เจาะชีวิตเหยื่อแห่งความรุนแรงที่บ้านตันหยงลิมอ-กูจิงลือปะ

ความรุนแรงและความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งให้ผู้หญิงกลายเป็นเหยื่อทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

 

บ้างเสียชีวิต บาดเจ็บ และไม่น้อยที่ถูกบั่นทอนจิตใจเพราะความหวาดกลัวและกังวลใจ หรือญาติพี่น้องต้องสูญเสียชีวิต บางคนถูกจับต้องคดี

 

อย่างกรณีเหตุการณ์สองนาวิกโยธินเสียชีวิตที่บ้านตันหยงลิมอ เมื่อปี 2548 และเหตุการณ์ครูจูหลิงเสียชีวิตที่บ้านกูจิงลือปะ เมื่อปี 2549

 

ในขณะที่ผู้กระทำความผิดเป็นชายฉกรรจ์ แต่เจ้าหน้าที่ต้องการสืบสาวราวเรื่อง จึงมีการจับกุมผู้หญิงไปด้วย ทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้หญิงเป็นผู้ต้องหาจำนวน 28 คน ขณะนี้คดีดำเนินมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว

 

ย้อนเหตุการณ์สะเทือนขวัญของคนทั่วประเทศ สองนาวิกโยธินเสียชีวิต เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 ที่บ้านตันหยงลิมอ หมู่ที่ 4 ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

 

สืบเนื่องจากมีเหตุยิงชาวบ้านที่ร้านน้ำชา ในหมู่บ้านที่ส่งผลให้ชาวบ้านเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 4 คน ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านสงสัยเจ้าหน้าที่สองนาวิกโยธินดังกล่าว มีส่วนพัวพันกับเหตุกราดยิงที่ร้านน้ำชาจึงจับทั้งสองเป็นตัวประกัน

 

กระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้น มีผู้หญิงจำนวน 100 กว่าคนออกมาชุมนุม ห้ามเจ้าหน้าที่เข้าไปในที่เกิดเหตุ ในระหว่างการเจรจานั้น มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันชายฉกรรจ์บุกเข้าไปทำร้ายสองนาวิกโยธินจนเสียชีวิต

 

ในที่สุดเจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการตรวจค้นบ้าน ในหมู่บ้านตันหยงลิมอ และจับกุมชาวบ้านทั้งหมด 12 คน ประกอบด้วยผู้ชาย 7 คน และผู้หญิง 5 คน มีเด็กเล็ก 2 คนติดแม่ไปด้วย ขณะถูกควบคุมตัว

 

หลังการฝากขัง 84 วัน ทั้งหมดได้รับการประกันตัว แต่ด้วยบรรยากาศในหมู่บ้านค่อนข้างอึมครึม หลังจากเกิดเหตุการณ์วันที่ 20 กันยายน 2548 มีชาวบ้านและผู้นำชุมชนถูกยิงเสียชีวิตแล้ว 10 คน

 

รวมทั้งมีชาวบ้านนอกพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐมาเสียชีวิตในพื้นที่หมู่บ้านนี้ด้วย ส่งผลให้สภาพจิตใจของพวกเขายังคงหวาดกลัวและกังวลใจอยู่ไม่เลือนหาย

 

ผู้ต้องหาหญิงคนหนึ่งเล่าว่า "ไม่ทันที่แผลเก่าจะหาย เหตุการณ์ใหม่ก็เกิดอีกครั้งซ้ำๆ พอทำท่าจะกินข้าวได้เต็มที่และอร่อย ไม่ทันไรเหตุร้ายก็เกิดขึ้นอีก เสียง ตู้ม! ต้าม! ตกใจตลอด ทำให้จิตใจย่ำแย่ กินข้าวไม่ค่อยลง น้ำหนักก็ลด เพราะยังรู้สึกกลัว และกังวลใจว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร" ผู้ต้องหาหญิงเล่าความรู้สึกให้ฟังอย่างเหนื่อยใจ และบอกว่า

 

เมื่อประมาณวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตันหยงลิมอและลูกชาย ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าร้านน้ำชาที่เกิดเหตุ เธอเล่าพร้อมชี้ไปข้างหน้าในขณะที่เรานั่งอยู่ในร้านน้ำชา

 

นอกจากนั้น เมื่อเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงเดือนก่อนถือศีลอดของปีที่แล้ว "ต่วนอิปเร นิกาจิ" ถูกยิงเสียชีวิต หลังจากถือศีลอดได้ 15 วัน "นายมะกอเซ็ง อาแวกะจิ" หนึ่งในผู้ต้องหาคดีตันหยงลิมอก็มาถูกยิงเสียชีวิตอีกคน ในบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งอยู่ติดกับมัสยิด

 

เหตุร้ายล่าสุดมีทหารพรานถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551 ลูกชายวัย 9 ขวบ บอกว่า นอนไม่หลับเพราะกลัว เธอเล่าและกอดลูกชายที่นั่งอยู่ข้างๆ

ส่วนการดำเนินคดีตันหยงลิมอ ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนปี 2548 รวมเวลา 3 ปีกว่าแล้วนั้น จากช่วงแรกทำท่าว่าจะเสร็จโดยเร็ว แต่เมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มอีก 3 คน และตั้งข้อหาเพิ่ม ทำให้คดีล่าช้า อีกทั้งพยานฝ่ายโจทก์ไม่สามารถมาให้การได้ตามกำหนด ในขณะที่ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน มีพยาน 4 - 5 ปาก รวมพยานฝ่ายโจทก์ประมาณ 60 - 75 ปาก ยังไม่ได้ขึ้นให้การกับศาล

 

"ตอนแรกต้องไปที่ศาลบ่อยมาก เดือนหนึ่งไป 3 - 4 ครั้ง และลดลง กระทั่งล่าสุดเราไปที่ศาลวันที่ 21 กรกฎาคม 2550 และนัดถัดมาวันที่ 21 เมษายน 2551 ห่างกันถึง 9 เดือน ขณะที่หลายครั้งที่ไป พยานฝ่ายโจทก์ไม่สามารถมาได้ ทำให้เราต้องเดินทางโดยเปล่าประโยชน์" เธอเล่า

 

สำหรับผู้ต้องคดีแล้ว อยากให้คดีสิ้นสุดในเร็ววัน จะได้เป็นที่รู้ชัดว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็ต้องหวาดกลัวกับอำนาจนอกกฎหมาย เพราะขณะนี้ผู้ต้องคดีเดียวกันถูกยิงเสียชีวิตแล้ว 1 คน

 

นางสาวบุษบา ฉิมพลิกานนท์ ทนายความ จากสภาทนายความ กล่าวว่า สาเหตุที่ทั้งสองคดีล่าช้าเนื่องจากว่า มีผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมเพิ่มเติม จึงต้องรอสำนวนใหม่ บางคดีก็มีการเพิ่มข้อหาอีกด้วย อย่างกรณีกูจิงลือปะ

 

หลังจากที่ครูจูหลิงเสียชีวิตก็มีการเพิ่มข้อหา ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดต้องไปดูในเอกสารเพิ่มเติม ส่วนการสืบพยานมีการเลื่อนอยู่บ่อยครั้ง เพราะบางครั้งพยานโจทก์ไม่ว่าง หรือสำนวนคดีไม่เสร็จ ซึ่งทนายหรือจำเลยจะโทษความล่าช้าไม่ได้ เพราะว่าจำเลยทุกคนได้รับการประกันตัวออกหมดแล้ว

 

เช่นเดียวกัน กับผู้ต้องหาคดีกูจิงลือปะ ที่การดำเนินคดียังไม่สิ้นสุด เพราะมีการจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มและมีการเพิ่มข้อหาอีกด้วย เนื่องจากครูจูหลิงที่ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส ได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 ทำให้ผู้ต้องคดีมีความกังวลใจเพิ่มขึ้น

 

ทั้งที่ครูสิรินาฎ ซึ่งชาวบ้านจับเป็นตัวประกัน ได้ให้การหลังจากที่เห็นผู้ต้องหาทั้งหมดว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ร้ายวันนั้น! และผู้หญิง 19 คน ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดอีกด้วย

 

สำหรับเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 ที่บ้านกูจิงลือปะ หมู่ที่ 4 ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ครูไทยพุทธ จูหลิง ปงกังมูล และครูสินินาฎ ถาวรสุข ถูกจับเป็นตัวประกันและถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส

 

เหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังเข้าไปจับกุมผู้ต้องหาสองคนที่หลบซ่อนอยู่ในหมู่บ้าน จนเกิดเหตุชุลมุน ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจับครูทั้งสองเป็นตัวประกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสอง ระหว่างการเจรจาครูทั้งสองคนถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส

 

ต่อมา มีการจับกุมกลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้านทั้งหมด 22 คน มีเด็กเล็กเข้าไปในที่ควบคุมตัว 3 คน ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้มีลูกอายุต่ำกว่า 11 ปี รวมแล้วเกือบ 30 คน เด็กที่อายุน้อยที่สุด 2 เดือน คูไซมะห์ แม่ของเด็กคนนี้ ถูกควบคุมตัว 14 วัน นับว่าน้อยกว่าคนอื่น แต่เมื่อกลับถึงบ้านลูกน้อยก็ไม่กินนมเธอแล้ว

 

การเดินทางไปขึ้นศาลเพื่อสู้คดี จำเป็นต้องใช้เงิน พวกเขาทำอาชีพกรีดยางและปักผ้าคลุมเสริมรายได้

"อย่างกะ (เรียกชื่อแทนผู้หญิงที่มีวัยกลางคน) บีด๊ะ แมเราะ อายุ 44 ปี มีลูก 6 คน มีครอบครัวแล้ว 1 คน เป็นทหารเกณฑ์ 1 คน และกำลังเรียนหนังสือ 1 คน นอกนั้นอยู่บ้านและช่วยเธอกับสามีทำงานที่บ้าน"

 

บีด๊ะ มีความเชี่ยวชาญเรื่องการปักผ้าคลุม ชาวบ้านต่างร่ำลือว่า เธอปักผ้าคลุมสวยมาก เพราะทำมานาน แต่รายได้ไม่ได้มากเท่าที่ควร หากเทียบกับพื้นที่ชายแดนอย่างอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ค่าจ้างจะสูงกว่า อาจเป็นเพราะค่าขนส่งไปมาเลเซียแพงกว่าเพราะอยู่ไกล ค่าแรงจึงต้องลดตามไปด้วย

 

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนยิ่งอยู่ไกลความเจริญมีทางเลือกในชีวิตน้อยกว่า กลับได้ค่าแรงน้อยกว่า ทั้งที่ทำงานเท่ากัน

 

"กะเพิ่งกลับจากกรีดยาง กลับมาเร็วเพราะมีต้นยางนิดเดียวเอง วันหนึ่งได้ประมาณ 100 กว่าบาท จึงต้องปักผ้าคลุมเสริมด้วย รายได้ผ้าคลุมต่อวัน 200 - 300 บาท เพราะมีลูกช่วยด้วย" เธอชี้ไปที่เครื่องปักผ้าคลุมที่มีอยู่ 2 เครื่องในบ้าน

 

ลูกๆ ของเธอที่เรียนสูงที่สุด คือ มัธยมต้น นอกนั้นเรียนจบประถมปีที่ 6 และออกมาทำงานเลี้ยงชีพด้วยการกรีดยาง

ลูกสาวของเธออายุ 17 ปี กำลังจะต่อมัธยมปีที่ 4 แต่เพราะช่วงเกิดเหตุการณ์ร้ายวันนั้น บีด๊ะกับสามี ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ถูกจับกุมอยู่ในเรือนจำเกือบ 3 เดือน ลูกๆ ต้องกระจัดกระจายไปอาศัยกับญาติๆ  จึงไม่มีใครดูแลส่งเสีย ช่วงนั้นอยู่ในระหว่างการสมัครเรียนต่อระดับมัธยมปลาย เธอจึงต้องหยุดเรียนทันที

 

กะบีด๊ะ บอกว่า ลูกสาวอยากเรียนต่อ แต่เพราะเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันเรียนได้ครึ่งทางแล้ว เมื่อเธอกลับมาลูกสาวจึงไม่อยากไปเรียน และเธอก็บอกปัดว่า หากจะให้เรียนต่อก็คงไม่ไหวเพราะรายได้คงไม่เพียงพอในการส่งลูกเรียน แม้ว่าจะมีแค่คนเดียวกำลังเรียนหนังสือประถมปีที่ 3 และอีก 3 คน ซึ่งอยู่บ้านก็ต้องใช้ ต้องกิน เสียค่าอาหารเหมือนกัน

 

นอกจากปัญหาเรื่องปากท้องแล้ว ปัญหาทางจิตใจก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

 

อย่างกรณี นางซูไบด๊ะห์ จอแม อายุ 37 ปี ต้องทำงานกรีดยางเพื่อเลี้ยงลูก 5 คน ตั้งแต่อายุ 3 - 13 ปี ตามลำพัง รวมทั้งต้องเลี้ยงดูพ่อและแม่วัยชราที่มีอาการผิดปรกติอีกด้วย  โดยเฉพาะแม่ที่มีอาการเครียดมาก

 

หลังจากที่ซูไบด๊ะห์ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกจับกุมเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน แม่ของเธอต้องเลี้ยงหลานทั้งหมด 5 คน ขณะนั้นเหตุการณ์ในหมู่บ้านไม่ค่อยสงบ เพราะมีเจ้าหน้าที่มาลาดตระเวนและตรวจค้นอยู่บ่อยครั้ง

 

พร้อมกันนั้นมีคนแปลกหน้าเข้าไปเยี่ยมด้วย ทำให้แม่ของเธอต้องทนทุกข์กับวันที่โหดร้ายและน่ากลัว มีอาการหวาดกลัว ไม่อยากพูดคุย และไม่อยากพบเจอใคร แม้แต่คนที่เคยรู้จัก  เว้นแต่ลูกสาวของเธอ ซูไบด๊ะ เท่านั้น

 

แม้ว่า ผู้ต้องหาหญิง ทั้งสองหมู่บ้านนี้จะได้รับการประกันตัวให้เป็นอิสระแล้ว หรือแม้เธอจะเป็นจำเลยในคดีสะเทือนขวัญนี้ก็ตาม หรือพวกเธอจะเป็นคนกระทำผิดหรือไม่อย่างไร แต่พวกเธอเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่ควรใส่ใจ

 

หลายคนอาจเป็นคนบริสุทธิ์ ที่สังคมตัดสินไปแล้ว ภายใต้การดำเนินการของกระบวนการยุติธรรม ชีวิตต้องตกระกำลำบาก โดยสังคมไม่เหลียวแล

 

บางคนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรง แต่นานก็ไม่ใช้เหตุผล อันควรจะผลักไสคนเหล่านี้ ให้จมอยู่กับการใช้ความรุนแรง แต่ควรต้องหาหนทางให้พวกเขา พ้นจากวังวนแห่งความรุนแรง

 

ด้วยเพราะผู้กระทำความรุนแรง ย่อมเป็นเหยื่อความรุนแรงเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท