รัฐปรับแผนเตือนภัยรับมือ "ดินถล่ม-น้ำท่วม-มรสุม"

ภายหลังพายุไซโคลนนาร์กิสถล่มพม่า ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตและสูญหายกว่าแสนราย ระยะเวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์ แผ่นดินไหวขนาด 7.78 ริกเตอร์ ก็เขย่ามณฑลเสฉวนของจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉียดหมื่นราย

 

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหลายครั้ง และแต่ละครั้งมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักวิชาการออกมาเรียกร้องระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติแบบคาดไม่ถึง ซึ่งเชื่อว่านับจากนี้มนุษยชาติต้องรับมือภัยพิบัติที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากความแปรปรวนของโลก หรือที่มีใครบอกว่าภาวะโลกร้อนกำลังสำแดงฤทธิ์เดชแล้ว

 

รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การเกิดแผ่นดินไหวในจีนและพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา น่าจะเกี่ยวข้องกับการที่แกนของโลกบิดตัวน้อยลง อย่างที่ทราบกันดีว่า โลกเรามีสัณฐานเหมือนผลส้มและแกนเอียง 23.5 องศา แต่ตอนนี้กำลังขยับเข้าใกล้ 22 องศา อันเป็นกลไกการปรับตัวของโลก ดังนั้น คาดว่าน่าจะเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกได้อีกมากขึ้น โดยต้องจับตารอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์จับตามองอยู่ เช่น รอยเลื่อนในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ จีน

 

"ไทยจะไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องแผ่นดินไหวมากนัก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าสำหรับประเทศไทย คือ พายุ น้ำท่วม และ ดินถล่ม เนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการเกิดพายุโซนร้อนที่เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และคาดว่าจะมีโอกาสเกิดพายุทางทะเลจีนใต้เข้าไทยมากขึ้นในระยะต่อไปเช่นเดียวกัน" รศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าว

 

สิ่งที่ รศ.ดร.ธนวัฒน์ เรียกร้องคือต้องการให้ประชาชนติดตามข่าวสารและการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด โดยมั่นใจว่าเครื่องมือติดตามการเคลื่อนที่พายุของประเทศไทยมีประสิทธิภาพ สามารถรู้ล่วงหน้าได้เป็นสัปดาห์ จึงน่าจะอพยพคนได้ทัน ในส่วนของดินถล่มนั้น ไทยมีพื้นที่จุดเสี่ยงกว่า 2,000 แห่ง ซึ่งต้องอาศัยการเฝ้าระวังและการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ก็จะลดโอกาสเสี่ยงต่อความสูญเสียชีวิตของประชาชนได้

 

เมื่อนักวิชาการคาดการณ์ว่า ภัยพิบัติที่กำลังจะมาถึงอาจรุนแรงและสร้างความเสียหายหากไม่มีระบบป้องกัน ลองสำรวจระบบ "เตือนภัย" ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย

เริ่มจากนายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในจีน ว่า รอยเลื่อนในประเทศไทยมีทั้งหมด 14 แห่ง การเกิดแผ่นดินไหวในประเทศจีน อาจะส่งผลกระทบบ้าง เปรียบเหมือนแก้วที่เกิดรอยร้าว รอยแตก หากมีอะไรไปกระทบกระเทือน แก้วก็จะยิ่งแตกมากขึ้น

 

โดยเฉพาะการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเลและเกิดสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ทำให้รอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทยมีปฏิกิริยาต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้น สามารถวัดรอยเลื่อนที่เชียงใหม่และเชียงรายได้ เช่น ที่ อ.แม่ริม แผ่นดินไหวที่เกิดมีขนาดและความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงเหตุแผ่นดินไหวรอยเลื่อนสะแกงในพม่า ที่มีขนาด 8.0 ริกเตอร์ ซึ่งรอยเลื่อนสะแกงมีแขนงเข้ามาในไทย คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ที่อาจมีผลกระทบต่อเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และถึงกรุงเทพมหานคร

นายสมิทธ บอกว่า ศูนย์เตือนภัยต้องเตรียมพร้อมการเตือนภัยและระบบช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ในแผ่นดินที่สามารถได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติได้ตลอดเวลา ซึ่งเชื่อว่าระบบเตือนภัยที่มีอยู่จะสามารถเตือนภัยล่วงหน้าได้

 

ขณะที่ นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งดูแลการเตือนภัยดินถล่ม กล่าวว่า ได้เตรียมนัดประชุมหน่วยงานในสังกัดคือ กรมทรัพยากรธรณี กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ เพื่อเตรียมจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยพิบัติทั่วประเทศ โดยจะกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย ครอบคลุมเขตเสี่ยงภัยดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมและเขตเสี่ยงภัยต่อแผ่นดินไหวเนื่องจากที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานได้จัดทำรายละเอียดในแต่ละส่วนไว้แล้ว แต่ถ้าสามารถนำพื้นที่เสี่ยงภัยในด้านต่างๆ มาจัดทำเป็นแผนที่เดียวกันก็จะช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงและมีความชัดเจนมากขึ้น และที่สำคัญจะลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงด้วย

 

นายอภิชัย กล่าวว่า ในส่วนของแผนที่เสี่ยงภัยจะบูรณาการแผนตั้งแต่ต้นน้ำ คือกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ส่วนกรมทรัพยากรธรณี รับผิดชอบกลางน้ำ และมุ่งเน้นหมู่บ้านเสี่ยงภัยที่ตั้งอยู่ในเขตเสี่ยงภัยที่ลาดชันหุบเขา และปัจจุบันมีการสำรวจหมู่บ้านเสี่ยงเอาไว้ 2,370 หมู่บ้าน และมีการทำรายละเอียดแผนที่แล้วเสร็จ 1,100 หมู่บ้าน ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำจะรับผิดชอบในท้ายน้ำที่อาจจะเสียงต่ออุทกภัย น้ำแล้ง เป็นต้น ทั้งนี้ถือเป็นการบูรณาการแผนรับมือต่อภัยพิบัติร่วมกันเป็นครั้งแรก

 

ส่วนการรับมือน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มนั้น ทางกรมทรัพยากรธรณี ค่อนข้างมั่นใจว่าชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัย 22 จังหวัด ที่เสี่ยงต่อปัญหาระดับสูงมาก โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ ลำปาง น่าน ที่กรมฯ ได้สร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังในพื้นที่แล้วจะช่วยทำหน้าที่ในการระมัดระวังภัยพิบัติได้ดี โดยในช่วงที่ผ่านมากรมฯ ได้เข้าไปซักซ้อม และตรวจอุปกรณ์ที่ส่งมอบไว้ รวมทั้งตรวจเช็คว่าผู้นำเครือข่ายหมู่บ้านยังทำหน้าที่ได้ดี จึงมั่นใจว่าหากมีปัญหาสามารถเตือนภัยได้ทันท่วงที

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท