Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวประชาธรรม
สัมภาษณ์/เรียบเรียง


ปัจจุบันพี่น้องเกษตรกรภาคอีสานจำนวนไม่น้อย อาจกำลังยิ้มย่องกับราคาพืชเศรษฐกิจ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ที่ขายได้ราคาดีขึ้น ทั้งยังถูกโหมกระพือให้ความหวังว่าจะเป็นพืชทอง สร้างรายได้งามเป็นกอบเป็นกำให้ในระยะยาว เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล - พลังงานทางเลือกของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่อาจละเลยอย่างยิ่งในท่ามกลางกระแสพืชพลังงานที่มาแรง คือ การรู้อย่างเท่าทันระบบกลไกตลาด เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากระบบนี้แบบไหน ยั่งยืนหรือไม่ หรือตกเป็นเบี้ยล่างต่อไป..... ติดตาม บทสัมภาษณ์จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัยพืชพลังงานในพื้นที่ภาคอีสาน โดย กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เจ้าหน้าที่วิจัยมูลนิธิชีววิถี (Biothai)


สถานการณ์หรือกระแสการปลูกพืชพลังงาน มันสำปะหลัง และอ้อย ในพื้นที่ภาคอีสานโดยทั่วไปเป็นอย่างไรบ้าง?
จากการลงพื้นที่ก็ยังไม่ได้เห็นปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงอะไรมาก หลักๆ ไปดูเรื่องมันสำปะหลัง โดยไปคุยกับโรงงานเอทานอลแห่งหนึ่ง ที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเอทานอลแห่งเดียวในประเทศไทยในตอนนี้ ได้ข้อมูลว่า ช่วงที่ผ่านมาราคามันสำปะหลังค่อนข้างสูง ประมาณ 3.5 บาท/กิโลกรัม และโรงงานซื้อมันสำปะหลังมาในราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าตลาดทั่วไปนิดหน่อยเพื่อเป็นการจูงใจด้านราคาให้กับเกษตรกร แต่ส่วนตัวคิดว่าเกษตรกรยังขายไม่ได้ราคาสูงอย่างที่โรงงานกล่าวอ้าง เพราะชาวบ้านก็ยังโวยวายว่าโรงมันกดราคาอยู่ นอกจากนี้ ภาพที่เห็นก็คือ รถขนกล้ามันสำปะหลัง ที่วิ่งกันให้ว่อนเลย ซึ่งเข้าใจว่าจะมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังในภาคอีสาน

พื้นที่ในภาคอีสานเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่-พืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อยและมันสำปะหลัง มานานแล้ว โดยปลูกในพื้นที่เดียวกัน บางส่วนก็ปลูกทั้งอ้อยทั้งมัน แต่สัดส่วนในการใช้พื้นที่ปลูกก็แตกต่างกันไปตามการจูงใจด้านราคา พืชตัวไหนราคาดีก็จะปลูกพืชตัวนั้นเยอะ

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคามันสำปะหลังไม่ค่อยดี เพิ่งเริ่มมีราคาดีขึ้นมาในระยะหลังเมื่อประมาณ 2-3 ปีมานี้ เพราะประเทศจีนก็เริ่มนำเข้ามันสำปะหลังเยอะขึ้น จนกระทั่งราคามันสำปะหลังมาทะลุเป้าได้ราคาดีเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวของมันสำปะหลังสูงมาก อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่ก็มีสภาพไม่เหมาะสมกับการปลูกมันสำปะหลังมากนัก เช่น พื้นที่ดินทรายอุ้มน้ำในเขต จ.ขอนแก่น ก็อาจจะไม่ได้ผลผลิตดีเท่ากับพื้นที่ที่แห้งแล้งกว่า เพราะมันสำปะหลังชอบพื้นที่แล้ง ถ้ามีน้ำแช่ขังหัวมันสำปะหลังจะเน่า


ลักษณะความเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง
ที่ผ่านมา มีข่าวลือที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่ เกี่ยวกับการปลูกมันสำปะหลัง 6 เดือน (พันธุ์ของมันสำปะหลังที่สามารถให้ผลผลิตภายใน 6 เดือน) ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านนิยมนำมาปลูกกันมาก โดยจะปลูกมันสำปะหลังพันธุ์หลังจากเก็บเกี่ยวนาข้าว เป็นการเพิ่มการใช้พื้นที่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านถูกหลอกหรือไม่ เพราะเท่าที่ตามดูข้อมูล ก็ยังไม่พบว่ามีมันพันธุ์มันสำปะหลัง 6 เดือน ออกมาจริง และไม่ใช่พันธุ์ที่ทางราชการส่งเสริม แต่ปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านแห่ปลูกมันพันธุ์ใหม่นี้ ไปสอดรับกับสถานการณ์ราคามันสำปะหลังที่ขายได้ราคาดี เกษตรกรจำนวนไม่น้อยก็ไปหาซื้อกล้ามาปลูกโดยที่ไม่รู้ว่าสามารถให้ผลผลิตในระยะเวลา 6 เดือนจริงหรือไม่ ส่วนคนที่ขายกล้ามัน ก็เอารายได้ตรงนี้ไปก่อนอยู่ดี

"
ข้อที่น่าเป็นห่วงสำหรับเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังตามกระแสก็คือ โดยปกติมันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตดี หรือ มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง จะมีอายุการปลูกประมาณ 8 เดือนขึ้นไป กล่าวคือ มันสำปะหลังพันธุ์ดี โดยทั่วไปจะให้เปอร์เซ็นต์แป้งไม่เกิน 27-28% ที่เหลือเป็นน้ำ ในขณะที่มันสำปะหลังพันธุ์ 6 เดือนยังมีข้อน่าเป็นห่วงว่าจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งไม่มากอย่างที่หวัง เพราะขนาดหัวมันเล็ก"


คุณภาพชีวิตของเกษตรกร
ตอนนี้มันสำปะหลังกำลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ชาวบ้านยิ้มย่อง กล่าวคือ ชาวบ้านก็มีความหวังกับการที่มันสำปะหลังราคาดี และคาดว่าว่าจะมีการเพิ่มปริมาณการปลูกมันสำปะหลังอีก เนื่องจาก ที่ผ่านมากรณีพืชเศรษฐกิจยางพารา ที่ชาวบ้านเคยลงทุนปลูกไปแล้ว มีแนวโน้มว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ เพราะเป็นกล้าพันธุ์ยางพาราตาต่อย ในขณะที่มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เพราะมีต้นทุนการผลิตรวมทั้งความเอาใจใส่ดูแลก็น้อยกว่าพืชตัวอื่นๆ กล่าวคือ โดยส่วนใหญ่เป็นต้นทุนการผลิตด้านค่าแรงของตัวเองมากกว่า 50% เช่น การขุดยกร่องดิน การขุดมัน การถางหญ้า อาจมีการใช้ปุ๋ยบำรุง กับยาฆ่าหญ้าบ้าง แต่พอช่วงหลัง ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นก็ทำให้ต้นทุนการดูแลบำรุงมันสำปะหลังตีตื้นขึ้นมาเกือบเท่ากับค่าแรงงานแล้ว

ถามว่าสภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้นหรือไม่ในช่วงนี้? ก็ถือว่าดี แต่ประเด็นที่ต้องติดตามดูต่อไป คือ สมมติฐานที่ว่า รูปแบบการผลิตทั้งพืชอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่ได้นำมาใช้ผลิตเป็นพลังงาน หรือที่ผ่านมายังไม่มีการบูมว่าจะเป็นพืชพลังงาน พืชทั้ง 2 ตัว ก็มีรูปแบบการผลิตกึ่งคอนแท็คฟาร์มมิ่ง (contract farming) อยู่แล้ว กล่าวคือ ชาวไร่ขายผลผลอตโดยราคาต้องขึ้นอยู่กับลานมันและโรงแป้ง ในแถบพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ เนื่องจากปริมาณของมันสำปะหลังก็เยอะ ผลผลิตตกอยู่ที่ประมาณ 4-5 ตัน/ไร่ ประกอบกับไม่มีต้นทุนค่าขนส่งไปขายไกล เพราะฉะนั้น ราคามันสำปะหลังก็จะถูกผูกอยู่กับอำนาจซื้อของพ่อค้าลานมัน และพ่อค้าโรงแป้ง

"
ในช่วงที่ราคามันสำปะหลังตกต่ำ ปรากฏการณ์ปัญหาที่เกษตรกรต้องประสพก็คล้ายกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น หอม กระเทียม ลำไย กล่าวคือ ผู้ซื้อรายย่อยต่างก็ล้มหายตายจาก ไม่สามารถอยู่ได้ ดังนั้น ก็จะเหลือผู้ซื้อรายใหญ่อยู่ไม่กี่ราย ซึ่งเขาก็มีอำนาจมากขึ้น ทุกวันนี้กล่าวได้ว่า ไม่ว่าชาวบ้านจะขายผลผลิตของพืชตัวไหน ก็เปรียบเทียบได้กับ "หามผีเข้าป่าช้าแล้วก็ต้องเผา" หมายถึง ยังไงก็ต้องขาย อำนาจต่อรองด้านราคาผลผลิตของชาวบ้านไม่มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว"

พอมาถึงช่วงกระแสการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง หากไม่มีอะไรคาดเคลื่อน หรือไม่มีปัญหาทางการตลาด ภายในปลายปี 2551 จะมีโรงแป้งที่ใช้มันสำปะหลังผลิตเอทานอล เพิ่มอีกประมาณ 7-8 แห่ง ตามแผนการสร้างโรงงงานผลิตเอทานอล ดังนั้นหมายความว่า จะมีผู้ซื้อผลผลิตที่มีอำนาจผูกขาดราคามากขึ้น รูปแบบความสัมพันธ์ในการผลิตก็จะเป็นแบบคอนแท็คฟาร์มมิ่งชัดเจน ถ้าชาวบ้านปลูกมันสำปะหลังมากๆ พ่อค้าก็เลือกได้ ก็เป็นตามปกติที่มีการผลิต (supply) เยอะ หรืออยู่ในช่วงที่ผลผลิตมันสำปะหลังมันออกมาพร้อมๆ กัน เช่น ในฤดูฝน ดินเริ่มไม่เหมาะสมต่อการปลูกมันสำปะหลังแล้ว ชาวบ้านก็จะเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังเร็ว และต้องขายเลย หากเก็บไว้นานกว่านั้นก็จะเน่า อีกทั้งชาวบ้านก็ไม่ได้เป็นคนแปรรูปการผลิตเอง จึงจำเป็นต้องขายหัวมันแบบสดๆ ให้กับโรงงานแป้งมัน หรือโรงงานเอทานอล ในราคาที่โรงงานเป็นผู้กำหนด เพราะโรงงานผลิตเอทานอล สามารถแปรรูปหัวมันสดเป็นมันเส้น (มันสำปะหลังหั้นนำมาตากแห้งแล้ว) ที่สามารถเก็บได้เป็นปี ก่อนที่จะนำไปผลิตเอทานอลได้


ทั้งนี้ โรงแป้ง ลานมัน และโรงงานผลิตเอทานอล จะเป็นผู้ได้เปรียบในภาวะที่มีผลผลิตมันสำปะหลังออกมาเยอะ โดยโรงงานเอทานอล ค่อนข้างจะมีอำนาจต่อรองสูงกว่าส่วนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หากมีปรากฏการณ์การแย่งซื้อมันสำปะหลังระหว่าง 3 กลุ่มนี้ ก็อาจจะเป็นผลประโยชน์กับชาวไร่ แต่อนาคตก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นยังไง

"
การเพิ่มพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ในด้านหนึ่งหมายความว่า ชาวบ้านต้องซื้อกล้ามันด้วย กล่าวคือ จากเดิมชาวบ้านสามารถเก็บกล้ามันไว้ปลูกเองได้ แต่หากต้องขยายพื้นที่ปลูก ต้นกล้ามันสำปะหลังที่เพาะเองอาจจะไม่พอ ก็จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม ดังนั้น ต้นทุนที่เป็นกล้ามันก็เพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อไร่สูงขึ้น เพราะกล้ามันสำปะหลังก็แพง คนขายกล้าก็ได้กำไร แต่พอชาวบ้านมีความหวังว่ามันสำปะหลังจะสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ เขาก็ลงทุน มีการกู้เงินมาลงทุนอีก ซึ่งส่วนตัวก็คิดว่ามันเป็นการลงทุนที่ไม่ยั่งยืน เพราะยังไงแล้ว มันก็เข้าไปอยู่ในวงจรที่ผู้ซื้อผลผลิตก็มีอำนาจมากกว่าผู้ขายผลผลิต"


ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มส่อเค้าลางจากการโหมกระหน่ำปลูกมันสำปะหลัง และอ้อย
กรณีพืชมันสำปะหลังกับอ้อย อาจไม่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสาหัสนักเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจตัวอื่น เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เพราะมันสำปะหลังกับอ้อย ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่เดิม ซึ่งยังไม่มีการเปิดพื้นที่ใหม่มากนัก ยังไม่พบเหตุการณ์บุกรุกเข้าไปปลูกในพื้นที่ลี้ยงสัตว์ หรือพื้นที่ป่าชุมชน แต่ด้านคุณภาพของดิน มีผลกระทบแน่นอนเพราะ มีทำการบำรุงที่ล้วนคล้ายคลึงกับพืชเศรษฐกิจทั่วไป คือ มีการใช้สารเคมี ฉีดยาฆ่าหญ้า


มองว่าเกษตรกรจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากกระแสพืชพลังงานหากไม่ปรับตัว?
ถ้ามองในแง่ผลกระทบ ทีมวิจัยของเราเน้นให้ความสนใจมากในเรื่องผลกระทบจากการที่ชาวบ้านจะถูกเอารัดเอาเปรียบมากขึ้นๆ โดยมีสมมติฐานว่า ในระบบตลาดเช่นนี้ เกษตรกรจะจัดการปรับตัวเองอย่างไร เพื่อให้มีส่วนแบ่งของผลประโยชน์จากการบูมปลูกพืชพลังงานไม่ใช่ตกเป็นเบี้ยของคนอื่นอยู่อย่างนี้

"
ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจ เมื่อพืชเศรษฐกิจมีราคาขึ้น ก็ถือว่าชาวบ้านได้ประโยชน์จากการขาย แต่ต้องมาดูว่าการได้ประโยชน์นั้นได้ประโยชน์แบบไหน ยั่งยืนหรือไม่ หรือได้ประโยชน์จากเศษของคนอื่นเขา และยังถูกขูดรีดเหมือนเดิม"

ตอนนี้ก็เน้นศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ในการผลิตระหว่างเกษตรกรชาวไร่กับโรงงาน เพราะปัญหาในตอนนี้ก็คือ โรงงานเอทานอลที่มีอยู่ ก็ยังไม่ขยายตัวมาก หรืออีกนัยหนึ่งคือ ยังไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต เนื่องจากตัวอุปสงค์ (ความต้องการซื้อ) ของเอทานอล ยังไม่กระฉูดเท่าไหร่ โดยที่ฝ่ายโรงงานก็ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะรัฐบาลไม่สนับสนุนจริงจัง ในขณะที่เรื่องพลังงานทางเลือกก็มีตัวล็อคทางการเมืองอยู่ คือ สารเพิ่มประสิทธิภาพน้ำมัน (เอ็มทีบี) ซึ่งสามารถใช้เอทานอลแทนได้ ก็ปรากฏว่าเนื่องจากมีการนำเข้าสารเอ็มทีบี มาสต็อกไว้เยอะ ทำให้การยกเลิกใช้น้ำมันเบนซิน 95 ยังไม่เป็นจริง แต่ถ้ามีการยกเลิกการใช้เบนซิน 95 เมื่อไหร่ ความต้องการใช้เอทานอลจะสูง ภาวะที่ยังไม่สามารถยกเลิกการใช้เบนซิน 95 ได้ จึงทำให้การผลิตเอทานอลเพื่อผลิตทดแทนการใช้น้ำมันในประเทศ ยังไม่ค่อยเป็นจริงเท่าไหร่ เพราะดีมาน (ความต้องการซื้อ) ยังไม่พุ่ง ซับพลาย (การผลิต) ก็ต้องชะลอตัว

นอกจากนี้ เรายังตั้งสมมติฐานต่อไปอีกว่า หากรัฐบาลส่งเสริมการลงทุนผลิตเอทานอล และให้ใบอนุญาตการผลิตเอทานอลเพื่อใช้ภายในประเทศ เกรงว่าผู้ผลิตหรือผู้ลงทุนผลิตเอทานอล จะไม่ได้หวังขายเอทานอลแค่ในตลาดในประเทศ แต่จะขายให้กับต่างประเทศด้วย

"
การอ้างเรื่องการผลิตพลังงานเอทานอลเพื่อเป็นพลังงานทดแทนในประเทศ และเพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานได้ เป็นคำพูดที่สวยหรู แต่เอาเข้าจริง ถ้าหากนักธุรกิจ หรือพ่อค้า สามารถขายเอทานอลให้ต่างประเทศได้เขาก็ต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งแนวโน้มก็เป็นอย่างนั้น เนื่องจาก มีความพยายามของภาคธุรกิจที่ต้องการผลักดันให้รัฐบาลเปิดให้มีการขายเอทานอลอย่างเสรีมากกว่านี้ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็น่าเป็นห่วงมาก เพราะเป็นการขูดรีดแผ่นดินตัวเอง แล้วเอาน้ำมันเอทานอลไปขายให้คนอื่นเขาใช้"


เกษตรกรจะอยู่อย่างไรให้มั่งคั่ง ยั่งยืน?
ถ้าเกษตรกรอยู่ในกระแสการบูมพืชพลังงาน ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความยั่งยืน ก็ต้องทำใจเพราะ 1. ชาวบ้านปลูกพืชมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ และเป็นพืชเงินสดของเขา ที่อยู่คู่กับสังคมอีสานมาไม่น้อยกว่า 30-40 ปี หลังจากพืชปอ ล้มไปแล้ว จากนั้นจึงปลูกมันสำปะหลัง ควบคู่กับอ้อยเรื่อยมา

เพราะฉะนั้น ในทางระยะยาว คิดว่าชาวบ้านก็คงจะปลูกพืชเหล่านี้ต่อไป แต่ว่าการปลูกแบบอัดฉีดปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง ต่อไป มันก็ไม่มีทางยั่งยืนอยู่แล้ว ทิศทางแบบนี้มันเกิดขึ้นทั่วประเทศ ดังนั้น ชาวบ้านจะต้องหันมาคิดเรื่องการใช้แรงงานของตัวเองมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิต และมีการบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยเคมีให้น้อยลง ทั้งนี้เพราะ นอกเหนือจากการที่พ่อค้าถือโอกาสขึ้นราคาปุ๋ยเคมี แสวงหากำไรจนเกินควรแล้ว ที่จริงราคาปุ๋ยก็ต้องสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน เนื่องจากปุ๋ยเป็นวัตถุดิบที่ผลิตมาจากปิโตรเคมี

"
ในทางระยะยาว ถ้าหากเกษตรกรยังไม่ปรับเปลี่ยนมาใช้แรงงานของตัวเองมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้ปุ๋ยเคมี ส่วนต่าง (margin) ก็จะไม่อยู่กับเกษตรกร-ชาวไร่ อยู่แล้ว แต่จะเป็นลักษณะที่เกษตรกร-ชาวไร่ ผลิตวัตถุดิบราคาถูกป้อนให้โรงงาน"

ดังนั้น ชาวบ้านควรจะรู้และเท่าทันว่า ภายใต้ระบบตลาด และการบูมของราคาพืชเอทานอลเกิดขึ้นได้อย่างไร เขาควรจะฉกฉวยประโยชน์จากกระแสการบูมพืชพลังงานได้อย่างไร นอกจากนี้ จะจัดการและปรับตัวเรื่องการผลิต หรือว่าแปรรูปอย่างไรให้ตัวเองไม่ถูกบีบ ไม่ใช่เป็นแบบเดิมๆ ที่เป็นแบบผีถึงป่าช้าก็ต้องขาย
"
ส่วนตัวเห็นว่า ทางออกของชาวบ้าน คือ 1. ชาวบ้านจะต้องพัฒนาวิธีการลดต้นต้นทุน คือ เพิ่มผลผลิตในพื้นที่ ซึ่งแนวคิดนี้ก็เป็นแบบเดียวกันกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. ชาวบ้านต้องจัดการแปรรูปผลผลิตกันเอง ไม่ใช่รอนั่งขายของสดอย่างเดียว"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net