WTO watch: แนะนำหนังสือ การเจรจารอบโดฮาให้ประโยชน์แก่ ประเทศด้อยพัฒนาจริงหรือ?






รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์


สมบูรณ์ ศิริประชัย

บรรณาธิการ

 

เอกสารวิชาการหมายเลข 19

โครงการ WTO Watch

(จับกระแสองค์การการค้าโลก)

พฤษภาคม 2551

178 หน้า

 

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

 

การเจรจาการค้าพหุภาคี (Multilateral Trade Negotiations) นับตั้ง GATT มีผลบังคับใช้ในปี 2491 เป็นต้นมา มีเป้าประสงค์ในการขยายระเบียบการค้าระหว่างประเทศบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม โดยที่ในระยะหลังระเบียบดังกล่าวนี้มีแนวโน้มที่จะขยายออกไปครอบคลุมปริมณฑลนอกการค้าระหว่างประเทศในความหมายดั้งเดิม การเจรจารอบโดฮาสืบทอดมรดกทางประวัติศาสตร์ของการเจรจาการค้าพหุภาคีดังกล่าวนี้ ด้านหนึ่ง การเจรจารอบโดฮาพยายามขยายปริมณฑลของระเบียบการค้าเสรี อีกด้านหนึ่ง พยายามบรรจุ Singapore Issues เข้าสู่ระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปพยายามผลักดันการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศในแนวทางที่เอื้อผลประโยชน์แห่งชาติตน จนบางกรรมบางวาระถึงกับหลงลืมคำประกาศเจตนารมณ์ของการเจรจารอบโดฮาที่ต้องการให้เป็นรอบแห่งการพัฒนา (Development Round) โดยกำหนดเข็มมุ่งในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศเพื่อเกื้อกูลกระบวนการพัฒนาของประเทศด้อยพัฒนาโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (The Least Developed Countries)

 

ประสบการณ์จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัยทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากการเจรจารอบโดฮาหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

 

คำถามที่ว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาหรือไม่ เกือบจะเป็นคำถามเดียวกับคำถามที่ว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่ยึดปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมหรือไม่

 

สมาชิกองค์การการค้าโลกต้องปฏิบัติตามกฎกติกาชุดเดียวกัน (Level Playing Field) การค้าระหว่างประเทศภายใต้การดูแลขององค์การการค้าโลกเป็นระบบที่ยึดกฎกติกาเป็นที่ตั้ง (Rule-Based Trading System) ประเทศด้อยพัฒนาที่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้ระบบดังกล่าวนี้ย่อมต้องมีความสามารถในการแข่งขัน หากไม่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความได้เปรียบเทียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ได้ ย่อมยากที่จะได้ประโยชน์จากระบบการค้าเสรี ประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่อยู่ในฐานะเช่นที่ว่านี้ การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัยได้ให้บทเรียนแก่ประเทศโลกที่สามว่า จะต้องไม่ผลีผลามรับระเบียบการค้าเสรี เพราะนอกจากไม่แน่ว่าจะอยู่รอดทางเศรษฐกิจได้เท่านั้น หากยังต้องเผชิญกับการเล่นแร่แปรธาตุของประเทศมหาอำนาจในการหาประโยชน์จากกฎกติกาองค์การการค้าโลกอีกด้วย

 

ประเทศมหาอำนาจพยายามโน้มน้าวให้ประเทศด้อยพัฒนาเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ และเดินแนวทางการพัฒนาโดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ประเทศด้อยพัฒนาที่จำต้องพึ่งพิงเงินกู้จากองค์กรโลกบาล ดังเช่นธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อยู่ในภาวะจำยอมในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามฉันทมติวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งถีบตัวเป็นเมนูนโยบายเศรษฐกิจหลักของโลกนับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ประเทศมหาอำนาจและองค์กรโลกบาลพยายามเผยแพร่ความเชื่อที่ว่า การเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศช่วยเพิ่มพูนสวัสดิการทางเศรษฐกิจแก่ประเทศคู่ค้า อีกทั้งยังมีการผลิตงานวิชาการที่ให้ข้อสรุปว่า การเปิดเสรีแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยปราศจากการถูกผูกมัดและโดยปราศจากปฏิบัติการต่างตอบแทน (Unilateral Liberalization) ให้ประโยชน์แก่ประเทศมากยิ่งกว่าการเปิดเสรีที่ถูกผูกมัดและที่มีปฏิบัติการต่างตอบแทนจากประเทศคู่ค้า หากการเปิดเสรีชนิด "ข้าไปคนเดียว" ให้ประโยชน์มหาศาลจริงแท้แน่นอน เหตุไฉนประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป จึงไม่เลือกเส้นทางการเปิดเสรีชนิด "ฉายเดี่ยว" โดยไม่ต้องนำพาว่าประเทศคู่ค้าเปิดเสรีตามไปด้วยหรือไม่ และโดยไม่ต้องนำพาในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกติกาขององค์การการค้าโลกให้ยุ่งยาก

 

ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับประเด็นการเจรจา อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผลการเจรจา

 

ประเด็นการเจรจาขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศ หากเป้าประสงค์ในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่การเปิดตลาดและการส่งเสริมให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัว ประเด็นการเจรจาเกือบจะเป็นชุดเดียวกับที่เจรจาในรอบโดฮา แต่ถ้าวัตถุประสงค์ของการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่การเกื้อกูลให้ประชาชนในประเทศด้อยพัฒนาพ้นจากความยากจน ประเด็นการเจรจาย่อมแตกต่างจากชุดที่กำลังเจรจาในรอบโดฮา Rodrik (2004) และ Stiglitz and Charlton (2005) วิพากษ์ประเด็นการเจรจาในรอบโดฮาว่า มิได้เกื้อกูลกระบวนการพัฒนาของประเทศยากจน Rodrik (2004) ชี้ให้เห็นว่า การจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศโดยมุ่งประเด็นการเปิดเสรีตลาดการค้าสินค้าเกษตรให้ประโยชน์แก่ประเทศด้อยพัฒนาเพียงบางประเทศเท่านั้น หาได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหมดไม่ เพราะประเทศด้อยพัฒนาจำนวนมากมิได้ส่งออกสินค้าเกษตร ในทัศนะของ Rodrik (2004) การเจรจารอบโดฮาจะได้ชื่อว่าเป็น "รอบแห่งการพัฒนา" (Development Round) ก็ต่อเมื่อจับประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศโดยเสรีเป็นประเด็นหลัก อีกทั้งต้องเปิดให้ประเทศด้อยพัฒนามีพื้นที่ในการกำหนดนโยบายของตนเอง (Policy Space) มิใช่กำหนดกฎกติกาขององค์การการค้าโลกเพื่อรัดรึงประเทศด้อยพัฒนาจนไม่มีอธิปไตยในการเลือกเส้นทางการพัฒนาของตนเอง ในการนี้จำเป็นต้องยอมรับความแตกต่างด้านสถาบันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ด้วยเหตุที่ประเด็นการเจรจารอบโดฮามิได้ให้ประโยชน์โดยตรงแก่ประเทศในโลกที่สาม Rodrik (2005) จึงมีความเห็นว่า หากการเจรจารอบโดฮาจบลงด้วยความล้มเหลวก็มิใช่เรื่องอันควรแก่การเสียดายแต่ประการใด

 

Stiglitz and Charlton (2005) เสนอความเห็นว่า ประเด็นการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาจำนวนมากมิได้สอดคล้องกับเป้าหมายการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศเพื่อเกื้อกูลการพัฒนาและการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศด้อยพัฒนา ประเด็นที่สร้างต้นทุนแก่ประเทศด้อยพัฒนาและสมควรที่จะเรียกร้องให้ยกเลิกการเจรจา ได้แก่

 

(1)        ความตกลงด้านการลงทุน

(2)        กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา

(3)        การเปิดเสรีการค้าบริการ

(4)        มาตรการต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับการค้า เช่น มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

(5)        การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงิน

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ ทั้ง Rodrik (2004; 2005) และ Stiglitz and Charlton (2005) มีความเห็นว่า วาระการเจรจารอบโดฮาที่กำลังดำเนินการอยู่มิได้ให้ประโยชน์ขั้นรากฐานแก่ประเทศด้อยพัฒนาหากต้องการให้รอบโดฮาเป็น "รอบแห่งการพัฒนา" จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงประเด็นและวาระการเจรจาใหม่

นอกเหนือจากประเด็นการเจรจาแล้ว ผลการเจรจานับเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดผลประโยชน์ที่ภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกได้รับ การเจรจารอบโดฮาที่ผ่านมาเน้นประเด็นการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตร เนื่องจากประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งนำโดยกลุ่ม G20 และกลุ่มอื่นๆ ไม่ยอมเจรจาประเด็นภายใต้ Singapore Issues กระนั้นก็ตาม ประเทศมหาอำนาจพยายามผลักดันประเด็นการเปิดเสรีตลาดสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตร (Non-Agricultural Market Access: NAMA) รวมตลอดจนการเปิดเสรีการค้าบริการ และการยอมรับกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา แม้ว่าการเจรจารอบโดฮาจะผ่านพ้นมาเกินครึ่งทศวรรษ แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

 

เมื่อการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาเริ่มต้นในปี 2544 ประเทศมหาอำนาจโหมโฆษณาว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากนโยบายการค้าเสรีอย่างมหาศาล ประหนึ่งว่า ประเทศด้อยพัฒนาอุดมด้วยอวิชชา และไม่ตระหนักถึงประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากนโยบายการค้าเสรี ธนาคารโลกเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการโฆษณานี้ รายงานเรื่อง Global Economic Prospects 2004: Realizing the Development Promise of the Doha Agenda ขององค์กรโลกบาลแห่งนี้ เสนอผลการวิเคราะห์ว่า การเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรภายใต้การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาจะให้ประโยชน์แก่ภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกอย่างมหาศาล และสวัสดิการทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรนี้ตกแก่ประเทศด้อยพัฒนาเป็นสำคัญ (World Bank 2003) รายงานนี้ก่อให้เกิดวิวาทะในวงวิชาการเป็นอันมาก ประเด็นการถกเถียงที่สำคัญ ก็คือ การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาให้ประโยชน์แก่สังคมเศรษฐกิจโลกมากมหาศาลจริงหรือ และประเทศด้อยพัฒนาเป็นผู้ได้ประโยชน์ในสัดส่วนสำคัญจากรอบโดฮาจริงหรือ นักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเศรษฐศาสตร์พากันดาหน้าออกมาวิพากษ์ World Bank (2003) ข้อวิจารณ์ที่สำคัญ ก็คือ World Bank (2003) ประมาณการผลได้ผลเสียจากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาจากข้อมูลที่ไม่ทันสมัย World Bank (2003) พบว่า ประโยชน์ในสัดส่วนสำคัญที่ได้จากรอบโดฮาเกิดจากการลดกำแพงภาษีสินค้าเกษตร แต่ World Bank (2003) มิได้ตระหนักว่า ประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรจากประเทศที่พัฒนาแล้ว กำแพงภาษีโดยข้อเท็จจริงต่ำอยู่แล้ว ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการลดกำแพงภาษีสินค้าเกษตรจึงมิได้มีมากดังผลการประมาณการของ World Bank (2003) ในประการสำคัญ มีความเคลื่อนไหวในสังคมเศรษฐกิจโลกในการทำข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งระดับทวิภาคีและภูมิภาคี ซึ่งมีผลในการลดกำแพงภาษีในหมู่ภาคีสมาชิก

 

ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นนี้ ทำให้วงวิชาการมีข้อกังขาอย่างสำคัญเกี่ยวกับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา เมื่อมีการพัฒนาฐานข้อมูลให้ทันสมัยยิ่งขึ้น จึงมีการศึกษาประเด็นนี้จากฐานข้อมูลใหม่ ผลการศึกษาพบว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากรอบโดฮามิได้มีมาก ในประการสำคัญประโยชน์ตกแก่ประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่าประเทศด้อยพัฒนา (Ackerman 2005; Polaski; 2006)

แบบจำลองที่นิยมใช้ในการประเมินผลกระทบอันเกิดจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศอันเป็นผลจากการเจรจารอบโดฮาเป็น Computable General Equilibrium (CGE) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Global Trade Analysis Project Model (GTAP) และอาศัยฐานข้อมูลจาก GTAP Dataset การใช้ฐานข้อมูลที่ต่างกันทำให้ผลการวิเคราะห์แตกต่างกัน GTAP Dataset Version 5 ใช้ข้อมูลปี 2540 เป็นฐาน ในขณะที่ Version 6 ใช้ข้อมูลปี 2544 เป็นฐาน ความแตกต่างสำคัญ ก็คือ กำแพงภาษีในสังคมเศรษฐกิจโลกลดลงเป็นอันมากระหว่างปี 2540-2544 ทั้งนี้เป็นผลจากการทำข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งระดับทวิภาคีและภูมิภาคี การใช้ข้อมูลจาก GTAP Dataset Version 6 จะทำให้ประมาณการประโยชน์สุทธิที่ได้จากการเจรจารอบโดฮามีไม่มากเท่าการใช้ข้อมูลจาก Version 5

 

ความข้างต้นนี้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่าง World Bank (2003) กับ Anderson and Martin (2006) ในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ณ เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกในเดือนกันยายน 2546 ธนาคารโลกชี้นำให้ประเทศด้อยพัฒนายอมรับการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรโดยอ้างว่า สวัสดิการทางเศรษฐกิจของสังคมเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 500,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน (Suppan 2005) ในขณะที่ World Bank (2003: 131) สรุปว่า สวัสดิการทางเศรษฐกิจของโลกที่เพิ่มขึ้นจากการเจรจารอบโดฮาอยู่ระหว่าง 400,000 - 900,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน โดยที่มากกว่าครึ่งหนึ่งตกแก่ประเทศด้อยพัฒนา ในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ณ นครฮ่องกงในเดือนธันวาคม 2548 นายปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการองค์กรโลกบาลแห่งนี้อ้างผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนว่า การขจัดกำแพงภาษีและเงินอุดหนุนสินค้าเกษตรจะทำให้สวัสดิการของสังคมเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น 574,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน (Suppan 2005) บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจารอบโดฮามิได้มีมากดังที่อวดอ้างกัน

 

ด้วยเหตุที่ World Bank (2003) ถูกวิพากษ์และโจมตีเป็นอันมาก ธนาคารโลกจึงจัดการให้มีการวิจัยใหม่โดยใช้ข้อมูลที่ทันสมัยมากกว่าเดิม ทั้งนี้ภายใต้การอำนวยการของศาสตราจารย์คิม แอนเดอร์สัน (Kym Anderson) แห่ง University of Adelaide ประเทศออสเตรเลีย งานวิจัยภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ทยอยปรากฏสู่โลกวิชาการ โดยที่มีการปรับปรุงข้อมูลและการวิเคราะห์ตามลำดับ (Anderson and Martin 2005; Anderson, Martin, and Valenzuela 2006; Anderson, Martin, and van der Mensbrugghe 2006; Anderson and Valenzuela 2006) ผลงานวิจัยเหล่านี้รวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือในเวลาต่อมา ดังปรากฏใน Anderson and Martin (2006) ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า การเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรอย่างเต็มที่ประกอบกับการเลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตรจะให้ประโยชน์แก่สังคมเศรษฐกิจโลกเพียง 55,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน คิดเป็นประมาณ 0.13% ของ World GDP ในจำนวนนี้เป็นประโยชน์แก่ประเทศด้อยพัฒนาเพียง 12,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ซึ่งมีไม่ถึง 22% ของประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Hertal and Keeney 2006) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจารอบโดฮาตามประมาณการใหม่นี้ต่ำกว่าประมาณการเดิมมาก ยิ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า การเจรจารอบโดฮาไม่สามารถผลักดันให้เปิดตลาดสินค้าเกษตรอย่างเต็มที่ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจารอบนี้ยิ่งต่ำลงไปอีก ด้วยเหตุดังนี้ การเจรจารอบโดฮามิอาจเป็น "รอบแห่งการพัฒนา" ได้ เพราะช่วยแก้ปัญหาความยากจนในสังคมเศรษฐกิจโลกได้เพียงน้อยนิด ทั้งๆที่ผลการวิจัยออกมาเช่นนี้ Anderson and Martin (2006: 384) ยังคงกล่าวสรุปว่า "…The potential gains from further global trade reform are large…" จนถูกวิพากษ์โดย Bureau (2006)

 

ผลการศึกษาของ Anderson and Martin (2006) ประกอบกับ Ackerman (2005) และ Polaski (2006) ยังความยินดีปราโมทย์แก่ขบวนการประชาสังคมที่ต่อต้านองค์การการค้าโลก และลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ในประเทศต่างๆ งานศึกษาผลประโยชน์อันคาดว่าจะได้จากการเจรจารอบโดฮา ถึงจะพยายามธำรงลักษณะวิชาการมากเพียงใดในท้ายที่สุดมิอาจปฏิเสธได้ว่ามีลักษณะการเมืองอย่างเด่นชัด ด้านหนึ่งผู้คนที่ต่อต้านองค์การการค้าโลก ต่อต้านกระบวนการโลกานุวัตร และต่อต้านลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ล้วนต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า การเปิดเสรีการค้าระหว่างประทศมิได้ให้ประโยชน์แก่ประเทศโลกที่สามอย่างสำคัญ ในอีกด้านหนึ่งผู้ที่ขับเคลื่อนกระบวนการโลกานุวัตรและสนับสนุนลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมสมัยใหม่ล้วนต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า ระบบการค้าเสรีให้ประโยชน์แก่มวลมนุษย์ร่วมกัน ดังที่ธนาคารโลกพยายามโหมประโคมว่า การเจรจารอบโดฮาจะให้ประโยชน์แก่ประเทศด้อยพัฒนาอย่างมหาศาล

หากองค์การการค้าโลกขยายระเบียบการค้าเสรี ภาคีสมาชิกต้องมีภาระในการปรับโครงสร้างการผลิต โดยผันทรัพยากรจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูญเสียความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบไปสู่กิจกรรมที่ยังมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ มิพักต้องกล่าวว่า การปรับโครงสร้างการผลิตอาจมีปัญหาและอุปสรรคทางด้านสถาบันและการเมืองภายในประเทศ หากพิจารณาจากแง่มุมของประเทศด้อยพัฒนา ต้นทุนการปรับโครงสร้างการผลิตดังกล่าวนี้อาจสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนามากที่สุด ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ย่อมมีประเทศที่ได้รับประโยชน์และประเทศที่เสียประโยชน์ แต่ GATT/WTO รวมทั้งชุมชนระหว่างประเทศไม่เคยสร้างกลไกในการถ่ายโอนส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศที่ได้ประโยชน์ไปช่วยเหลือประเทศที่เสียประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เสียประโยชน์ที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา

 

หากองค์การการค้าโลกขยายปริมณฑลของกฎกติกาออกไปจากปริมณฑลเดิม ภาคีสมาชิกต้องสูญเสียพื้นที่การดำเนินนโยบาย (Policy Space) เพิ่มขึ้น ต้นทุนอันเกิดจากการสูญเสียปริมณฑลด้านนโยบายดังกล่าวนี้อาจสูงมากสำหรับประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ (Di Caprio and Gallagher, 2006; Gallagher, 2005, Gallagher, 2007, Hoekman, 2005) การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกโดยพื้นฐานต้องสูญเสียพื้นที่การดำเนินนโยบายอยู่แล้ว เพราะต้องปฏิบัติตามกฎกติกาขององค์กรโลกบาลแห่งนี้ ไม่สามารถดำเนินนโยบายตามอำเภอใจ โดยไม่คำนึงถึงกฎกติกาขององค์การการค้าโลก ดังนั้นการขยายปริมณฑลของกฎกติกาองค์การการค้าโลกย่อมทำให้ภาคีสมาชิกต้องสูญเสียพื้นที่การดำเนินนโยบายเพิ่มขึ้น จนท้ายที่สุดไม่มีอธิปไตยในการกำหนดนโยบายของตนเองเพราะถูกรัดรึงโดยกฎกติกาองค์การการค้าโลก จนไม่สามารถเลือกเส้นทางการพัฒนาเส้นทางอื่นที่มิได้กำกับโดยฉันทมติวอชิงตัน ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจกดดันให้ประเทศโลกที่สามดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีในปริมณฑลต่างๆ แต่ประเทศเหล่านี้ ทั้งยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาล้วนมีประสบการณ์ในการปกป้องอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเทศ แม้จนทุกวันนี้ นโยบายการปกป้องอุตสาหกรรมซึ่งขัดต่อปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ก็ยังคงดำรงอยู่

 

การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา ดุจเดียวกับการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบก่อนหน้านี้ มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ผู้ได้ประโยชน์มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศด้อยพัฒนา ส่วนผู้เสียประโยชน์ก็เช่นเดียวกันที่มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศด้อยพัฒนา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเด็นการเจรจาและข้อตกลงในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศใหม่ ผลการศึกษาในช่วงหลังให้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเจรจารอบโดฮามิได้มีมากเท่าการประโคมข่าวในช่วงต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประโคมข่าวของธนาคารโลก

 

หนังสือเล่มนี้นำเสนอการเก็บความงานวิชาการรายการสำคัญที่ประมาณการประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลกหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยผู้อ่านเข้าใจความเคลื่อนไหวและความเป็นไปในวงวิชาการในประเด็นการศึกษาผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา

 

 

หมายเหตุ   เอกสารวิชาการชุดนี้เป็นผลงานของโครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)

 

หาอ่านเอกสารนี้ได้จาก http://www.thailandwto.org/Doc/Pub/Pub/AcademicPaper_19.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท