Skip to main content
sharethis

จรรยา ยิ้มประเสริฐ


โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย


 


ประเทศไทยประชาสัมพันธ์ว่าแรงงานไทยในต่างประเทศสร้างรายได้ให้ประเทศปีละกว่า 60,000 ล้านบาท มิหนำซ้ำธนาคารต่างๆ ของทั้งรัฐบาลและเอกชนมีมาตรการปล่อยเงินกู้เพื่อใช้เป็นการจ่ายค่าจัดหางานวงเงินระหว่าง 150,000 - 190,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดเพดานการจัดเก็บค่าหัวคิวแรงงานที่กำหนดว่าไม่สามารถเก็บเกินค่าจ้าง 4 เดือนตามสัญญาจ้าง อิสราเอลเปิดโควตาจ้างงานให้กับแรงานต่างชาติ 3 ประเภทได้แก่งานแม่บ้านให้กับชาวฟิลิปปินส์ งานก่อสร้างให้กับชาวจีน และงานในไร่เกษตรให้กับชาวไทย ซึ่งในปัจจุบันมีคนงานไทยร่วม 30,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานชายวัยหนุ่มจากภาคอีสาน กระจายตัวอยู่ตามไร่เกษตรในทุกภูมิภาคในอิสราเอล


 


ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2551 ผู้เขียนได้รับการร้องเรียนถึงกรณีเจ็บป่วยนายเสนี กำเนิดคูณ  ที่ทำงานในสวนดอกไม้ ที่อิสราเอล การสื่อสารระหว่าง "อ้วน" ที่กำลังป่วยอยู่ที่อิสราเอล กับครอบครัวของอ้วนที่บ้านนาฝาย อำเภอฝาง จังหวัดขอนแก่น โดยครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ ที่ส่งต่อข้อมูลมายังผู้เขียนเป็นไปอย่างกระท่อนกระแทน และผ่านข้อมูลกันหลายทอด


 


วันที่ 28 ธันวาคม 2549 เสนีหรือที่เรียกกันว่าอ้วน ในวัย 26 ปี เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลด้วยความหวังว่าจะมีเงินมาสร้างบ้านที่เพิ่งทำได้เพียง 40% ให้เสร็จ งานของอ้วนอยู่ในไร่ดอกไม้ มีหน้าที่ฉีดยา ดูแลและตัดดอกกุหลาบและทานตะวัน ช่วงเวลา16 เดือนแห่งการทำงานในสวนแห่งนี้ นายจ้างไม่ได้จัดหาอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยให้กับอ้วนและเพื่อนคนงานชาวไทยอีก 6 คนที่ทำงานอยู่ที่เดียวกัน


อ้วนเริ่มรู้สึกถึงอาการเจ็บป่วยสองเดือนก่อนที่ตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน เจ้าของสวนดอกไม้ได้ให้ทางเลือกกับอ้วนว่าจะอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลอิสราเอล 1 เดือนหรือจะกลับเมืองไทย และในสภาพที่ร่างกายบวมเป่ง และจิตใจที่ย่ำแย่ อ้วนไม่ฟังคำทัดทานหรือคำแนะนำของเพื่อน และคนรอบข้างให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลที่อิสราเอล อ้วนยืนยันที่จะกลับบ้าน


 


เมื่อสุดจะทัดทาน อ้วนก็ยืนยันหนักแน่นกันผู้เขียนในระหว่างพูดคุยกันทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 ว่า "ผมจะกลับบ้าน ผมเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว และก็จองโรงพยาบาลไว้แล้ว"


ประมาณบ่ายสามโมงเย็นของวันที่ 3 พฤษภาคม 2551 อ้วนเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ


 


ชุติมา ไชยหงส์ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ ที่เดินทางไปรับอ้วน ถึงกับตกใจในสภาพร่างกายของอ้วน ที่บวมฉุ ดำคล้ำและปริแตก ทั้งนี้ชุติมารู้จักกับอ้วนก่อนหน้านี้แล้ว เพราะเป็นคนที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง และเคยเห็นอ้วนซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มแน่นก่อนหน้าที่จะเดินทางไปอิสราเอล


 


"ไม่คิดว่าคนหนุ่มอายุ 28 จะมีอาการคล้ายๆ คนอายุ 40 ทั้งตัวดำคล้ำ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเพราะอาการบวมมาก พี่เลยขอให้อ้วนขึ้นเครื่องชั่งน้ำหนักที่สนามบินสุวรรณภูมิ น้ำหนักของอ้วนตอนนี้คือ 110 กิโลกรัม สูงขึ้นมากจากคนที่เคยมีน้ำหนักแค่ 80 กิโลกรัม" ชุติมากล่าวเสียงเครือ


 


ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่อ้วนบอกว่า "เตรียมการไว้หมดแล้ว" ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน อ้วนไม่ได้เตรียมการอะไรไว้เลย ทั้งเรื่องการจองโรงพยาบาล ทั้งเรื่องตั๋วเครื่องบินที่บอกว่าจองไว้แล้วว่าจะบินต่อไปขอนแก่นเลย ชุติมาต้องไปส่งอ้วนที่อยู่ในสภาพที่เหนื่อยอ่อนขึ้นรถทัวร์เที่ยวสามทุ่มเพื่อกลับบ้าน


 


การเฝ้าติดตามอาการของอ้วนกระทำทุกระยะ ทั้งการโทรศัพท์บอกกับคุณพวงเพชร ลิวงษ์ หรือผ่องภรรยาของอ้วนให้ไปรับอ้วนที่จุดลงจากรถทัวร์  และให้พาอ้วนเข้าโรงพยาบาล แต่อ้วนปฏิเสธที่จะเข้าโรงพยาบาลโดยทันที และยืนยันที่จะกลับไปพักที่บ้านก่อน และด้วยเป็นช่วงวันหยุด อ้วนและครอบครัวเกรงว่า ถ้าเข้าโรงพยาบาลก็จะไม่มีแพทย์ดูแล จึงรอจนกระทั่งถึงวันที่ 7 พฤษภาคม อ้วนจึงถูกนำส่งโรงพยาบาล


 


อ้วนเข้าการรักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐ ภายใต้โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งบางครั้งไม่ต่างกับการนอนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ในช่วง 13 วันในโรงพยาบาล อ้วนไม่มีทั้งเตียงนอนประจำ หลายคืนที่อ้วนนอนบนเตียงรอตรวจรักษา ขณะที่การตรวจรักษาก็ทำไม่ได้มาก เพราะอ้วนมีแคลเซียมในเลือดสูงมาก แพทย์บอกกับครอบครัวว่า ทำอะไรไม่ได้จนกว่าระดับแคลเซียมในเลือดจะลดลงอยู่ในเกณฑ์ แพทย์ให้อ้วนงดอาหารและน้ำดื่มทุกชนิด ทานได้เพียงจำนวนจำกัด และทานอาหารที่ไม่มีน้ำปรุงแต่งมาก และไม่สามารถให้อาหารเสริมทางสายยางได้


 


หลังจาก 13 วันในโรงพยาบาล แพทย์ขอร้องให้อ้วนกลับไปพักที่บ้านและนัดให้มาตรวจอีกครั้งในวันที่ 13 มิถุนายน ด้วยเหตุผลว่าไม่มีเตียงนอนสำหรับคนไข้รายอื่น


 


เมื่อกลับมาพักที่บ้าน อาการอ้วนก็เริ่มทรุดลง บวมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามแขน และขา และเริ่มผลิแตกเป็นแผล จนทางครอบครัวทนไม่ได้ต้องส่งเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 7 มิถุนายน 2551


วันที่ 16 มิถุนายน ผ่องโทรมาบอกกับผู้เขียนว่า แพทย์วินิจฉัยว่าอ้วนป่วยเป็นโรค "ไตวายเฉียบพลัน"


 


เรื่องราวจากปากคำของอ้วน


ทีมงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย เดินทางไปสัมภาษณ์อ้วน 2 ครั้งในวันที่ 13 และ 18 พฤษภาคม 2551 ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น อ้วนอยู่ในห้องพักรวมที่แน่นขนัด จนต้องปิดม่านเพื่อสัมภาษณ์


จากวีดีโอที่ทีมงานถ่ายมาให้ดู อ้วนดูเหนื่อยล้าอย่างเห็นได้ชัดเจน และใช้มือถูบริเวณลำตัวที่บวมเป่งราวกับลูกโป่งที่รอเวลาปริแตกตลอดเวลา ในระหว่างสัมภาษณ์มีเสียงของผ่องพูดเสริมอ้วนบ้างเป็นระยะ


 


การสัมภาษณ์จึงทำได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ต่อไปนี้คือสิ่งที่อ้วนเล่าให้ฟัง


 


อ้วนเสียค่าใช้จ่ายกว่าสามแสนเพื่อเป็นค่านายหน้าและค่าวีซ่าในการเดินทางไปทำงานที่อิสราเอลภายใต้สัญญา 5 ปี แต่เซ็นต์สัญญาต่อทุก 2 ปี


 


อ้วนบอกว่าในวันที่ขึ้นเครื่องบินเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2549 มีคนงานไทยอีกกว่า 30 คนที่ขึ้นเครื่องบินไปพร้อมกัน แต่เมื่อไปถึงสนามบินอิสราเอลแล้วต่างก็แยกกันไปทำงานคนละทิศคนละทาง -- เหนือ ใต้ กลาง 


 


อ้วนถูกส่งไปทำงานที่สวนดอกไม้ที่เมือง Hataasya Ashkelon หน้าที่ส่วนใหญ่คือฉีดยา ตัดดอกไม้ และแพ็คลงกล่อง


 


อ้วนไม่รู้เลยว่าเขาใช้สารเคมีอะไรบ้าง หน้าร้อนต้องฉีดแต่เช้า ตีห้า ถึงหกโมงเช้า บางครั้งก็ถึงแปดโมงเช้า และก็ตัดดอกไม้เข้ากล่องเพื่อส่งออก


 


อ้วนบอกว่า "ถ้าฉีดยาช่วงเช้า ช่วงค่ำก็จะตัดดอกไม้และจัดลงกล่องเตรียมส่งออก ถ้าฉีดช่วงค่ำก็จะตัดช่วงเช้า การฉีดยาเพื่อฆ่าแมลงและทำให้ดอกไม้สดได้นาน" ชุติมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติม


อ้วนได้เงินเดือนละสองหมื่นกว่าบาท รวมโอทีด้วยก็จะประมาณสามถึงสี่หมื่นบาท ได้เท่าไหร่ก็โอนให้ภรรยาเท่านั้น เมื่อถามว่าเคยได้รับสลิปเงินเดือนจากนายจ้างหรือไม่ อ้วนตอบว่า "ไม่เคยได้รับเลย"


           


ความเป็นอยู่เป็นอย่างไรบ้าง?


ที่พักที่เจ้าของจัดให้คนงานไทยพักจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์  มีเตียงนอนให้ แต่ตู้เก็บของรวมกัน เขาต่อโทรศัพท์เข้าไปให้ในที่พัก แต่คนงานจะซื้อมือถือกันเองเป็นส่วนใหญ่


โทรกลับบ้านเกือบทุกวัน "ถ้าไม่ได้โทรจะหงุดหงิด" อ้วนบอก


 


มีล่าม แต่อยู่ไกลกัน ถ้ามีอุบัติเหตุก็ต้องช่วยกันเองโดยคนที่พอรู้ภาษาบ้างก็จะช่วยแปล


เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่โน่นก็ไม่ไปหาหมอหรอก เพราะกลัวเสียเงิน พอเริ่มไม่สบายได้สองเดือน อาการเหนื่อยง่าย บวม นายจ้างก็พาไปตรวจที่โรงพยาบาลที่อิสราเอล ผลตรวจว่าเจ็บป่วยเพราะไต นายจ้างก็เสนอว่าจะรักษาตัว 1 เดือนที่โรงพยาบาลที่อิสราเอล อ้วนไม่ยอมรับการรักษาที่อิสราเอล บอกว่า "กลัวไม่มีอะไรกิน" แม้ว่าค่ารักษาจะฟรี และอยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง


 


นายจ้างเขาไม่ค่อยเสียเงินค่ารักษาพยาบาลให้ลูกจ้าง และผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกจ้างจ่ายกันเอง เคยไปรักษาที่นั่น ที่คลินิกใกล้บ้าน ค่ารักษาก็ครั้งละ 1-2,000 บาท


 


นายจ้างไม่เคยมาดูแล พวกเราต้องหาอาหารทานเอง บางเดือนก็ฆ่าหมูแบ่งกันทาน บางทีก็ซื้ออาหารจากร้านไทย ค่าอาหารวันละถ้าคิดเป็นเงินไทยก็นับพันบาท อาหารที่นำไปจากเมืองไทยบางครั้งก็ไม่ผ่าน ส่งไปแล้วก็ไม่ผ่านกองควบคุม 


 


อุปกรณ์ป้องกันไม่มีให้เลย ตั้งแต่รองเท้าใส่ทำงาน เราก็ต้องซื้อเอา เก็บเอาตามกองขยะ ชุดทำงานก็ต้องหาเก็บตามถังขยะมาใช้ ก็พอใส่ได้ นายจ้างไม่ให้อะไร ใช้งานเราอย่างเดียว


ถ้ามีปัญหาก็คุยกันในกลุ่มและหาทางแก้ปัญหากันเอง นายจ้างเอาแต่งาน ไม่เอาคน


ไม่กลับไปอีกแล้ว ถ้าหายก็จะไปประเทศอื่น ประเทศนี้ไม่ไปอีกแล้ว


 


หนึ่งเดือนครึ่งในประเทศไทย


อ้วนเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันที่ 3 พฤษภาคม 2551 ผ่องและญาติ ภายใต้คำแนะนำของผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ พยายามติดต่อกับเจ้าหน้าที่บริษัทจัดหางาน UR Perfect ที่จัดส่งอ้วนไปอิสราเอล และสำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้แนะนำให้ผ่องคุยกับบริษัทจัดหางานก่อนที่จะดำเนินเรื่องร้องเรียน แต่เมื่อผ่องคุยกับเจ้าหน้าที่บริษัทจัดหางาน ก็ได้รับการขอร้องไม่ให้ผ่องดำเนินเรื่องร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงาน และเสนอแนะให้ผ่องพูดคุยกับผู้จัดการบริษัทก่อน(ซึ่งไม่อยู่ในขณะนั้น) แต่จนบัดนี้เวลาผ่านไปเนินนาน ในขณะที่ทุกความพยายามทั้งของผ่องและผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ และของโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ที่โทรเข้าบริษัทจัดหางานมีแต่สัญญาณโทรศัพท์ แต่ไม่เคยมีคนรับโทรศัพท์เลย และบริษัทจัดหางาน UR Perfect ก็ไม่เคยโทรมาหาผ่องหรือมาเยี่ยมอ้วนที่โรงพยาบาลเลยแม้แต่ครั้งเดียว


 


ผ่องบอกว่า "ติดต่อกับเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัด รับเรื่องไว้ และก็รอเอกสาร เขาติดต่อกับบริษัท และทางบริษัทบอกว่าไม่รู้ว่าเสนีกลับมา และก็ขอคุยกับเรา แต่สองสามวันแล้วที่โทรไปที่บริษัท โทรติดแต่ไม่มีคนรับสาย"


                                   


คำบอกเล่าของ พวงเพชร ลิวงษ์ (ผ่อง) ภรรยาของอ้วน


ผ่องอยู่กินกับอ้วนได้สามปีแล้ว แต่ยังไม่มีบุตรด้วยกัน


 


น้าของอ้วนเดินทางไปก่อน แล้วก็เชิญชวนอ้วนให้เดินทางไปทำงานที่อิสราเอล หลังจากน้ากลับมาแล้ว อ้วนเดินทางไปทำงานแทนน้า ซึ่งเมื่อกลับมาแล้วก็ทุกข์ทรมานกับภาวะเส้นเอ็นขาด และก็หมดเงินไปกับค่ารักษาพยาบาลเยอะมาก


 


อ้วนจ่ายค่านายหน้าให้บริษัท UR Perfect เป็นเงิน 270,000 ค่าวีซ่า 30,000 บาท ค่าตรวจโรค 1,400 บาท สองปีก่อนที่จะเดินทางไปทำงานที่อิสราเอล อ้วนเคยคิดเดินทางไปครั้งหนึ่งแล้วกับบริษัทอื่นที่เรียกร้องเงินค่านายหน้า 250,000 บาท ตอนนั้นทั้งคู่คิดว่าแพงเกินไป จึงล้มเลิกความคิด เมื่อน้ากลับมาและยินดีให้ยืมเงินจ่ายค่านายหน้า ทั้งคู่จึงตัดสินใจให้อ้วนไป


ผ่องใช้เวลาถึงหนึ่งปีเต็มในการจ่ายเงินกู้คืนน้าชาย ทั้งนี้จ่ายเฉพาะเงินต้น เพราะดอกเบี้ยน้าบอกว่า เมื่ออ้วนกลับมาแล้วค่อยคุยกัน


 


อ้วนทำงานได้เพียงหนึ่งปีกับ 4 เดือน ก็ต้องกลับบ้านเพราะการเจ็บป่วย ปัจจุบันผ่องจึงเหลือเงินเพียงประมาณ 60,000 บาท 


 


ผ่องพูดถึงอ้วน


เขาเคยพูดว่าถ้าไตวาย ก็ไม่ต้องรักษาหรอก ไม่ต้องฟอกหรอก เสียดายตัง เพราะมีเท่าไหร่ก็หมด


 


ในระหว่างที่พูดคุยกันทางโทรศัพท์ เขาจะบอกแค่ว่าไม่สบาย ช่วงที่บวม เขาก็ไม่บอก พอบอกอีกที ก็หลังจากทำงานไม่ได้มาสองสามวันแล้ว และก็ป่วยมากว่า 2 เดือนแล้ว เขาไม่กล้าบอกเมีย กลัวเรารับไม่ได้ว่าเขาไม่มีตัง เขาทนไม่ได้


 


สุดท้ายอ้วนก็พ่ายแพ้


อ้วนจากไปในเวลา 8.00 น. ของวันที่ 17 มิถุนายน 2551 หนึ่งชีวิตของผู้ที่สร้างเศรษฐกิจชาติที่จบลงโดยปราศจากการรักษาเยียวยาอย่างจริงจัง การนอนรอการรักษาเป็นเวลาถึง 46 วัน นับตั้งแต่วันที่อ้วนเดินทางมาถึงเมืองไทย ที่เขาแม้จะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลถึงสองครั้ง แต่การวินิจฉัยผลการเจ็บป่วยเพิ่งจะทราบเพียงไม่กี่วันก่อนการเสียชีวิตของอ้วน


 


สำหรับผ่อง หญิงชาวบ้านที่พยายามรักษาชีวิตสามีให้มากที่สุด เธอไม่มีน้ำตาเหลืออีกแล้วหลังจากกว่าหนึ่งเดือนแห่งความเศร้าโศก เธอยังต้องจมอยู่กับความรู้สึกผิด ที่ความหวังของอ้วนทีจะกลับเมืองไทยพร้อมเงินก้อนเพื่อมาสร้างบ้านที่เริ่มสร้างไว้ก่อนไปอิสราเอลให้เสร็จ ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน บ้านที่สร้างค้างไว้ที่เสร็จเพียง 40% ยังอยู่ในสภาพเดิมก่อนอ้วนไป ยิ่งกว่านั้นผ่องก็เศร้าโศกที่ถูกญาติที่เชื่อว่าถ้าอ้วนได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน อ้วนก็อาจจะได้รับการใส่ใจในการรักษามากกว่านี้ และก็อาจจะไม่ตาย ผ่องปลักปลำตัวเองว่า "ส่งแฟนไปตาย" 


 


หนูก็บอกว่า "ตามใจนะ ถ้าจะกลับก็กลับ และก็แนะนำให้เขาอยู่รักษาตัวที่โน่นก่อน แต่พอเห็นสภาพเขา หนูถึงรู้ว่าเขาเป็นมาก สภาพที่บวมขนาดนั้น เป็นใครๆ ก็ท้อแท้ใจ เป็นใครก็อยากกลับบ้าน นึกสงสารเขา เหมือนกับว่าเราส่งเขาไปทรมาน เราไม่น่าส่งเขาไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net