Skip to main content
sharethis

 



หมายเหตุ: บทความแปลชุด "สื่อในเอเซีย" แปลและเรียบเรียงโดย สุภัตรา ภูมิประภาส นี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน (สิทธิชุมชน) ในประเทศไทย


 


 


การหมิ่นประมาทในประเทศมาเลเซีย [1]


 


โดย กายาทรี [2]


 


ภูมิหลัง : กฎหมายหมิ่นประมาทในประเทศมาเลเซีย


 


ในประเทศมาเลเซียมีทั้งความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาและทางแพ่ง


 


การหมิ่นประมาททางแพ่งอ้างถึงกฎหมายหมิ่นประมาท พ.ศ. 2500 (1957) ที่ "ถือว่ามีการหมิ่นประมาทเกิดขึ้นถ้าโจทก์สามารถแสดงได้ว่ามีการตีพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาท, และข้อความหมิ่นประมาทนั้นกระทำโดยมีเจตนาร้าย  หรือถ้อยคำในข้อความหมิ่นประมาทสะท้อนถึงเจตนาที่ต้องการหมิ่นประมาท  นอกจากนี้ โจทก์ต้องแสดงให้เห็นว่าข้อความนั้นเป็นความเห็นที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ชอบธรรม"


 


อย่างไรก็ตาม  ความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาซึ่งมีทั้งโทษปรับและโทษจำขัง  หรือทั้งจำและปรับนั้นถูกบัญญัติไว้ในหมวดที่ 21 มาตรา 499 ของประมวลกฎหมายอาญา ว่า การหมิ่นประมาทเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการแสดงให้เห็นว่า "ถ้อยคำ โดยการพูด หรือโดยตั้งใจให้เกิดความเข้าใจ หรือโดยสัญลักษณ์, หรือโดยสิ่งที่เห็นได้ว่าเป็นตัวแทน, กระทำหรือพิมพ์ข้อกล่าวหาใดที่เกี่ยวข้องกับบุคคลใด, โดยเจตนาก่อให้เกิดความเสียหาย,  หรือตั้งใจหรือมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าการกล่าวหานั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงของบุคคลนั้น"


 


คดีหมิ่นประมาทที่สำคัญและคำตัดสินประวัติศาสตร์


 


ในอดีต  การฟ้องหมิ่นประมาทระหว่างบุคคลนั้นถูกตัดสินให้จ่ายค่าปรับจำนวนน้อย  ในช่วงทศวรรษที่ 1920s หนังสือพิมพ์ Utusan Malaysia ถูกเจ้าหน้าตำรวจฟ้องเพราะตีพิมพ์จดหมายที่บรรยายเหตุการณ์ที่นายตำรวจระดับผู้กำกับถูกจับกุมในโรงละคร (ronggeng)  หนังสือพิมพ์ถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าปรับจำนวนน้อยกว่า 5,000 เหรียญสหรัฐ แต่ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูง ณ เวลานั้น และต้องยุติการพิมพ์ชั่วคราว


 


ช่วงทศวรรษที่ 1990s มีการฟ้องหมิ่นประมาทคดีใหญ่ๆที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในวงการธุรกิจที่ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี  คดีระหว่างวินเซนท์ ตัน (Vincent Tan) กับ Haji Hassan Hamzah (พ.ศ.2538) กลายเป็นแบบอย่างสำหรับคดีใหญ่ๆเมื่อศาลสูงหรือศาลสหพันธ์ (Federal Court)ยืนคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าปรับแก่ฝ่ายโจทก์คือวินเซนท์ ตัน เป็นจำนวนเงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ( 10 ล้านริงกิด) โจทก์ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทมหาชนเครือ Berjaya Group Bhd อ้างความเสียหายจากข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทและการคบคิดของจำเลย 7 คนในบทความ 4 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Malayan Industry 3 ฉบับ  ผู้พิพากษา Mokhtar Sidin J มีคำพิพากษาให้โจทก์ได้รับเงิน 10 ล้านริงกิดเป็นค่าปรับทดแทนความเสียหายจากจำเลยร่วมซึ่งรวมถึง MGG Pillai นักข่าวผู้ล่วงลับไปแล้ว  Pillai เป็นนักข่าวและนักเขียนที่ได้รับการยอมรับนับถือในวงการสื่อมวลชนของมาเลเซีย


