Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ณ อนุสรณ์สถาน  14 ตุลา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดเวทีเสวนา "เปลี่ยนผ่านการเมืองอย่างสันติ ประชาชนร่วมกำหนด" โดยมีตัวแทนจากสมัชชาคนจน เครือข่ายสลัม 4 ภาค เอฟทีเอวอทช์ และนักวิชาการจากนิด้ามาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ความขัดแย้ทางการเมืองไทย โดยมีนายไพโรจน์ พลเพชร เป็นผู้ดำเนินรายการ


 


นายสวาท อุปฮาด ตัวแทนจากสมัชชาคนจน กล่าวว่า สมัชชาคนจนได้ติดตามสิ่งที่จะทำให้เกิดการดำรงชีวิตให้อยู่ดีมีสุข แต่เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นทำให้มองเห็นเรื่องความถูกความผิดที่แต่ละฝ่ายโยนใส่กัน ปัญหาใหญ่ของคนรากหญ้าคือเขามองเห็นความขัดแย้งแต่วิเคราะห์ไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม ในการทำงานร่วมกันของสมัชชาคนจนต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข จากการทบทวนสรุปบทเรียนเห็นว่า ประชาธิปไตยต้องมีหลักการให้ประชาชนได้อยู่ดีมีสุข เป็นประชาธิปไตยที่กินได้จริงๆ ทั้งนี้พื้นฐานของประชาธิปไตยที่กินได้เรื่องใหญ่คือ การเข้าถึงทรัพยากรซึ่งที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและการวางนยบายทำได้น้อยทำให้เกิดความยากจน ขัดแย้ง และการพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงประชาชนอย่างจริงจังได้


 


ประการที่สองคือเรื่องสิทธิบนพื้นฐานจารีตประเพณีมักถูกจัดการโดยอำนาจส่วนกลาง ไม่เคารพประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ในขณะที่การเอาชุมชนเป็นศูนย์กลางเป็นเรื่องสำคัญ มิฉะนั้นประชาธิปไตยจะตอบสนองคนจนไม่ได้


 


ประเด็นที่สาม เรื่องสิทธิทางการเมืองซึ่งสมัชชชาคนจนร่วมเคลื่อนไหวให้ได้สิทธิด้านนี้มายาวนาน ก่อนตั้งสมัชชาคนจน เราไม่เคยได้สิทธิทางการเมืองอย่างจริงจังนอกจากสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น แต่การมีส่วนร่วมมนการกำหนดนโยบายของรัฐไม่สามารถทำได้ ซึ่งถ้ารัฐไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิดเห็นในการกำหนดทิศทางและนโยบายปัญหาจะเป็นไปอย่างยาวนาน


 


ประการสุดท้าย เรื่องสิทธิในสวัสดิการสังคม เรื่องนี้เป็นปัญหามานานและรัฐไม่สนใจและให้สิทธิ ไม่ว่าจะเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึงเพียงพอ


 


"วันนี้มีความขัดแย้งแบ่งกันอย่างชัดเจน แต่การตอบสนองคนจนอย่างเรายังไม่เห็นช่อง อยากให้เห็นเราเท่าเทียมกับคนอื่น นี่คือความต้องการของสมัชชาคนจน" นายสวาทกล่าว


 


ด้านประทิน เวทะวากยานนท์ จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า สำหรับในชุมชนแออัดมีปัญหาเดิมอยู่มากมายไม่ว่าเรื่องที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง เรื่องอาชีพและรายได้ก็เพียงพอกินพอใช้ ในขณะที่ช่วงระยะแค่ 3-4 เดือน ราคาของถีบตัวขึ้นมากทำให้เราหันไปมองอดีตที่ผ่านมา รายได้เราคงที่แต่การใช้จ่าย การบริโภคกลับไม่พอ ต้องเหนื่อยเป็นทวีคูณเพื่อให้อยู่ได้


 


ประทิน กล่าวต่อไปว่า ของแพงมาพร้อมกับรัฐบาล แต่แทนที่รัฐบาลจะมาดูแลว่าของแพงได้อย่างไรซึ่งคนในสลัมรับผลกระทบเต็มๆกลับยุ่งแต่กับเรื่องของตัวเอง คนสลัมเขาไม่สามารถบีบตัวเอารายได้กับการกินอยู่มากำหนดได้ คนไร้บ้านยิ่งเจอปัญหาหนัก เก็บของขายได้ก็ไม่พอซื้อข้าวกิน ตอนนี้เริ่มต้องขอข้าวพระกิน และพระก็เริ่มไม่มีให้กินแล้ว รัฐบาลควรต้องดูแลปัญหาปากท้องประชาชนก่อน ไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนเหมือนรัฐบาลนี้ที่ของขึ้นราคามาก อยากเห็นรัฐบาลลงมาแก้ปัญหาปากท้องอย่างจริงจัง


 


ส่วนการเมืองที่อยากเห็นคือการเป็นประชาธิปไตย ไม่กระทบกระทั่งกัน ไม่ต้องแบ่งแยกขั้วชัดเจน มีปัญหาอะไรก็คุยกัน ทุกวันนี้แม้แต่ในชุมชนยังเป็นสองฝ่ายก็คุยกันไม่ได้ ฝ่ายนักการเมืองก็อย่าสนับสนุนแต่กลุ่มนายทุนของตัวเอง อยากเห็นการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม อยากให้มองปัญหาคนจนเป็นคนส่วนมากของประเทศและแก้ปัญหาก่อน 


 


ด้านกิ่งกร นรินทรางกูร ณ อยุธยา จากเครือข่ายเอฟทีเอวอทช์ กล่าวว่า ปัจจุบันไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของทุน ในแง่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทุนก็มีประเภทเดียวคือมีเป้าหมายการทำกำไรสูงสุด ซึ่งไม่หยุดไม่พอ ทิศทางของเรากำลังพัฒนาไปสู่ทุนนิยมผูกขาดมากขึ้นเรื่อยๆ


 


ในขณะที่ระบบคือ พ่อค้าวางแผน ข้าราชการชง นักการเมืองอนุมัติ แต่ทำอย่างไรจึงจะปลดพันธนาการคนเล็กคนน้อย กลุ่มเกษตรกร ชานาชาวไร่ คนใช้แรงงาน หรือคนสลัมในเมืองได้ เพราะถ้ารวมกันคนเหล่านี้มีมากกว่าค่อนประเทศแต่ไม่มีอำนาจในการต่อรองใดๆ  ซึ่งถ้าสามารถปลดปล่อยพันธนาการแล้วมีตัวแทนผลประโยชน์ของตัวเอง การปฏิรูปเศรษฐกิจให้เข้มแข็งจะสูงขึ้น


 


ต้องสร้างอำนาจในการต่อรองของเกษตรกรและแรงงานอย่างแท้จริง จะทำได้คนเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตได้ จึงต้องมีการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจังและมีสวัสดิการพื้นฐาน ต้องปลดเปลื้องพันธนาการแบบยั่งยืนและไม่ใช่ประชานิยม ซึ่งจะทำได้ต้องนำอัตราภาษีใหม่ในอัตราก้าวหน้ามารองรับ การปฏิรูปเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับการเมือง ค่าจ้างและสวัสดิการต้องเป็นธรรม


 


ด้าน ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นักวิชาการจากนิด้า กล่าวถึงการเมืองโดยการสังเกตการณ์ว่า ต้องทำความเข้าใจความเป็นจริงในสังคมไทย การเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง ถ้านับเชิงระบบคือ พ.ศ. 2475 เป็นครั้งแรก ซึ่งครั้งนั้นเป็นการเปลี่ยนครั้งใหญ่โดยไม่เสียเลือดเนื้อ และเปลี่ยนผ่านโดยการรัฐประหาร แต่มีการโต้กลับในหนึ่งปีหลังจากนั้นที่มีการเสียเลือดเนื้อกันมากในกรณีกบฎบวรเดช  ซึ่งใช้เวลาสะสมความรุนแรงมาพอสมควร ในขณะที่การวาดภาพในแง่อุดการณ์ของการเปลี่ยนผ่านครั้งนั้นสวยหรูมองไปถึงเรื่องรัฐสวัสดิการด้วย แต่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ตั้งใจก็เกิดหลายเรื่อง


 


การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญต่อมา คือ 14 ต.ค. 2516 ที่เปลี่ยนจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตยตัวแทน มีการเสียเลือดเนื้อ และถูกโต้กลับในอีกสองสามปีต่อมาที่เสียเลือดเนื้อมากมายและการกลับมาของเผด็จการ


 


อีกครั้งหนึ่งคือ พ.ค. 2535 เป็นรูปแบบเผด็จการกึ่งๆ แต่ยอมรับไม่ได้โดยเฉพาะชนชั้นกลางและมีการสูญเสียในวันนั้น แต่ผลสืบเนื่องเป็นไปในเชิงบวกมากกว่า กลายเป็นผลผลิตออกมาในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งชนชั้นกลางเห็นตรงกันว่าประชาธิปไตยตัวแทนตอบสนองเจตนารมณ์ของคนไม่ทั้งหมด นักวิชาการจึงวาดโครงขึ้นมาเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางที่ผ่านเหตุการณ์  พ.ค. 2535 และได้การสนับจากกลุ่มเอ็นจีโอและชาวบ้านที่เรียกร้องการส่วนร่วมมากๆมานาน


 


อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็มีเพราะมันได้เปลี่ยนแปลงแค่โครงระบอบ แต่โครงสร้างจิตสำนึกยังไม่เปลี่ยน คือยังเป็น ประชาธิปไตยแบบตัวแทนในสองลักษณะ คือโครงสร้างนิยมอุปถัมป์ที่ยังเป็นโครงใหญ่ในชนบท ซึ่งทุนนิยมอิทธิพลท้องถิ่นและระดับชาติได้เข้าไปใช้ประโยชน์  อีกประการคือโครงสร้างจิตสำนึกอำนาจนิยม ซึ่งมองเห็นว่าเป็นปัญหาร่วมกันคือการคอรัปชั่น ทำให้นำมาสู่การตรวจสอบอำนาจรัฐในการคอรัปชั่นและต้องการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมตัดสินใจ


 


รัฐธรรมนูญ 2540 ได้สร้างความช็อกให้กับนักการเมืองที่ใช้อำนาจนิยมอุปถัมป์ คือพวกได้โนเสาร์และข้าราชการหรือพวกอมาตยาธิปไตย ทิศทางดูเหมือนจะดีและคลี่คลาย จนกระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณเ ชินวัตร เข้ามาเส้นทางเลยเปลี่ยน


 


ในตอนแรก พ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนอัศวินที่เข้ามาเสริมการมีส่วนร่วม แต่ทักษิณมามาถูกเวลา หนึ่งคือมีทุนมาก และอาศัยเงื่อนไขประชาธิปไตยตัวแทน สองมาในช่วงที่พรรคพลังธรรมล่มสลายจึงบวกพลังฝ่ายซ้ายมาด้วย และบวกทักษะการประชาสัมพันธ์ โฆษณาชวนเชื่อที่กุมฐานต่างๆจึงเหมือนคุมได้หมด ทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้าง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอีก จึงเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยตัวแทนอำนาจนิยมอุปถัมป์หรือไปสู่สิ่งที่นักวิชาการเรียกระบอบทักษิณ


 


แต่ส่วนตัวมองว่ามันเป็นการเปลี่ยนผ่านและขอเรียกว่าเผด็จการรัฐสภา ซึ่งเคยปรากฏมาแล้วในเยอรมัน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ในปัจจุบัน มีการใช้เสียงส่วนใหญ่ในสภาออกกฎหมายมาริดรอนสิทธิประชาชน สังหารประชาชนโดยต่างชาติไม่แยแส ไม่ว่าฆ่าตัดตอนหรือสังหารหมู่ในภาคใต้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ถ้าเป็นรัฐบาลเผด็จการเจ๊งไปแล้ว แต่การเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนมีกำแพงจอมปลอมกั้นอยู่ มีการใช้กระบวนการชอบธรรมผ่านการรองรับเสียงส่วนใหญ่ รัฐธรรมนูญ  จึงแก้ไขเรื่องคอรัปชั่น การขยายสิทธิและการมีส่วนร่วมไม่ได้


 


อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศสามารถพัฒนาประชาธิปไตยตัวแทนเป็นประชาธิปไตยมีส่วนร่วมได้ ในหลายประเทศมีรากฐานสำคัญจุดหนึ่งคือโครงสร้างทางความคิดของคนในสังคมเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมีแนวโน้มสูงกว่าประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศยุโรปทั้งหลาย แต่จุดหนึ่งที่จะพ้นจากประชาธิปไตยอำนาจนิยมเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมได้ ประเด็นหนึ่งต้องเกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านซึ่งบางประเทศต้องผ่านสงครามและกลายเป็นบาดแผล


 


การเคลื่อนไหวทางสังคมมีองค์กรจัดตั้ง แต่เป็นแบบไหนก็แล้วแต่แต่ละประเทศ ในกรณีไทย องค์กรลักษณะนี้จะเกิดหรือไม่ไม่ทราบ แต่ปัจจุบันมีความหลากหลายในขณะที่สถาบันทางสัคมไม่เป็นที่ยอมรับและเสื่อมศรัทธาลงมาก ตัวบุคคลก็เช่นกัน ไม่มีใครเป็นที่ยอมรับสำหรับทุกกลุ่มได้ ภายใต้วิกฤติศรัทธา จึงทำให้อาจมีหรือไม่มีกระบวนการทางสังคมก็ได้ และถ้ามีก็ไม่รู้ว่าจะเคลื่อนตัวไปแบบใด


 


ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการขัดแย้งทางโครงสร้างความคิดระหว่างประชาธิปไตยตัวแทนกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งกรณีทักษิณกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นเพียงปรากฏการณ์  กลุ่มภาคประชาชนพยายามผลักดัน จำกัดของเขตแบบประชาธิปไตยตัวแทนให้น้อยลง ขยายพื้นที่และโอกาสให้มากขึ้น


 


ขบวนการภาคประชาชนเหมือนขัดแย้ง แต่ก็อาจเป็นความขัดแย้งเทียม คือ เหมือนทะเลาะกันแต่ชนชั้นกลางมีจุดร่วมเดียวกันคือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม จึงต้องต่อสู้กับรัฐที่ยังได้ประโยชน์จากประชาธิปไตยตัวแทนอยู่


 


ย้อนกลับมาดูที่ประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งนี้เป็นไปได้ที่นำไปสู่รุนแรงและก็อาจไม่นำไปสู่ความรุนแรง เพราะการขับเคลื่อนไปสู่ระบอบใหม่ ฝ่ายที่สูญเสียก็ต้องงตอบโต้ เราไม่สามารถยับยั้งได้ ทำได้เพียงออกมาพูดว่าอย่าใช้ความรุนแรง แต่ถึงที่สุดถ้าเขาจะใช้คงไม่มีใครฟัง


 


อาจสามารถควบคุมไม่ให้มีการเสียเลือดเนื้อได้ ขั้นตอนที่สำคัญคือ กระบวนการยุติธรรมที่นำนักการเมืองและข้าราชการที่ฉ้อฉลประพฤติไม่ชอบมาลงโทษให้ได้ กระบวนกายุติธรรมนี้ต้องรวมไปถึงตำรวจ อัยการ ศาล เพื่อเข้าสู่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายและนิติรัฐ มองในแง่ดี การเปลี่ยนผ่านอาจเป็นไปได้ที่จะไม่รุนแรง


 


ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าสันติ คือไม่มีการเสียเลือดเนื้อ และไม่มีการแทรกแซงโดยการยึดอำนาจ ซึ่งการรัฐประหารเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่งในเชิงโครงสร้าง


 


ทางคลี่คลายเห็นว่า ถ้าปมอยู่ที่ประชาธิปไตยตัวแทนกับประชาธิปไตยมีส่วนร่วม สิ่งที่ต้องทำคือการจัดกติกาใหม่ ต้องไปพูดเรื่องการเขียนกติกาในรัฐธรรมนูญใหม่ การเมืองตัวแทนจะขยายไปได้จริงแค่ไหน ตรวจสอบได้แค่ไหน ถึงที่สุดต้องไปจุดนั้น ในการต่อสู้เฉพาะหน้า ฝ่ายหนึ่งเสนอให้กระบวนการยุติธรรมมาชี้ถูกผิด แต่ปัจจุบันมันถูกอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจและการกดดันจากทุกฝ่ายและใช้ประหัตประหารกัน สถาบันยุติธรรมจะปฏิเสธการแทรกแซงจากทุกฝ่ายได้หรือไม่ เพราะถ้าไม่ปลอดแทรกแซง ต่อไปจะชี้ถูกผิดไม่ได้ คนไม่ยอมรับ เสียความชอบธรรมและเป็นวิกฤติใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง และเป็นสิ่งที่เรากำลังเผชิญหน้า


 


ขอเสนอว่าต้องปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง และภาคประชาชนต้องกุมทิศทางไปสู่การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหลายๆอย่าง เสนอให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 3 (สสร.3) ขึ้น เพื่อให้หลายๆฝ่ายได้เข้ามา สิ่งที่เห็นจากการต่อสู้ในรอบสองปีนี้ได้ก่อสิ่งไม่พึงประสงค์เยอะ  มีแนวโน้มกำจัดความเห็นต่างออกจากสังคมไทยโดยวิธีการที่นำไปสู่การสร้างความเกลียดชังและตอกย้ำความเกลียดชังตลอดเวลา ซึ่งสอดคล้องกับอำนาจนิยมในสังคมไทย ที่รัฐกำจัดความเห็นต่างตลอดและตอนนี้ขยายไปสู่กลุ่มต่างๆที่ต้องการกำจัดคู่ต่อสู้ด้วย ตรงนี้เป็นหน่อเชื้อความรุนแรงที่แฝงที่พร้อมเข้าห้ำหั่นกัน


 


นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า จากกรณี ตุลา 2516-19 ได้สร้างกระบวนการเกลียดชังสองคู่ที่กำจัดกันขึ้น แต่ครั้งนี้ไปไกลกว่า เนื่องจากอาศัยสื่อสารมวลชนเป็นเครื่องมือสำคัญ สร้างจินตนาการที่กำจัดคู่ต่อสู้ที่ดำรงอยู่และน่าห่วงมาก เพราะมันแก้ไขยาก เราเห็นสถานการณ์และทิศทางที่คุมไม่ได้  แต่เราสามารถแสดงออกต่อการเปลี่ยนแปลงว่าควรไปสู่ทางไหนได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net