Skip to main content
sharethis

ทิวา พรหมสุภา


 


 






 


คำเตือนก่อนอ่าน


 


ก่อนที่ท่านจะอ่านบทความนี้ ผู้เขียนขอเรียนว่า วัตถุประสงค์ของงานชิ้นนี้คือการเป็นสื่อกลางให้ผู้ที่มักไม่มีโอกาสส่งเสียงถึงสังคมไทยให้เป็นที่รับฟังบ้าง เพราะเมื่อใดที่เกิดเหตุร้ายในค่ายผู้ลี้ภัย ทั้งตัวผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่องค์กรมนุษยธรรมทั้งไทยและต่างชาติในค่ายฯ มักไม่สามารถให้สัมภาษณ์กับสื่อได้อย่างเปิดเผย เนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และข้อจำกัดของหน่วยงาน ซึ่งล้วนแต่ต้องพึ่งพา "การอนุญาต" จากรัฐไทย


 


อาจมีบางท่านทักท้วงว่า บทความชิ้นนี้ไม่เป็นกลางและเข้าข้างผู้ลี้ภัย ผู้เขียนจึงขอเรียนไว้ก่อนว่า ในกรณีที่มีความอยุติธรรม ผู้เขียนย่อมเลือกข้าง โดยไม่เข้าข้างผู้กระทำผิด และแม้บทความนี้จะเลือกส่งเสียงที่มีความคิดเห็นข้อมูลในทางเดียวกัน แต่ก็เป็นด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มคนดังกล่าวไม่มีโอกาสได้ส่งเสียงถึงสังคมไทยเลย ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยย่อมมีสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่พวกเขาถูกกระทำบนผืนแผ่นดินไทย


 


ท้ายสุด ผู้อ่านมีสิทธิที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อบทความนี้ เช่นเดียวกับที่ท่านมีสิทธิจะเลือกว่าท่านจะเชื่อเสียงของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ผู้เขียนไม่อาจยืนยันเต็มร้อยว่าข้อมูลทั้งหมดเป็นความจริง เพราะผู้เขียนมิใช่ผู้ถูกกระทำเอง แต่ก็ยืนยันได้ว่า ผู้เขียนได้ข้อมูลทั้งหมดมาจริง จากพยานที่น่าเชื่อถือหลายท่าน และได้ตรวจสอบรวมถึงใช้ตรรกะวิเคราะห์ข้อมูลแล้วอย่างรอบคอบที่สุดแล้ว


 


เพียงหวังว่า ผู้อ่านที่คิดจะโต้แย้ง จะก้าวได้ไกลกว่าการตั้งคำถามที่ไม่ใช่คำถาม ว่าผู้เขียน "เป็นคนไทยหรือเปล่า"!!!


 


 


เมื่อปลายเดือน 28 พ.ค. 2551 มีเหตุทะเลาะเบาะแว้งระหว่างผู้ลี้ภัยชาวพม่ามุสลิม ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่ที่ C2 ของค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ชายผู้ทำร้ายร่างกายฝ่ายตรงข้าม ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของค่ายซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยเอง จับกุมและพาไปควบคุมตัวที่ห้องขังของค่ายนั้น


 


"ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ" เป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนทั้งหมด 9 ค่ายบนชายแดนไทย-พม่า ประชากรส่วนใหญ่ของค่ายเป็นชาวกะเหรี่ยงที่หลบหนีภัยการประหัตประหารและผลกระทบของสงครามในประเทศพม่ามายังประเทศไทย คนจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ลี้ภัยมากว่า 20 ปีแล้ว และเด็กหลายคนก็เกิดและเติบโตขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ลี้ภัยก็ไม่เคยคงที่ ยังมีผู้หลบหนีเข้ามาใหม่ทุกเดือน ทุกปี


 


ค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่ง ได้รับความช่วยเหลือด้านอาหาร ยา การศึกษา ที่พัก และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ จากองค์กรมนุษยธรรมเอกชน โดยเกือบทั้งหมดเป็นหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ไทยจำนวนมากทำงานอยู่ด้วย มีปลัดอำเภอฝ่ายป้องกันเป็นหัวหน้าพื้นที่พักพิงชั่วคราว (ภาษาอังกฤษใช้ว่า camp commander หรือผู้บัญชาการค่าย ซึ่งฟังแล้วดูเหมือนมีขอบเขตอำนาจมากกว่าคำว่า "หัวหน้า") มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครหรือ "อ.ส." ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวของรัฐ รักษาความปลอดภัยภายใต้การบังคับบัญชาของปลัดฯ และมีกรรมการผู้ลี้ภัยประจำค่าย ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆในด้านการบริหารจัดการและจัดสรรความช่วยเหลือ


 


ในส่วนของการดูแลรักษาความปลอดภัยภายในชุมชน แต่ละค่ายจะมีเจ้าหน้าที่ ร.ป.ภ. ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยเอง คอยเดินตรวจดูแลตามแต่ละหมู่ (Section) และเขต (Zone) หากมีกรณีทะเลาะเบาะแว้ง ขโมยของ เมาอาละวาด ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ ร.ป.ภ. (หรือภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า บิเบอ) เหล่านี้ก็จะเข้าห้ามปราม และอาจจับกุมไปส่งห้องคุมขังในค่ายเพื่อให้สงบสติอารมณ์ และแจ้งให้กับหัวหน้าหมู่และเขตรับทราบ เพื่อดำเนินการต่อโดยใช้ระบบยุติธรรมที่มีในค่าย


 


โดยทั่วไปแล้ว คดีความอันเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ลี้ภัยกันเองที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์อย่างการฆ่า หรือข่มขืน  รัฐไทยจะให้ฝ่ายผู้ลี้ภัยที่บริหารจัดการค่ายดูแลกันเอง ตราบใดที่ผู้ลี้ภัยยังดำเนินการไม่ขัดแย้งกับนิติธรรมไทย  ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่า การจะนำทุก ๆ คดีไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนมาดำเนินการตามระบบกระบวนการไทย เป็นการเพิ่มภาระให้แก่บุคลากรของรัฐ และทำให้คดีล่าช้าและนำมาซึ่งความยุติธรรมแท้จริงได้ยาก


 


 


 



 



 


ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก


(ที่มาภาพ : www.pantown.com)


 


 


คดีการทะเลาะเบาะแว้งและทำร้ายร่างกายดังกล่าว ควรจะจบลงเหมือนกับคดีอื่น ๆในค่าย ทว่าในวันถัดมา 29 พฤษภาคม 2551 มีพยานรายงานว่า เจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ด้านการข่าวอยู่ในค่าย (อันต่างจากทหารกองทัพที่ดูแลรักษาความมั่นคงชายแดนทั่วไป) จำนวนราว 4-5 คน ซึ่งนั่งดื่มเหล้ากันอยู่ ได้ไปนำตัวชายวัย 40 ปีผู้นั้น ผู้มีภรรยาและลูก 7 คนรอคอยอยู่ที่บ้าน ออกมาจากห้องคุมขัง และกระทำการทารุณกรรม


 


ณ สถานที่ซึ่งเป็นเหมือนสำนักงานและที่พักของพวกเขา ใกล้กับโกดังเก็บข้าวสารนั้นในค่ายผู้ลี้ภัยนั้น


 


ชายดังกล่าวได้รับการนำตัวส่งเข้าโรงพยาบาลในค่ายหลังจากนั้น เขาถูกซ้อม ถูกช็อตด้วยไฟฟ้า และเอาไม้เสียบก้น (ทวารหนัก) จนบาดเจ็บสาหัส ทั้งร่างกาย และจิตใจ


 


"เขานึกสนุกหรือยังไงไม่รู้ เมาหรือเปล่า แล้วก็มาทำกับเราแบบนี้ เราไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่หมดทุกคน เพราะเรารู้ว่า เจ้าหน้าที่ไทยบางคนก็ดีกับพวกเรา หลาย ๆคนที่รู้เรื่องนี้เขาก็ไม่เห็นด้วย แต่เขาก็ยุ่งกันไม่ได้"


 


"มีคนบอกว่า ตอนที่กินเหล้า เขาชวนคนกะเหรี่ยงกินด้วยกัน แต่ฉันไม่รู้ว่าคนกะเหรี่ยงคนนั้นเขาร่วมมือทำด้วยไหม ถ้าเขาร่วมด้วย ฉันก็เสียใจ เพราะถึงผู้ชายที่ถูกทำร้ายไม่ใช่คนกะเหรี่ยง เขาก็เป็นผู้ลี้ภัย และเป็นคนด้วยกัน"


 


"แน่นอนว่า ผู้ชายคนนั้นทำผิดจริง คือไปทำร้ายร่างกายคนอื่น ใคร ๆ ก็เห็น แต่เขาจะต้องได้รับการตัดสินโทษไปตามกฎหมาย จะใช้กฎหมายไทยก็ยังได้ แต่ในกฎหมายฉบับไหนประเทศไทย เขาก็ไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่มาใช้ศาลเตี้ยตัดสิน ทำทารุณกับคนที่ไม่มีทางสู้ได้แบบนี้ แล้วสิ่งที่ทำมันโหดร้ายมากนะ ผมว่า" ชาวบ้านกะเหรี่ยงไทยที่รับรู้เรื่องราวดังกล่าวดี ออกความเห็น


 


หลังจากเหยื่อดังกล่าวออกจากโรงพยาบาลมาในราววันที่ 5 มิถุนายน ก็มีผู้แนะนำให้เขาดำเนินการฟ้องร้องเอาความผิดต่อเจ้าหน้าที่ทหารกลุ่มนั้น ดังเช่นที่ "มนุษย์" คนหนึ่งควรจะกระทำได้ เมื่อถูกละเมิดทำร้าย


 


แต่แล้วเพียงวันรุ่งขึ้น  ผู้บัญชาการค่ายหรือปลัดอำเภอ ก็ได้สั่งจับกุมชายดังกล่าวพร้อมครอบครัวส่วนหนึ่ง ส่งตัวไปยัง ต.ม.(ซึ่งทราบจากเจ้าหน้าที่ภายหลังว่า ไม่ได้รับเรื่อง) เพื่อจะส่งตัวกลับพม่า ในข้อหา "ลักลอบเข้าเมือง" เนื่องจากชายดังกล่าว เป็นผู้ขอลี้ภัยใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในค่ายได้ราวกว่า 2 ปี เช่นเดียวกับผู้คนอีกหลายพันคน


 


อันที่จริงแล้ว ในปี 2548 UNHCR ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำทะเบียนผู้ลี้ภัยและออกบัตรประจำตัวใหม่ แต่หลังจากนั้น เนื่องจากกลไกของรัฐหยุดชะงัก ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาหลังจากนั้นนับหมื่น จึงเป็นกลุ่มที่อยู่ในสถานภาพเปราะบาง ยังไม่ได้รับการพิจารณาสถานภาพเพื่อทำทะเบียนใด ๆ


 


"ตั้งแต่ปีที่แล้ว ผู้ลี้ภัยแม่หละที่มีทะเบียนไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในต่างประเทศแล้วเป็นหมื่น แต่คนก็เข้ามาใหม่เรื่อย ๆ จนจำนวนเท่าเดิม คือราว ๆ สี่หมื่น คาดว่าคนไม่มีทะเบียนไม่มีบัตรทั้งหมด อย่างน้อย ๆ ก็หลายพันนะ เพราะเป็นจำนวนที่ทางการเคยขู่ว่าจะนำไปส่งที่เขตกะเหรี่ยงฝั่งพม่า"


 


"ช่วงหลัง ๆ มีคนที่ไม่ใช่กะเหรี่ยงเข้ามาเยอะขึ้น มีพม่าเยอะขึ้น หลังที่เขาปราบปรามพระสงฆ์ประท้วงก็มีมาอีก คนพูดกันเยอะว่า ส่วนหนึ่งที่เข้ามานี่ไม่ได้หนีภัยจริงหรอก แต่มาหางาน หรือไม่ก็ได้ข่าวเรื่องการไปต่างประเทศแล้วอยากไปด้วย แต่ประเด็นก็คือ เราบอกไม่ได้หรอกว่าใครเป็นใครจนกว่าจะมีการพิจารณาหลักฐานข้อมูลเป็นรายบุคคลไป" เจ้าหน้าผู้ทำงานด้านผู้ลี้ภัยมากว่า 5 ปีกล่าว


 


ตราบใดที่ยังไม่มีกระบวนการพิจารณาที่เที่ยงธรรม ผู้แสวงการลี้ภัย(asylum seeker) จะต้องได้รับคุ้มครอง และการส่งคนเหล่านี้กลับไปประเทศดั้งเดิม ถือเป็นการละเมิดจารีตสากล หรือมาตรฐานทางจริยธรรมของโลก ที่จะต้องไม่ส่งผู้หนีความตายกลับไปสู่ความตาย


 


"มหาดไทยบอกว่า ไม่ต้องไปช่วยคนนั้นคนนี้ ไม่ต้องให้ข้าวเขา เพราะเขาไม่ใช่ผู้ลี้ภัย ไม่มีทะเบียน แต่ถึงไม่มีทะเบียน เขาก็อาจจะหนีภัยมาก็ได้"


 


"คนมุสลิมนี้เป็นผู้ลี้ภัยหรือเปล่าเราไม่รู้ แล้วก็ไม่สำคัญด้วย เขาจะเป็นคนไทยคนต่างด้าวคนอะไร เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิจะไปทำร้ายทารุณเขา แล้วที่ว่าเขาไล่ออกไปเฉพาะบ้านนี้ จะไม่ให้เรามองว่าเป็นการจงใจปิดปากกันได้ไงล่ะ ถ้าผู้ลี้ภัยโดนแบบนี้ เราคนแถวนี้ก็ต้องกลัวเหมือนกัน ว่าเราจะโดนบ้างไหม" ชาวบ้านกะเหรี่ยงในหมู่บ้านไทยกล่าว


 


ผู้ลี้ภัยถูกมองเสมอมา ว่าเป็นผู้พึ่งพาแผ่นดินไทย และจำเป็นต้อง "สำนึกบุญคุณ" หาก ผู้ลี้ภัยก็เหมือนมนุษย์ทั่วไป ที่จะซาบซึ้งในน้ำใจของผู้ที่ได้ช่วยเหลือตน และย่อมไม่พอใจผู้ที่กระทำต่อตนเหมือนไม่ใช่มนุษย์ด้วยกัน


 


ผู้เขียนได้แต่หวังว่า สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จะดำเนินการ "ให้ความคุ้มครอง" ผู้ลี้ภัยในความรับผิดชอบของตนอย่างเต็มที่ รัฐไทยจะให้ความร่วมมือกับการสืบค้นเพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมบนแผ่นดินไทยเต็มที่ และเจ้าหน้าที่ไทย ผู้รับรู้รับทราบเหตุการณ์และไม่เห็นด้วยต่อการกระทำดังกล่าว จะช่วยกันรักษาศักดิ์ศรีของการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการเป็นพยานเปิดเผยความจริง เพื่อให้ผู้กระทำผิด ได้รับการพิจารณาคดีตัดสินโทษตามกฎหมายไทย


 


อย่าปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา


อย่าปล่อยให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความอับอาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net