Skip to main content
sharethis


วานนี้ (9 พ.ค. 51) เวลา 11.00 น. กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์และเครือข่ายประชาธิปไตย ได้เดินทางมายื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลพม่า และได้จัดกิจกรรมหน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ถ.สาทรเหนือ โดยได้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญพม่า การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการแก้ปัญหาภัยพิบัติพายุไซโคลนนาร์กีสถล่ม จากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งช่วยประสานงานรับเรื่องยื่นหนังสือกับเจ้าหน้าที่สถานฑูตพม่าประจำประเทศไทย แต่ปรากฏว่าไม่มีตัวแทนสถานทูตคนไหนออกมารับหนังสือดังกล่าว หลังจากนั้นผู้ชุมนุมได้ร่วมกันเผาป้ายที่มีข้อความว่า "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหารพม่า" พร้อมกับชูป้ายภาษาอังกฤษที่มีข้อความว่า "HELL NO" ซึ่งมีความหมายว่า อย่าให้พม่าเป็นนรก


ด้านนายภูมิวัฒน์ นุกิจ ผู้ประสานงานจัดกิจกรรม ได้ แสดงความเห็นว่า " กิจกรรม วันนี้มีสองประเด็นใหญ่ๆ คือ หนึ่งยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลพม่า ให้เลื่อนการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหารซึ่งใช้เวลาร่างถึง 20 ปีนี้ ออกไปก่อน และควรคืนอำนาจให้ประชาชนชาวพม่าด้วยการสร้าง การมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และขอให้รัฐบาลพม่าเปิดรับการช่วยเหลือด้านการบรรเทาสาธารณภัยจากนานาชาติ โดยไม่ควรมองแง่ลบว่าประเทศอื่นจะเข้าไปแทรกแซงทางการเมือง โดยขอให้เห็นแก่ประชาชนผู้สูญเสียจากภัยพิบัติบ้าง และขอวิจารณ์ การแก้ปัญหา มาตรการเตือนภัยล่วงหน้า การอพยพผู้คน เพื่อป้องกันการสูญเสียจากภัยพิบัติของรัฐบาลทหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ และสองขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยอย่าทอดทิ้งพี่น้องประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน"


หลังจากนั้นได้มีการอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ และแถลงเปิดศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในพม่า (ประจำประเทศไทย) เพื่อระดมความช่วยเหลือเฉพาะด้านสิ่งของ เครื่องนุ่งห่ม เต้นท์สนาม ยารักษาโรค อาหารประเภทแห้ง และน้ำดื่ม ไปยังผู้ประสบภัยพิบัติในประเทศพม่า






แถลงการณ์ กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์


สนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนในพม่า


คัดค้านรัฐธรรมนูญเผด็จการทหาร และขอไว้อาลัยแด่ผู้สูญเสียจากภัยพิบัติ


นับตั้งแต่เจ้าอาณานิคมอังกฤษคืนอิสรภาพให้แก่ประเทศพม่า เมื่อปีพ.ศ.2491 แต่กลับกลายเป็นเอกราชที่นำมาซึ่งสงครามภายในระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ เมื่อนายพล ออง ซาน ผู้นำการเรียกร้องเอกราชถูกลอบสังหาร และนายพลเนวินได้ขึ้นสู่อำนาจแทนพร้อมกับการไม่ยอมรับสัญญาปางโหลงที่นายพล ออง ซาน ลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำไทยใหญ่ ฉิ่น และคะฉิ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2489 ซึ่งเป็นสัญญาที่ยินยอมให้ชนชาติกลุ่มน้อยต่างๆปกครองตนเอง ภายหลังได้รับเอกราชแล้วเป็นเวลา 10 ปี


การยึดอำนาจ รัฐประหาร โดยอยู่ภายใต้การปกครองแบบผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จของนายพลเนวิน ได้เกิดการต่อสู้ระหว่างชนชาติกลุ่มน้อยต่างๆ และดำเนินสงครามอย่างต่อเนื่อง จนต้องเผชิญภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ทำให้พม่าถูกนับเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก จนรัฐบาลนายพลเนวิน ต้องประกาศลดค่าเงินจ๊าต (Kyat) ในเดือนกันยายน 2530 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมประท้วงของประชาชนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531 (8/8/1988) ซึ่งนักศึกษาและประชาชนชาวพม่าได้ออกมาชุมนุมกันอย่างสงบสันติ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าหลังจากที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมานาน และฝ่ายรัฐบาลทหารได้ต้อนรับการชุมนุมโดยการส่งกองกำลังติดอาวุธนับพันนายออกมาปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนพม่าตามเมืองต่างๆ เหตุการณ์จบลงด้วยการสังหารโหด และเข่นฆ่าอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 4 วันเต็ม ตามมาด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้งของกลุ่มนายทหารที่เรียกตัวเองว่า "สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ (The State Law and Order Restoration Council- SLORC)"


หลังจากนั้นรัฐบาลทหาร SLORC ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า ซึ่งในครั้งนั้นพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy-NLD) นำโดยนางอองซาน ซูจี ได้ชนะการเลือกตั้งโดยได้คะแนนเสียงมากที่สุด และมีความชอบธรรมที่จะรับหน้าที่เข้ามาบริหารประเทศ แต่รัฐบาลทหารกลับบิดพลิ้ว ไม่ยอมให้อำนาจแก่พรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกมา และได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง โดยได้มีการควบคุมตัวและจับกุมคุมขัง ปราบปราม นักการเมือง นักกิจกรรมและประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ มาโดยตลอดระยะเวลา 20 ปี เพื่อยืดเวลาในการสร้างโมเดลการปกครองแบบใหม่ในพม่า ซึ่งต่อมา "สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ (The State Law and Order Restoration Council- SLORC)" ได้เปลี่ยนชื่อและโครงสร้างอำนาจใหม่เป็น "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council ; SPDC)" ขึ้นแทน


สถานการณ์ทางการเมืองและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในพม่ายังคงอยู่ในวังวนอำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหารอยู่เช่นเดิม โดยไม่สนใจต่อกระแสการกดดันของประชาคมทั่วโลก เท่านั้นยังไม่พอ กระบวนการรักษาอำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ กล่าวได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญพม่า ฉบับที่จะลงประชามติในวันที่ 10 พ.ค. 2551 นี้ ใช้เวลาในการยกร่างนานถึง 20 ปี และที่มาของรัฐธรรมนูญ และกระบวนการลงประชามติ ตลอดจนเนื้อหาในรัฐธรรมนูญของพม่ามีส่วนคล้ายคลึงกับ รัฐธรรมนูญฉบับ คมช. 2551 ของไทยอย่างมาก กล่าวได้ว่าในพม่ามีฉบับเกลียดนักการเมืองแบบนางออง ซาน ซูจี ในไทยมีฉบับกึ่งอำมาตยาธิปไตยกึ่งประชาธิปไตย..ปัญหาคือในแต่ละประเทศผู้ใดเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง และคนกลุ่มไหนเป็นผู้ผูกขาดอำนาจอธิปไตยนั้นไว้?


กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ในฐานะประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอประณามการแก้ปัญหาสันติภาพในพม่า และขอเรียกร้องต่อประชาคมโลก ไปจนถึงประชาชนในพม่าให้ร่วมใจผนึกกำลังกัน คัดค้านต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชน ตลอดถึงกระบวนการและเนื้อหาในรัฐธรรมนูญของพม่า ที่ยังคงให้อำนาจคณะรัฐบาลเผด็จการทหารผูกขาดประชาธิปไตยไว้ในอุ้งเท้าตัวเอง และกดขี่คุกคามประชาชนในประเทศตนเองมาตลอดระยะเวลายาวนาน ทั้งนี้ทางกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ขอสนับสนุน และให้กำลังใจแด่พี่น้องประชาชนชาวพม่า ที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศของตนเองจากการปกครองภายใต้ระบอบอำนาจเผด็จการทหาร ไปสู่ประชาธิปไตย อันมีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง


พร้อมกันนี้ขอแสดงความเศร้าเสียใจต่อประชาชนเพื่อนบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ "พายุไซโคลน นาร์กีส" และขอประณามการแก้ปัญหา การเตือนภัยล่วงหน้า การอพยพโยกย้ายผู้คน เพื่อป้องกันภัยพิบัติในพม่าของรัฐบาลทหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ อันนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนชาวพม่า...เมื่อดวงตะวันยังฉายแสงจงลุกขึ้นสู้ต่อไป


ประชาธิปไตยไม่เคยได้มาจากการร้องขอ


ณ สถานทูตพม่าประจำประเทศไทย


9 พฤษภาคม 2551


กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ www.nocoup.net


 






ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในพม่า (ประจำประเทศไทย)


49/717 ซ.ราชวิถี1 ถ.รางน้ำ เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร083-606-8249


Email: way_life_@hotmail.com / www.9dern.com


 


เรียน   พี่น้องชาวไทยร่วมส่งแรงใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในประเทศเพื่อนบ้าน


 


เมื่อวันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2551 เวลา 05.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 04.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย 'พายุไซโคลน นาร์กีส ' ได้พัดเข้าถล่มประเทศพม่า ในหลายพื้นที่ติดต่อกัน รวมทั้งเมืองใหญ่เช่น ย่างกุ้ง อิระวดี พะโค รวมถึงรัฐมอญและรัฐกระเหรี่ยง ฯลฯ หลังพายุสงบลงรัฐบาลพม่าได้ประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน ในหลายพื้นที่ หลังถูก "พายุไซโคลน นาร์กีส" พัดถล่มด้วยความเร็วลม แรงสูงสุด 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลทำให้บ้านเรือนหลายหมื่นหลังคาเรือนเสียหาย และกระแสไฟฟ้า น้ำประปา สายโทรศัพท์ถูกตัดขาด นอกจากนี้แรงพายุยังส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีล่าสุดจำนวนถึง 22,000 ราย มีผู้บาดเจ็บและสูญหายจำนวนมากถึง 41,000 คน และทำให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยถึง 1 ล้านกว่าคน  ถือว่าพายุโซนร้อนหรือพายุไซโคลน นาร์กีส นี้ มีความรุนแรง มากกว่า "ภัยพิบัติคลื่นสึนามิ" ที่เข้าถล่มประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านแถบชายทะเลอันดามัน และเกาะสุมาตราหลายเท่าตัว


 


ในฐานะประชาคมโลก จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยทั่วประเทศ พร้อมใจกันสนับสนุนให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านเท่าทีพอช่วยเหลือได้ ในภาวะที่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ได้เผชิญความยากไร้ลำเค็ญ สิ้นเนื้อประดาตัว


 


เบื้องต้นจึงขอความกรุณามายังพี่น้องประชาชนชาวไทย ร่วมส่งกำลังใจไปช่วยเหลือผู้สูญเสียที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ด้วยการร่วมกันบริจาค ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องนุ่งห่ม(ที่ใช้แล้วหรือยังไม่ได้ใช้) ยาเวชภัณฑ์(ที่ยังไม่หมดอายุ) เพื่อส่งไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้เพื่อนบ้านของเรา ได้ฟื้นตัวขึ้นได้จากความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยสามารถส่งสิ่งของได้ตามที่อยู่ข้างต้น


 


ด้วยความขอบคุณในจิตไมตรี


 


คณะทำงานศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในพม่า(ประจำประเทศไทย)


 


นายอรรณพ นิพิทเมธาวี


นายปกป้อง เลาวัณย์ศิริ


นายสิทธิพร จรดล


นายภูมิวัฒน์   นุกิจ  ผู้ประสานงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net