Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนและนักศึกษาออกจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยเรียกร้องให้ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แสดงความจริงใจต่อประชาชนด้วยการลงมติไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว  และผลักดันให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำกลับมาพิจารณาใหม่โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขโดยตรง


 


นอกจากนี้ยังต้องให้มีการผลักดันกฎหมายให้เกิดองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคสื่อที่มีภาคประชาสังคมเป็นผู้ดูแล เพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำงานเป็นแนวร่วมกับภาคประชาสังคมในการส่งเสริมให้ประชาชนผู้บริโภคสื่อได้มีส่วนร่วมในการปกป้องเสรีภาพของสื่อให้ปราศจากการถูกแทรกแซง ครอบงำตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสรรคลื่นความถี่ ไปจนถึงเนื้อหาการผลิตรายการ การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อันหมายถึงการปกป้องเสรีภาพของประชาชนเอง


 


ทั้งนี้ เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกมีดังต่อไปนี้


 


 


 


           






จดหมายเปิดผนึกจากนักวิชาการ นักธุรกิจ  นักสิทธิมนุษยชน นักเรียนนักศึกษา


 


เรื่อง   ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ  โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม  เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจต่อประชาชน


เรียน   สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร / รัฐบาลไทย / หรือผู้เกี่ยวข้อง


 


ด้วยนักวิชาการ นักธุรกิจ  นักสิทธิมนุษยชน  นักเรียนนักศึกษา อันมีรายชื่อข้างท้ายจดหมาย มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมฉบับที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่2 ในวันที่ 18 มิถุนายน 2551  อาจนำไปสู่การแทรกแซงและครอบงำสื่อของประชาชนโดยอำนาจการเมืองและอำนาจทุน  อันเนื่องมาจาก


 


1. มาตรา 8 วรรค3 ระบุว่าองค์กรหรือสถาบันใดที่ขอขึ้นทะเบียนองค์กรเพื่อมีสิทธิส่งผู้แทนเข้ารับการสรรหาเป็นคณะกรรมการ กสช. แล้วถูกปฏิเสธการขอขึ้นทะเบียน สามารถฟ้องศาลปกครองได้ แต่การฟ้องร้องดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้ต้องระงับหรือชะลอการเสนอชื่อคัดเลือกคณะกรรมการ กสช. เท่ากับเป็นการละเมิดอำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นการขัดรัฐธรรมนูญได้


 


2. มาตรา11 วรรค2 ระบุว่าเมื่อพ้นกำหนดการขยายระยะเวลาการเสนอชื่อผู้แทนองค์กรเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสช. แต่ยังมีผู้เสนอชื่อน้อยกว่าที่กำหนด  ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สามารถเสนอชื่อผู้แทนได้ เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง ส่งบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ารับการสรรหาได้


 


3. มาตรา12 วรรค1 ระบุให้การสรรหากรรมการ กสช. ใช้วิธีการเลือกตั้งกันเอง แทนที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหา  ซึ่งอาจนำไปสู่การตกลงสมยอมผลประโยชน์กันได้


 


 และในวรรค3 ยังให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อนำเสนอรายชื่อที่ผ่านการเลือกตั้งกันเองแล้วให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาคัดเลือกต่อไป เท่ากับเป็นการให้อำนาจนักการเมืองในฐานะคณะรัฐมนตรีเข้าครอบงำ แทรกแซงกระบวนการดังกล่าวได้ นับว่าเป็นมาตราที่เป็นอันตรายมาก


 


4. มาตรา18 วรรค2 ระบุให้ในการประชุมพิจารณาเรื่องที่กรรมการที่มีส่วนได้ส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องดังกล่าวไม่มีสิทธิเข้าประชุม  ดูผิวเผนแล้วเหมือนกับเป็นการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่ดี แต่หากวิเคราะห์แล้วจึงเกิดคำถามว่า ถ้ามีกรรมการที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องที่พิจารณา เท่ากับว่ากระบวนการสรรหากรรมการ กสช. ไม่โปร่งใส และมาตราดังกล่าวก็เปิดช่องให้กรรมการที่ไม่มีความชอบธรรมสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ใช่หรือไม่ ?


 


5. มาตรา21(21) ระบุให้คณะกรรมการ กสช. มีอำนาจเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีกฎหมายเพื่อแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกับหมายเกี่ยวกับโทรทัศน์ การกระจายเสียง โทรคมนาคม  เท่ากับว่า กสช. มีอำนาจเสนอให้คณะรัฐมนตรีออกกฎหมายใหม่หรือยกเลิกกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วได้  ซึ่งอาจเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการยกเลิกกฎหมายที่คุ้มครองเสรีภาพของสื่อ หรือกฎหมายเกี่ยวกับสื่อสาธารณะที่เป็นอิสระอย่าง พรบ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย


 


6. มาตรา25 วรรค3 ให้อำนาจ กสช. สั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ข้อนี้นับได้ว่าเป็นอีกมาตราที่อันตรายอย่างมาก เพราะเท่ากับเป็นการให้อำนาจ กสช. ทั้งในการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ โทรคมนาคม  กำกับดูแลองค์กรที่ได้รับคลื่นความถี่  และยังให้อำนาจในการเพิกถอนได้อีกด้วย  ทั้งที่โดยหลักควรมีการกระจายอำนาจไปให้องค์กรอื่นๆบ้างเช่นการส่งฟ้องศาล เป็นต้น


 


7. มีการตัดประเด็นการจัดทำ "แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์" (มาตรา26 ในพ.ร.บ.องค์กรฯ ปี 2543 เดิม) ส่งผลให้สาระสำคัญในเรื่องสิทธิการเข้าไปใช้คลื่นความถี่ของภาคประชาชน หายไปพร้อมกับแผนแม่บทฯ ตาม มาตรา26 ในพ.ร.บ.องค์กรฯ ปี 2543 เดิม ดังนี้


 


7.1   ตัดประเด็นการกำหนดให้ กสช. ต้องจัดให้ภาคประชาชน ได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20   ในกรณีที่ภาคประชาชนยังไม่มีความพร้อม ให้ กสช. ให้การสนับสนุนเพื่อให้ภาคประชาชนมีโอกาสใช้คลื่นความถี่ในสัดส่วนตามที่กำหนด  


 


7.2   ตัดประเด็นการกำหนดให้มีหลักประกันว่าด้วยการอนุญาตให้มีการประกอบกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะระดับ ท้องถิ่น ซึ่งอย่างน้อยจะต้องให้มีสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำจังหวัด และสถานีวิทยุโทรทัศน์สำหรับ การกระจายข้อมูลข่าวสารของประชาชนเพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่าง ประชาชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเพียงพอออก และให้ กสช. สนับสนุนให้ตัวแทนประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ในจังหวัดมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเสนอแนะความเห็นแก่ กสช. ในการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของ กสช.


 


8.   มาตรา45 กำหนดให้การประกอบการภาคชุมชนสามารถหารายได้ ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ โดยไม่เกินจำนวนและตามวิธีการที่ กสช. กำหนด โดยในกรณีการประกอบกิจการของชุมชนใดมีรายได้เกินจำนวนที่กำหนด ให้รายได้นั้น  ตกเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ ซึ่งอาจนำไปสู่การเปิดช่องให้การเมืองท้องถิ่นเข้ามาควบคุมกิจการสื่อชุมชนได้


 


ในการนี้ พวกเราจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


1. ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แสดงความจริงใจต่อประชาชนด้วยการลงมติไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว  และผลักดันให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำกลับมาพิจารณาใหม่โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขโดยตรง


 


2. ในอนาคตต้องมีการผลักดันกฎหมายให้เกิดองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคสื่อที่มีภาคประชาสังคมเป็นผู้ดูแล เพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำงานเป็นแนวร่วมกับภาคประชาสังคมในการส่งเสริมให้ประชาชนผู้บริโภคสื่อได้มีส่วนร่วมในการปกป้องเสรีภาพของสื่อให้ปราศจากการถูกแทรกแซง ครอบงำตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสรรคลื่นความถี่ ไปจนถึงเนื้อหาการผลิตรายการ การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อันหมายถึงการปกป้องเสรีภาพของประชาชนเอง


 


พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลไทยผู้ทรงเกียรติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะไม่กระทำการอันเป็นการทรยศต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ใช้สิทธิเลือกตั้งพวกท่านเข้ามาเพื่อรับใช้ประชาชน


 


 


ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของประชาชน


18 มิถุนายน 2551


 


อาจารย์ ดร.สุดา  รังกุพันธ์    อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


วิบูลย์  อิงคากุล                  นักธุรกิจเพื่อสังคม


สมชาย  หอมลออ               นักสิทธิมนุษยชนดีเด่นประจำปี2550 


เมธา  มาสขาว                   เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)


อรรณพ นิพิทเมธาวี             Webmaster ThaiNGO (www.thaingo.org) / กลุ่มรองเท้าแตะ (9dern.com)


วรภัทร วีรพัฒนคุปต์               เลขาธิการศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) / นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์


ชลเทพ ปั้นบุญชู                 นักวิจัยด้านความรุนแรงในกลุ่มเยาวชน / ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)


ศรวณีย์  ไทยผดุง               นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย / ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)


เปรมกวี  สุวรรณาลัย           นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)


อำไพ สืบมี                        นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / นักกิจกรรมทางสังคม


ณัฐวรรณ  เชาวมัย                          นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / นักกิจกรรมทางสังคม


สโรชา ฤทธิธนโชติ              นักศึกษาคณะศิลป์ศาสตร์ เอกสื่อสารธุรกิจชั้นปีที่1มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด / นักกิจกรรมทางสังคม


Wachara Navawongse


 


 


นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตต่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวซึ่สามารถดาวน์โหลดได้ต่อไปนี้


 

เอกสารประกอบ

ข้อสังเกตต่อสาระของร่างแก้ไข พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับเข้า ครม. วันที่ 10 มิ.ย. 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net