 


คำพิพากษาที่ลงโทษสื่อ


 


วินเซนท์ ตัน (Vincent Tan) ไม่ใช่คนเดียวที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายหมิ่นประมาทและได้รับเงินค่าปรับจำนวนสูง


 


คดีของ Tun Datuk Patinggi Haji Abdul Rahman Ya"kub กับ Bre Sdn Bhd (พ.ศ. 2539)


-           โจทก์ เป็นอดีตรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการรัฐซาราวัก (Sarawak State) อ้างความเสียหายจากการถูกหมิ่นประมาทที่มีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายวัน


-           ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าปรับแทนความเสียหายเป็นเงิน 100,000 ริงกิด (30,000 เหรียญสหรัฐ)


 


คดีของ Noor Asiah Mahmood กับ Randhir Singh (พ.ศ. 2543)


-           โจทก์อ้างความเสียหายจากบทความ 2 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ New Strait Times, interlia


-           ผู้พิพากษา Kamalanathan Ratnam มีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายทั่วไป (general damages) เป็นเงิน 300,000 ริงกิด (100,000 เหรียญสหรัฐ) แก่โจทก์ที่ 1 และจ่าย 200,000 ริงกิด (60,000 เหรียญสหรัฐ) แก่โจทก์ที่ 2  และผู้พิพากษายังได้สั่งให้มีการจ่ายค่าเสียหายร้ายแรง (aggravated damages) แก่โจทก์ทั้งสอง คนละ 200,000 ริงกิด (60,000 เหรียญสหรัฐ) ทำให้จำนวนเงินที่จำเลยต้องจ่ายเป็นค่าเสียหายของโจทก์ รวมเป็นหนึ่งล้านริงกิด (300,000 เหรียญสหรัฐ)


 


คดีของ Ummi Hafilda Ali กับ Karangkraf Sdn Bhd (ที่ 2) (พ.ศ. 2543)


-           Ummi Hafilda และพยานอีกคนหนึ่งในคดีของอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ฟ้องร้องจำเลย ประกอบด้วย ผู้พิมพ์และผู้จัดจำหน่ายนิตยสารบันเทิง Bacaria ที่ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับพวกเขา ในบทความนี้กล่าวว่าพวกเขากำลังจะแต่งงานกันซึ่งโจทก์อ้างว่าทำให้ชื่อเสียงของพวกเขาเสียหาย


-           ผู้พิพากษา Kamalanathan Ratnam J มีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์คนละ 25,000 ริงกิด (8,000 เหรียญสหรัฐ)


 


คดีของ Tjanting Handicraft Sdn Bhd กับ Utusan Melayu (M) Bhd (พ.ศ. 2544)


-           โจทก์ฟ้องร้องจำเลยกรณีบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารผู้หญิง Wanita ซึ่งผู้เขียนบทความชิ้นนี้กล่าวหาว่าโจทก์ผลิตผ้าบาติกที่ไม่สวย และโจทก์ที่ 2 ทำให้ประเทศอับอายเพราะยอมให้ผู้นำประเทศต่างๆสวมใส่เสื้อที่ตัดเย็บไม่น่าดูและน่าเกลียดในระหว่างการประชุมเอเปก (Asia-Pacific Economic Cooperation) ที่มาเลเซีย


-           ผู้พิพากษามีคำพิพากษาให้มีการจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1.3 ล้านริงกิด (430,000 เหรียญสหรัฐ)


 


ในประเทศมาเลเซีย การฟ้องร้องสื่อในคดีหมิ่นประมาทมิได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะสื่อในประเทศ  มีตัวอย่างที่สื่อต่างประเทศถูกฟ้องร้องด้วย


 


คดีของ Insas Bhd  กับ Samurls (พ.ศ. 2547)


1.       โจทก์อ้างความเสียหายจากการที่จำเลยตีพิมพ์บทความเรื่อง "Malaysian Justice on Trial" ในนิตยสาร International Commercial Litigation Magazine ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2536


2.       นิตยสารดังกล่าวพิมพ์ในกรุงลอนดอน และมีการเผยแพร่ในประเทศมาเลเซียและที่อื่นๆ


3.       โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายคนละ 25 ล้านริงกิด (8 ล้านเหรียญสหรัฐ) รวมถึงค่าเสียหายสำหรับการหมิ่นประมาทในบทความดังกล่าว


4.       ผู้พิพากษามีคำสั่งพิพากษาให้จำเลยที่อุทธรณ์ต่อศาลสูงจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์คนละ 500,000 ริงกิด (160,000 เหรียญสหรัฐ)


 


ปี พ.ศ. 2548  นายอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ชนะคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 4.5 ล้านริงกิด (1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) จาก Datuk Abdul Khalid@ Khalid Jafri Bakar Shah ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "50 Dalil Mengapa Anwar Tak Boleh Jadi PM" ("50 เหตุผลที่ทำไมอันวาร์ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้") ซึ่งมีการเผยแพร่ในวาระที่เขาถูกปลดจากตำแหน่งในรัฐบาลและในพรรคเมื่อปี พ.ศ. 2541


 


ปี พ.ศ. 2549  Vincent Tan Chee Yioun เจ้าพ่อวงการธุรกิจมีการเจรจาค่าเสียหายโดยไม่เปิดเผยจำนวนเงิน ในคดีที่เขาฟ้องร้องศาสตราจารย์ Jomo Kwame Sundram และจำเลยร่วมอีก 4 คน ร่วมกับสำนักพิมพ์ Star Papyrus Printing Sdn Bhd. การฟ้องร้องดังกล่าวนี้เกิดจากบทความเรื่อง "Malaysia props up crony capitalists" ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Asian Wall Street Journal (ฉบับวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2541)


 


            กลุ่มธุรกิจ VS สื่อ


ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 บริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมการออกแบบ Maunsell Sharma & Zakaria ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านออกแบบของโครงการทางหลวงยกระดับ Ampang-KL Elevated Highway (KLT) ฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีหมิ่นประมาทจากสำนักพิมพ์ Utusan Melayu (M) Bhd เป็นเงิน 50 ล้านริงกิด  โจทก์อ้างว่าหนังสือพิมพ์รายวัน Utusan Malaysia daily ตีพิมพ์ข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทบริษัทฯในบทความที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์ เกี่ยวกับรอยร้าวของถนนวงแหวนเส้นกลางบนทางหลวงและรอยร้าวนี้มีสาเหตุมาจากความบกพร่องในการด้านวิศวกรรมการออกแบบทางหลวง


 


P&A Systech Sdn. Bhd  ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ The Star และผู้สื่อข่าว Sira Habibu ในคดีหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 20 ล้านริงกิด จากกรณีเขียนบทความเรื่อง "Illegal Sand Dredging in Kedah"  โจทก์อ้างว่าบทความดังกล่าวเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจว่าบริษัทฯกำลังประกอบธุรกิจผิดกฎหมายโดยไม่มีใบอนุญาต  โครงการดังกล่าวนี้มีประเด็นถกเถียงขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมและยังไม่มีข้อสรุป


 


การปะทะกันของนักการเมือง


-           Tan Sri Abdul Taib Mahmud ผู้ว่าการรัฐซาราวักเรียกร้องคำขอโทษต่อหน้าสาธารณะและค่าทดแทนที่ไม่เปิดเผยจำนวนจากพรรคการเมืองเกออาดิลัน (Parti Keadilan Rakyat (PKR) หรือ People"s Justice Party) และผู้นำพรรค 2 คนในรัฐซาราวักกรณีเผยแพร่ใบปลิวซึ่งเขาอ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง  สื่อที่ต้องถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีนี้คือ Malaysiakini.com ที่พิมพ์เผยแพร่เรื่องที่ผู้ว่าการรัฐฯเข้าไปเกี่ยวข้องการเจรจาที่น่าคลือบแคลงเกี่ยวกับสัมปทานไม้


 


-           คดีหมิ่นประมาทที่ Husam Musa นักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน Parti Islam SeMalaysia (PAS) ถูกฟ้องโดยบริษัท ECM Libra Berhad ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Khairy Jamaluddin ซึ่งเป็นบุตรเขยของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2549 จากบทความเรื่อง "How did Khairy buy the shares of ECM Libra?" ที่ Husam เขียนโดยหยิบยกข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของนักการเมืองหนุ่มในการหาเงินหลายล้านมาซื้อหุ้นในบริษัทที่ได้รับความโปรดปรานจากรัฐบาลให้ทำโครงการต่างๆ  บทความดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Harakah ของพรรคอิสลาม


 


นักการเมือง, ตำรวจ และสื่อ


ACP K. Kumaran ผู้กำกับการตำรวจเมือง Sentul ฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 10 ล้านริงกิด จากสมาชิกสภาสูงของพรรคเกออาดิลัน (Parti Keadilan Rakyat (PKR) และหนังสือพิมพ์รายวัน Tamil daily  การฟ้องดังกล่าวนี้ตามมาด้วยการฟ้องกลับของพรรคเกออาดิลันว่าผู้ว่าการตำรวจฯหมิ่นประมาทและบกพร่องต่อการปฏิบัติราชการ 


คดีนี้เกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดีฆาตกรรมสตรีที่กล่าวกันว่ามีความสัมพันธ์กับบุตรชายของสมาชิกในคณะรัฐมนตรี  กรณีนี้หนังสือพิมพ์ Tamil daily - Makkal Osai ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล Indian party และถูกคุกคามอีกเมื่อไม่นานมานี้โดยรัฐบาลปฏิเสธที่จะออกใบอนุญาตการพิมพ์ประจำปีให้  ต่อมามีการกลับลำโดยรัฐบาลยอมออกใบอนุญาตให้ทั้งนี้เชื่อกันว่าเป็นเพราะแรงกดดันจากสาธารณชน


 


มีกรณีที่ไม่ได้รับการเปิดเผยอีกจำนวนมากที่บุคคลและบริษัทขู่ว่าจะฟ้องร้องหมิ่นประมาทสื่อและนักข่าว  องค์กรสื่อหลายแห่งได้รับจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการว่าอาจจะถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาทหากไม่ยุติการพิมพ์เผยแพร่เรื่องต่างๆ 


ในกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้  หนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีน Oriental Daily News และนักข่าวได้รับจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับจากบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่มีเรื่องอื้อฉาวถูกเปิดเผยอยู่ในบล็อกต่างๆและหนังสือพิมพ์บางฉบับ  ผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐซาราวัก  เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับโครงการ Port Klang Free Zone และนักข่าวที่เขียนข่าวนี้เพียงแค่ระบุชื่อของผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว


 


คดีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเกอร์


 


ปี พ.ศ. 2550 มีการฟ้องคดีหมิ่นประมาทจำนวนมาก และคดีประวัติศาสตร์นี้เป็นคดีที่องค์กรสื่อขนาดใหญ่ฟ้องบล็อกเกอร์ 2 คน  คนหนึ่งเป็นอดีตนักข่าว คือ Adiruddin Atan และอีกคนหนึ่งเป็นทั้งบล็อกเกอร์และที่ปรึกษาด้านไอที คือ Jeff Ooi 


โดยเมื่อวันที่ 11 มกราคม หนังสือพิมพ์ The New Straits Times ได้แจ้งคำสั่งของศาลที่สั่งให้ Jeff Ooi ลบข้อความหมิ่นประมาทที่โพสต์อยู่ในบล็อกของเขา จำนวน 13 ข้อความที่มีการโพสต์ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2550


 


คดีที่ Ooi และ Atan ถูกฟ้องหมิ่นประมาทนี้ทำให้เกิดการถกเถียงในประเทศมาเลเซียว่าบล็อก, การโต้เถียงแสดงความคิดเห็นในสื่อออนไลน์ และเวบไซด์นั้นจะต้องใช้กฎหมายหมิ่นประมาทฉบับเดียวกับเรื่องที่ถูกตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์หรือไม่  ศาสตราจารย์ Shad Saleem Faruqi ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าวไว้ตามที่มีการอ้างถึงใน The New Straits Times เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2550 ในหัวข้อข่าว Bloggers Subject to Some Rules โต้แย้งว่า "คำนิยามของคำพูดคลอบคลุมทุกรูปแบบของการสื่อสารไม่ว่าจะรูปแบบใด,  การเขียนหรือสัญลักษณ์  ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าบล็อกเกอร์นั้นจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน"


 


การแปลความหมายของศาลเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก?


 


เราได้เห็นศาลมีคำสั่งให้มีการจ่ายค่าเสียหายหลายล้านริงกิดในคดีความหมิ่นประมาทต่างๆซึ่งเป็นเหตุแห่งความกังวลโดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับสื่อ  มีเพียงคดีที่อุทธรณ์ในปีพ.ศ. 2543 ที่ผู้พิพากษา Gopal Sri Ram กล่าวเป็นข้อสังเกตไว้ว่าคดีหมิ่นประมาทไม่ควรถูกใช้เป็นกลไกในการกดขี่


            "ในกระบวนการปรึกษาหารือของพวกเรานั้น ไม่ได้มองข้ามแนวโน้มที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ที่เกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายและการสั่งให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงินหลายล้านริงกิด […]  นั่นเป็นการตัดสินใจที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมหันต์  ปรัชญาสำคัญของการพิพากษานั้นคือ ความเสียหายต่อชื่อเสียงนั้นมีความสำคัญกับสมาชิกในสังคมของเราไม่มากไปกว่าการสูญเสียสมาชิกของสังคมไป  แต่เราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรต้องตรวจสอบแนวโน้มที่ถูกกำหนดไว้จากคดีนั้น  เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินการสำหรับคดีหมิ่นประมาทไม่ได้ถูกใช้เป็นกลไกในการกดขี่  มิเช่นนั้น เสรีภาพในการแสดงออกที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญจะเป็นเพียงภาพลวงตา"


 


คำพิพากษาเมื่อไม่นานมานี้ในคดีที่ไอรีน เฟอร์นานเดซ  (Irene Fernandez) นักกิจกรรมทางสังคมฟ้องร้องหนังสือพิมพ์รายวัน Utusan Malaysia  ผู้พิพากษาตัดสินให้ไอรีนได้รับค่าเสียหาย 200,000 ริงกิด (60,000 เหรียญสหรัฐ) และสั่งให้หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ข้อความที่ระบุถึงความรับผิดชอบของวิชาชีพหนังสือพิมพ์บนเนื้อที่ส่วนหนึ่งหนังสือพิมพ์  คดีนี้ นักข่าวและหนังสือพิมพ์ดังกล่าวไม่สามารถหาคำอธิบายที่ชอบธรรมในเรื่องที่ตีพิมพ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับรายงานที่ไอรีนเขียนเกี่ยวกับการละเมิดในสถานกักกันตัวคนเข้าเมือง


 


แต่การแปรความหมายเช่นนี้เกิดขึ้นยากและจะทำให้ขาดความศรัทธาในฝ่ายตุลากร (ที่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลและคำประกาศที่จะปฏิรูปตุลาการ), การฟ้องหมิ่นประมาทยังคงถูกมองว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ของเสรีภาพในการแสดงออก


 


อุปสรรคที่ใหญ่กว่าสำหรับสื่อในประเทศมาเลเซีย


 


ในประเทศมาเลเซีย เครื่องมือหลักที่ถูกใช้ในการควบคุมและคุกคามสื่อคือกฎหมายอื่นๆที่ควบคุมการเผยแพร่จัดจำหน่ายและกฎหมายที่ควบคุมการปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง 


 


กฎหมายที่เป็นปัญหา คือ:


 


กฎหมายสื่อสิ่งพิมพ์และการพิมพ์ พ.ศ. 2527: 


เป็นกากเดนของยุคสมัยอาณานิคม  กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้หนังสือพิมพ์ต้องยื่นขอใบอนุญาตการพิมพ์ทุกปี  ศูนย์กลางเพื่อวิชาชีพสื่ออิสระ (Centre for Independent Journalism - CIJ) พบว่าการใช้กฎหมายนี้เป็นไปเพื่อกดหัวสื่อให้ประพฤติ "ดี" เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง


 


กฎหมายว่าด้วยการก่อความไม่สงบ พ.ศ. 2527: 


เป็นอีกซากหนึ่งของอดีต  รัฐสามารถตีความถ้อยคำที่กินความกว้างขวางของกฎหมายนี้ในการจัดการกับผู้วิพากษ์วิจารณ์และผู้ต่อต้าน  นักการเมืองฝ่ายค้าน  นักเคลื่อนไหวทางสังคม และบล็อกเกอร์ ถูกสอบสวนภายใต้กฎหมายนี้ รวมถึงกรณีของ Malaysiakini.com เมื่อปี พ.ศ. 2546 ด้วย 


คดีล่าสุดที่เกิดขึ้นหลังวันเสรีภาพสื่อโลกเพียงไม่กี่วัน คือ การฟ้องร้อง Raja Petra Kamaruddin บล็อกเกอร์ชื่อดังจากข้อความที่เขาโพสต์เกี่ยวกับคดีในศาลที่เป็นที่ถกเถียงกันกรณีเหตุการณ์ฆาตกรรมสตรีชาวมองโกเลีย  นายตำรวจ 2 คน และผู้อำนายการด้านที่ปรึกษาที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรองนายกรัฐมนตรีถูกดำเนินคดีด้วย


 


กฎหมายว่าด้วยความลับทางราชการ พ.ศ. 2515: 


เป็นกฎหมายที่ถูกตราขึ้นจากผลของเหตุการณ์จลาจลเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2512 และถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการเก็บความลับเกี่ยวกับการตัดสินใจที่สำคัญของรัฐ  นักข่าวและนักการเมืองฝ่ายค้านหลายคนถูกจับกุมภายใต้กฎหมายนี้


 


กฎหมายความมั่นคงภายใน พ.ศ. 2503: 


เป็นกฎหมายที่เป็นผลมาจากช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎหมายนี้มีประสิทธิภาพอย่างมากในการก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวในหมู่ประชาชน  นักเขียน  ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน  ผู้นำชุมชน  ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆที่ถูกจับกุมและคุมขังภายใต้กฎหมายนี้ ถูกปฏิเสธสิทธิที่จะให้มีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ


 


กฎหมายตำรวจ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา: 


เป็นเครื่องมือของตำรวจที่ใช้สอบสวนนักข่าวและแหล่งข่าว  ขณะนี้มีนักข่าวจากหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ 2 ฉบับถูกเรียกตัวไปซักถามกรณีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความผิดพลาดในการบริหารจัดการกองทุนของรัฐบาลพรรคร่วมรัฐบาล (Barisan Nasional Government) ที่กำลังจะหมดวาระ


 


การเมืองที่ควบคุมสื่อ: 


เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ทำให้ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการต้องประกอบวิชาชีพในสภาวะน่าเวทนา  มีเพียงไม่กี่คนที่กล้าท้าทายเจ้าของสื่อเพื่อที่จะทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนและเปิดเผยการประพฤติมิชอบต่างๆ


 


เส้นทางเบื้องหน้า


 


การสร้างสื่อที่เข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียว: 


ด้วยเหตุที่ต้องแข่งขันกันทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อนั้นไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ความเต็มออกเต็มใจของบรรดาผู้บริหารสื่อในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่บริหารประเทศยิ่งทำให้ยากต่อการส่งเสริมเสรีภาพสื่อและความเป็นอิสระของสื่อด้วย  บรรดานักข่าวไม่ได้กำลังทำงานเพื่อยืนยันจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ  แต่ทำงานเพื่อรับใช้เจ้าของสื่อ 


องค์กรสื่อที่มีความเข้มแข็งมากกว่าจะส่งสัญญาณว่ากฎหมายหมิ่นประมาทไม่สามารถใช้เพื่อควบคุมสื่อ


 


ผู้พิพากษาใช้มาตรฐานด้านสิทธิต่างๆเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก:


หากพบว่าสื่อกระทำผิดจริง  ศาลจำเป็นต้องระมัดระวังว่าเสรีภาพในการแสดงออกไม่ถูกใช้เป็นเครื่องสังเวยในการตัดสินลงโทษ  คดีหมิ่นประมาทใหญ่ๆที่เกิดขึ้นไม่ควรถูกนำมาเป็นมาตรฐานในการพิพากษา


 


การเพิ่มการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ: 


กลุ่มสนับสนุนทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคจะคอยติดตามตรวจสอบการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในการควบคุมสื่อ  ขณะเดียวกัน ควรมีการจัดตั้งเครือข่ายสนับสนุนนักข่าวและสื่ออย่างเป็นทางการและมีการสนับสนุนด้านเงินทุนด้วย


 


การยกเลิกกฎหมายต่างๆที่เป็นอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออก: 


ประเทศมาเลเซียต้องเดินหน้าดำเนินการปฏิรูปกฎหมายหลายฉบับของประเทศ มาเลเซียเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่ใช้กฎหมายโบราณที่สุดในแง่ของการส่งเสริมเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน  กลุ่มประชาสังคมต่างๆและนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านกำลังทำงานร่วมกันเพื่อกดดันให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายประเภทนี้  แม้ว่าจะเป็นภารกิจที่ยากยิ่ง  แต่แนวโน้มทางการเมืองได้เปิดให้เห็นบางช่องทางสำหรับการนี้


 


  


เชิงอรรถ


[1] แปลจากรายงานเรื่อง Defamation in Malaysia นำเสนอที่การสัมมนานานาชาติ International Seminar on Defamation: Building a Regional Advocacy Platform ระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ที่เมืองจ็อกจาการ์ต้า (Yogyakarta) ประเทศอินโดนิเซีย


 


[2] Gayathry Venkiteswaran เป็นผู้อำนวยการบริหารของศูนย์กลางเพื่อวิชาชีพสื่ออิสระ (Centre for Independent Journalism - CIJ) ประเทศมาเลเซีย


 


 


 


.......................................


งานที่เกี่ยวข้อง


มองสื่อนอก: บทนำ ว่าด้วย "การหมิ่นประมาท: การสร้างเวทีระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนเสรีภาพสื่อ"


มองสื่อนอก #1: บทเรียนการต่อสู้ของสภาการ นสพ.แห่งอินโดนีเซีย ว่าด้วยโทษหมิ่นประมาททางอาญากับสื่อ


มองสื่อนอก #2: สถานการณ์สื่อในอินโดนีเซีย: "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยาว?"


มองสื่อนอก #3: สื่อฟิลิปปินส์ กับ ความรุนแรงหลากชนิด


มองสื่อนอก #4: สื่อ กับกฎหมายหมิ่นประมาทในติมอร์ตะวันออก


มองสื่อนอก #5: เสรีภาพสื่อกัมพูชา : เสรีภาพฉาบฉวย


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net