Skip to main content
sharethis

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอุดรธานี : วานนี้(16 พ.ค.) เวลา 10.00 น ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี ในการประชุมคณะอนุกรรมการหาข้อมูลราคาที่ดินและทรัพย์สิน สายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง2 - อุดรธานี 3 ท้องที่ อ.เมือง จ.อุดรธานี ครั้งที่ 1/2551 กลุ่มคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแนวสายส่งไฟฟ้า(คชส.) กว่า 30 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายศราวุธ ศุภลักษณศึกษา นายอำเภอเมืองอุดรธานี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯดังกล่าว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ประกอบไปด้วย ข้าราชการฝ่ายปกครองระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น ข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่กฟผ. และผู้แทน ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเขตสายไฟฟ้า จำนวน 12 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 คน


 


โดยทางกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบฯ มีข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาราคาที่ดินและทรัพย์สินจังหวัดอุดรธานี แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบแนวสายส่งไฟฟ้า 500 KV น้ำพอง 2 - อุดรธานี 3 เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนไม่เกิดความสับสนในโครงการต่างๆของรัฐ โดยให้คณะกรรมการประกอบด้วย 1.นักวิชาการ 2.องค์กรพัฒนาเอกชน 3.ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบ 4. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ขอให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาราคาที่ดินและทรัพย์สินจังหวัดอุดรธานี สายส่งไฟฟ้า 500 KV น้ำพอง 2- อุดรธานี 3 ที่ 1/2551 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว


           


นางยุพาพร รักษาภักดี ชาวบ้านหนองตะไก้ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี ประธานกลุ่มคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแนวสายส่งไฟฟ้า(คชส.) กล่าวว่า กลุ่มไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับคณะอนุกรรมการชุดนี้ เพราะชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนเข้าไปเป็นคณะอนุกรรมการ แม้ในคำสั่งแต่งตั้งจะระบุไว้ว่าให้มีผู้แทนราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเขตเดินสายไฟฟ้าเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการฯ หมู่บ้านละ 1 คน แต่ความจริงแล้ว ผู้แทนดังกล่าวกลับมาจากการแต่งตั้งของ กฟผ. โดยไม่มีการปรึกษาหารือกับชุมชน คณะอนุกรรมการชุดนี้จึงเป็นแค่ตรายางที่รับรองความชอบธรรมของกฟผ.เท่านั้น โดยที่ความจริงแล้วชาวบ้านไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลของโครงการสายส่งไฟฟ้าอย่างละเอียดและไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ดังนั้นทางกลุ่มจึงขอยื่นข้อเสนอ ให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบแนวสายส่งไฟฟ้าขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านและชุมชนได้มีส่วนร่วมตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 รับรองสิทธิไว้


           


ภายหลังจากที่ทางกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นหนังสือ นายสมเกียรติ วันทยกุล นิติกรระดับ 9 กฟผ. ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ได้กล่าวกับกลุ่มชาวบ้านในที่ประชุมว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินโครงการอย่างเปิดเผยและโปร่งใส ไม่เคยปิดบังอะไรกับชาวบ้าน และการประชุมในวันนี้เป็นคนละประเด็นกับข้อเรียกร้องในหนังสือของทางกลุ่มฯ เนื่องจากกระบวนการตั้งคณะอนุกรรมการฯได้ผ่านไปแล้ว หากไม่เห็นด้วยก็ขอให้ไปใช้สิทธิทางศาล และขอยืนยันว่าอนุกรรมการฯชุดนี้ได้ตั้งขึ้นถูกต้องแล้วตามหลักเกณฑ์ที่ให้มีตัวแทนหมู่บ้านละ 1 คน และทุกคนที่มาก็เป็นผู้มีส่วนได้เสีย


 


โดยนายสมเกียรติ ได้อธิบายกับกลุ่มชาวบ้าน อีกว่า "ถ้าพ่อแม่พี่น้องมาเข้าร่วมประชุมกันหมด การประชุมก็จะเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะมีความคิดเห็นที่หลากหลาย จึงต้องมีตัวแทนขึ้นมาเพื่อประชุม เพื่อเสนอราคา แล้วเอามาพิจารณากัน"


           


ทั้งนี้ในระหว่างการประชุม นายสำเนียง นามปัญญา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ.หนองนาคำ หมู่ 6 ต.หนองไผ่ หนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้าน บ้านหนองนาคำ หมู่ 6 ได้แสดงเจตนาขอสละสิทธิ์ จากการเป็นตัวแทนชาวบ้าน เนื่องจากตนเองไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและไม่รู้ข้อมูล จึงอยากให้มีการคัดเลือกคนที่มีข้อมูล มีความรู้มาแทนตน


 


ซึ่งภายหลังการประชุม นายสำเนียง ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติม ว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มชาวบ้านในวันนี้ และตัวแทนชาวบ้านควรจะมาจากการทำประชาคมหมู่บ้าน


 


ส่วนทางด้าน นายสุนทร แสนมา อบต.ทอนกลาง อีกหนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งเป็นตัวแทน ของ บ.ทอนกลาง หมู่ 9 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเพิ่งจะได้รับหนังสือเชิญจาก กฟผ. ในตอนเช้า ว่าให้เป็นตัวแทนชาวบ้าน บ้านทองกลาง หมู่ 9 และให้มาร่วมการประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานีในวันนี้เวลา 10.00 น. ทั้งๆที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทั้งเรื่องโครงการ เรื่องการให้ค่าชดเชย เพราะแนวสายไฟไม่ได้ผ่านที่นาของตน พอมาร่วมประชุมถึงได้รู้ว่าเรื่องอะไร และคิดว่าจะขอถอนตัว ในการประชุมครั้งหน้า


 


"จะให้ผมเป็นตัวแทนชาวบ้านได้ยังไง ในเมื่อไม่รู้อะไรเลย และก็ยังงงๆอยู่ว่าใครเป็นคนส่งรายชื่อผมไป" นายสุนทรกล่าว


 


นายสุนทร ยังกล่าวเสริมอีกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะมาพูดคุยกับชาวไร่ชาวนาที่ได้รับผลกระทบจริงๆมากกว่าที่จะมาตั้งกรรมการแล้วก็เรียกผู้ใหญ่บ้านแต่ละบ้านมาเป็นคณะอนุกรรมการเพื่อเสนอกับทางคณะกรรมการ ต่อไปยังจังหวัด ไปยังผู้ว่าฯ อย่างที่ทำอยู่ เพราะจะทำให้คณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นไม่เป็นผลและไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากไม่ได้มีการประชาคมหมู่บ้าน ไม่ได้เป็นตัวแทนจากชาวบ้านจริงๆ


           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net