Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวประชาธรรม


วานนี้(13 พ.ค.) ที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ ชาวนา ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ จำนวน 12 หมู่บ้าน กว่า 100 คน รวมตัวชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือ ในกรณีที่ข้าวซึ่งกำลังอยู่ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวมีราคาตกต่ำ จนชาวนาไม่อาจรับภาระต้นทุนการผลิต โดยขอให้ทางจังหวัดประกันราคาข้าวขั้นต่ำ


 


นายจำรัส ลุมมา ประธานกลุ่มเกษตรหนองแฝกพัฒนา และกลุ่มชาวนาผู้ปลูกข้าวแม่แฝก ต.แม่แฝก อ.สันทราย กล่าวว่า ตอนนี้เริ่มถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ชาวนาบางรายได้เกี่ยวข้าวกันไปบ้าง และแม้ว่าราคาข้าวในท้องตลาดจะสูง แต่ชาวนาขายข้าวได้ราคาต่ำ ซึ่งทางโรงสีข้าวมีการกดราคาข้าว เพราะจะมีการฮั้วกันตั้งแต่พ่อค้าที่ส่งข้าวไปให้โรงสี หากชาวนาเอาไปขายก็จะได้ราคาถูกกว่าที่พ่อค้าเอาไปขายให้ โรงสีกำหนดมาเลยว่าเขาไปซื้อที่ท้องนาในราคา 5.80 บาทกิโลกรัม ถ้าชาวนาเอาไปขายเองก็ได้ราคาเท่ากัน โรงสีกดราคาอยู่เรื่อย ๆ อย่างเมื่อวานตนทราบว่าเขาให้ราคาเพียงแค่ 5.40 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ราคาที่เขาให้ลดลงทุก ๆ วัน วันละ 20 สตางค์ ถ้าเห็นว่าท้องฟ้ามันมืด ฝนจะตกราคาข้าวก็จะลดลงเรื่อยๆ เพราะว่าข้าวจะชื้น เขาไม่มีราคาขั้นต่ำที่กำหนดเอาไว้เลย


 


นายจำรัส กล่าวต่อว่า การชุมนุมในวันนี้มีข้อเสนอที่เราเรียกร้องต่อทางหน่วยงานราชการที่เข้าร่วมเจรจาในวันนี้มี 4 ข้อใหญ่ ๆ คือ 1.ให้ประกันราคาข้าวเปลือกในราคากิโลกรัมละ 9 บาท 2.ขอให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลผลผลิตที่ได้ และควบคุมเครื่องชั่งให้ได้มาตรฐาน 3.ขอให้ทางจังหวัดช่วยควบคุมราคาปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง และหาปุ๋ยราคาถูกเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับเกษตรกร และสุดท้ายขอให้ทาง ธกส.ช่วยเหลือในกรณีที่เกษตรกรมีความเดือดร้อนเรื่องหนี้สิน ให้ขยายเวลาในการชำระหนี้ โดยที่ไม่มีดอกเบี้ยเพิ่ม


 


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเจรจาระหว่างผู้แทนชาวบ้านกับส่วนราชการโดยมีนายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็มีการตอบรับข้อเสนอทุกข้อ เพียงแต่ในข้อเรียกร้องหลักของชาวบ้านคือให้มีการรับซื้อข้าวเปลือกในราคากิโลกรัมละ 9 บาทนั้น ทางจังหวัดอ้างว่าไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ทางพาณิชย์กำหนดมาว่าให้รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 7 บาท โดยจะให้พ่อค้าจากภาคกลางมารับซื้อไป


 


กรณีดังกล่าว นายจำรัส กล่าวว่า ราคาที่ทางจังหวัดเสนอให้มาที่ 7 บาทนั้นถูกเกินไป ชาวบ้านไม่สามารถจะอยู่ได้ ได้เพียงต้นทุนในการปลูกข้าวเท่านั้น กำไรไม่ได้ ค่าดอกเบี้ยก็สูง หาก 9 บาทเงินก็จะเหลือบ้าง ซึ่งหากเป็นแบบนี้ ชาวบ้านจะกลับมาชุมนุมอีกครั้ง หากว่าข้อสรุปสุดท้ายนั้นไม่ได้ราคา 9 บาทอย่างที่ต้องการ ก็อาจมรการชุมนุมใหญ่อีกครั้ง อาจมีชาวนาจากหลาย ๆ พื้นที่


นอกจากนี้ วานนี้(12 พ.ค.) ที่ จ.เชียงราย ชาวนากว่า 2,000 คน จาก อ.พาน ได้รวมตัวปิดถนนบริเวณบ้านแม่คาวโตน ช่วงระหว่าง อ.พาน กับ อ.เมืองเชียงราย เพื่อเรียกร้องให้โรงสีข้าวรับซื้อข้าวในราคาที่เป็นธรรม


 


นายบุญเสริม ใจวังเย็น ตัวแทนชาวนา ต.ทรายขาว อ.พาน กล่าวว่า เหตุหลักที่ต้องออกมาชุมนุมคือการเจรจาระหว่างตัวแทนชาวนากับพาณิชย์จังหวัดเมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมาได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ กล่าวคือชาวนาเรียกร้องให้ทางจังหวัดรับซื้อผลผลิตในส่วนที่เป็นข้าวเหนียวราคาเกวียนละ 10,000 บาท ซึ่งปัจจุบันชาวนาขายได้เกวียนละเพียง 6,000 บาทเท่านั้น ในส่วนของข้าวเจ้าก็ขอให้รัฐบาลรับซื้อในราคาเกวียนละ 15,000 บาท แต่ในการเจรจาปรากฏว่าทางพาณิชย์จังหวัดไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้ บอกแต่เพียงว่าอำนาจในการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่หน่วยงาน จึงส่งเรื่องขึ้นไปเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด


 


"เราไม่สามารถทนรับกับภาวะที่ขายข้าวราคาต่ำได้ ดูจากการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ หรือการขายปลีกในประเทศที่มีราคาสูง แต่ว่าทางต้นทางนั้นกลับขายได้ในราคาต่ำ ข้าวสารที่ขายนั้นราคา 10-20 บาท แต่ราคาข้าวเปลือกที่รับซื้อราคานั้นแสนถูก 5-6 บาทก็มี ซึ่งมันมีช่วงที่แตกต่างระหว่างราคา 2 อย่างนี้มากมาย ต้นทุนที่เราแบกรับก็สูงมากปุ๋ยก็แพง ยาก็แพงอีก ต้นทุนของเรานั้นไร่ 1 ก็ตกประมาณ 4,000-5,000 บาท เวลาไปขายก็ได้น้อยลงไปอีก ทางภาคเหนือของเราผลผลิตที่ได้มันน้อยกว่าที่อื่น 1 ไร่ จะได้ผลผลิตเพียง 700-800 กิโลกรัมเท่านั้น" นายบุญเสริม กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในการเจรจาร่วมกับนายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ที่เกิดขึ้นนั้นพบว่าข้อเสนอของชาวบ้านได้รับการปฏิเสธ เพราะกระทรวงพาณิชย์ยืนยันให้โรงสีข้าวรับซื้อข้าวเหนียวนาปรังความชื้นไม่จำกัดในราคาตันละ 7,000 บาท และข้าวเหนียวนาปรังที่ความชื้น 15% รับซื้อในราคา 8,200-8,500 บาท และสามารถให้โรงสีนั้นซื้อข้าวข้ามเขตได้ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเรียกร้องของชาวบ้าน.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net