รายงาน : เปิดขุมกำลังพันธมิตรฯ ภาคใต้ ในยุทธการขับไล่ หมัก-เหลิม

การประกาศทำศึกครั้งสุดท้ายของ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" กำลังเป็นที่จับตาของทุกฝ่ายว่า เหตุการณ์จะลงเอยอย่างไร


โดยรัฐบาลปลดเงื่อนไขการชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรออก ทั้งการประกาศลาออกจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของจักรภพ เพ็ญแข และการถอนชื่อของ ส.. และ ส.. ออกจากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญจนทำให้ญัตติตกไป


แต่ 'พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' ก็ยังเดินหน้า มีการยกระดับไปสู่เกมกดดันให้รัฐบาลลาออก แม้จะไม่มีเงื่อนไขใหม่ๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่พันธมิตรฯ ก็งัดยุทธวิธี "ดาวกระจาย" สัญจรไปตามสถานที่เป้าหมายต่างๆ รอจังหวะเหมาะสมในการเคลื่อนพลเข้าล้อมสถานที่เป้าหมายอย่างทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภาเพื่อปิดเกม


เมื่อเปรียบเทียบกับการชุมนุม "พันธมิตรเฟส 1" ในปี 2549 แม้เราจะไม่เห็นม็อบ "วอล์คอิน" ชนชั้นกลางกรุงเทพในปริมาณที่มากเท่ากับ "พันธมิตรเฟส 1" อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ชุมนุมหลักพันของพันธมิตรฯ และการมี "แบคอัพหย่าย" ก็เพียงพอที่กดดันรัฐบาลและสามารถปักหลักเชิงสะพานมัฆวานฯ ได้โดยที่ไม่สามารถสลายการชุมนุมได้ง่ายๆ


เพราะโดยฐานกำลังสำคัญของพันธมิตรฯ ยังคงเป็นชาว "สันติอโศก" และปฏิเสธไม่ได้ว่ามวลชนเหนียวแน่นส่วนใหญ่ยังคงเป็นฐานกำลังมาจากภาคใต้


เพื่อให้ภาพชัดเจนยิ่งขึ้น จึงพาไปสำรวจฐานกำลังของ "พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย" ใน 14 จังหวัดภาคใต้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฐานกำลังหลักในภาคใต้ของ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" มาจากฐานเดิมที่ก่อร่างสร้างกันขึ้นมาจากการเคลื่อนไหวช่วงจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จนกระทั่งกลายร่างแปรรูปเป็น "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" และกระจายออกสู่ต่างจังหวัดในนามของ กลุ่มพันธมิตรฯ จังหวัดต่างๆ ในช่วงปี 2548 จนยุติลงเมื่อมีการทำรัฐประหารในห้วงปลายปี 2549

กระทั่งแปลงร่างมาเป็น "ยามเฝ้าแผ่นดิน" กระจายไปทั่วทุกจังหวัด ในปี 2550


จนเมื่อผลการเลือกตั้ง เมื่อปลายปี 2550 ออกมา ปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนกลุ่มการเมืองที่นิยมแนวทาง "ทักษิณ ชินวัตร" ฟื้นคืนสู่อำนาจอีกครั้ง


'
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' ซึ่งประกาศยุติบทบาทไปแล้วหลังรัฐประหาร 19 .. 2549 จึงประกาศรวมตัวกันใหม่ และมีการระดมพล เสบียงกรัง น้ำเลี้ยง เพื่อเปิดศึกกับพรรคพลังประชาชนที่ "กรุงเทพมหานคร"


โดยเครือข่ายของพันธมิตรฯ ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ยังคงเคลื่อนไหวอย่างเอาการเอางานยิ่ง


เป็นการเคลื่อนไหวที่ผนึกกำลังกันแนบแน่นของคนชั้นกลางกับองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม มีทั้งที่สังกัดพรรคการเมือง และไร้พรรคการเมืองสังกัด รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นบางคน บางกลุ่ม


เป็นการเคลื่อนไหวสอดรับกับส่วนกลาง ณ ถนนราชดำเนินนอก ชนิดแนบแน่นเป็นเนื้อเดียว จากการเชื่อมร้อยขบวนแถวให้ไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านการถ่ายทอดสด ASTV


พื้นที่สำคัญ ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและมีพลัง ก็คือ จังหวัดภูเก็ต และที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


ข้อที่น่าสังเกต ก็คือ ทั้ง 2 พื้นที่ เป็นที่ตั้ง "ศูนย์ข่าวเครือผู้จัดการ" พูดง่ายๆ ว่า เป็นพื้นที่ที่มีคนใน "เครือผู้จัดการ" เป็นฐานสนับสนุนให้กับกลุ่มผู้เคลื่อนไหวอยู่แล้ว


ขณะที่การเคลื่อนไหว ณ หน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ออกมาในภาพของ "กลุ่มพันธมิตรประชาเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสงขลา" ที่มีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กับคนชั้นกลาง และปัญญาชนในพื้นที่เป็นแกนหลัก


พร้อมกับมีเครือข่ายยามเฝ้าดิน สมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณ รมทั้งนักกิจกรรมบางส่วน จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ยืนเรียงเคียงข้างไปพร้อมๆ กับองค์กรพัฒนาเอกชน ที่นำโดย "บรรจง นะแส" เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ และ "เอกชัย อิสระทะ" แกนนำสำคัญของนักพัฒนาเอกชนภาคใต้ พร้อมทีมนักพัฒนาเอกชนอีกจำนวนหนึ่ง เป็นมือปฏิบัติการอยู่ด่านหน้า


ข้อน่าสังเกตยิ่ง ก็คือ แกนหลักในจังหวัดสงขลาที่ออกมาประกาศล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และระบอบทักษิณ ในสายนักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และนักกิจกรรมทางสังคม เกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่ปฏิเสธรัฐบาล พ...ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่เมื่อครั้งตัดสินใจเดินหน้าโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซียโน่นแล้ว


ไม่ว่าจะเป็น "บรรจง นะแส" กลุ่มนักพัฒนาเอกชน หรือนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อย่าง "ดร.เริงชัย ตันสกุล" หรือ "ประสาท มีแต้ม" และบรรดาคณาจารย์จาก "สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์"


รวมทั้งนักวิชาการผู้พิสมัยการเมืองท้องถิ่นอย่าง "นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา"


ไม่เว้นกระทั่งปัญญาชนคนชั้นกลางในเมืองหาดใหญ่ ที่มี "นพ.อนันต์ บุญโสภณ" เป็นศูนย์รวม โดยมีวงสนทนาประจำสัปดาห์ "วิทยาลัยวันศุกร์" เป็นจุดเชื่อมร้อยคนกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน


แตกต่างกันไม่มากนักกับการเคลื่อนไหว ณ ลานสะพานหิน กลางเมืองภูเก็ต ที่นำโดยบรรดายามเฝ้าแผ่นดินในพื้นที่ โดยมี "ณัชจรงค์ เอกเพิ่มทรัพย์" ประธานกลุ่มยามเฝ้าแผ่นดินจังหวัดภูเก็ต "กริช เทพบำรุง" รองประธานกลุ่มยามเฝ้าแผ่นดินจังหวัดภูเก็ต และ "ปัญญา แดนมะตาม" เลขาธิการกลุ่มยามเฝ้าแผ่นดินจังหวัดภูเก็ต เป็นแกนหลัก


ขณะที่จังหวัดชุมพร ออกโรงเคลื่อนไหวในนาม "สมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จังหวัดชุมพร" โดยผนึกกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดลานหน้าสถานีรถไฟจังหวัดชุมพร เป็นที่ชุมนุม มี "สุนทร รักษ์รงค์" ประธานสมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภาคใต้ เป็นแกนนำ


อีกพื้นที่ที่เป็นกองกำลังสำคัญของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" คือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อสายตรงกับสำนักบ้านพระอาทิตย์โดยตรง ในการจัดกำลังขึ้นมาเป็นแกนหลักรักษาความปลอดภัยให้กับทั้งสถานที่ชุมนุมและที่บ้านพระอาทิตย์ ในนามของ "พันธมิตรลุ่มน้ำปากพนัง" นำโดย "ดำรง โยธารักษ์"


ทั้ง 4 พื้นที่นี้ เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวสนับสนุนการต่อสู้ของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ชนิดต่อเนื่องและยืดเยื้อ


นอกจากนี้ ใน 4 พื้นที่ข้างต้น และจังหวัดที่เหลือ ยังใช้รูปแบบดาวกระจาย ตั้งจานดาวเทียมถ่ายทอดสด ASTV เต็มพื้นที่ ผนวกกับเครือข่ายวิทยุชุมชน เสริมเข้าไปในพื้นที่ชนบทอีกทางหนึ่งด้วย


ในขณะที่พื้นที่ในตัวเมือง การถ่ายทอดสด ASTV ผ่านเครือข่ายเคเบิ้ลท้องถิ่นในทุกจังหวัด ได้รับความนิยมสูงยิ่ง และนับเป็นตัวเร่งสำคัญ ที่ทำให้คนทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ โน้มเอียงไปในทางสนับสนุน "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" โดยมีผู้ปฏิบัติงานใน "เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" แต่ละจังหวัด คอยเชื่อมร้อยให้เข้าสำแดงพลังร่วมกัน


อันจะเห็นได้จากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดตรัง จะมีนักพัฒนาจากองค์กรพัฒนาเอกชน ผนึกกับแกนนำองค์กรชุมชน และคนชั้นกลางในเมืองเป็นตัวเชื่อมร้อย โดยมี "ประพาส โรจนภิทักษ์" ที่ปรึกษาเครือข่ายรักษ์เทือกเขาบรรทัด เป็นแกนหลัก


ขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสตูล มีปัญญาชนท้องถิ่น "ปราโมทย์ สังหาญ" เป็นแกนนำ


นอกจากนี้ ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังมี "สุเชษฐ์ จันทร์คง" ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาทุ่งสง เป็นตัวหลัก เปิดพื้นที่รถไฟให้ประชาชนมารวมตัวกันรับฟังและรับชมการถ่ายทอดสด ASTV กันอย่างทั่วถึง


สำหรับขุมกำลังที่น่าจับตามองของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" อีกแหล่งหนึ่ง ก็คือ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีการรวมตัวของนักธุรกิจออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวล้างระบอบทักษิณอย่างเป็นกลุ่มก้อนจับต้องได้


ส่วนการเคลื่อนไหวในจังหวัดอื่นๆ ก็มีลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดกระบี่ พัทลุง พังงา ระนอง


เป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงแม้ภาพการเคลื่อนไหวจะออกมาปรากฏให้เห็นไม่มากนัก ทว่า กิจกรรมการติดตั้งจานดาวเทียมเพื่อรับชม ASTV กลับอยู่ในระดับที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ปริมาณและการกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ


สำหรับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีอาจารย์บางคนออกมาร่วมต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เช่น "ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี"ด้วยเหตุผลที่ว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้สำคัญกว่า รัฐบาลอย่ามัวแต่คิดจะแก้รัฐธรรมนูญอยู่เลย


ขณะที่ "ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์" ศิษย์วัดมหาจำลอง เพิ่มความเข้มในการจัดตั้งเครือข่ายต้านทักษิณ ด้วยการออกโรงเดินสายก่อตั้ง "สมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ในแต่ละจังหวัดอย่างถี่ยิบ


ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2551 จากการพบปะหารือกันที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขณะนี้มีการก่อรูปตั้ง "สมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ในจังหวัดภาคใต้แล้ว 6 จังหวัด คือ จังหวัดสงขลา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสตูล จังหวัดพัทลุง จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา


สำหรับจังหวัดยะลา มีอดีตผู้นำครูรุ่นเก๋า "สมนึก ระฆัง" ประธานเครือข่ายพลังแผ่นดินขจัดภัยก่อการร้าย เป็นผู้เข้าร่วมก่อตั้ง


ทั้งหมดนี้ คือ เครือข่ายขุมกำลังของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ที่ร่วมกันกวาดล้าง "ระบอบทักษิณ"


อันหมายรวมถึงภารกิจไล่ "รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช" และพวกพ้องลงจากบัลลังก์ด้วย


คำถามก็คือว่า เมื่อถึงนาทีนี้ใครจะยืนระยะได้มากกว่ากัน "พันธมิตรเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" จะเหี่ยวปลาย หรือ "หมัก - เหลิม" ต้องออกไป


แน่นอน ยิ่งคำถามดังมากขึ้นเท่าใด มวลชนคนพันธมิตรฯ ในภาคใต้ ก็ยิ่งขยับตัวมากขึ้นเท่านั้น จึงไม่แปลกที่นาทีปฏิบัติการระดมจากภาคใต้ขึ้นไปสมทบการชุมนุม ณ ถนนราชดำเนิน นอกจึงดำเนินไปด้วยความคึกคักยิ่ง


โดยไม่หวั่นศึกฟุตบอลยูโร 2008!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท