Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภัควดี  วีระภาสพงษ์ 


 


แปลจาก


Ian Angus, FOOD CRISIS (Part One), Socialist Voice; May, 14 2008: http://www.zcommunications.org/znet/viewArticle/17632


"ถ้ารัฐบาลไม่มีปัญญาลดค่าครองชีพ รัฐบาลก็ควรลาออกไปซะ ถ้าตำรวจและกองทหารสหประชาชาติอยากยิงเราทิ้ง ก็โอเค ยิงเลย  เพราะถ้าเราไม่ตายด้วยลูกกระสุน ก็ต้องอดตายอยู่ดี"


---คำพูดของผู้ประท้วงคนหนึ่งในกรุงปอร์โตแปรงซ์  ประเทศเฮติ


 


ในประเทศเฮติ ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับแคลอรีจากอาหารน้อยกว่าปริมาณต่ำสุดที่จำเป็นต่อสุขภาพถึง 22%   บ้างก็บรรเทาความหิวโหยด้วยการกิน "คุ้กกี้ดิน" ที่ทำจากดินเหนียวกับน้ำผสมน้ำมันพืชกับเกลือนิดหน่อย [1] 


 


ขณะเดียวกัน ในประเทศแคนาดา รัฐบาลกลางยอมจ่ายเงินถึง 225 ดอลลาร์ต่อหมู 1 ตัวที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงหมูคัดมาฆ่าทิ้ง นี่เป็นส่วนหนึ่งในแผนการลดการผลิตหมูให้น้อยลง เกษตรกรเพาะเลี้ยงหมู ซึ่งถูกบีบคั้นจากราคาเนื้อหมูตกต่ำและต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น ต่างตอบรับนโยบายนี้อย่างกระตือรือร้น กระทั่งเงินชดเชยการฆ่าหมูน่าจะหมดก่อนโครงการสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ด้วยซ้ำ


 


เนื้อหมูที่ได้จากการฆ่าล้างผลาญครั้งนี้ บางส่วนคงนำไปให้ธนาคารอาหารตามท้องถิ่น แต่ส่วนใหญ่จะถูกทำลายหรือนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดส่งไปให้เฮติบ้างเลย


 


นี่คือโลกอันโหดร้ายของระบบเกษตรกรรมแบบทุนนิยม โลกที่คนบางกลุ่มทำลายอาหารทิ้งเพราะราคาต่ำเกินไป ขณะที่คนอีกกลุ่มต้องกินดินกินทรายเพราะราคาอาหารสูงเกินไป


 


ราคาอาหารสูงเป็นประวัติการณ์


 


เราตกอยู่ท่ามกลางปัญหาราคาอาหารเฟ้อทั่วโลกอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน ราคาอาหารพุ่งสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ อาหารเกือบทุกชนิดได้รับผลกระทบจนราคาพุ่งขึ้นอย่างถ้วนหน้า แต่ที่สะเทือนมากเป็นพิเศษคือราคาธัญญาหารที่เป็นอาหารหลักสำคัญที่สุดของมนุษย์  นั่นคือ  ข้าวสาลี  ข้าวโพดและข้าว


 


องค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติให้ข้อมูลว่า ระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. 2007 จนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2008 ราคาธัญพืชพุ่งขึ้นไปถึง 88%  น้ำมันและไขมัน 106% และนม 48% ดัชนีราคาอาหารของ FAO โดยรวมเพิ่มขึ้นไปถึง 57% ในเวลาแค่ปีเดียว และราคาที่เพิ่มขึ้นมานี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา


 


แหล่งข้อมูลอีกแห่งหนึ่งคือ ธนาคารโลก ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 36 เดือนก่อนเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008  ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 181% และราคาอาหารในโลกโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 83% ธนาคารโลกคาดหมายว่า ราคาอาหารส่วนใหญ่จะสูงกว่าระดับราคาใน ค.ศ. 2004 ไปจนถึง ค.ศ. 2015 เป็นอย่างน้อย


 


ข้าวเกรดที่ได้รับความนิยมที่สุดของประเทศไทยเคยขายในราคา 198 ดอลลาร์ต่อตันเมื่อ 5 ปีก่อน และ 323 ดอลลาร์ต่อตันเมื่อปีที่ผ่านมา ในวันที่ 24 เมษายน ราคาพุ่งไปจรดระดับ 1,000 ดอลลาร์ต่อตันแล้ว


 


ในตลาดท้องถิ่น ระดับราคายิ่งแพงลิบโลก ในประเทศเฮติ ราคาตลาดของข้าวขนาดถุง 50 กก. เพิ่มขึ้นสองเท่าในเวลาแค่สัปดาห์เดียวเมื่อปลายเดือนมีนาคม


 


ราคาที่เพิ่มขึ้นแบบนี้คือหายนะสำหรับประชาชน 2.6 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน และใช้จ่ายรายได้ 60-80% ไปกับอาหาร มีคนหลายร้อยล้านคนไม่มีกิน


 
ในเดือนที่ผ่านมา ผู้หิวโหยจึงขอเป็นฝ่ายรุกบ้าง


ลงไปสู่ท้องถนน


ในเฮติ  วันที่ 3 เมษายน ผู้ประท้วงในเมืองเลส์กาแยสทางภาคใต้รวมตัวกันสร้างเครื่องกีดขวาง ดักสกัดรถบรรทุกข้าว ชิงอาหารออกมาแจกจ่ายกัน รวมทั้งพยายามเผาค่ายทหารสหประชาชาติ คลื่นการประท้วงลุกลามไปถึงเมืองหลวงปอร์โตแปรงซ์อย่างรวดเร็ว คนหลายพันเดินขบวนมาที่ทำเนียบประธานาธิบดี  ตะโกนเป็นจังหวะว่า "เราหิว!" คนจำนวนมากเรียกร้องให้ถอนกองทหารสหประชาชาติออกไปและเอา ฌอง-แบร์ทรองด์  อรีสตีด อดีตประธานาธิบดีผู้ลี้ภัยที่ถูกอำนาจต่างชาติโค่นลงจากรัฐบาลใน ค.ศ. 2004 กลับคืนมา


ประธานาธิบดีเรอเน เปรวาล ซึ่งตอนแรกบอกว่าปัญหานี้เป็นเรื่องช่วยไม่ได้  ต้องยอมประกาศลดราคาค้าส่งของข้าวลง 16% นี่เป็นแค่มาตรการขายผ้าเอาหน้ารอด เพราะการลดราคามีระยะเวลาแค่หนึ่งเดือน   อีกทั้งไม่ได้ผูกมัดผู้ค้าปลีกให้ลดราคาตามไปด้วย


การประท้วงในเฮติเป็นภาพสะท้อนการประท้วงคล้าย ๆ กันของประชาชนผู้หิวโหยในกว่า 20 ประเทศ


ในประเทศบูร์กินาฟาโซ  ทวีปแอฟริกา การนัดหยุดงานครั้งใหญ่เป็นเวลาสองวันของสหภาพแรงงานและเจ้าของร้านค้า เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาข้าวและธัญญาหารอื่น ๆ  "อย่างมีประสิทธิภาพ"


ในบังคลาเทศ คนงานกว่า 20,000 คนจากโรงงานสิ่งทอในเมืองฟาตุลเลาะห์นัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลดราคาอาหารและขึ้นค่าแรง พวกเขาขว้างปาก้อนอิฐก้อนหินใส่ตำรวจที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม


รัฐบาลอียิปต์ส่งกองกำลังหลายพันนายเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมสิ่งทอมาฮัลลาที่ตั้งอยู่ตรงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ เพื่อสกัดไม่ให้มีการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม ลดราคาอาหารและเรียกร้องอิสระในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ประชาชนสองคนถูกฆ่าตายและกว่า 600 คนถูกจำคุก


ในเมืองอาบีจาน ประเทศไอวอรีโคสต์ ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้หญิงที่สร้างเครื่องกีดขวาง  เผายางรถยนต์และปิดทางหลวงสายหลัก ประชาชนหลายพันคนเดินขบวนไปที่ทำเนียบประธานาธิบดี ตะโกนว่า  "เราหิว" และ "ชีวิตราคาแพงเกินไป ท่านกำลังฆ่าเรา"


ในปากีสถานและประเทศไทย รัฐบาลต้องส่งกองทหารติดอาวุธเข้าไปป้องกันไม่ให้คนจนปล้นชิงอาหารจากไร่นาและยุ้งฉาง


การประท้วงแบบเดียวกันเกิดขึ้นในแคเมอรูน  เอธิโอเปีย  ฮอนดูรัส  อินโดนีเซีย  มาดากัสการ์  มอริเตเนีย  ไนเจอร์  เปรู  ฟิลิปปินส์  เซเนกัล  ประเทศไทย  อุซเบกิสถาน  และแซมเบีย   ในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา  ประธานธนาคารโลกกล่าวแก่ที่ประชุมในกรุงวอชิงตันว่า  มีถึง 33 ประเทศที่อาจเกิดความไม่สงบทางสังคมเพราะราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น


บรรณาธิการอาวุโสของนิตยสาร ไทม์ เตือนว่า:


"ภาพมวลชนผู้หิวโหยสิ้นหวังกรูออกไปตามท้องถนนและโค่นล้มรัฐบาลสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสอาจดูเหมือนน่าประหลาดและเป็นไปไม่ได้นับตั้งแต่ระบบทุนนิยมได้ชัยชนะเด็ดขาดในสงครามเย็น.....กระนั้นก็ตาม ข่าวพาดหัวในช่วงเดือนที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ราคาอาหารที่พุ่งทะลุฟ้ากำลังเป็นปัจจัยคุกคามเสถียรภาพของรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก....หากเงื่อนไขแวดล้อมทำให้รัฐบาลไม่สามารถเลี้ยงดูเด็ก ๆ ที่ยากจนหิวโหย พลเมืองสามัญชนเฉื่อยเนือยทั้งหลายก็อาจกลายเป็นแนวหน้ามวลชนที่ไม่มีอะไรจะสูญเสียอีกแล้วได้ในทันที" [2]


 


อะไรอยู่เบื้องหลังปัญหาราคาอาหารเฟ้อ?


นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา การผลิตอาหารมีความเป็นโลกาภิวัตน์และกระจุกตัวมากยิ่งขึ้น   ประเทศเพียงไม่กี่ประเทศครอบงำการค้าธัญญาหารหลักของโลก การส่งออกข้าวสาลีถึง 80% มาจากประเทศผู้ส่งออก 6 ประเทศ เช่นเดียวกับการส่งออกข้าวถึง 85% มีสามประเทศผลิตข้าวโพดส่งออกถึง 70% สภาพการณ์นี้ทำให้กลุ่มประเทศยากจนที่สุดในโลก กลุ่มประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารเพื่อความอยู่รอด ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวโน้มทางเศรษฐกิจและนโยบายในประเทศผู้ส่งออกอาหารไม่กี่ประเทศ เมื่อใดที่ระบบการค้าอาหารโลกเกิดใช้การไม่ได้ คนจนก็ต้องแบกรับภาระทั้งหมด


 


ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การค้าธัญญาหารในโลกมีแนวโน้มที่นำมาสู่วิกฤตการณ์ครั้งนี้ มีแนวโน้มสี่ประการด้วยกันขัดขวางความเติบโตของการผลิตและดันราคาให้สูงขึ้น


 


จุดสิ้นสุดของการปฏิวัติเขียว:  ในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970  เพื่อบรรเทาความไม่พอใจของเกษตรกรในเอเชียใต้และอุษาคเนย์ สหรัฐฯ ทุ่มเงินและความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีให้การพัฒนาภาคเกษตรกรรมในอินเดียและประเทศอื่น ๆ   "การปฏิวัติเขียว" ทั้งเมล็ดพันธุ์ใหม่  ปุ๋ย  ยาฆ่าศัตรูพืช  เทคโนโลยีทางการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐาน  ทำให้การผลิตอาหาร  โดยเฉพาะข้าว  เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตื่นตะลึง   ผลผลิตต่อเฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ = 6.175 ไร่)  ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งทศวรรษ 1990


 


ทุกวันนี้ การที่รัฐบาลช่วยคนจนปลูกข้าวให้คนจนด้วยกันกิน กลายเป็นนโยบายที่ไม่เป็นที่นิยมเสียแล้ว  ทั้งนี้เพราะความเชื่อว่า "ตลาด" จะจัดการทุกปัญหาเอง นิตยสาร The Economist รายงานว่า "สัดส่วนงบประมาณที่ให้แก่ภาคเกษตรในประเทศกำลังพัฒนาลดลงราวครึ่งหนึ่งในช่วง ค.ศ. 1980-2004" [3] เงินอุดหนุนและเงินวิจัยพัฒนาเหือดหายไป ความเติบโตในด้านการผลิตก็หยุดนิ่งตามไปด้วย


 


ด้วยเหตุนี้ มีถึง 7 ปีในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาที่โลกบริโภคธัญญาหารมากกว่าที่ผลิตได้ นั่นหมายความว่า  รัฐบาลกับผู้ค้าข้าวดึงข้าวไปจากคลังสำรองที่ปรกติใช้เป็นหลักประกันในกรณีเก็บเกี่ยวไม่ได้ผล ปริมาณสำรองของธัญญาหารในโลกขณะนี้ลดลงจนถึงจุดต่ำสุดเท่าที่เคยมีมา หากเกิดปัญหาเลวร้ายในภาคเกษตรโลกขึ้นมาเมื่อไร ตาข่ายรองรับก็มีเหลืออยู่น้อยมาก


 


ความเปลี่ยนแปลงในภูมิอากาศโลก: นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอาจทำให้ผลผลิตอาหารในส่วนต่าง ๆ ของโลกลดลงไปถึง 50% ในช่วง 12 ปีข้างหน้า แต่นั่นไม่ใช่แค่ปัญหาของอนาคตเท่านั้น


 


ออสเตรเลียเคยเป็นผู้ส่งออกธัญญาหารรายใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก  แต่ความแห้งแล้งขั้นเลวร้ายติดต่อกันหลายปีทำให้การเพาะปลูกข้าวสาลีลดลงไปถึง 60%  ส่วนการผลิตข้าวแทบหายไปหมดเกลี้ยง


 


ในบังคลาเทศ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พายุไซโคลนครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายทศวรรษ ทำลายข้าวไปถึงล้านตันและสร้างความเสียหายแก่นาข้าวสาลี จนทำให้ทั้งประเทศต้องพึ่งพิงอาหารนำเข้ามากกว่าเดิม


 


ตัวอย่างอื่น ๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เห็นได้ชัดว่า วิกฤตการณ์ของภูมิอากาศโลกเกิดขึ้น ณ บัดนี้แล้ว   และมันส่งผลกระทบต่ออาหาร


 


เชื้อเพลิงเกษตร:  ตอนนี้ในสหรัฐฯ แคนาดาและยุโรป มีนโยบายอย่างเป็นทางการที่จะแปรรูปอาหารให้เป็นน้ำมัน   เพียงแค่รถยนต์ของสหรัฐฯ ประเทศเดียวก็เผาผลาญข้าวโพดมากเท่ากับความต้องการข้าวโพดนำเข้าของกลุ่มประเทศยากจนที่สุด 82 ประเทศรวมกัน [4]


 


เอธานอลและไบโอดีเซลได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างมหาศาล   จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธัญพืชอย่างข้าวโพดจะถูกดึงออกไปจากห่วงโซ่อาหารและไหลลงสู่ถังน้ำมันแทน   นอกจากนี้  การลงทุนในภาคเกษตรทั่วโลกก็ยังหันเหไปสู่ปาล์มน้ำมัน  ถั่วเหลือง  คาโนลาและพืชให้น้ำมันชนิดอื่น ๆ   ความต้องการเชื้อเพลิงเกษตรดันราคาพืชผลเหล่านี้สูงขึ้นโดยตรง  ในขณะเดียวกันก็ดันราคาธัญญาหารชนิดอื่นสูงขึ้นโดยอ้อม  เพราะมันกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ใช้ผลิตเชื้อเพลิงเกษตรแทน


 


ดังเช่นผู้เพาะเลี้ยงสุกรของแคนาดาประสบมาแล้ว  เชื้อเพลิงเกษตรทำให้ต้นทุนการผลิตเนื้อหมูสูงขึ้น  เนื่องจากข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารสัตว์ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ


 


ราคาน้ำมัน:  ราคาอาหารผูกโยงกับราคาน้ำมัน เพราะอาหารสามารถนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันได้ แต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารด้วย ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงผลิตจากปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ก๊าซและน้ำมันดีเซลยังเป็นเชื้อเพลิงหลักในการเพาะปลูก เก็บเกี่ยวและส่งไปขาย [5]


 


ประมาณ 80% ของต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดเป็นต้นทุนที่หมดไปกับน้ำมัน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ราคาอาหารสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน


 


* * *


 


ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2007 การลงทุนที่ลดลงในภาคเกษตรของโลกที่สาม  ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทำให้ความเติบโตในการผลิตชะลอตัวลงและราคาอาหารสูงขึ้น หากการเก็บเกี่ยวได้ผลดีและการส่งออกขยายตัวมากขึ้น วิกฤตการณ์ก็พอบรรเทาเบาบางไปได้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น เชื้อไฟของปัญหานี้คือข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนถึง 3 พันล้านคน


 


เมื่อต้นปีนี้ อินเดียประกาศว่า จะยับยั้งการส่งออกข้าวเกือบทั้งหมดชั่วคราว เพื่อสะสมปริมาณอาหารสำรองในประเทศ เพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เวียดนาม ซึ่งผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากการระบาดของแมลงศัตรูพืชครั้งใหญ่ในช่วงเก็บเกี่ยว ก็ประกาศงดส่งออกข้าว 4 เดือนเพื่อสร้างหลักประกันว่า จะมีข้าวเพียงพอสำหรับตลาดภายในประเทศ


 


ตามปรกติ  อินเดียกับเวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 30% ของข้าวทั้งหมดในตลาดโลก ดังนั้น การประกาศงดส่งออกข้าวของสองประเทศจึงทำให้ตลาดข้าวในโลกที่ตึงตัวอยู่แล้วเกิดอาการสั่นสะเทือนทันที ผู้ซื้อข้าวเริ่มกว้านซื้อข้าวในตลาดทั้งหมดเท่าที่หาซื้อได้ กักตุนข้าวทุกชนิดเพราะคาดหมายว่าราคาในอนาคตจะสูงขึ้น รวมทั้งตั้งราคาซื้อขายข้าวล่วงหน้าสำหรับการเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป ราคาข้าวจึงทะยานขึ้น ในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา รายงานข่าวกล่าวว่า มีการทุ่มซื้อสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า "อย่างบ้าคลั่ง" ในคณะกรรมการการค้าชิคาโก และข้าวเริ่มขาดแคลน แม้กระทั่งตามชั้นวางสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ตในแคนาดาและสหรัฐฯ


 


ทำไมต้องลุกฮือ?


 


สมัยก่อนก็เคยมีปัญหาราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นมาก่อน อันที่จริง หากเราคำนวณอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย  ราคาธัญญาหารโลกในช่วงทศวรรษ 1970 มีราคาสูงกว่าสมัยนี้ด้วยซ้ำ ถ้าเช่นนั้น เหตุใดอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งกระฉูดตอนนี้จึงกระตุ้นให้เกิดการประท้วงของประชาชนไปทั่วโลก?


 


คำตอบก็คือ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา กลุ่มประเทศร่ำรวยที่สุดในโลกอาศัยองค์กรโลกบาลทั้งหลายที่ตนมีอำนาจควบคุม ร่วมกันบ่อนทำลายกลุ่มประเทศยากจนที่สุดอย่างเป็นระบบ  จนกระทั่งกลุ่มประเทศยากจนหมดความสามารถในการเลี้ยงดูประชากรและคุ้มครองตนเองในภาวะวิกฤติเช่นนี้


เฮติเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและน่าตระหนก


มีการปลูกข้าวในเฮติมาหลายร้อยปี และเมื่อราวยี่สิบปีก่อนนี้เอง เกษตรกรเฮติสามารถผลิตข้าวได้ถึง 170,000 ตันต่อปี เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศถึง 95% ถึงแม้ชาวนาไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเลย  แต่เช่นเดียวกับประเทศปลูกข้าวทุกประเทศในสมัยนั้น  ตลาดข้าวท้องถิ่นได้รับการคุ้มครองจากกำแพงภาษี


 


ค.ศ. 1995 ในยามที่เฮติต้องการเงินกู้อย่างเร่งด่วน กองทุนการเงินระหว่างประเทศจึงตั้งเงื่อนไขบังคับให้เฮติตัดลดกำแพงภาษีข้าวนำเข้าจาก 35% เหลือ 3%  ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแคริบเบียน ผลที่ตามมาคือการทะลักทลายเข้าไปของข้าวจากสหรัฐฯ  ซึ่งขายในราคาต่ำกว่าข้าวที่ปลูกในประเทศเฮติถึงครึ่งหนึ่ง ชาวนาหลายพันคนสูญเสียที่ดินและวิถีชีวิต ทุกวันนี้ ข้าวที่บริโภคในเฮตินำเข้ามาจากสหรัฐฯ ถึงสามในสี่ [6]


 


ข้าวสหรัฐฯ ไม่ได้ครองตลาดเฮติเพราะรสชาติดีกว่า หรือเพราะผู้ปลูกข้าวของสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพมากกว่า ข้าวสหรัฐฯ ชนะเพราะการส่งออกข้าวได้รับเงินอุดหนุนมากมายมหาศาลจากรัฐบาลสหรัฐฯ   ใน ค.ศ. 2003  ผู้ปลูกข้าวอเมริกันได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์  เฉลี่ยประมาณ 232 ดอลลาร์ต่อนาข้าว 1 เฮกตาร์ [7] เงินก้อนนี้ส่วนใหญ่ไหลเข้ากระเป๋าเจ้าที่ดินรายใหญ่และบรรษัทธุรกิจเกษตรที่เป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย ทำให้ผู้ส่งออกข้าวของสหรัฐฯ สามารถขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่แท้จริงถึง 30-50%


กล่าวสั้น ๆ คือ  เฮติถูกบีบจนรัฐบาลต้องยกเลิกการคุ้มครองภาคเกษตรกรรมภายในประเทศ   ส่วนสหรัฐฯ ก็อาศัยการคุ้มครองของรัฐบาลจนเข้าไปครอบงำตลาดข้าวในเฮติได้


 


เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ทั่วโลก กลุ่มประเทศร่ำรวยในซีกโลกเหนือบังคับให้กลุ่มประเทศยากจนและมีหนี้สินรุงรังในซีกโลกใต้ต้องจำใจใช้นโยบาย "เปิดเสรี" จากนั้น กลุ่มประเทศร่ำรวยก็ฉวยโอกาสจากการเปิดเสรีเข้าไปครอบครองตลาด ในประเทศร่ำรวยที่สุด 30 ประเทศในโลก ทุนอุดหนุนจากรัฐบาลคิดเป็นรายได้ของภาคเกษตรถึง 30% หรือรวมกันเป็นมูลค่าถึง 280 พันล้านดอลลาร์ต่อปี [8] ซึ่งเป็นความได้เปรียบอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ในตลาด "เสรี" ที่ประเทศร่ำรวยเป็นผู้เขียนกฎเกณฑ์ขึ้นมา


 


เกมการค้าอาหารในโลกล้วนเต็มไปด้วยกลลวง ประเทศยากจนเหลือแต่ภาคเกษตรที่หดตัวและไร้การคุ้มครอง


 


นอกจากนั้น ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศไม่ยอมให้เงินกู้แก่ประเทศยากจน หากประเทศเหล่านั้นไม่ยอมรับ "โครงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ"  (Structural Adjustment Programs--SAP) ซึ่งบังคับให้ผู้รับเงินกู้ต้องลดค่าเงิน ตัดลดภาษี แปรรูปสาธารณูปโภค  และลดหรือยกเลิกโครงการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร


 


ทั้งหมดนี้มาพร้อมกับคำมั่นสัญญาว่า กลไกตลาดจะสร้างความเติบโตและความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้   กระนั้น ในความเป็นจริง ความยากจนรังแต่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมกลับหดหายไป


 


"การลงทุนในโครงการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและการขยายการผลิตเริ่มลดน้อยลง และในที่สุดก็หายไปจากพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกาที่อยู่ภายใต้ SAP ความใส่ใจที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อยไม่มีเหลืออีกแล้ว ไม่เพียงแต่รัฐบาลที่ระงับการช่วยเหลือ แม้แต่เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศก็หดหายไปด้วย เงินอุดหนุนของธนาคารโลกที่ให้แก่ภาคเกษตรกรรมลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จากสัดส่วน 32% ของเงินกู้ยืมทั้งหมดใน ค.ศ. 1976-8  เหลือแค่ 11.7% ใน ค.ศ. 1997-9" [9]


 


ในสมัยก่อนเมื่อราคาอาหารเฟ้อ อย่างน้อยที่สุด คนจนก็สามารถเข้าถึงอาหารที่ตนเองเป็นผู้เพาะปลูก   หรืออาหารที่ปลูกในท้องถิ่นและหาซื้อได้ในราคาที่ท้องถิ่นกำหนด ในวันนี้ หลายประเทศในแอฟริกา  เอเชียและละตินอเมริกา นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ตลาดโลกเป็นผู้กำหนดราคาในท้องถิ่น และอาหารที่หาซื้อได้ก็มักนำเข้ามาจากแหล่งผลิตห่างไกล


 


* * *


 


อาหารไม่ใช่แค่สินค้าอย่างหนึ่ง อาหารคือหัวใจในการอยู่รอดของมนุษย์ สิ่งที่มนุษย์พึงคาดหวังจากรัฐบาลหรือระบบสังคมในขั้นต่ำสุดก็คือ ระบบเหล่านี้ควรพยายามป้องกันไม่ให้เกิดความอดอยากหิวโหย   ระบบเหล่านี้ไม่ควรส่งเสริมนโยบายใด ๆ ที่ทำให้คนอดอยากเข้าไม่ถึงอาหาร


 


นี่คือเหตุผลที่ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซแห่งเวเนซุเอลาพูดถูกอย่างยิ่ง เมื่อเขากล่าวถึงวิกฤตการณ์อาหารในวันที่ 24 เมษายนว่า นี่คือ  "บทพิสูจน์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่แสดงให้เห็นความล้มเหลวครั้งประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยม"


 


เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อยุติวิกฤตการณ์ครั้งนี้และอย่าปล่อยให้มันเกิดขึ้นมาอีก? ตอนที่สองของบทความจะพิจารณาคำถามนี้


 


  


Ian Angus เป็นบรรณาธิการของเว็บไซท์  Climate and Capitalism


 






 


Footnotes


 


[1] Kevin Pina. "Mud Cookie Economics in Haiti." Haiti Action Network, Feb. 10, 2008. http://www.haitiaction.net/News/HIP/2_10_8/2_10_8.html


 


[2] Tony Karon. "How Hunger Could Topple Regimes." Time, April 11, 2008. http://www.time.com/time/world/article/0,8599,1730107,00.html


 


[3] "The New Face of Hunger." The Economist, April 19, 2008.


 


[4] Mark Lynas. "How the Rich Starved the World." New Statesman, April 17, 2008. http://www.newstatesman.com/200804170025


 


[5] Dale Allen Pfeiffer. Eating Fossil Fuels. New Society Publishers, Gabriola Island BC, 2006. p. 1


 


[6] Oxfam International Briefing Paper, April 2005. "Kicking Down the Door." http://www.oxfam.org/en/files/bp72_rice.pdf


 


[7] Ibid.


 


[8] OECD Background Note: Agricultural Policy and Trade Reform. http://www.oecd.org/dataoecd/52/23/36896656.pdf


 


[9] Kjell Havnevik, Deborah Bryceson, Lars-Erik Birgegård, Prosper Matondi & Atakilte Beyene. "African Agriculture and the World Bank: Development or Impoverishment?" Links International Journal of Socialist Renewal, http://www.links.org.au/node/328


 


 


 


*ที่มาภาพประกอบหน้าแรก children.foreignpolicyblogs.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net