เครือข่ายพิทักษ์แม่น้ำยมประณาม สมัคร "นายกนรก สำหรับสิ่งแวดล้อม"

เครือข่ายพิทักษ์แม่น้ำยมออกแถลงการณ์ประณามนายกสมัคร หลังกล่าวว่าจะรื้อฟื้นและเดินหน้าเขื่อนแก่งเสือเต้นให้เสร็จภายในรัฐบาลของตนเอง ระบุนายกสมัครมีแนวคิดเป็นภัยต่อต่อสิ่งแวดล้อม สวนทางกระแสอนุรักษ์ ทั้งไม่มีแนวคิดในการรักษาป่าที่เหลืออยู่เพียงไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ รายละเอียดดังนี้

 





 

แถลงการณ์

เครือข่ายพิทักษ์แม่น้ำยม

สมัคร นายกนรก สำหรับสิ่งแวดล้อม

 

วันสิ่งแวดล้อมโลก เป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันรณรงให้มนุษยชาติตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งโลก ปัญหาภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟป่า รวมทั้งปัญหาโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ทั่วโลกตระหนักเห็นความสำคัญของการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม แต่เป็นที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยมีนายกที่มีแนวคิดสวนทางกับการรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ สนับสนุนให้ใช้กระธงโฟม แทนกระธงธรรมชาติ ให้ใช้ถุงพลาสติกแทนการใช้กระเป๋าผ้าหรือตะกล้า อีกทั้งยังไม่มีวิศัยทรรศน์ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่มีแนวคิดในการรักษาป่าทั้งที่ป่าไม้เมืองไทยเหลือไม่ถึง 20 เปอเซ็นต์แล้ว ในทางกลับกันกลับแสดงภูมิปัญญาอันน้อยนิดด้วยการเสนอให้ทำลายป่าสักทองธรรมชาติกว่า 50,000 ไร่ (ห้าหมื่นไร่) เพื่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยอ้างว่าไม่มีป่าสักทองแล้ว ทั้งที่ยังไม่เคยลงไปดูพื้นที่ป่าสักทองแม้แต่ครั้งเดียว กลับใช้ข้อมูลที่ได้รับจากทางราชการว่าไม่มีป่าแล้ว แถมยังถากถางว่ามีนกยูงเพียง 3 ตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทรรศนะที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง

 

การคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จากชาวบ้าน นักวิชาการ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักศึกษา ศิลปิน รวมทั้งประชาชนผู้รักความเป็นธรรม เกิดสืบเนื่องมากว่า 20 ปี เนื่องจากว่าทุกรัฐบาล ได้ผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยอ้างว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น จะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ ทั้งที่มีผลการศึกษาจากหลายหน่วยงานได้ข้อสรุปแล้วว่า โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ อาทิ

 

1. ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์

 

2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

 

3. ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก

 

4. การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ

 

5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

 

6. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

 

7. ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่

 

8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น

 

9.ผลการศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิชุมชน สิทธิในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งรัฐไม่สามารถละเมิดได้ และได้เสนอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน

 

แนวทางในการแก้ไขปัญหา ภัยแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

การจัดการน้ำแบบบูรณาการลุ่มน้ำยมทั้งระบบ ได้มีการศึกษาและวางแผนโดยกรมทรัพยากรน้ำกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ผลสรุปออกมาแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ซึ่งในแผนนี้ใช้งบประมาณน้อยกว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก แต่ระบบราชการไทย ถือประเพณีไม่ขัดขวางผลประโยชน์ของหน่วยงานราชการด้วยกัน แผนการจัดการลุ่มน้ำยมทั้งระบบของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้ดำเนินการให้เป็นจริง การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำยมได้ แต่ทำไมไม่เลือก

 

1. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน

 

2. การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว หากแต่บางจังหวัด บางพื้นที่ที่ยังติดขัดเรื่องงบประมาณในการดำเนินการ เพราะผู้แทนราษฎรในพื้นที่นั้นๆ ไม่มีศักยภาพในการดึงงบประมาณมาดำเนินการ ตรงข้ามกับพื้นที่ที่มีผู้แทนราษฎร มีรัฐมนตรี การดำเนินการแล้วเสร็จลุล่วงไปหลายโครงการ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ เพราะโครงการต่างๆ ยังไม่ครบตามแผนที่วางไว้ทั้งระบบ

3. การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับห้วยหนองคลองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด

 

4. การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม

 

5. การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณมากกว่าความจุของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก

 

6. การซ่อมบำรุง ปรับปรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้ว ปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน

 

7. การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม สามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น

 

8. การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ในเมืองใหญ่ได้ อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

 

ทางเลือกในการจัดการน้ำที่ดำเนินการศึกษาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก เสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ 19 แบบ คือ 1.ปลูกป่าป้องกันน้ำท่วม 2. เกษตรแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 3.อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 4.ป้องกันไฟและแนวซับน้ำ 5.พื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมบนที่สูง 6.คลองเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน 7.ชลประทานแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 8.ศูนย์อพยพเพื่อบรรเทาภัยน้ำท่วมหมู่บ้าน 9.ตุ่มน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม 10.ถนนเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วม 11.สะพานและทางระบายน้ำเฉลิมพระเกียรติ 12.อ่างเก็บน้ำหน้าเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 13.แนวคันดินป้องกันเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 14.พื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราวป้องกันน้ำท่วม 15.ฝายพิเศษป้องภัยน้ำท่วม 16.ระบบเตือนภัยธรรมชาติสู่ภูมิภาค 17.โครงการศึกษาเพื่อการป้องภัยธรรมชาติ 18.ความร่วมมือกองทัพบกในการขุดคลอง คู อ่างเก็บน้ำ แนวคันดิน 19.ความร่วมมือตำรวจตระเวนชายแดน ให้ความรู้แก่ประชาชน

 

ยุคสมัยของการหากินกับโครงการขนาดใหญ่ได้สิ้นสุดลงแล้ว เราไม่มีป่าธรรมชาติมากพอที่จะให้ทำลายอีกต่อไป รัฐบาลใดใดที่เข้ามาบริหารชาติบ้านเมือง ต้อง หยุด ทำลายป่า หยุด ทำลายชุมชน หยุด อ้างเพื่อประชาชน หยุด ผลาญเงินประเทศชาติ หยุดหากินกับโครงการขนาดใหญ่ หยุด เขื่อนแก่งเสือเต้น ไผกึ๊ดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จงฉิบหายวายวอด เจ็ดชั่วโคตร

 

.................................................................................

 

หมายเหตุ : ท่านสามารถค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

http://www.searin.org/Th/KSTD.htm


แก่งเสือเต้น หรือคือทางออกเดียว

เขื่อนแก่งเสือเต้น... จะดับเส้นชีวิตลุ่มแม่น้ำยมตอนล่าง

ทางเลือก 5 ประการ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม

เขื่อนแก่งเสือเต้น... ใครได้ประโยชน์

ความไม่เหมาะสมต่อการก่อสร้างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท