Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 51 ณ สถาบันวิจัยและพัฒนา (RDI) มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน จัดเวทีเสวนา "ขบวนคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน" ในหัวข้อ "ยึดหลักการประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ" โดยมีนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายพงษ์สุวรรณ สิทธิเสนา เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทย โดยมีนาย พิชิต พิทักษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้นำองค์กรชุมชน แกนนำเยาวชน นักศึกษาในภาคอีสาน เข้าร่วมประมาณ 100 คน เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้


 


จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้วิเคราะห์สถานะการณํการเมืองในปัจจุบันว่า แนวโน้มการยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้เป็นไปในกระบวนการของระบอบประชาธิปไตยเป็นไปได้ยาก เพราะแม้ว่ากลุ่มพันธมิตรเคลื่อนไหวผลักดันให้ยุบสภาเป็นผลสำเร็จ ประชาชนก็จะเลือก ส.ส.กลุ่มเดิมเข้ามาใหม่ เป็นไปอย่างนี้ ทำให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่จะมีการใช้อำนาจนอกระบบ หากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้น การก่อตั้งสภาประชาชนขึ้นที่สนามหลวงก็คือการตรึงมวลชนเอาไว้เพื่อไม่ให้เคลื่อนไหวสุ่มเสี่ยงจนเกิดการประทะกันกับฝ่ายพันธมิตร ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขนำมาซึ่งการรัฐประหารอีกครั้ง ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งแต่ก่อนตนเคยคิดว่าน่าจะยุติลงภายในเวลา 2 ปี เมื่อถึงตอนนี้ตนมองว่าความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคงอยู่ไปอีกประมาณ 5 ปี ปัญหาถึงจะคลี่คลาย


 


"พวกเราต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตย แต่พวกเขาอาจคิดว่าเรากำลังปกป้องรัฐบาลอยู่ ทำให้พวกเราหลายๆ คนคิดหนักเพราะพวกเราถนัดแต่การไล่รัฐบาลทั้งนั้นซึ่งรวมทั้งผมด้วย"


 


จรัลยืนยันว่า คปพร. จะต้องมีการเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้ง เมื่อมีการนำวาระในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภาในวาระแรก และในระหว่างการรอนำร่างเข้าสภา ทางคปพร.ก็จะเดินสายให้การศึกษารณรงค์รวบรวมรายชื่อเพิ่มเติม


 


จรัล มองว่ามิตรสหายคนเดือนตุลาที่ร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรว่าพวกเขาต้องการสร้างประวัติศาสตร์ให้เหมือนกับเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่จรัลได้ตั้งข้อคำถามต่อคนเดือนตุลากลุ่มนี้ว่า เมื่อก่อนนี้พวกเขาต่อสู้โค่นล้มทุนนิยมเพื่อจะสร้างสังคมนิยม แต่เวลานี้อยากถามว่าพวกเขายืนยันว่าจะสร้างสังคมนิยมหรือไม่ พวกเขาจะไปทางไหน ประวัติศาสตร์ที่พวกเขาจะสร้างเป็นประวัติศาสตร์ที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า หรือย้อนกลับถอยหลัง พวกเขาเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่สับสนที่สุดในพันธมิตรและเป็นกลุ่มคนที่สับสนที่สุดในสังคมไทย พวกเขาน่าสงสาร จรัลกล่าวทิ้งท้าย


 


รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากวิกฤติการการเมืองที่ผ่านมา ขบวนการประชาชนในภาคอีสานไม่ได้มีขบวนเดียวแล้วในตอนนี้ แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้ขบวนการประชาชนที่หลากหลายสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ ทำอย่างไรใหัความคิดเห็นที่แตกต่างอยู่ร่วมกันได้ สิ่งที่มองเห็นว่าน่าจะเป็นจุดร่วมของขบวนการประชาชนในภาคอีสานได้ก็คือการยืนยันในแนวทางประชาธิปไตย คัดค้านไม่ให้ทหารเข้ามาแทรกแทรงการเมืองโดยเด็ดขาดปล่อยให้ประชาชนได้เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยตัวของเขาเอง สำหรับรัฐธรรมนูญปี 50 บัวพันธ์ยังยืนยันเด็ดขาดว่าไม่สามารถที่จะยอมรับได้ เพราะขาดความชอบธรรม "ที่บ้านผมไม่เห็นต้องมีรัฐธรรมนูญเลยคนบ้านผมก็ยังอยู่กันได้ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่คนศรัทธา คนในสังคมมีส่วนร่วมกันนี่ผมรับได้ทันที"


 


ปัญหาที่ขบวนการประชาชนอีสานจะต้องขบคิดมี 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือการทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุด แต่อีกเรื่องเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกว่าก็คือ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง


 


พงษ์สุวรรณ สิทธิเสนา เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยชี้ว่า หลังการรัฐประหาร


19 กันยา เริ่มมีภาคประชาชนส่วนหนึ่งแยกตัวออกจากพันธมิตร จากแต่ก่อนแย่งกันขึ้นเวทีปราศรัยจนแทบจะเหยียบกันตายแต่ปัจจุบันนี้ขึ้นปราศรัยวนเวียนซ้ำหน้าอยู่ไม่กี่คน นักศึกษานักกิจกรรมรุ่นใหม่ก็เริ่มสรุปบทเรียน สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือมีคนเข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรน้อยมากเมื่อเทียบกับก่อนการรัฐประหาร ในอีกส่วนหนึ่งที่ประชาชนสามารถเห็นได้ก็คือพันธมิตรวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยแต่ไม่สามารถนำเสนอรูปธรรมทางออกทางการเมืองไทยที่ประชาชนสามารถยอมรับได้


 


ประธาน คงเรืองราช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนอุดม จาก ชมรมนายก อบต.เพื่อประชาธิปไตย เรื่องระยะยาวหรือยุทธศาสตร์หลักที่ต้องคิดถึง คือ การให้การศึกษากับประชาชนซึ่งอาจจะใช้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นยุทธวิธีก็ได้ คือ อาจใช้ระยะเวลานาน แก้เสร็จเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่กระบวนการในการแก้ไขต้องเป็นเวทีที่ประชาชนได้เรียนรู้ มีส่วนร่วม


 


อภิชาติ ศิริสุนทร แกนนำกลุ่ม กสส. ชาวบ้านในอีสานไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ รัฐบาลเพิ่งทำงานแค่ 3 เดือน เป็น 3 เดือนที่ประชาชนเลือกเข้าไป ถ้าเขาทำไม่ดีใน 1 ปีประชาชนก็จะจัดการเอง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องโครงสร้างกฎหมายเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ จะเชื่อเฉพาะพันธมิตรหรือคนกลุ่มน้อยไม่ได้ ต้องเปิดเวทีให้พี่น้องประชาชนได้แสดงความคิดเห็น และตัดสินใจเรื่องนี้ อาจเป็นร่วมลงชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือลงประชามติก็ได้ วันนี้การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมืองไปไกลกว่าที่พันธมิตรคิด การเลือกตั้งในระดับต่างๆ ไม่ว่า อบต., นายก อบต., ผู้ใหญ่บ้าน หรือการขัดแย้งของกลุ่มต่าๆ ทำให้เกิดการซึมซับ การเรียนรู้การใช้อำนาจทางการเมืองภาคประชาชนที่ดีที่สุด ดังนั้น ต้องกระจายอำนาจ เลืกตั้งผู้ว่าฯ อันเป็นการสร้างเวทีให้พี่น้องเรียนรู้กระบวนการทางเมืองด้วยตนเอง สร้างสำนึกทางการเมืองของประชาชน


 


