บทความ: การปิดกั้นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นอาชญากรรม

 

ใกล้รุ่ง พรหมสุภา

เป็นที่น่ายินดี เมื่อได้เห็นประชาชนไทยจำนวนมากหันมามองประชาชนพม่าอย่างห่วงใย และพร้อมที่จะควักกระเป๋าสมทบเข้ากองทุนใดกองทุนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล กลุ่มที่สนับสนุนโดยรัฐบาล และกลุ่มองค์กรเอกชนอีกหลายกลุ่มที่เปิดบัญชีรับบริจาคอยู่ในขณะนี้

ในความปิติของการได้แบ่งปันเพื่อเพื่อนมนุษย์ เราไม่ได้รับคำเตือนหรือข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนไทยมากเท่าใดนักว่า แม้ทุกวันนี้ความช่วยเหลือในรูปเงินทองข้าวของจะได้ทยอยเข้าสู่ประเทศพม่าเรื่อย ๆ ผ่านทางคณะทหารพม่า (รวมถึงที่คณะทหารให้ผ่านยูเอสดีเออันเป็นสมาคมคล้าย ๆลูกเสือชาวบ้านที่มีหน้าที่ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลและปราบปรามผู้ต่อต้านเป็นหลัก) ทางองค์กรเอกชนนานาชาติในพม่า (ที่มีจำนวนน้อยนิด) และองค์กร/กลุ่มประชาชนพม่าที่เป็นกลุ่มศาสนาหรือกลุ่มใต้ดิน แต่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือก็ยังไม่ได้รับการสนองตอบอย่างที่ควรจะเป็น

ที่สำคัญ นับจากวันที่ 3 พฤษภาคมซึ่งไซโคลนนาร์กิสได้ซัดเข้าถล่มประเทศพม่าจนกระทั่งบัดนี้ (และยังไม่รู้ว่าจะถึงอีกกี่วันกี่เดือนต่อไป) คณะทหารผู้ปกครองพม่าก็ยังไม่อนุญาตให้หน่วยกู้ภัยและบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ เข้าไปช่วยเหลือประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิระวดี รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบในมณฑลย่างกุ้ง รัฐมอญ และรัฐกะเหรี่ยง

กรณีนี้หมายความต่อไปว่า จะไม่มีบุคคลนอกคนใด ได้รับอนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือของฝ่ายต่าง ๆได้อย่างทั่วถึงและเป็นระบบเลย

อาทิตย์หนึ่งผ่านไป ข้อสงสัยของฝ่ายต่าง ๆเกี่ยวกับคณะทหารพม่าเริ่มได้รับการยืนยันจากข่าวสารที่เล็ดรอดออกมา ไม่ว่าจะเป็นการนำของบริจาคไปขาย ไปจนถึงอาหารบริจาคที่เน่าเสียและไม่เพียงพอ (ตัวอย่างเช่น ข้าวสารกระสอบเดียวต่อผู้คน 400 ครอบครัว, บีบีซี 14/04/08)   ฝ่ายเอกชนเองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้เต็มที่ ทั้งด้วยถูกปิดกั้น ด้วยกำลังคนที่น้อยนิด ขาดพาหนะที่จะเข้าถึงพื้นที่ที่ถูกตัดขาด ไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากรัฐ อีกทั้งยังถูกคุกคาม (สำนักข่าวอิระวดี 14/05/08) แม้แต่ชาวพม่าสามัญที่จะแบ่งปันอาหารและน้ำดื่มส่วนตัวให้ผู้ประสบภัยก็ยังถูกทหารยึดไป (บีบีซี 14/05/08)

การปฏิเสธหน่วยกู้ภัยและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากคนที่ไม่ใช่รัฐ ด้วยเหตุผลว่าหวาดกลัวการแทรกแซงทางการเมืองโดยรู้ทั้งรู้ว่าเป็นการแลกกับชีวิตคนนับหมื่นแสน เป็นเรื่องที่โลก รัฐบาลไทย และคนไทย ไม่ควรจะ "ยอมรับและเข้าใจได้" (ตามที่สื่อมวลชนบางกลุ่มพยายามหว่านล้อมให้เราคิดอย่างนั้น)

จากประสบการณ์ของมนุษยชาติ ผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติจำนวนมากจะติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังหรือบนทำเลที่สูง หรือบาดเจ็บ หมดแรง ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องรอคอยความช่วยเหลืออยู่ ในสถานการณ์ภัยพิบัติของประเทศอื่น เช่นสึนามิในไทยและอินโดนีเซีย ไปจนถึงแผ่นดินไหวล่าสุดที่จีน มีการเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตซึ่งมักช่วยเหลือผู้คนได้นับหมื่น  และเร่งจัดการศพผู้เคราะห์ร้ายอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันโรคระบาดที่อาจคร่าชีวิตมนุษย์ได้อีกมากมายหลายเท่า

แต่เหยื่อพายุนาร์กีสในพม่ากลับถูกปล่อยให้รอคอยและสิ้นลมหายใจไปอย่างสิ้นหวัง  หลายคนต้องเสียชีวิตเพราะทนความบาดเจ็บไม่ไหว หรือกระทั่งขาดน้ำ เพราะแหล่งน้ำกลายเป็นน้ำเค็มที่ยังมีซากศพมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลอยเกลื่อนไม่ได้กู้เก็บจนถึงวันนี้

คณะทหารพม่าเองย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า แม้ตนจะมีความจริงใจ (ซึ่งหลายฝ่ายไม่เชื่อว่ามี) และแม้ประชาชนพม่าเองจะหันมาช่วยกัน ภายในประเทศก็ยังขาดเครื่องมือ พาหนะ อุปกรณ์ กำลังคน และประสบการณ์ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ผู้ถืออำนาจใช้พละกำลังและเวลาหมดไปกับการตั้งด่านตรวจสกัดชาวต่างชาติไม่ให้เข้าพื้นที่ (บีบีซี 14/05/08) เนรเทศนักข่าวและเจ้าหน้าที่หน่วยงานมนุษยธรรม ตามคุกคามผู้ให้ความช่วยเหลือที่ไม่ได้รับอนุญาต มากกว่าจะหาทางช่วยเหลือประชาชนให้จงได้

การปฏิเสธความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยทั้ง ๆที่รู้ถึงผลแห่งความหายนะ เป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง

การปฏิเสธความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทั้งที่ตัวเองขาดศักยภาพที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้ ไม่ใช่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่อง "ส่วนตัว" ตาม "ปกติ" ในเมื่อผู้เสียชีวิตและผู้รอคอยความช่วยเหลือ คือ มนุษย์เช่นเดียวกันกับเรา

คณะทหารพม่า ประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตไว้ต่ำเพียงกว่าสองหมื่น อย่างไรก็ดี องค์การกาชาดสากลก็ได้คาดประมาณอย่างเป็นระบบเชื่อถือได้ว่า ถึงวันนี้แล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะตกอยู่ระหว่าง 68,883-127,990 คน ขึ้นอยู่กับว่า ผู้สูญหายจะได้รับความช่วยเหลือทันท่วงทีหรือไม่

แม้ "สิทธิต่อความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม" จะมิได้อยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หากสิทธิต่อชีวิต และถึงสิทธิต่อการดำรงชีพพื้นฐาน คือ อาหาร ที่พัก ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม ก็ล้วนได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาฯ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และสนธิสัญญาทางสิทธิมนุษยชนฉบับอื่น ๆ  โดยได้มีการตีความไว้โดยละเอียดไว้ในความคิดเห็นทั่วไป (general comment) ของคณะกรรมการที่มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบสนธิสัญญาดังกล่าว

และจากการตีความพันธะหน้าที่ของรัฐ (state"s obligation) ต่อสิทธิมนุษยชน เป็นที่ยอมรับว่า รัฐมีหน้าที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และตอบสนองต่อสิทธิประชาชนตน  การเคารพนั้นคือการไม่ไปละเมิดหรือจำกัดสิทธิด้วยตัวรัฐเอง การคุ้มครองคือการเข้าไปดูแลเมื่อประชาชนถูกละเมิดโดยผู้ที่ไม่ใช่รัฐ และการตอบสนองก็คือการเติมเต็มจัดหา เพื่อให้ประชาชนได้พึงพอใจและเข้าถึงสิทธินั้น

ดังนี้ จะเห็นได้ว่า คณะทหารกำลังละเมิดสิทธิต่อชีวิตของประชาชนตน แม้จะมิได้ลงมือประหัตประหารเอง  แต่ก็ละเมิดด้วยการไม่เคารพ คือไปปิดกั้นการช่วยเหลือชีวิตอันมีประสิทธิภาพจากแหล่งอื่น ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าผลจะคืออะไร อีกทั้งยังมิได้ตอบสนองหรือคุ้มครองเต็มความสามารถโดยใช้ทรัพยากรสูงสุดเท่าที่มีอีกด้วย

รัฐแต่ละรัฐเป็นผู้มีหน้าที่หลักในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อประชาชนของตน  แต่หากรัฐนั้นไม่สามารถด้วยตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ หรือไม่เต็มใจที่ให้ให้ความช่วยเหลือ โลกควรจะยังถือหลัก "ไม่แทรกแซง" หรือให้ความสำคัญกับ "อธิปไตย" เหนือชีวิตมนุษย์นับหมื่นแสนด้วยการนิ่งเฉย ยอมรับ และปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นหรือไม่  การเคารพอธิปไตยนั้นเป็นหลักการในกฎบัตรสหประชาชาติเช่นเดียวกับหลักการที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก  หากระบบกลไกสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาตลอดช่วงเวลากว่า 50 ปีก็ได้ค่อย ๆทะลุทะลวงอธิปไตยของรัฐได้ในระดับหนึ่ง กล่าวคือ รัฐจะกระทำกับประชาชนตนตามอำเภอใจเสมือนเป็น "เรื่องส่วนตัว" ดังในยุคสงครามโลกครั้งที่สองและก่อนหน้านั้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้ ย่อมกระทบต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวโลก

คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรณีของการแทรกแซงทางมนุษยธรรมในนิคารากัวชี้ชัดว่า การเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม มิใช่การแทรกแซงทางการเมือง หากเป็นการบรรเทาทุกข์และคุ้มครองชีวิต

การแทรกแซงทางมนุษยธรรม เป็นความรับผิดชอบของโลกและรัฐ ต่อมนุษยชาติ

นอกเหนือจากความพยายามแบ่งปันกับผู้ทุกข์ยาก สิ่งจำเป็นเร่งด่วนก็คือการช่วยกันผลักดันให้รัฐไทยและอาเซียนไม่ยินยอมให้คณะทหารพม่าอ้างหลักอธิปไตยและการไม่แทรกแซงมาขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งเป็นการช่วยชีวิตมนุษย์

แม้ผู้รอดชีวิตนับหมื่นอาจหมดลมหายใจไปแล้ว ผู้รอคอยยังคงมีอีกมาก ฝ่ายงานมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติระบุว่า ผู้ได้รับผลกระทบรวมถึงผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อโรคระบาดอันเกิดจากการไม่ได้เก็บซากศพให้ทันเวลา อาจมีจำนวนมากถึง 2.5 ล้านคน ในขณะที่องค์การอาหารและการเกษตรโลกก็ชี้ว่า หากเกษตรกรไม่ได้รับความช่วยเหลือให้กลับไปทำไร่นาได้ภายใน 90 วัน ภาวะขาดแคลนอาหารอาจส่งผลกระทบทั่วภูมิภาคและโลก

ภาวะ "ฉุกเฉิน" กำลังจะค่อย ๆสิ้นสุดทั้งด้วยเหตุของเวลา และด้วยเหตุที่ผู้รอคอยส่วนหนึ่งไม่อาจรอคอยได้อีกต่อไป แต่เพื่อนของเรายังต้องการความช่วยเหลือฟื้นฟูในระยะยาว ซึ่งหากคณะทหารยังได้รับการเอาอกเอาใจจากเพื่อนบ้านมากถึงเพียงนี้ เราก็จะได้ยินข่าวการโกงเมล็ดพันธุ์บริจาคไปจากเกษตรกร การนำเมล็ดพันธุ์บริจาคไปบังคับเกษตรกรให้ปลูกให้ได้ตามโควตา การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชน ฯลฯ กันอยู่ต่อไป 

ธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศแห่งโรม ข้อที่ 7 ระบุว่า อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หมายถึงการกระทำที่เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบด้วยความจงใจ ซึ่งรวมถึง"...การกำหนดเงื่อนไขตัดขาดการเข้าถึงอาหารและยารักษาโรค เพื่อก่อให้เกิดความหายนะต่อกลุ่มประชากรนั้น"

หลายคนเริ่มมุ่งมองแล้วว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า ที่คณะทหารไม่ใส่ใจเตือนภัยทั้งที่ได้รับทราบข้อมูลล่วงหน้าจากอินเดียถึง 2 วัน และไม่ใส่ใจในการให้ความช่วยเหลือ เพราะอิระวดีเป็นดินแดนของคนกะเหรี่ยงหัวแข็งที่เป็นญาติพี่น้องและสนับสนุนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงที่ยังสู้รบกับคณะทหารอยู่ทางชายแดนตะวันออกของประเทศ

อย่าให้มีหลักฐานถึงเช่นนั้นเลย เพราะความจงใจเช่นนั้น คืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท