Skip to main content
sharethis

สุรีย์ มิ่งวรรณลักษณ์


 


เป็นที่วิเคราะห์กันในหมู่ในแวดวงนักเคลื่อนไหวว่า พันธมิตรฯ กำลังนำพาสังคมไทย สู่การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าทหารกลุ่มไหน ปีกใด เป็นผู้กระทำ และ/หรือโดยมีใครหนุนหลังก็ตาม


 


ผลลัพธ์จากท่าทีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวก็จะนำสู่จุดสุดยอด คือ การรัฐประหาร เป็นแน่ ซึ่งอาจนำพาไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อชีวิต และประชาชนจะตกเป็นเหยื่อของเกมการช่วงชิงอำนาจของพวกเขาได้


 


แน่นอนว่า การรัฐประหารย่อมนำไปสู่การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันเป็นหัวใจสำคัญของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้นในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสังคมไทยได้เผชิญมาแล้ว รวมทั้งรัฐประหารครั้งล่าสุด 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา


 


ถ้ามีรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นย่อมเป็นรัฐประหารที่แรงยิ่งขึ้น และไม่หน่อมแน้มเป็นแน่แท้ เหมือนกับที่บรรดากองเชียร์ต้องการ


 


หากดูเผินๆ ความขัดแย้งของการเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตยของพันธมิตรฯ และการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน อาจเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อ "ตนเอง" ทั้งสิ้น


 


แต่ความแตกต่างในความเหมือนก็คือ รัฐสภาเป็นแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จำเป็นในระบอบประชาธิปไตย แต่ในสถานการณ์นี้ อาจยังไม่กว้างขวางเพียงพอที่จะยุติปัญหาความขัดแย้งอันเป็นมรดกตกทอดจากการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ได้


 


 


ฝ่ายประชาธิปไตย ควรมีท่าทีอย่างไร ข้อเสนอเบื้องต้นคือ


1. เราต้องคัดค้าน ต่อต้าน เปิดโปง การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯในรูปแบบต่างๆ อย่างสันติวิธี เพื่อมิให้ประชาชนหลงเชื่อการกระทำของพวกเขา แม้ว่าจะเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย อาทิ กระจายข่าวสารสู่ประชาชนให้มากที่สุด


 


ยื่นหนังสือถึงกองทัพ เพื่อส่งเสียงก่อกระแสยับยั้งการรัฐประหาร ชักชวนไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมของพันธมิตรฯ ติดตามคำพูดจับโกหกการปั้นเท็จข่าวของนักปราศรัยพันธมิตรฯ เปิดโปงข้ออ้างเพื่อชักชวนกลุ่มปัญหาเดือดร้อนต่างๆ หรือการอ้างว่ารัฐบาลไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้มาร่วมชุมนุมแล้วจะได้รับการแก้ไขปัญหาหลังจากไล่รัฐบาลแล้ว ฯลฯ


 


2. เราต้องคัดค้านการรัฐประหารไม่ว่าใครทหารกลุ่มไหนกระทำอย่างมีเอกภาพ หรือไม่มีเอกภาพ ก็ตาม


 


3. ต่อกรณีรัฐธรรมนูญ เราต้องมีทางเลือกก้าวพ้นการเมืองสองขั้ว ตามแนวทางของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนเอกชน คือ การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ แต่ก็ไม่ควรตัดสิทธิ์นักการเมืองในการมีส่วนร่วมแต่อย่างใด เช่นเดียวกัน มิควรปล่อยให้เป็นเพียงเรื่องของรัฐสภาตามข้อเสนอของพลังประชาชนเพียงอย่างเดียว


 


ท้ายที่สุดผู้เขียนเชื่อว่า การนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตยหลังรัฐประหาร 19 กันยา แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การนำจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีเลือดเนื้อของผู้รักประชาธิปไตย ไปจนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง กลับคืนมาด้วย


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net