อีก การแพร่ระบาดของเอชไอวีในหมู่ผู้เสพยาด้วยการฉีดและผู้ขายบริการทางเพศเพศชายยังคงสูงอยู่ ขณะเดียวกันการใช้ถุงยางในหมู่วัยรุ่นไทยก็น้อยมากจนน่าตกใจ ประเทศไทยจำเป็นต้องให้การศึกษาแก่สาธารณชนกันใหม่อีกรอบในเรื่องโรคที่ร้ายแรงน่ากลัวและไม่อาจรักษาได้

 

ทางวัดอ้างว่ากำลังทำอย่างนั้นอยู่ แต่เป็นไปได้หรือไม่ ที่ทัวร์ของวัด ในอีกด้านหนึ่ง อาจมีส่วนหล่อเลี้ยงความอคติที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีแทบไม่สามารถอยู่ร่วมในสังคมไทยได้ ให้ยังคงมีอยู่ต่อไป? บัสซาโนเชื่อว่าเป็นไปได้ "เด็กบางคนเดินเอามือปิดปากเข้ามา" เขาเล่า "บางทีก็เดินผ่านวอร์ด 33 เตียงนอนนี่ไป โดยไม่ทักทายใครสักคำ"

 

ผู้ป่วยชื่อ เสนอ สอยวัน วัย 39 อดีตพ่อค้าไก่ย่าง ไม่ชอบทัวร์ที่ว่านี้ "ที่ผมทนอยู่นี่ก็เพราะสังคมไม่ต้องการผม ผู้คนเขารังเกียจน่ะ พอรู้ว่าผมติดเชื้อเอชไอวี" หลังมาอยู่ที่วัดได้แปดเดือน เสนอ รู้สึกตัวเองแข็งแรงพอจะออกไปหางานทำข้างนอกได้แล้ว แต่ไม่มีใครยอมจ้างเขา "ผมคิดทั้งวันทั้งคืนเลยนะ ว่าจะออกไปจากที่นี่ได้ยังไง" แต่ระหว่างนี้ เขามีรายได้ 20 บาทต่อวัน จากการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ

 

ตามกฎแล้ว เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะอาศัยอยู่ที่วัดได้ เด็กราว 1,300 คนอาศัยอยู่อีกที่หนึ่งแยกออกไปต่างหาก เรียกกันว่า "โครงการสอง" ซึ่งมีสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ารวมอยู่ด้วย แต่เด็กไม่ได้เป็นกำพร้าทุกคน มีอยู่เป็นจำนวนมากที่เป็นลูกชาวไร่ชาวนายากจนในละแวกนั้น มีเพียง 140 คนเท่านั้นที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งพอๆ กับจำนวนผู้ใหญ่ติดเชื้อที่อาศัยอยู่ที่นี่ด้วย นอกเหนือจากโรงเรียนและโรงงานขนาดเล็กผลิตรูปเจ้าอาวาสใส่กรอบ ตึกรามอาคารส่วนใหญ่ภายในอาณาเขตกว้างใหญ่ของโครงการสอง ดูเหมือนถูกทิ้งร้างและขาดการบำรุงซ่อมแซม

 

ซ็อกเกอร์บ็อตตั้งอยู่นอกอาคารที่พักเด็กกำพร้า 74 คน รายที่ติดเชื้อเอชไอวีมีหอพักของตัวเอง ซึ่งระบุให้รู้ด้วยป้าย "ห้องนอนเด็กชายติดเชื้อ" และ "ห้องนอนเด็กหญิงติดเชื้อ" พวกเด็กๆ บางรายผอมแห้ง บางคนอายุแค่สามขวบ เดินเหินไร้จุดหมายตามโถงทางเดินไร้ชีวิตชีวา หรือรื้อค้นกล่องบรรจุสิ่งละอันพันน้อยกันอยู่อย่างเงียบเชียบไร้ซุ่มเสียง

 

ผู้ดูแลซึ่งเป็นผู้ใหญ่อยู่คนเดียว คือ นวลจันทร์ หัสนาม วัย 43 สตรีหน้าตากร้านโลก มีรอยสักเขียนว่า "รักนิรันดร์" อยู่บนแขน สิ่งเตือนใจอันไม่น่าพึงปรารถนาถึงสามีผู้หมางเมินที่ทำให้เธอมีลูกห้าคนและติดเชื้อเอชไอวี นวลจันทร์บอกว่าการเลี้ยงเด็กกำพร้าเหมือน "จับปูใส่กระด้ง" พวกเขาขาดแคลนบุคลากรและเครื่องนุ่งห่มพื้นฐาน "พวกเด็กๆ ขาดเสื้อกล้าม กางเกงใน กับรองเท้า" เธออธิบาย งั้นทำไมถึงเอาเงิน 80,000 ปอนด์ไปเสียให้กับเครื่องช่วยฝึกเตะฟุตบอล? "ไม่รู้ซิ" เธอยักไหล่ "เจ้าอาวาสท่านอยากให้เด็กๆ ออกกำลังกาย"

 

พระไทยที่มีชื่อเสียงมีสถานภาพใกล้เคียงดาวร็อค ท่านจะถูกห้อมล้อมด้วยนักการเมืองและคนดัง ได้รับการเอาอกเอาใจด้วยเงินและสิ่งของบริจาคมากมาย ในช่วงเฟื่องฟูในระหว่างทศวรรษ 1980 ถึง 1990 วัดใหม่ๆ สร้างกันด้วยหินอ่อนจากอิตาลี เจ้าอาวาสทั้งหลายไปไหนมาไหนด้วยบริการรถเก๋งคันใหญ่พร้อมคนขับ ลูกศิษย์ของหลวงพ่ออลงกต ซึ่งมีดาวเทนนิส ภราดร ศรีชาพันธุ์ และอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างน้อยสองคนรวมอยู่ด้วย ต่างพูดถึงบารมีของท่านอย่างเปี่ยมศรัทธาเลื่อมใส พี่ป็อก ผู้อุทิศตัว วัย 70 บอกว่าที่เธออายุยืนก็เพราะเจ้าอาวาสท่านนี้ "ตั้งแต่ทำงานกับท่าน พี่ไม่เคยป่วยเลย"

 

ในฐานะบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ นายอลงกตกลับจากการร่ำเรียนที่ออสเตรเลียมาพร้อมแผนการก่อตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะขนาดใหญ่ แต่กลับบวชเป็นพระแทน (เพราะ "อกหัก" พี่ป็อกอธิบาย) ท่านย้ายไปอยู่ลพบุรี แล้วได้พบเจอชายในท้องถิ่นคนหนึ่งที่ติดเชื้อเอชไอวี

 

"หลวงพ่อจับมือเขา เขาตายตอนนั้นต่อหน้าต่อตาเลย" หลวงพ่ออลงกตเล่าไว้ในเว็บไซต์ของวัด "เป็นประสบการณ์ที่สะเทือนใจมาก" บ้านพักผู้ป่วยที่ท่านก่อตั้งขึ้นทำให้ชาวบ้านตื่นกลัวกัน ด้วยกลัวจะติดเชื้อ ผู้คนจำนวนมากไม่ยอมใส่บาตรให้ท่านเมื่อท่านออกบิณฑบาตในตอนเช้า

 

พระไทยโดยทั่วไปจะชอบสนทนากับอุบาสกอุสิกาที่มาหามากกว่าให้สัมภาษณ์ เช้าวันอาทิตย์วันหนึ่งผมจึงเข้าไปหาหลวงพ่อร่วมกับนักท่องเที่ยวที่วัดหลายสิบคน พวกเราคุกเข่าหน้าหลวงพ่ออลงกตในห้องซึ่งเต็มไปด้วยพระพุทธรูป (วอร์ดผู้ป่วยอยู่ใกล้ๆ กับห้องนี้เอง) หลายคนถือรูปถ่าย เครื่องรางรูปของท่าน เพื่อขอลายเซ็นหรือคาถาปลุกเสก บางช่วงคำพูดของท่านถูกกลบหายด้วยเสียงโครมครามของกล่องรับบริจาคที่ถูกยกเทออกภายในห้องนั้น

 

หลวงพ่ออลงกตประเมินว่ามีคนมาเยือนวัดนี้แล้วราว 4 ล้านคน ท่านปกป้องทัวร์ชมวัด โดยยืนยันว่าเป็นการช่วยเพิ่มความตระหนักรู้และส่งเสริมให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น "เดี๋ยวนี้ผู้ป่วยเขากล้าพูดกันแล้วว่า "ผมติดเชื้อ ผมเป็นเอดส์" ฉะนั้นเวลามีคนมาเยี่ยม คนป่วยก็สามารถพูดคุยกับพวกเขาได้ เหมือนเป็นเพื่อนสนิทกัน" หลวงพ่อบอกผม

 

บัสซาโนเล่าว่า ผู้ป่วย "มีชีวิตชีวากันขึ้นมา" เวลาหลวงพ่ออลงกตมาเยี่ยมพวกเขาที่วอร์ด แต่การมาเยี่ยมเยียนดังว่าไม่ค่อยมีแล้ว พยาบาลวิไลวรรณบอกว่า เจ้าอาวาสท่านยังจำชื่อไม่ได้ ทั้งๆ ที่อยู่มาแปดปีแล้ว

 

หลวงพ่ออลงกตบอกว่าทางวัดพยายามจะหาบุคลากรทางการแพทย์มาแต่ล้มเหลว "พวกหมอคนไทยเขาอยากทำงานโรงพยาบาลเอกชนกันมากกว่า ขนาดโรงพยาบาลรัฐยังขาดแคลนบุคลากรกันเลย" จึงยังดูเหมือนไม่อาจอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดในประเทศที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากร 65 ล้านคน ถึงไม่มีหมอไทยให้ว่าจ้างได้เลยสักคนเดียว

 

ยา ARV ก่อให้เกิดทั้งความหวังใหม่และความท้าทาย หลวงพ่อกล่าวต่อ "เมื่อก่อนคนมาเพื่อจะมาตายกันที่นี่ เราเผาศพให้เขาเสร็จก็จบกันแค่นั้น" เดี๋ยวนี้มีคนรอดชีวิตอยู่เป็นร้อยๆ และเนื่องจากถูกครอบครัวหมางเมินหรือไม่ยอมรับ ก็ต้องเลี้ยงดู ให้ที่พักและเสื้อผ้า ท่านบอก เด็กก็มีมากขึ้น แต่ก่อนนี้เด็กจะเสียชีวิตกันเร็ว เดี๋ยวนี้อยู่กันนานขึ้น พวกญาติๆ ก็อยากยกให้เจ้าอาวาสมากกว่า ด้วยเชื่อว่าท่านดูแลได้ดีกว่า (โครงการสองจะรับเด็กได้ถึง 2000 คนในท้ายที่สุด) ทุกสิ่งเหล่านี้ทำให้วัดมีภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ "เราสงสัยกันอยู่ว่าจะอยู่รอดกันได้อย่างไร" หลวงพ่ออลงกตกล่าว

 

กระนั้น วัดพระบาทน้ำพุดูแทบไม่เหมือนกำลังตกระกำลำบากทางการเงิน ประดิษฐ์ ยิ่งยง เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของวัด บอกว่าเจ้าอาวาสวางแผนสร้างศูนย์กีฬา (งบ: เทียบได้ราว 1.6 ล้านปอนด์) และสร้างเส้นทางวิปัสสนาตัดผ่านเขาเหนือวัด (8 ล้านปอนด์)

 

"มีเงินเข้ามาเยอะครับ" บาสซาโนบอก "แต่ถูกแบ่งสันแจกจ่ายอย่างไร ใครได้ประโยชน์ ใครได้อะไร ผมไม่รู้หรอกครับ"  เขาตั้งคำถามว่า ทำไมจึงต้องสร้างพิพิธภัณฑ์อวัยวะคนเป็นเอดส์ -ซึ่งเป็นห้องเก็บมือ เท้า หัวใจ ไต และอวัยวะอื่นๆ ไว้ในขวดโหลบรรจุฟอร์มาลดีไฮด์ที่มีหยดน้ำเกาะพราว- ในเมื่อวัดไม่มีรถพยาบาลสักคัน? "แล้วเรื่องความละเลยพวกเด็กๆ ละ? ไม่เฉพาะเด็กๆ นะครับ ผู้ป่วยผู้ใหญ่ก็ด้วย"

 

เป็นเรื่องยากที่จะถามเรื่องเงินทองกับพระที่มีชื่อเสียง โดยไม่ให้ดูเป็นกล่าวหาท่านไม่ซื่อสัตย์ แต่ก็มีอยู่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเงินของวัดไทยโดยทั่วไปดูคลุมเครือ และการยักยอกเงินบริจาคทำได้แสนง่าย ("วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง" อย่างที่ว่าไว้ในเพลงไทยเก่าๆ บทหนึ่ง) การดูแลวัดต้องใช้เงิน 4 ถึง 5 ล้านบาทต่อเดือน ไม่รวมค่าใช้จ่ายของโครงการสอง หลวงพ่ออลงกตบอก วัดได้รับเงินบริจาคมาในจำนวน "เท่ากัน" นี้ ไม่มีการเปิดเผยเรื่องการเงินของวัดให้สารธารณชนรับรู้

 

"เราไม่มีหน้าที่ต้องประกาศให้สาธารณชนรับรู้" ท่านยืนยัน "แต่เรามีระบบ[บัญชี]ที่ดี" หลวงพ่ออลงกตแนะนำให้ผมไปถามที่สำนักงานเลขาธิการดู จะได้รู้ว่าวัดต้องใช้เงินเท่าไร จากนั้นผมไปมาระหว่างสำนักงานสี่แห่ง ก่อนจะได้สำเนาพิมพ์มาชุดหนึ่ง ซึ่งมีตัวเลขต่างจากของเจ้าอาวาสโดยสิ้นเชิง คุณประดิษฐ์ก็ให้ตัวเลขมาอีกตัวเลขหนึ่ง กรรมการคนหนึ่งก็ให้มาอีกตัว ไม่มีใครอธิบายได้ว่า โครงการสองซึ่งมีสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ารวมอยู่ด้วย ได้รับเงินทุนอย่างไร อย่าว่าแต่ศูนย์กีฬาหรือเส้นทางวิปัสสนา

