Skip to main content
sharethis





หมายเหตุ: บทความแปลชุด "สื่อในเอเซีย" แปลและเรียบเรียงโดย สุภัตรา ภูมิประภาส นี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน (สิทธิชุมชน) ในประเทศไทย


 


สื่อ กับกฎหมายหมิ่นประมาทในติมอร์ตะวันออก [1]


โดย เฟอร์นันดา โบร์กิส [2]


 


ขออนุญาตให้ดิฉันได้กล่าวขอบคุณคณะผู้จัดการสัมมนานี้ องค์กรพันธมิตรนักข่าวอิสระ ประเทศอินโดนิเซีย (The Alliance of Independent Journalists, Indonesia), ARTICLE 19, โครงการสนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตย (Democratic Reform Support programme), Mr. Andrew Thornley และ Mr. Toby Mendel ที่ได้รวมประเทศติมอร์ตะวันออกเข้ามาในการริเริ่มที่สำคัญนี้ และขอบคุณที่เชิญดิฉันเข้าร่วมการสัมมนานี้


 


ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการสัมมนานานาชาติครั้งนี้เพื่อที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากประเทศติมอร์ตะวันออก และมีส่วนร่วมสนับสนุนความพยายามต่อการจัดการปัญหาในประเด็นเรื่องสื่อกับกฎหมายหมิ่นประมาทในภูมิภาคอาเซียน


 


ความสำคัญของการริเริ่มนี้เป็นที่เข้าใจกันโดยย่อ โดยคำกล่าวของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกา (The Inter-American Court of Human Rights) ที่กล่าวว่า:


 


"เสรีภาพในการแสดงออกเป็นรากฐานที่รองรับการมีตัวตนของสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการก่อเกิดความคิดเห็นของสาธารณะ และยังเป็นเงื่อนไขที่เป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาพรรคการเมือง สหภาพแรงงาน สมาคมวิทยาศาสตร์และสมาคมทางวัฒนธรรมต่างๆด้วย และต่อบุคคลที่ต้องการจะมีอิทธิพลต่อสาธารณชนโดยทั่วไปด้วย เสรีภาพนี้เป็นตัวแทนความหมายที่ทำให้ชุมชนมีอำนาจในทางเลือกเมื่อได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าสังคมที่ไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอไม่ได้เป็นสังคมที่มีเสรีภาพอย่างแท้จริง"


 


เสรีภาพสื่อเป็นบททดสอบที่แท้จริงที่สะท้อนมาตรฐานของการกระทำที่เป็นธรรม ความยุติธรรม และบูรณภาพในประเทศ ด้วยเหตุผลนี้ ประเทศติมอร์ตะวันออกจึงได้ฉวยเอาช่วงเวลาแรกเริ่มขณะที่ประเทศยังเป็นหน่ออ่อนของประชาธิปไตย ในการที่จะส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยการทำให้เกิดความมั่นใจว่า รัฐธรรมนูญแห่งรัฐตั้งอยู่บนหลักการเหล่านี้และสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติได้ให้สัตยาบันรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) กลไกทางกฎหมายที่สำคัญยิ่งทั้งสองนี้ประกันขอบเขตที่แน่นอนที่สิทธิมนุษยชนของพลเมืองได้รับการรับรองและปกป้อง


 


กลไกนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับประชาชนในติมอร์ตะวันออก ฐานที่มั่นคงที่ถูกวางไว้คือการสร้างระบบที่ทรงคุณค่า วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมซึ่งกฎหมายใหม่ให้สิทธิที่กว้างขวางขึ้นต่อเสรีภาพในการแสดงออกโดยปราศจากข้อจำกัดที่ถูกกำหนดผ่านกฎหมายหมิ่นประมาท


 


ทั้งๆที่มีแง่บวกเหล่านี้ ประเทศติมอร์ตะวันออกยังคงต้องเผชิญหน้ากับอีกหลายประเด็นและความท้าทายเบื้องหน้า ในขณะที่กำลังพยายามให้เกิดการปฏิบัติในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก มันกำลังเป็นการพิสูจน์ว่าเป็นภารกิจที่ยากยิ่งเมื่อถูกมองว่าประเทศที่ยังคงอยู่ในกระบวนการสร้างสถาบันทางประชาธิปไตยต่างๆที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนนั้น ผู้นำทางการเมืองยังคงกำลังต่อสู้เพื่อกำหนดบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง รวมทั้งการเพิ่มอำนาจของพวกเขา ความสามารถของทรัพยากรบุคคลในรัฐและสื่ออ่อนแอ และท้ายสุดแต่ไม่ใช่สุดท้าย กรอบที่จำกัดของกฎหมายที่มีอยู่ในการที่จะสนับสนุนและปกป้องสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่เป็นสากล


 


ที่ทำให้ปัญหาเลวร้ายลงไปอีก รัฐบาลชุดที่สองภายใต้รัฐธรรมนูญได้ตราประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2548 กำหนดให้การหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญา ด้วยเหตุผลแห่งการเคารพสิทธิและเกียรติภูมิของบุคคลอื่น ในสภาพการณ์ที่ไม่มีกฎหมายสื่อที่ประกันเสรีภาพของหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ เสียงระฆังเตือนยิ่งดังมากขึ้นเมื่อเริ่มมีกรณีหมิ่นประมาททางแพ่ง (Alkatiri v Lasama) เกิดขึ้นแม้แต่ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีจะประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา


 


บทบัญญัติข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และบทบัญญัติข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights- ICCPR)ตกอยู่ในภาวะเสี่ยง พัฒนาการทางกฎหมายในประเทศนี้ทำให้นักข่าวมีความยากลำบากยิ่งขึ้นที่จะรายงานข่าวเกี่ยวกับการทุจริต การบริหารที่ผิดพลาด หรือการไร้ประสิทธิภาพ และการทำให้เกิดความแน่ใจว่ารัฐบาลมีความโปร่งใสและรับผิดชอบ โดยที่ไม่ต้องสุ่มเสียงกับการถูกลงโทษทางอาญา


 


ข้อถกเถียงที่เข้มข้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อนักข่าว องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสาธารณชนทั่วไปไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีใช้สิทธิยับยั้งกฎหมายอาญานี้ ขณะที่การเจรจากำลังดำเนินอยู่ รัฐบาลได้สูญเสียอำนาจเป็นเหตุให้กฎหมายเป็นโมฆะ คดีหมิ่นประมาณจบลงอย่างรวดเร็วภายหลังที่คู่ความเจรจากันเองนอกศาล ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทนับตั้งแต่ติมอร์ตะวันออกได้รับอิสรภาพที่จะนำมาอ้างถึงได้


 


แต่กระนั้น ประสบการณ์ได้ทิ้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไว้กับคำถามที่ไม่มีคำตอบเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อและกฎหมายหมิ่นประมาทที่ต้องเตรียมไว้สำหรับกฎหมายสื่อฉบับใหม่ การถกเถียงก่อให้เกิดการตอบรับทางบวกของนักข่าวที่ได้รวมตัวกันเป็นสมาคมภายใต้ชื่อ ICLJ และ TLMDC (Timor Leste Media Development Centre) เพื่อช่วยร่างกฎหมายสื่อ และเพื่อเตรียมความเห็นที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อประเด็นสื่อ และเพื่อสร้างความสมานฉันท์ในหมู่นักข่าว


 


เพื่อพิจารณากฎหมายสื่อ รัฐบาลได้ลงนามในข้อตกลงกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Development Programme - UNDP) เพื่อจัดเตรียมความช่วยเหลือทางเทคนิคสำหรับการร่างกฎหมายและเตรียมจัดการอบรมหลังมีการบังคับใช้กฎหมาย โดยโครงการตามข้อตกลงนี้มีความมุ่งหมายที่จะให้เกิดการมองไปข้างหน้าต่อกฎหมายสื่อ ที่มีฐานของการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม และข้อคิดเห็นจากนานาชาติ เกี่ยวกับกฎหมายสื่อที่ตั้งอยู่บนฐานของคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสื่อที่มีความรู้ความเข้าใจสถานการณ์ในติมอร์ตะวันออกและข้อปฏิบัติของนานาชาติ


 


การเตรียมการนี้จะจัดเตรียมที่ปรึกษาด้านกฎหมายสื่อนานาชาติไว้ด้วย ที่ปรึกษาเหล่านี้จะรับผิดชอบต่อการให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมาธิการ A ของรัฐสภาในการร่างกฎหมายสื่อ และในการพัฒนาขั้นตอนที่เป็นทางการซึ่งอนุญาตให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการ, การจัดทำประชาพิจารณ์ในเขตต่างๆ, การร่างเอกสารทางการ (white paper) ว่าด้วยบทบาทของกฎหมายสื่อ และให้ความช่วยเหลือคณะกรรมการด้านกฎหมายสื่อในการร่างหลักการและความเห็นที่เห็นชอบร่วมกันแล้วเสนอต่อคณะกรรมาธิการ A


 


เพื่อให้เกิดความมั่นไจว่าผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ คณะกรรมการด้านกฎหมายสื่อซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 11 คน คือ ผู้แทนจากสมาคมนักข่าว, จากภาคประชาชน, จากภาคธุรกิจ, จากสื่อชุมชน, และนักกฎหมายของติมอร์ตะวันออก คณะกรรมการจะพิจารณาตรวจสอบกฎหมายทุกฉบับที่มีผลกระทบต่อสื่อ และที่ส่งเสริมพัฒนาการสิทธิด้านเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร


 


นี่คือความก้าวหน้าทั้งหมดที่ปรากฏในประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ที่รัฐบาลเพิ่งเสนอต่อรัฐสภามา ถ้อยคำในกฎหมายใหม่นี้ เป็นถ้อยคำเดียวที่รัฐบาลชุดก่อนใช้ในปี พ.ศ. 2548  นี่เป็นพัฒนาการที่น่าสนใจที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน [3] (ซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีด้วย) ไม่เห็นด้วยกับข้อความในวรรคที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญาฉบับเก่า เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลนี้อยากที่จะทำให้การหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางอาญาผ่านประมวลกฎหมายอาญา หรือต้องการรวมเรื่องหมิ่นประมาทไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งซึ่งสามารถถูกกำหนดโทษปรับ


 


ขณะที่ร่างประมวลกฎหมายอาญาจะถูกจัดทำโดยรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวและเสนอต่อประธานาธิบดีเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย คณะกรรมการที่ตรวจตรากฎหมายเกี่ยวกับสื่อจำเป็นที่จะต้องรับรู้ความเป็นไปนี้และเข้าร่วมในการถกเถียง รัฐสภาจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบต่อนัยยะทั้งปวงเพื่อผ่านร่างกฎหมายนี้ และรัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลสืบเนื่องของการทำให้เรื่องหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางอาญาในติมอร์ตะวันออก การถ่วงดุลต้องเกิดขึ้นระหว่างการทำให้สื่อเกิดความหวาดกลัว และการเรียกร้องความรับผิดชอบจากสื่อและนักข่าว ข้อพิจารณาที่สำคัญกว่านั้นจำเป็นต้องให้รัฐบาลทำให้เกิดความมั่นใจว่า นักข่าวมีพัฒนาการที่ดีต่อการยึดหลักการแห่งจรรยาบรรณวิชาชีพและสร้างเกณฑ์ที่เป็นข้อแนะนำในการปฏิบัติงานของนักข่าว และสร้างความมั่นใจว่ารัฐได้จัดเตรียมการสนับสนุนที่เพียงพอในการจัดอบรมแบบทวิภาคีให้แก่นักข่าวเพื่อที่พวกเขาจะได้พัฒนาความเชี่ยวชาญและวินัยในการประกอบวิชาชีพสื่อ


 


ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องการหมิ่นประมาทอาจเผ็ดร้อนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อเราพุ่งเป้าไปที่สอง-สามประเด็นและคำถามที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่ารัฐบาลและรัฐสภานั้นได้รับข้อมูลที่รอบด้านเพียงพอในการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ต่อสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


 


คำถามคือ;


 



  1. ควรที่จะให้การหมิ่นประมาทเป็นความผิดในประมวลกฎหมายอาญา หรือควรให้การหมิ่นประมาทอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งที่มีโทษปรับตามคำสั่งศาล? อะไรคือข้อโต้แย้งและผลที่ตามมาของแต่ละกรณี?
  2. อะไรเป็นความมุ่งหมายของรัฐบาล? การให้เรื่องหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางอาญา หรือวางโทษปรับในกฎหมายแพ่ง?
  3. มีการศึกษาเปรียบเทียบอะไรที่รัฐบาล AMP (the Alliance of the Parliamentary Majority) ได้ทำเพื่อประกอบการตัดสินใจนี้?
  4. ข้อจำกัดทางอาญาและทางแพ่งเป็นไปตามหลักการและมาตรฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศติมอร์ตะวันออกได้ลงนามไว้หรือไม่?
  5. เจ้าของสื่อและนักข่าวมีความสามารถที่จะจ่ายค่าปรับจำนวนมหาศาลหรือไม่? อะไรคือผลที่จะตามมา ถ้าพวกเขาไม่สามารถจ่าย่าปรับ?

 


ผลที่ตามมาของการคุกคามที่แท้จริงและอันตรายจากนักการเมืองในการฟ้องร้องที่มีสาเหตุมาจากการหมิ่นประมาททำให้นักข่าวเกิดความกลัวที่จะเขียนเรื่องต่างๆที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี และแนวโน้มสำหรับสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐนั้น นักข่าวจะันไปเล่นบทบาทนักประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลโดยปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแง่ดีและแง่ด้อยของรัฐบาล สิ่งนี้เป็นเครื่องทำลายประชาธิปไตยด้วยเหตุว่าสิ่งที่ต้องมีมาก่อนประชาธิปไตยคือเสรีภาพทางความคิดและการลื่นไหลอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสาร


สองกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ (Jose Belo and Angelita Pires) เกิดจากวิกฤตการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2549 [4] และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ [5] ที่ประธานาธิบดีของเราถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัสนั้นก่อให้เกิดประเด็นที่บรรดาผู้บัญญัติกฎหมายควรขบคิดต่อความจำเป็นที่ต้องมุ่งความสนใจไปที่หลักการของเสรีภาพในการแสดงออกและมาตรฐานสากลเพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิของปักเจกบุคคลเช่นเดียวกับปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ


 


กรณีแรก คดีของโฮเซ่ เบโล (Jose Belo) นักข่าวที่สัมภาษณ์และบันทึกภาพ Alfredo Reinado และ Salsinha ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มต่อต้านรัฐบาล  เบโลกล่าวอ้างว่าคณะสอบสวนข้อเท็จจริงขององค์การสหประชาชาติ (UN investigators) กำลัง"ข่มขู่เขา" เพื่อให้เขา "เปิดเผยข้อมูล" ของแหล่งข่าว เบโลโต้แย้งว่าการรักษาความลับของแหล่งข่าวเป็นหลักการสำคัญของวิชาชีพและความซื่อสัตย์ของสื่อ


 


คำถามที่ยูเอ็นต้องตอบคือ พวกเขากำลังจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นของเบโลด้วยสาเหตุอันใด? หากการจำกัดนั้นเป็นเหตุผลของความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของประชาชนภายใต้บทบัญญัติข้อ 19 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มันสามารถที่จะขัดแย้งกับการตรวจสอบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วยหรือ ในการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จขององค์การสหประชาชาติจำเป็นต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าพวกเขาไม่ได้กำลังละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของเบโลและประโยชน์ทั่วไปในการส่งเสริมเสรีภาพในประเด็นต่างๆที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ข้อสรุปที่จัดทำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในกรณีของ Mukong v" Cameron (1994) เป็นหลักฐานอ้างอิงที่น่าสนใจ


 


กรณีที่สอง คือคดีของอันเจลลิต้า ปิเรซ (Angelita Pires) ที่ถูกศาลควบคุมตัวเพื่อการสอบสวนขยายผลกรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ปิเรซแสดงความวิตกกังวลอย่างมากว่าการที่ประธานาธิบดีได้แสดงความเห็นกับสื่อมวลชนเรื่องการมีส่วนเกี่ยวข้องของเธอในเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เท่ากับว่าเป็นการให้สื่อมวลชนสอบสวนดำเนินคดีเธอและเป็นการหมิ่นประมาทที่กระทบต่อชื่อเสียงของเธอ คำถามต่อกรณีนี้ ส่วนหนึ่งอยู่ที่ความรู้ของภาครัฐและนักข่าวในเรื่องหลักการที่บุคคลใดยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลว่าบุคคลนั้นกระทำความผิด และการแบ่งแยกอำนาจของฝ่ายต่างๆในระบบประชาธิปไตย ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ


 


ก่อนที่จะจบการนำเสนอนี้ ดิฉันขอนำเสนอความคิดบางประการและขั้นตอนที่พวกเราในภูมิภาคนี้จะร่วมมือกันในความพยายามที่จะปกปักรักษาเสรีภาพสื่อ ดังต่อไปนี้


 



  1. ในภูมิภาคเอเชียและแปซิกฟิก ยังไม่มีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเราสามารถที่จะส่งเสริมแนวคิดนี้และเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภาของแต่ละประเทศเดินหน้าในความพยายามที่จะให้มีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งภูมิภาค
  2. ในการส่งเสริมให้มีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งภูมิภาคที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกนั้น เราต้องการการสนับสนุนจากนักการเมืองที่มีคุณธรรมและเจตนคติที่ดี สมาชิกของกลุ่มสหภาพรัฐสภา (the Inter Parliamentary Union - IPU) ที่ประสานงานอยู่กับคณะทำงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสามารถที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้มีมติต่อประเด็นนี้และนำเสนอในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาเพื่อให้ประเทศสมาชิกรับรอง ถ้ามีการรับรอง มติดังกล่าวนี้จะมีผลผูกมัดและจะช่วยให้สมาชิกรัฐสภาทั้งหลายมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นในการพิจารณาทบทวนกฎหมายที่จำกัดสื่อในแต่ละประเทศ
  3. ทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับสื่อและแก้ไขหากจำเป็นที่ต้องทำให้กฎหมายเหล่านั้นสอดคล้องกับบทบัญญัติข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Article 19 of ICCPR)
  4. ยกเลิกกฎหมายใดๆที่มีโทษจำขังต่อความผิดที่เกี่ยวกับสื่อ เว้นแต่ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดหยามชาติพันธุ์ หรือความเห็นที่เป็นการเลือกปฏิบัติ หรือการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง
  5. ทำให้เกิดความมั่นใจว่าโทษปรับใดๆต่อความผิดเกี่ยวกับการสบประมาท การหมิ่นประมาท และการดูหมิ่นใดๆ จะไม่เกินกว่าความเสียหายที่ผู้ถูกละเมิดได้รับ
  6. ส่งเสริมความหลากหลายและความเป็นอิสระของหนังสือพิมพ์
  7. ทำให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ปฏิบัติวิชาชีพสื่อของสถานีโทรทัศน์และวิทยุต่างได้รับการคุ้มครองให้ปลอดจากอิทธิพลทางการเมืองและทางธุรกิจ รวมไปถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ และเคารพความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ
  8. ทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตการกระจายเสียงที่มีความเป็นอิสระ
  9. กำหนดเกณฑ์ค่าจ้างที่ชัดเจน และถอนเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ให้สื่อ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการใช้เงินอุดหนุนเป็นเครื่องปิดปากสื่อในการวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายบริหาร
  10. หลีกเลี่ยงการรวมศูนย์ที่มากเกินไปในการควบคุมสื่อ
  11. สนับสนุนการเข้าถึงสื่ออินเตอร์เนท

 


ขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับโอกาสในวันนี้ที่ให้ดิฉันได้มานำเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นต่อการขยายขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงออกในอาเซียน หวังว่าความพยายามของพวกเราในที่ประชุมนี้จะบรรลุผลในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อในภูมิภาคนี้ ขอบคุณค่ะ


 


 


 


 


00000000


เชิงอรรถ


[1] แปลจากรายงานเรื่อง Media and Defamation Laws in East Timor นำเสนอที่การสัมมนานานาชาติ International Seminar on Defamation: Building a Regional Advocacy Platform ระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ที่เมืองจ็อกจาการ์ต้า (Yogyakarta) ประเทศอินโดนิเซีย


[2] Fernanda Borges เป็นสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติ ประเทศติมอร์ ตะวันออก


[3] ซานานา กุสเมา (Xanana Gusmao) ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศติมอร์ตะวันออกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 -ผู้แปล


[4] เพิ่มเติมโดยผู้แปล- วิกฤตการณ์การเมืองเกิดขึ้นในเมืองหลวงดิลี (Dili) ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2549 หลังจากที่นายกรัฐมนตรี Alkatiri มีคำสั่งปลดนายทหาร 600 นาย มีการก่อเหตุรุนแรงติดต่อกันหลายครั้งโดยมีทั้งทหาร ตำรวจ และกลุ่มประชาชนติดอาวุธร่วมอยู่ในการก่อเหตุ เมืองหลวงดิลีตกอยู่ในภาวะจลาจล ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน คนหลายพันคนต้องอพยพหนีภัยจากการจลาจล รัฐบาลติมอร์ตะวันออกต้องร้องขอให้กองกำลังรักษาความสงบนานาชาติ ( International Stabilisation Force) เข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์ แต่วิกฤตการณ์ยังไม่ยุติ ทำให้ประธานาธิบดีซานานา กุสเมา (Xanana Gusmao) ประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 30 พฤษภาคม และนายกรัฐมนตรี Alkatiri ประกาศลาออกในวันที่ 26 มิถุนายน เมืองดิลีคืนสู่ความสงบภายหลังการลาออกของ นายกรัฐมนตรี Alkatiri โดยมี โฮเซ่ รามอส ฮอร์ต้า (José Ramos-Horta) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน


            เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 โฮเซ่ รามอส ฮอร์ต้า (José Ramos-Horta) และคณะรัฐบาลชุดใหม่ปฏิญญานตนเข้าบริหารประเทศ


 


[5] เพิ่มเติมโดยผู้แปล- วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ประธานาธิบดีโฮเซ่ รามอส ฮอร์ต้า (Jose Ramos-Horta) ถูลอบทำร้ายบาดเจ็บสาหัสที่บ้านพักในกรุงดิลี ขณะที่นายกรัฐมนตรีซานานา กุสเมา (Xanana Gusmao) ถูกซุ่มโจมตีระหว่าเดินทางไปทำเนียบในวันเดียวกัน กุสเมาหนีรอดได้ แต่ประธานาธิบดีฮอร์ต้าอาการสาหัสและถูกนำตัวไปรักษาที่ประเทศออสเตรเลีย โดยมีประธานรัฐสภาแห่งชาติ Fernando "Lasama" de Araujo ทำหน้าที่รักษาการณ์แทน ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ลอบสังหารประธานาธิบดีฮอร์ต้า จำนวน 2 คนถูกสังหารในเวลาต่อมา กระบวนการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้ร่วมก่อเหตุครั้งนี้ยังคงดำเนินต่อไป


 


 


 


 


 


 


.......................................


งานที่เกี่ยวข้อง


มองสื่อนอก: บทนำ ว่าด้วย "การหมิ่นประมาท: การสร้างเวทีระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนเสรีภาพสื่อ"


มองสื่อนอก #1: บทเรียนการต่อสู้ของสภาการ นสพ.แห่งอินโดนีเซีย ว่าด้วยโทษหมิ่นประมาททางอาญากับสื่อ


มองสื่อนอก #2: สถานการณ์สื่อในอินโดนีเซีย: "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยาว?"


มองสื่อนอก #3: สื่อฟิลิปปินส์ กับ ความรุนแรงหลากชนิด


 


โปรดติดตามตอนต่อไป


มองสื่อนอก #5: เสรีภาพสื่อกัมพูชา : เสรีภาพฉาบฉวย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net