Skip to main content
sharethis


ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอุดรธานีว่าวานนี้ (23 พ.ค. 51) เวลา 09.00น. ที่ห้องประชุมชั้น 3 โรงแรมเจริญศรีแกรนด์ รอยัล จ.อุดรธานี คณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม จากการแต่งตั้งของกรมควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับการยกร่างกฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยมี หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ, นักวิชาการ, องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม, บริษัทเอกชนที่รับทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และแกนนำภาคประชาชนจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

 


ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้ยกร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ... แล้วนำมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยแบ่งเป็นภาค (เหนือ อีสาน กลาง ใต้ และ กทม.) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมกับ พ.ร.บ.ฯ


 


โดยนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตาม มาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ปี 50 เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งภายใน 1 ปี หลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว (มาตรา 303) จะต้องมีหน่วยงานมาทำหน้าที่ เพื่อให้ความเห็นต่อนโยบาย แผน โครงการ กิจกรรมที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก่อนดำเนินการ


 


"ที่ผ่านมา การทำโครงการผู้ดำเนินโครงการก็จะไปว่าจ้างคอนซัลท์ (บริษัทที่ปรึกษา) มาทำ อีไอเอ (รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) แล้วให้ สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้ให้ความเห็นชอบกับรายงาน โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม หรือรับทราบข้อมูลใดๆ เลย ซึ่งกฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมนี้ก็จะเป็นกลไกหนึ่งที่จะส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการดำเนินโครงการ" นายหาญณรงค์กล่าว


 


ด้านนายสวาง บัวจาน คณะกรรมการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ยินดี และคาดหวังเป็นอย่างมากกับกฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการทำโครงการที่จะเกิดผลกระทบกับชุมชน ซึ่งจากประสบการณ์การต่อสู้โรงงานกระดาษที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำน้ำพอง รายงานได้ผ่านความเห็นชอบหรือมีขั้นตอนอย่างไรนั้นพวกตนไม่รู้ แต่สิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันคือน้ำพองเน่าเสียและแกนนำคัดค้านถูกลอบสังหาร


 


"ผมเห็นด้วยและหวังว่ากฎหมายนี้ (พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม) จะเกิดองค์กรขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งของชาวบ้านจริงๆ โดยไม่ถูกครอบงำ หรือแทรกแซง แต่อย่างไรก็ดี ผมก็อยากเสนอเพิ่มเติมให้มีกฎหมายขึ้นมารับรอง หรือคุ้มครองการต่อสู้ของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชนด้วย อย่างน้อยก็เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพวกเรา ซึ่งจากประสบการณ์การคัดค้านโรงงานกระดาษที่น้ำพองร่วมกับนายสำเนา (นายสำเนา ศรีสงคราม แกนนำคัดค้านอีกคนหนึ่ง) ที่ถูกยิงตาย แต่กลับถูกใส่ร้ายว่าเขาค้ายาบ้า มีพฤติกรรมที่ไม่ดี พวกนี้เป็นม็อบ ขัดขวางการพัฒนา เหล่านี้เป็นต้น และไม่อยากให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก" นายสวางกล่าว


 


ด้านนางมณี บุญรอด แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช กล่าวว่า รายงาน อีไอเอ ของบริษัทโปแตชแหล่งอุดรใต้ เดิมนั้นผ่านความเห็นชอบของ สผ. เมื่อปี 43 แต่กฎหมายให้ทำเหมืองแร่ใต้ดินเกิดขึ้นในปี 45 ซึ่งตอนนั้นชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีใครรู้ข้อมูลเลยว่าโปแตชเป็นอะไร อย่างไร จนต่อมาชาวบ้านได้เรียกร้องว่ารายงานไม่ถูกต้อง และผิดขั้นตอน จึงทำให้อีไอเอ ของบริษัทไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้ต่อไปได้ ถ้าหากว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมา และประชาชนมีส่วนร่วมจริง การหมกเม็ดเช่นนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น


 


"การปกปิดข้อมูล และการดำเนินการที่ขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันสำหรับกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชที่ จ.อุดรธานี ซึ่งหากว่าจะมีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมมาทำหน้าที่ก็หวังว่าจะเกิดความโปร่งใส และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ควรดูให้ครอบคลุมทั้งเรื่องสุขภาพ และสังคมด้วย เพราะกรณีโปแตชถึงแม้ยังไม่เกิดโครงการฯ ชาวบ้านก็เกิดแตกแยก รวมทั้งมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตไปแล้ว" นางมณีกล่าว


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net