Skip to main content
sharethis

วานนี้ (6 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ศาลปกครองกลาง นัดฟังคำพิพากษา ในคดีฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยงานผู้เชียวชาญด้านมลพิษ จากกรณีสารพิษตะกั่วจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (แห่งประเทศไทย) จำกัด ปนเปื้อนและสะสมในลำห้วยคลิตี้ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของลำห้วย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้านในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง


จากการยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2547 ของชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่าง 13 คน โดยมีผู้รับมอบอำนาจคือนายสุรชัยตรงงาม นางสาวดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล และนายสรไกร ศรศรี คณะทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย กรณีหมู่บ้านคลิตี้ล่าง สภาทนายความ  เป็นคดีหมายเลขดำที่ 214/2547


ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยในคดีแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1.ประเด็นที่กรมควบคุมมลพิษละเลยต่อหน้าที่ในการประสานงาน และดำเนินการฟื้นฟู หรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าจนเกินสมควรนั้น ศาลพิพากษาว่ากรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วย ล่าช้าเกินสมควร เนื่องจากตั้งแต่ปี 2541ซึ่งเริ่มพบว่ามีการปนเปื้อนของสารตะกั่วจากบริษัทฯ จนกระทั่งปัจจุบันแม้จะมีการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังการปนเปื้อนอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณสารตะกั่วที่ปนเปื้อนในตะกอนดินท้องน้ำก็ยังคงอยู่ในปริมาณที่สูง


อีกทั้ง กรมควบคุมมลพิษยังละเลยหน้าที่ในการเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทฯ ที่เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ระบุไว้ตามมาตรา 97 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และข้อ 3(1) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2545


ประเด็นที่ 2 การชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งมีการฟ้องเพิ่มเติมในระหว่างการดำเนินคดี หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษยื่นคำให้การต่อศาลปกครองว่าได้ระงับแผนการฟื้นฟูลำห้วยด้วยการขุดลอกตะกอนดินท้องน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่วไปฝังกลบ โดยปล่อยให้ลำห้วยคลิตี้ซึ่งปนเปื้อนสารตะกั่ว ฟื้นฟูตัวเองโดยกระบวนการธรรมชาติ อีกทั้งมีผู้ฟ้องเข้ามาใหม่อีก 9 ราย รวมเป็น 22 ราย


ศาลตัดสินให้ กรมควบคุมมลพิษชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านผู้ฟ้องร้องทั้ง 22 คน ในส่วนภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ในอัตรารายละ 350 บาทต่อเดือน1 อีกทั้งยังต้องชดเชยในส่วนค่าเสียหายต่อสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ในอัตรารายละ 1,000 บาทต่อเดือน2 โดยชดเชยนับเป็นระยะเวลา 22 เดือน (ตั้งแต่ พ.ย.2545-27 ส.ค.2547 ซึ่งเป็นวันยื่นฟ้องคดีเพิ่มเติม) รวมค่าเสียหายต่อรายเป็นเงิน 33,783 บาท ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษต้องชดเชยรวมทั้งสิ้น 743,226 บาท


ส่วนค่าเสียหายต่อสิทธิในอนาคตที่มีการร้องขอนั้น ศาลพิพากษาตามการปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำที่เริ่มเจือจางลง และผู้ฟ้องคดีสามารถใช้น้ำจากลำห้วยได้บางส่วน อีกทั้งยังเป็นค่าเสียหายที่ยังไม่แน่ชัด ศาลจึงไม่สามารถคำนวณและกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้


นายสมพงษ์ ทองผาไฉไล อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หนึ่งในชาวบ้านผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ถือว่าชาวบ้านประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คือการที่พวกตนซึ่งได้ชื่อว่าชาวไทยภูเขาได้ต่อสู้คดีและได้รับการรับฟัง ซึ่งจะเป็นบทเรียนสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในการต่อสู่กับความไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ได้ในอนาคต ส่วนเงินชดเชยค่าเสียหายที่จะได้นั้นเป็นแค่เงินค่ากับข้าว ความจริงชาวบ้านอยากให้มีการฟื้นฟูสภาพลำห้วยคลิตี้ให้คืนมาใสสะอาดดังเดิมมากกว่า


ทุกวันนี้ชาวบ้านก็ยังคงต้องหวาดระแวงอยู่ เพราะหากในพื้นที่มีฝนตกจะทำให้ตะกอนสารพิษในลำห้วยคลิตี้ฟุ้งกระจายขึ้นมาได้ตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้น้ำ หรืองดหาปลาจากในลำห้วยได้ เพราะพวกเขาต้องอาศัยอยู่กินกับธรรมชาติ


"เงินที่ได้เป็นเงินชดเชย หากยังไม่มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รัฐจะชดเชยให้เราตลอดไปได้จริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่เราก็ยังต้องอยู่ที่นั้นตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน" นายสมพงษ์กล่าวถึงสารตะกั่วที่จะยังคงค้างอยู่ในลำห้วยหากไม่มีการลงมือจัดการฟื้นฟูจากภาครัฐอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวบ้านต้องสู้ต่อไป


ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และทนายความกรณีคลิตี้ กล่าวว่าในส่วนของคำตัดสินของศาลในการชดเชยค่าเสียหายต่อสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการเพิ่มบทบาทให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาก็คือศาลไม่ได้สั่งให้มีการฟื้นฟูลำห้วยให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ตามวัตถุประสงค์ของชาวบ้าน


ดังนั้นในส่วนของคดีคงต้องมีการพูดคุยกันถึงชั้นอุทธรณ์ ในเรื่องของการให้ฟื้นฟูลำห้วย เพื่อให้ชาวบ้านได้มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามกรมควบคุมมลพิษเองต้องตอบคำถามสังคม ในเรื่องการปฏิบัติงานในฐานะของหน่วยงานรัฐ ที่ล่าช้าในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ถึงแม้ศาลจะไม่ได้วินิจฉัยแต่การเร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้นั้นขึ้นอยู่กับกรมควบคุมมลพิษว่าจะเคารพสิทธิของประชาชนของ หรือจะใช้สิทธิและใช้อำนาจในหน้าที่ทำให้เกิดภาระต่อประชาชนอีกยาวนานเท่าไหร่


"ตอนนี้เราคงต้องรณรงค์ว่า 10 ปีพอหรือยัง สำหรับการที่ต้องรอให้เริ่มฟื้นฟู ต้องรออีกนานจนถึงเมื่อไหร่กรมควบคุมมลพิษจึงจะเริ่มดำเนินการ" นายสุรชัยกล่าว


นอกจากนี้นายสุรชัย ยังแสดงความเห็นต่อแผนการฟื้นฟูโดยการปล่อยให้ลำห้วยคลิตี้ซึ่งปนเปื้อนสารตะกั่วฟื้นฟูตัวเองโดยกระบวนการธรรมชาติกรมควบคุมมลพิษว่า ไม่ได้ให้ความชัดเจนในการแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้าน และไม่มีคำตอบที่แน่นอนว่าการฟื้นฟูจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ เป็นคำที่พูดแล้วดูดี แต่มันคือการไม่ได้ทำอะไรเลย


ทั้งนี้ การปนเปื้อนของตะกั่วจากหางแร่ตะกั่วที่โรงแต่งแร่ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยลงสู่ลำห้วยคลิตี้ (ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร) บริเวณผืนป่าตะวันตกติดเขตทุ่งใหญ่นเรศวร และไหลต่อเนื่องลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่ตั้งเหมืองเมื่อกว่า 20 ปี และมีการเผยแพร่เป็นข่าวทางสื่อมวลชนมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2541 จนปัจจุบันตะกอนสารพิษยังคงมีอยู่ในลำน้ำ


-------------------------------------


1 เป็นเงินรายละ 7,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 (1,058 บาท) รวมค่าเสียหายต่อรายคิดเป็นเงิน 8,758 บาท เมื่อคิดรวมผู้เสียหาย 22 คน ชดเชย 22 เดือน ค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 192,676 บาท


2 เป็นเงินรายละ 22,000 บาท พร้อมดอดเบี้ยรายละ 3,025 บาท รวมค่าเสียหายต่อรายคิดเป็นเงิน 25,025 บาท เมื่อคิดรวมผู้เสียหาย 22 คน ชดเชย 22 เดือน ค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 550,550 บาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net