Skip to main content
sharethis

22 มิ.. - นายนพดล กรรณิกา หัวหน้าศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง สำรวจความปกติสุขของสาธารณชน และรูปแบบการใช้ชีวิตในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล จำนวน 2,837 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน


 


ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.6 เบื่อหน่ายต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ร้อยละ 25.0 รู้สึกเศร้าใจ ร้อยละ 20.7 รู้สึกอึดอัด ร้อยละ 17.8 รู้สึกเครียด ร้อยละ 6.0 รู้สึกมีความหวัง ร้อยละ 4.4 รู้สึกตื่นเต้น และร้อยละ 8.7 รู้สึกผิดหวัง น่ารำคาญ และไร้สาระ เป็นต้น


 


เมื่อถามถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.8 วางแผนใช้จ่ายรัดกุมระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 57.2 รักษาสินค้าที่ซื้อมาให้คงอยู่สภาพใช้งานได้นานระดับมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 64.3 เป็นกลุ่มคนที่ซื้อสินค้ามาแล้วไม่ค่อยใช้ประโยชน์ระดับน้อยถึงน้อยที่สุด และร้อยละ 58.5 เป็นคนที่นึกอยากจะซื้ออะไรก็ซื้อระดับน้อยถึงน้อยที่สุด


 


เมื่อถามถึงช่วงจังหวะเวลาที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.7 เห็นว่า เร็วเกินไป อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 22.4 เห็นว่าช้าเกินไป และร้อยละ 27.9 เห็นว่าเหมาะสมแล้ว โดยเรื่องที่อยากให้อภิปรายมากที่สุด คือ การแก้ปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาล อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจ คอร์รัปชั่น และ ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 54.9 เห็นว่า เร็วเกินไปที่จะขับไล่รัฐบาลโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะที่ร้อยละ 21.5 เห็นว่า ช้าเกินไป และร้อยละ 23.6 เห็นว่าเหมาะสมแล้ว เพราะรัฐบาลไม่มีผลงาน ควรเปิดโอกาสให้คนอื่นทำงานแทน และเป็นเรื่องของประชาธิปไตยแท้จริง


 


เมื่อถามถึงช่วงเวลาที่ตำรวจควรใช้กำลังสลายการชุมนุม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.8 เห็นแย้งเรื่องการใช้กำลังสลายการชุมนุมของตำรวจในขณะนี้ โดยร้อยละ 46.3 ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังสลายการชุมนุมในทุกกรณี และร้อยละ 13.5 เห็นว่าเร็วเกินไปที่จะใช้กำลัง อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 21.8 เห็นว่า ช้าเกินไป และร้อยละ 18.4 เห็นว่าเหมาะสมแล้ว เพราะต้องการให้เหตุการณ์สงบโดยเร็ว ประชาชนกำลังเดือดร้อน การชุมนุมลุกลามมากเกินไป และควรควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด เป็นต้น


 


นายนพดล กล่าวว่า ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์การเมืองช่วงนี้กำลังผลักดันให้กลุ่มพลังเงียบเลือกข้างโดยปริยาย แต่สัดส่วนพอๆ กัน ระหว่างฝ่ายที่อยู่ข้างรัฐบาลและฝ่ายที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งถ้าเกิดความรุนแรงทางการเมืองกับประชาชนขึ้น อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อเสถียรภาพของบ้านเมืองแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประเด็นที่น่าพิจารณาสำหรับทุกฝ่ายคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.7 อยากเห็นคุณธรรมเรื่องความรักความสามัคคีเกิดขึ้นในกลุ่มคนไทยด้วยกัน รองลงมาคือร้อยละ 65.6 ระบุเรื่องความรักชาติ ร้อยละ 59.7 อยากเห็นความมีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจ ร้อยละ 54.4 อยากเห็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร้อยละ 53.0 อยากเห็นความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 52.0 อยากเห็นการให้อภัยต่อกัน ร้อยละ 51.3 อยากเห็นความเสียสละ ร้อยละ 45.6 อยากเห็นความอดทน และร้อยละ 42.4 อยากเห็นความเมตตา กรุณาต่อกัน


 


ที่น่าสนใจคือ ระดับความปกติสุขของสังคมไทยโดยภาพรวม พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.9 มองว่า สังคมไทยโดยรวมยังคงมีความปกติสุขระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 28.0 เห็นว่าอยู่ในระดับปานกลาง และร้อยละ 22.1 เห็นว่าอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด ตามลำดับ


 


"ผลสำรวจครั้งนี้ ชี้ให้เห็นสัญญาณที่ดีบางประการในสังคมไทยตรงที่ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ โดยไม่มีการใช้ความรุนแรงจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนคนกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลจำนวนมาก เริ่มเตรียมตัวเตรียมใจได้กับสถานการณ์การเมืองที่จะเกิดขึ้น และประมาณครึ่งหนึ่งยังคงมองว่า สังคมไทยยังคงมีความปกติสุขอยู่ หรืออย่างมากที่สุดก็กระทบต่อความรู้สึกเบื่อหน่าย และอยากให้ปัญหาขัดแย้งต่าง ๆ จบลงโดยเร็ว เพราะไม่อยากเห็นคนไทยทะเลาะกัน" หัวหน้าศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าว.



….


ที่มา:


http://www.posttoday.com


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net