 

เมื่อตอนที่หลวงพ่ออลงกตรับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีกลุ่มแรกเข้ามา ท่านกระทำด้วยความเห็นอกเห็นใจก่อนใครอื่นจะทำกัน สิบหกปีต่อมา ขณะมีชาวไทยนับแสนมาเยือน มีเงินล้นหีบรับบริจาคในวัด ผู้ป่วยดูคล้ายถูกละเลย แม้สภาพเลวร้ายของพวกเขาในสายตาสาธรณชน ยังดึงดูดให้เงินบริจาคยังหลั่งไหลเข้ามา แต่การที่ยา ARV มีราคาถูกลงและใช้ได้ผลมากขึ้น อาจทำให้ใช้ยุทธวีธีนี้ต่อไปได้อีกไม่นานนัก

 

"เขาจะหาเงินกันได้อย่างไร ถ้าผู้คนดูสุขภาพดี?" บาสซาโนตั้งคำถาม "คุณต้องทำอะไรกันสักอย่าง เพราะผู้คนสุขภาพดีขึ้น คุณหยุดพัฒนาการนี้ไม่ได้ ยา ARV จะอยู่อีกนานเลย"

 

ขณะนี้บาสซาโนลาออกจากวัดไปแล้ว เพื่อเตรียมตัวย้ายไปยังที่ประจำการใหม่ของเขา เขากำลังจะไปแทนซาเนีย ประเทศซึ่งเอชไอวี/เอดส์ลุกลามแพร่ระบาดรวดเร็วกว่าในประเทศไทยเกือบหกเท่า บรรดาผู้ป่วยคิดถึงเขา

 

"ถ้าเดินได้" ชูเกียรติ อดีตวิศวกร สาบาน "ผมจะไปกับเขาด้วย" บาสซาโนยังกำลังจัดกระเป๋าอยู่ ก็มีหมอและพยาบาลใหม่มาถึงแล้ว ทั้งสองไม่ใช่คนไทยที่ได้ทุนจากเงินวัด แต่เป็นชาวกัมพูชาหนึ่ง ชาวอินเดียหนึ่ง ที่ได้รับการว่าจ้างโดยองค์กรการกุศลอเมริกัน หมอชาวกัมพูชาปฏิเสธไม่ให้สัมภาษณ์ เขายังไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจทางการแพทย์ในประเทศไทย ดังนั้นงานของเขาซึ่งเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากนั้น โดยเทคนิคแล้วผิดกฎหมาย แต่เขาก็บอกในเวลาต่อมาว่า ทางวัดยังขาดแม้กระทั่งอุปกรณ์การแพทย์และยาพื้นๆ ทั่วไป

 

กลับมาที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เด็กซึ่งอายุยังน้อยมากโหลหนึ่งหรือกว่านั้น เพิ่งกินมื้อเที่ยงกันเสร็จ และกำลังจะไปนอนพักเที่ยงกันในอีกไม่ช้า แต่ก่อนที่พวกเขาจะลุกจากโต๊ะ ทุกคนท่องบทสวดถวายเจ้าอาวาส โดยเรียกท่านด้วยชื่อพระที่ใช้เป็นทางการ ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้เต็มไปด้วยความเมตตาอย่างรักใคร่"

    

ขอขอบคุณท่านเจ้าคุณพระอุดมประชาธร ที่ให้อาหารของเราวันนี้

ขอขอบพระคุณยิ่ง ด้วยใจจริงที่กรุณา

ชื่นจิตเป็นหนักหนา ขอขอบพระคุณ ขอขอบพระคุณ

 

 





 

เนื้อความในจดหมายชี้แจงที่แอนดรูว์ มาร์แชล ส่งถึง "ประชาไท"

 

Dear Prachatai,

 

First of all, many thanks for your courageous and thought-provoking website. It has become an essential read for anyone interested in Thailand.

 

I am the author of a recent feature article in The Sunday Times Magazine magazine about Wat Phra Bat Nam Phu in Lopburi. The article has caused quite a controversy in Thailand, mostly because of a partial, provocative and amateurish translation in one of the Thai newspapers.

 

I am attaching a translation of the article, done by a professional translator, which I respectfully ask you to post in its entirety, to clear up any understanding and to ensure that the facts, rather than the errors, are debated.

 

I also encourage your readers to consult the original version in English, which can be found here:

 

http://www.timesonline.co.uk/tol/news/world/asia/article3721675.ece

 

Yours faithfully,

Andrew Marshall

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท