Skip to main content
sharethis

ผู้สื่อข่าวรายงานว่างานรำลึกเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ในช่วงบ่ายที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นไปอย่างค่อนข้างเงียบเหงาโดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ญาติวีรชน สื่อมวลชนและผู้ที่ให้ความสนใจ ประมาณ 90 คน โดยมี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. ร่วมด้วย ในงานมีการอ่านบทกวีเพื่อรำลึกเหตุการณ์และคารวะวีระชน โดยนายวสันต์ สิทธิเขต ศิลปินและผู้ร่วมเหตุการณ์พฤษภาฯ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ


 


ทั้งนี้นายวสันต์ได้กล่าวบนเวทีเคล้าเสียงดนตรีว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทยมีความสลับซับซ้อนจนน่าอึดอัดเหมือนขี้ไม่สุดอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลา พฤษภาทมิฬ มาจนถึงการไล่ไอ้หน้าเหลี่ยมและความอึมครึมในปัจจุบันที่ไม่รู้ว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับอะไรกันแน่ ในขณะที่นักการเมืองก็ยังเห็นประชาชนเป็นฝูงวัวควาย สื่อมวลชนก็พูดแต่เรื่องดาราเอากัน ละครมีแต่เรื่องแย่งผัวแย่งเมีย ทุกอย่างดูเหมือนอยากให้ประชาชนหลับไหลลืมตื่นนิรันดร


 


นายวสันต์ กล่าวตำหนิรัฐบาลด้วยว่ารัฐบาลต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยไม่แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนที่อยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้นทุกวัน


 


"แก้รัฐธรรมนูญเพื่อเทิดทูนทักษิณ จนแผ่นดินแตกร้าว ไม่เหลียวแลประชาชน มัวแต่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อพ่อมัน" นายวสันต์กล่าว


 


จากนั้นมีการเสวนาในหัวข้อ "ฤาเมืองไทยไร้ทางออก" วิทยากรประกอบด้วย นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสป่าสุขขโต จ. ชัยภูมิ และ นายวินัย สะมะอุน ผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักจุฬาราชมนตรี ดำเนินรายการโดย นายสันติสุข โสภณศิริ


 


นายโคทม กล่าวถึงกรณีการแก้รัฐธรรมนูญว่า ในช่วงแรกพรรการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งระบุว่าจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะได้อำนาจมาแล้ว แต่ต่อมาไม่นานก็กลัวว่าจะไม่ได้นั่งเก้าอี้ต่อเพราะมาตรา 237 ระบุว่าเมื่อกรรมการบริหารพรรคทำผิดก็จะถึงขั้นยุบพรรค จึงมีการเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยส่วนตัวตนเห็นว่หลักการในมาตรา 237 ก็เกินกว่าเหตุไปเพราะคนทำผิด 1 คนจะดึงคนอื่นล้มทั้งพรรค ดังนั้นเหตุผลจึงสมน้ำสมเนื้อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่คนอื่นก็รู้ทันว่าแก้ไขเพื่อป้องกันเหตุยุบพรรค ซึ่งคนที่มีอำนาจรัฐมักทำเพื่อพรรคตัวเองแต่ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม และตอนนี้กำลังขยายไปทั้งฉบับ โดยคิดว่าจะดึงพรรคอื่นที่เสนอให้แก้ทั้งฉบับ แต่พรรคอื่นก็ลำบากใจ บางฝ่ายก็เสนอให้แก้มาตรา 291 ก่อน แต่ตนเชื่อว่าเป็นการทำให้น้ำขุ่นๆ จะแก้อะไรก็ตาม แต่ที่เขาต้องการแก้จริงๆ คือ มาตรา 237 ที่ต้องถูกแก้อยู่ในนั้นด้วย


 


นายโคทม เสนอทางออกว่า ข้อแรกขอให้พรรคร่วมรัฐบาลทำใจไม่ว่าพรรคจะถูกยุบหรือไม่ก็ชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนแล้วอุณหภูมิทางการเมืองจะลดลงทันที หรือไม่ก็ใช้วิธีที่สั้นที่สุดโดยเลือกแก้เฉพาะมาตรา 237 มาตราเดียวเพื่อมิให้กระทบเรื่องอื่นและจะแก้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือน พ้นวิกฤตรัฐธรรมนูญต้องอธิบายให้สาธารณะชนเข้าใจ หรือหากคิดว่าแก้มาตรา 237 มาตราเดียวแล้วรู้สึกตะขึดตะขวงใจ ก็แก้ไขมาตรา 291 เรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะตั้งสสร.หรือไม่ก็ตามแต่ ก็ขอให้ค่อยๆ คุยกัน


 


"ตอนนี้ winner (รัฐบาล) ต้องการชนะทุกมาตรา ทำให้ยืดเยื้อและขาดความชอบธรรม ถ้าใช้กระบวนการทางรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็เป็นเงื่อนไขที่น่าวิตก ขอเสนอให้ค่อยๆถอย" นายโคทมกล่าวและว่า เราต้องเถียงกันเรื่องกระบวนการ ที่เราเห็นว่ายุติธรรมและชอบธรรม ซึ่งการได้มาของฝ่ายที่ได้อำนาจรัฐที่มาจากการเลือกตั้งต้องสุจริตและเที่ยงธรรมแต่ปัญหาอยู่ที่ทำอย่างไร ที่ผ่านมาเราเราไม่พูดความจริงทำให้ไม่รู้ว่าบางเรื่องไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นเพียงการคิดไปเอง จึงขอเสนอว่าควรจะมาคุยกันห้ตกผลึกว่าอะไรคือโจทย์ปัญหาร่วมกัน ก็จะทำให้การเมืองไทยไม่ไร้ทางออก


 


นายโคทม กล่าวต่อไปว่า ความซับซ้อนของการเมืองในปัจจุบันมีมาก เพราะผู้มีอำนาจส่วนบนขัดแย้งกันดึงกันไปดึงกันมา หากย้อนไปเมื่อครั้งเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อำนาจรัฐได้หนุนกลุ่มคนด้านล่างทั้ง 2 ฝ่ายที่มีความขัดแย้งกัน เมื่อเกิดการปะทะกันขึ้น อำนาจรัฐส่วนหนึ่งก็ถือโอกาสรัฐประหาร ซึ่งการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยา 2549 ไม่เหมือน 6 ตุลา แต่มีความคล้ายกัน คือมีการหนุนอยู่ข้างหลังการชุมนุมของทั้งฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลในยุคนั้น จากนั้นอำนาจส่วนบนก็จัดการกันเอง ทำให้เราชินกับเรื่องแบบนี้แต่ก็ยังหลงกลอยู่เหมือนเดิม คนข้างล่างทั้ง 2 ฝ่ายชุมนุมกันฮึ่มๆ คนส่วนบนก็จ้องๆ กัน เหมือนเราเอาเชื้อปะทุใหม่ไปไว้ใต้ดิน ซึ่งเราก็อย่าได้ไว้วางใจเรื่องอำนาจเพราะคนที่ตัดสินด้วยอำนาจอาจสร้างความเสียหายเกินกว่าที่คาดคิด


นายโคทม กล่าวว่า สังคมไทยไม่เข้าใจกันเพราะนิยามปัญหาการเมืองไม่ตรงกัน โดยฝ่ายหนึ่งนิยามว่าปัญหาคือสถาบันที่เคารพกำลังถูกคุกคามด้วยอำนาจเงินและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งนิยามปัญหาว่าขณะนี้มีการออกนอกกติกาโดยการดึงเอาอำนาจรัฐส่วนหนึ่งมาคุกคามอำนาจรัฐที่เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าควรพูดจากันด้วยข้อเท็จจริงหากอะไรไม่จริงก็ปล่อยให้ตกไป ปัญหาที่น่าหนักใจคือ ทั้ง 2 ฝ่ายใช้สถาบันสำคัญของประเทศมาเป็นเครื่องมือโจมตีกัน ทั้งที่เราเห็นร่วมกันว่าสถาบันอยู่เหนือการเมือง แต่คู่กรณีกลับคิดว่าจำเป็นต้องชกใต้เข็มขัดอีกฝ่ายหนึ่ง นอกจากนั้น ตนเห็นว่าเมื่อมีประเด็นเรียกร้องทางการเมือง ก็ไม่ควรเอา 3 สถาบันหลักประกอบด้วยสถาบันชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้ามาเป็นเงื่อนไขสร้างความขัดแย้งเพราะอ่อนไหวต่อการยั่วยุอารมณ์และทำให้ขาดสติได้ง่าย


ด้านพระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า ทางออกนั้นมีแน่แต่จะเป็นทางออกของใครและจะออกแบบไหน ซึ่งอาจจะลงเอยด้วยความสูญเสีย นอกจากนี้กระบวนการแสวงหาทางออกและบรรลุก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นกระบวนการที่มุ่งแตกหัก หักหาญ และหักด้ามพร้าด้วยเข่า และเป็นการต่อสู้โดยไม่คำนึงถึงกติกา รวมไปถึงใส่ร้ายป้ายสี ฝ่ายหนึ่งก็ใช้ข้อหาคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ และที่อีกฝ่ายก็ใช้ข้อหาคุกคามประชาธิปไตย ตอนนี้กำลังแข่งกันว่าใครเล่นแรงกว่า ใครด่าแรงกว่า


พระไพศาลกล่าวว่า ตอนนี้แม้มีบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่ายแต่ก็ไม่กล้าที่จะออกมาวิจารณ์ เพราะจะถูกใส่ร้ายและตีตราจากทั้งสองฝ่ายได้ ทำให้เกิดความกดดัน และมีบรรยากาศแห่งความกลัว ปกคลุมไปทั่ว มีทั้งกลัวประชาธิปไตยจะถูกคุกคาม กลัวสถาบันกษัตริย์จะถูกโค่นล้ม และที่สำคัญคือกลัวสูญเสยผลประโยชน์ และนักการเมืองหากใครทำให้เกิดความกลัวได้มากกว่าก็จะได้รับคะแนนนิยมเป็นจำนวนมาก


"ทางออกที่จะมีคือต้องตั้งสติ อย่ากลัว อย่าโกรธ และอย่าเกลียด อีกทั้งต้องไม่สนับสนุนความรุนแรง และการทำนอกกติกา และสนับสนุนการแก้ไขโดยสันติวิธี"พระไพศาลกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net