Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 พฤษภาคม 2551 กลุ่มประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 60 คน เดินทางมารวมตัวกันบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อขอพบนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นำโดยมีนายประวิทย์ ทองประสม ประธานกลุ่มประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ และนายจรัล ช่วยเอียด ที่ปรึกษากลุ่มประชาคมฯ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องกรณีเจ้าหน้าที่รัฐได้จับกุมผู้บุกรุกป่าต้นน้ำผาดำเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551โดยอ้างว่าอยู่ในเขตอำเภอสะเดา ไม่ใช่อำเภอคลองหอยโข่ง จึงไม่สามารถจับกุมได้ทั้งที่เป็นความผิดซึ่งหน้า


 


พร้อมกันนี้กลุ่มประชาคมฯ ได้ถือแผ่นป้ายโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้มีข้อความว่า "เราเอาป่าไม้ แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดสงขลาเราไม่เอา" "ทำไมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่กล้าจับผู้บุกรุกป่า หรือว่าจะมีผลประโยชน์ร่วมกัน" "ป่าต้นน้ำถูกทำลาย เจ้าหน้าที่ป่าไม้อยู่ที่ไหน ป่าไม้ฉิบหายหมดแล้ว" "เจ้าหน้าที่ไร้ความสามารถขี้ขลาด ขาดความรับผิดชอบ อย่ามาเป็นปอบลักลอบกินป่า" "ป่าหมดน้ำหมดเจ้าหน้าที่ใจคด ประชาชนหมดที่พึ่ง" และ"คนคลองหอยโข่งไม่ต้องการเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ไม่ทำงาน ไม่รับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง"


 


โดยกลุ่มประชาคมฯได้ ยื่นข้อสงสัยและข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ทำไมในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงสามารถออกบ้านเลขที่ได้ ใครเป็นผู้ออกให้ทั้งทีเป็นป่าต้นน้ำสำคัญ ป่าสงวนโซน เอ ข้อ 2 . กรณีพบผู้ต้องหาในพื้นที่ที่ได้ตรวจยึดไว้แล้ว ทำไมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ทำการจับกุม


 


ข้อ 3.เมื่อพบผู้กระทำผิดบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติแล้วไม่จับกุม เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ 4. เมื่อพบผู้กระทำผิดบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในเขตใด ท้องที่ใด อำเภอใด เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็สามารถจับกุมดำเนินคดีแก่ท้องที่ที่เกิดเหตุได้ใช่หรือไม่


 


จากนั้นเจ้าหน้าที่จังหวัดสงขลาได้ให้ทางกลุ่มประชาคมฯ ส่งตัวแทนเข้าพบที่ห้องรับรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และได้มีการพูดคุยกันฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมีนายสนธิ, นายธีรเทพ ศรียะพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอัครพล บุณยนิตย์ ปลัดจังหวัดสงขลา นายสุทธิ มโนธรรมพิทักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา และนายพิทยา รัฐกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 18 สงขลา


 


ส่วนฝ่ายประชาคมมีนายประวิทย์ และนายจรัล ใช้เวลาประชุมประมาณ 20 นาที มีข้อสรุปว่า ในพื้นที่ 600 ไร่ ที่ทางกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะกันไว้ทำหมู่บ้านป่าไม้ใหม่ ซึ่งยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น


 


ส่วนป่านอกเหนือจากนี้ทางอำเภอคลองหอยโข่ง ปลัดจังหวัด และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็จะดำเนินการผู้ที่ทำการบุกรุกอย่างเด็ดขาดตามแผนที่ที่มีอยู่ต่อไป โดยขอให้ทุกฝ่ายช่วยกัน และมีการเรียกร้องให้ทางกลุ่มประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐและร่วมมือกันเพื่อความสบายใจกันทุกฝ่าย


 


โดยหลังจากนี้หากมีปัญหาในพื้นที่ทางจังหวัดจะลงไปดำเนินการให้ตามกฎหมายโดยไม่ละเว้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาพร้อมที่จะลงไปแก้ไขปัญหาด้วยตนเองทุกเวลา ซึ่งกลุ่มประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำต่างพอใจและได้สลายตัวกลับเมื่อเวลา 10.30 น. วันเดียวกัน


 


สำหรับสาเหตุการชุมนุมครั้งนี้เนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 กองกำลังผสม ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอคลองหอยโข่ง ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และกลุ่มประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ ได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบพบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือสวนป่าสิริกิติ์ บริเวณน้ำตกผาดำ ซึ่งเป็นแหล่งป่าต้นน้ำ พบการบุกรุกแผ้วถางปลูกยางพาราและสวนผลไม้กว่า 5,000 ไร่ และมีการสร้างบ้านพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 30 หลังคาเรือน


 


โดยบางแปลงเคยถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตรวจยึดแล้ว แต่ผู้บุกรุกยังอยู่ในพื้นที่โดยไม่เกรงกลัวความผิด พร้อมทั้งอ้างว่า บ้านพักอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว มีบ้านเลขที่ชั่วคราว อยู่ในเขตอำเภอสะเดา หมู่ที่ 11 ต.ปาดังเบซาร์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงอ้างว่าไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ เนื่องจากอยู่คนละเขตอำเภอกัน คืออำเภอสะเดา ทำให้ไม่มีการดำเนินการใดๆกับผู้กระทำผิดได้


 


นั่นจึงทำให้กลุ่มประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำไม่พอใจ จึงได้รวบรวมเครือข่ายกว่า 100 คน เข้าพบนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาดังกล่าว พร้อมกับนำหลังฐานต่างๆ มาให้เพื่อดำเนินการกับเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่


 


ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีนโยบายให้ขับไล่ผู้บุกรุกป่าเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัด พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายร่วมกันจับกุมผู้บุกรุกป่าและให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดทุกราย


 


นายประสิทธิ์ ประทุมทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.คลองหอยโข่ง เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ชาวบ้านทุกคนทราบดีว่า มีการปลูกสร้างที่พักอาศัยและบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือสวนป่าสิริกิติ์ และพื้นที่หมู่ที่ 6 ด้วย แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้กลับบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใน อ.สะเดา เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และชี้หลักฐานอันเป็นเท็จ โดยทำให้พื้นที่หมู่ที่ 6 ต.คลองหอยโข่ง ไปอยู่ในเขต อ.สะเดาแล้ว ทำให้น้ำตกผาดำใน อ.คลองหอยโข่ง ไปอยู่ในเขต อ.สะเดาด้วย


 


ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานของหน่วยงานที่ดูแลและรับผิดชอบในการป้องกันและปราบปรามและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐและการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ครั้งที่ 2 โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้า


 


โดย ดีเอสไอได้แบ่งกลุ่มกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา 5 ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ ด้านการป้องกันการบุกรุกที่ป่า ด้านการปราบปรามการบุกรุกที่ดินของรัฐ ด้านการปราบปรามการบุกรุกที่ป่า และด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกที่ดิน


 


สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่พบ ได้แก่ การปราบปรามของเจ้าหน้าที่ไม่มีการป้องกันการกระทำผิดในอนาคตอย่างเป็นระบบ เพราะไม่มีอำนาจในการออกเอกสารสิทธิ โดยคิดเห็นของแต่ละหน่วยงานแตกต่างกัน เช่นกฎหมายไม่สอดคล้องกับความขัดแย้ง ต่างคนต่างทำงาน กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงจากบุคคลภายนอก แผนที่ภาพถ่ายของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในเขตแดนที่แท้จริง


 


นอกจากนี้ในที่ประชุมยังเสนอแนวทางการแก้ไขในประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาดูแลที่ดินของรัฐ หามาตรการในการจำหน่าย ส.ค. 1 หรือหลักฐานที่ดินเดิมอื่นๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการใช้ออกเอกสารสิทธิในพื้นที่หวงห้าม เพื่อป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐอย่างเป็นระบบ


 


นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบ่งกลุ่มแสดงความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ให้จัดสัมมนาครั้งใหญ่จนสามารถนำข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปแก้ไขเป็นรูปธรรมต่อไป


 


พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ต้องการให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบว่า มีพื้นที่เท่าใดและถูกบุกรุกเท่าใด ไม่ต้องการให้ปล่อยผ่านไป เพราะการบุกรุกพื้นที่รัฐและการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบส่งผลกระทบหลายอย่าง เช่น ใช้เงินน้อยก็ได้โฉนดที่ดินที่มีมูลค่ามากกว่า บางแห่งนำเอกสารสิทธิที่มิชอบไปกู้เงินจากธนาคารได้ 10,000 ล้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net