หลังจากนั้นที่ประชุมได้มีมติให้ก่อตั้งเครือข่าย ขององค์กรที่เข้าร่วมการสัมมนามีชื่อว่า"คณะกรรมการองค์กรประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ภาคอีสาน" โดยมีวัตถุประสงค์รณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนในภาคอีสาน เพื่อยื่นสมทบ สนับสนุนการ "ร่าง พรบ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ จัดเวทีให้การศึกษาสถานการณ์ ข้อมูลที่เป็นจริงกับพี่น้องประชาชนในภาคอีสานทั้ง 19 จังหวัด มีองค์กรเข้าร่วมก่อตั้ง 15 เครือข่าย ที่ประชุมมีมติให้นายทศพล พลเยี่ยม เป็นผู้ประสานงาน


 






คำประกาศเจตนารมณ์การก่อตั้ง


"คณะกรรมการองค์กรประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ภาคอีสาน"


 


 


            นับจากการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับเผด็จการทหาร 2550  ตลอดระยะเวลาปีกว่า ๆ ที่ผ่านมาในภาคอีสาน  ภายใต้การประสานงานของ  กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.) ได้สร้างผลสะเทือนทางการเมืองต่อกลุ่ม,  องค์กร,  เครือข่าย ในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนมาก


            ในวาระครบรอบ 1 ปี  ทาง กสส. และองค์กรภาคีในภาคอีสาน  ได้แสดงเจตนารมณ์ในการที่จะเคลื่อนไหว  ผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550  และพร้อมที่เป็นแนวร่วมกับทุกกลุ่ม, องค์กร, เครือข่าย  ที่ออกมาแสดงจุดยืนของตนเองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว


            ดังนั้น  เพื่อเป็นการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550  อย่างเป็นรูปธรรมพวกเรากลุ่ม, องค์กร, เครือข่ายประชาชนในภาคอีสาน  จึงมีฉันทามติร่วมกัน  ดังนี้


 


1.  จัดตั้งเครือข่ายแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550  ภายใต้ชื่อ "คณะกรรมการองค์กรประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ภาคอีสาน" โดยมีองค์กรร่วมก่อตั้งเบื้องต้น 15 องค์กร และมอบหมายให้ นายทศพล พลเยี่ยม เป็นผู้ประสานงาน


2.  รณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนในภาคอีสาน  เพื่อยื่นสมทบ  สนับสนุนการ "ร่าง พรบ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.........." ของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550" (คปตร.) ที่เสนอต่อรัฐสภาไปแล้ว


3.  จัดเวทีให้การศึกษาสถานการณ์  ข้อมูลที่เป็นจริงกับพี่น้องประชาชนในภาคอีสานทั้ง 19 จังหวัด


           


รายนามกลุ่ม / องค์กร/ เครือข่าย  ที่ร่วมก่อตั้ง  มีดังนี้


1.  กลุ่มอนุรักษ์ภูคิ้ง  (นายสมพงษ์  สิงห์ทิศ)


2.  เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำโขง  (นายนิรัติศัย  ขันทอง)


3.  สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.)  (นายคณิต  กำลังทวี)


4.  กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.) (นายพิชิต  พิทักษ์)


5.  เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจังหวัดชัยภูมิ (นายมานะ  พลงาม)


6.  เครือข่ายขบวนคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน (นายนิวาส  โคตรจันทึก)


7.  เครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อปฎิรูปที่ดินแวงใหญ่-แวงน้อย  (นายเมธาวี  พิทักษ์)


8.  เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภูค้อ (นายหนูเกิด  ทองนะ)


9.  เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำบัง (นายวิมล  สามสี)


10.  กลุ่มเยาวชนรักษ์ภูเวียง (นายชัน  ภักดีศรี)


11.  กลุ่มเยาวชนมิตรภาพ  (นายองอาจ  ชาวสวนงาม)


12.  สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)  (นายทศพล  พลเยี่ยม)


13.  เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำปาว (นายนีณวัฒน์  เคนโยธา)


14.  เครือข่ายศิลปินเพื่อสังคมภาคอีสาน (นายสิทธิศักดิ์  โสรัมย์)


15.  เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดมหาสารคาม (นายเดชอนันต์  พิลาแดง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net