กระบอกเสียงนักศึกษาใต้ ตอนที่ 4: 15 วันสร้างสถานะใหม่ ‘ผู้หลงผิดกลับใจ’ กับอีกโครงการอบรมของรัฐ

"ตราบใดภาครัฐยังไม่สามารถนำ ทฤษฎี "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" นำไปใช้ควบคู่กับยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น "แยกปลาออกจากน้ำ"หรือ "ขุดบ่อล่อปลา" สุดท้ายไม่ใช่แค่กำจัดปลาไม่ได้ มิหนำซ้ำยังทำให้น้ำกลายเป็นปลา หรือพวกเดียวกับปลาโดยปริยาย เพราะความหวาดระแวงเกินไปจนนำไปสู่การรีบด่วนสรุปว่า ปลาหรือผู้ก่อความไม่สงบในความคิดของรัฐก็คือ ประชาชนผู้บริสุทธิ์นั่นเอง"

 

 

ชื่อบทความเดิม กรณี 15 วันกับโครงการอบรมหลักสูตรประชาร่วมใจ ทำดีเพื่อแผ่นดิน

 

 

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อปลายปี พ.ศ.2550 มีวีธีการหนึ่งของภาครัฐที่จัดขึ้นมาในรูปแบบของโครงการอบรมฝึกอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับและสนองนโยบายทฤษฎีการ "แยกปลาออกจากน้ำ" ของฝ่ายความมั่นคงที่มีความเชื่อว่า ถ้าสามารถเอา "ปลา" ในที่นี้ก็คือ "ประชาชนในพื้นที่" ที่มีวิถีชีวิตอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกต้องสงสัยโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบหรือมีแนวคิดที่ต่อต้านระบบการเมืองการปกครองของรัฐ แต่จากอดีตจนถึงปัจจุบันไม่เคยมีปรากฏว่า ผู้ที่ถูกต้องสงสัยหรือตกเป็นจำเลยของรัฐตามกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบจะเป็นคนเชื้อชาติอื่น ศาสนาอื่น นอกจากคนมลายูอิสลาม ซึ่งมีสัดส่วน 80% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วนำไปเปลี่ยนความคิดหรือเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมของ "เชื้อชาติมลายู" กับ "ศาสนาอิสลาม" มาเป็นระยะเวลายาวนานราวๆประมาณ 500 ปีกว่า หากนับตั้งแต่เริ่มแรกที่ศาสนาอิสลามเข้ามาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใน ค.ศ. 1500

 

การใช้กระบวนการเช่นนี้ในส่วนภาครัฐอาจมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องและผสมผสานกลมกลืนกับเบ้าหลอมของวิถีชีวิตใหม่ที่ถูกหล่อหลอมด้วยสภาวะสังคมจากระบบการปกครองรวมศูนย์อยู่ที่ความเป็น "ชาติไทย" ถ้าสามารถทำสำเร็จได้ ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าความสันติสุขก็จะเกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าการใช้วิธีการนี้ของรัฐเพื่อให้บรรลุถึงยุทธศาสตร์การรวมชาติเป็นปึกแผ่นกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องเกิดความขัดแย้งขึ้นมาอย่างหลีกเลียงไม่ได้

 

เพราะสภาพการณ์ที่เป็นรากเหง้าของปัญหาทุกวันนี้สรุปแล้วอาจมาจากความขัดแย้งของวิถีชีวิตนั่นเอง ภาครัฐเลือกใช้ยุทธวิธีทั้งไม้แข็งและไม้อ่อนเพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์การรวมชาติให้ผสมผสานกลมกลืนในวิถีชีวิตความเป็นชาติไทยที่มีต้นฉบับแค่ฉบับเดียวทั่วประเทศ ในที่นี้ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ขอเอ่ยในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับยุทธวิธีไม้แข็งของภาครัฐที่ใช้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะคิดว่าน่าจะนึกภาพออกอย่างง่ายดายอยู่แล้ว เช่น การซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยให้รับสารภาพ การใช้ศาลเตี้ยพิพากษาประหารชีวิตประชาชนที่ต้องสงสัย ฯลฯ

 

แต่ที่ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะขอเอ่ยหรือขอสะท้อนความจริงจากชายแดนใต้ที่ถูกปิดในตอนนี้คือ ความขมขื่นของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ปัญหาของภาครัฐที่ใช้ยุทธวิธีไม้อ่อนหรือการทำตามทฤษฎีที่เรียกว่า "ขุดบ่อล่อตัวที่คิดว่าเป็นปลา" โดยผ่านการจัดโครงการอบรมต่างๆ อาจใช้ชื่อโครงการสวยๆแปะใว้ที่เปลือกนอกแต่ข้างในแอบแฝงซ่อนเร้นด้วยกับดักมากมายเพื่อให้ความคิดของตัวเองที่สงสัยต่างๆนานาต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นจริง เป้าหมายก็คือเพื่อดึงภาคสังคมให้เห็นด้วยกับความคิดของรัฐตามกระบวนการยุติธรรมแบบพิเศษในสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

 

ปัจจุบันรัฐใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ กฎอัยการศึกและ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ควบคุมสถานการณ์และหาทางคลี่คลายปัญหาให้สำเร็จ โดยได้มอบอำนาจนี้ไว้กับทหาร คือ ทหารสามารถควบคุมตัวผู้ที่ตัวเองคิดว่าน่าจะมีส่วนพัวพันกับการก่อความไม่สงบ ตามอำนาจกฎอัยการศึกได้ 7 วัน จากนั้นพอครบ 7 วันแล้วรัฐสามารถควบคุมตัวต่อได้อีกไม่เกิน 30 วัน ตามอำนาจ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ต้องมีหมาย ฉฉ.จากศาลในทุกๆครั้งของแต่ละ7วัน เพื่อปรับฐานข้อมูลข้อเท็จจริงและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องสงสัยตามอำนาจของทหารที่ชอบธรรม

 

ทั้งนี้ อำนาจตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวสรุปได้ว่าทหารจะไม่มีสิทธิควบคุมตัวต่อไปได้เมื่อครบ 37วัน และจะต้องปล่อยตัวประชาชนที่ต้องสงสัยให้เป็นอิสระทันที แต่ในกรณีการเข้าโครงการอบรมฝึกอาชีพให้กับประชาชนที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบจะต้องถูกควบคุมตัวต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา ดังนั้นแม้ว่าทหารจะได้ควบคุมตัวครบตามกำหนดการตามระยะเวลาของกฎอัยการศึกและ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกอย่างแล้ว แต่ในทรรศนะของทหารอาจยังคิดว่าจำเป็นต้องต่อเวลาการควบคุมตัวอีก ในนามของโครงการอบรมฝึกอาชีพ จึงเป็นการควบคุมตัวต่อไปอีก 4 เดือน เพราะอย่างน้อยๆก็สามารถนำไปพิสูจน์ทฤษฎี "การแยกปลาออกจากน้ำ" ว่าจะส่งผลสัมฤทธิ์มากน้อยแค่ไหนต่อการก่อสถานการณ์รายวัน (จะลดลงหรือจะเพิ่มขึ้น)

 

อาจด้วยความที่ทหารเชื่ออย่างมั่นใจว่าผู้ต้องสงสัยที่ได้เชิญตัวมาแล้วมีส่วนพัวพันไม่มากก็น้อยกับการก่อความไม่สงบหรือกำลังอยู่ในภาวะสุมเสี่ยง แต่ด้วยในอำนาจของกฎหมายพิเศษทั้งกฎอัยการศึกและ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้รองรับโครงการฝึกอาชีพนี้จึงจำเป็นต้องให้ประชาชนที่ต้องสงสัยกลุ่มดังกล่าวสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯโดยนัยบังคับ เช่น ใช้การขู่ผู้ต้องสงสัยว่าไม่รับรองความปลอดภัยหลังจากกลับสู่ภูมิลำเนา และเคยมีคำสั่งของแม่ทัพภาคที่ 4 ห้ามไม่ให้กลุ่มผู้ต้องสงสัยดังกล่าวกลับเข้าสู่ภูมิลำเนาได้ถ้าไม่เข้าร่วมโครงการอบรมฝึกอาชีพ สุดท้ายผู้ต้องสงสัยดังกล่าวจึงถูกบังคับให้สมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ

 

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมานักสิทธิมนุษยชนและทนายความได้เรียกร้องต่อกระบวนการดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมตัวโดยกระบวนการดังกล่าวได้เพราะขาดความชอบธรรมตามกฎหมาย ในทำนองเดียวกันเมื่อวันที่ 1-15 พ.ค. 2551 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จัดโครงการอบรมหลักสูตรประชาร่วมใจทำดีเพื่อแผ่นดิน ที่โรงเรียนการเมือง ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งในหนังสือเชิญตัวไม่ได้แจ้งสถานที่จัดกิจกรรมและกำหนดการแต่อย่างใด แจ้งไว้แค่ให้ไปลงทะเบียนในวันที่ 1 พ.ศ.2551 เวลา 10.00 น. ณ.ห้องพญาตานี 2 โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อ.เมือง จ.ปัตตานี

 

เหตุผลที่ในหนังสือได้อ้างไว้เพื่อเชิญตัวก็คือ จากการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐตามฐานข้อมูลที่ปรากฏและจากการที่กลุ่มก่อความไม่สงบเข้ารายงานตัวต่อทางราชการได้ซัดทอดว่า "ท่านมีส่วนร่วมในการกระทำที่ส่อไปในทางเคลื่อนไหว ขัดขว้าง สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ในหมู่บ้านและชุมชน" ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและปรับฐานข้อมูลให้ถูกต้องตลอดจนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหลักสันติวิธีให้บรรลุผลอย่างยั่งยื่น จึงขอเชิญท่านเข้าร่วมโครงการฯดังกล่าว (อ้างอิงจาก หนังสือเลขที่ นร ๕๑๑๔.๐๒()/๔๙๘ จากกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ๙๔๑๖๐ ลงวันที่ 15 เม.ย.2551 ลงชื่อโดย พลโท จิรพันธ์ เกษมศานติ์สุข)

 

จากการตั้งข้อสังเกตในความตื้นลึกหนาบางของโครงการฯนี้พบมีสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลดังนี้

 

1. จากเหตุผลการเชิญตัวที่ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีฐานข้อมูลจากการซัดทอดของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เข้ารายงานตัวต่อทางราชการ แล้วทำไมทางเจ้าหน้าที่รัฐไม่ระบุชื่อของผู้ซัดทอดว่าเป็นใคร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้ต้องสงสัย

 

2. ตามอำนาจกฎอัยการศึกและ พ.ร.บ.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่รัฐสามารถควบคุมตัวประชาชนผู้ต้องสงสัยเพื่อพิสูจน์ความจริงได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยตามขั้นตอนของกระบวนการ การสอบสวนของทางเจ้าพนักงานภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดไว้และภายใต้อำนาจของศาลคือ อย่างเต็มที่ไม่เกิน37 วัน ทำไมรัฐไม่นำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนแบบปกติเพื่อสร้างความกระจ่างชัดในข้อสงสัยต่างๆที่ได้ข้อมูลจากการซัดทอดของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เข้ารายงานตัวต่อทางราชการ แต่กลับเชิญตัวผู้ต้องสงสัยให้ร่วมโครงการประชาร่วมใจทำดีเพื่อแผ่นดิน แทน

 

3.  จากการติดตามผลหลังจากเสร็จโครงการฯดังกล่าวของหลายๆภาคส่วนทำให้ทราบว่า บางรายถูกจับตัวอยู่ที่ชุดเฉพาะกิจในพื้นที่ต่อไปอีก ทั้งที่ตอนที่อยู่ในโครงการฯเจ้าหน้าที่รัฐได้ให้คำมั่นสัญญาว่า "ผู้ที่เข้าร่วมโครงการประชาร่วมใจทำดีเพื่อแผ่นดิน ครบตามหลักสูตรภายในระยะเวลา 15 วัน คือ คนดีหรือคนบริสุทธิ์ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาอาจจะมีส่วนพัวพันจริง แต่เพราะถูกชักชวนโดยคนไม่ดีทำให้หลงผิดชั่วขณะ ยังไม่สายต่อการกลับตัวกลับใจ ถ้าผู้ใดเคยอยู่ในภาวะเช่นนี้ แล้วมาบอกเล่าแลกเปลี่ยนอย่างตรงไปตรงมา ทางรัฐจะปล่อยให้เป็นอิสระทันที"

 

ทำให้ผู้ต้องสงสัยที่เข้าร่วมโครงการฯที่ไม่อยู่ในกรอบของสมมุติฐานข้างต้นของเจ้าหน้าที่รัฐหรือคิดว่าไม่ได้มีส่วนพัวพันใดๆกับผู้ก่อหรือการก่อความไม่สงบที่หวังที่จะให้เป็นอิสระเร็วๆและจะได้เป็นคนบริสุทธิ์สักที จึงพลอยคล้อยตามไปด้วยเพราะคำสัญญาดังกล่าว สุดท้ายก็คล้ายถูกกับดักจนได้ โดยการสร้างเรื่องว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯครั้งนี้ คือ ผู้ต้องสงสัยที่มามอบตัว จากก่อนหน้านี้ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯยังมีสถานะเป็นผู้บริสุทธิ์ที่เจ้าหน้าที่ฯสงสัยเท่านั้น แต่พอได้เข้าร่วมโครงการอบรมหลักสูตรประชาร่วมใจทำดีเพื่อแผ่นดินจบหลักสูตรภายใน 15 วัน ก็มีสถานะใหม่ กลายเป็นอดีตผู้หลงผิดเคยเป็นแนวร่วมฯ แต่ปัจจุบันกลับตัวเป็นคนดี

 

ความจริงใจของภาครัฐในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูคล้ายเน้นหนักไปในทางเอาความรู้สึกนำหน้าความเป็นจริงโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใดเลย ถ้าตราบใดภาครัฐยังไม่สามารถนำ ทฤษฎี "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" นำไปใช้ควบคู่กับยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น "แยกปลาออกจากน้ำ"หรือ "ขุดบ่อล่อปลา" สุดท้ายไม่ใช่แค่กำจัดปลาไม่ได้ มิหนำซ้ำยังทำให้น้ำกลายเป็นปลา หรือพวกเดียวกับปลาโดยปริยาย เพราะความหวาดระแวงเกินไปจนนำไปสู่การรีบด่วนสรุปว่า ปลาหรือผู้ก่อความไม่สงบในความคิดของรัฐก็คือ ประชาชนผู้บริสุทธิ์นั่นเอง

 

 

ด้วยจิตสมานฉันท์เพื่อสันติภาพ

ฝ่ายข้อมูลข่าวสารสหพันธ์นิสิต

นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(สนน.จชต.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท