Skip to main content
sharethis

22 มิ..51 จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตแกนนำแนวร่วมประชาชนต้านเผด็จการ (นปก.) จัดงานเปิดตัวมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย (Democracy Institute Foundation) ซึ่งมีหลักการและเหตุผลในการก่อตั้งเนื่องจากหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จะเห็นได้ว่าหลายส่วนในสังคมไม่ว่า นักวิชาการ เอ็นจีโอ นักคิดนักเขียน ข้าราชการ นักธุรกิจ ฯ เห็นด้วยกับการรัฐประหารดังกล่าว ซึ่งสะท้อนความไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็เกิดพลังประชาธิปไตยใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนรากหญ้าทั้งในเมืองและชนบทที่ตื่นตัวทางความคิดทางการเมือง เข้าร่วมการต่อต้านเผด็จการ จึงควรตั้งมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตยเพื่อส่งเสริมเผยแพร่หลักประชาธิปไตย และปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์



ทั้งนี้ มูลนิธิดังกล่าวมีนายจรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นประธาน และมีกรรมการประกอบด้วย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, กุลชีพ วรพงษ์, และสุวรรณชัย เหล่าฤชุพงศ์




จรัลกล่าวว่า ขอบเขตการดำเนินการจะเน้น 3 ส่วน คือ 1.การจัดการศึกษาอบรมหลักความรู้เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่น "โรงเรียนประชาธิปไตย" ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าศึกษาอบรม เบื้องต้นอาจทดลองในกลุ่มองค์กรประชาธิปไตยและเอ็นจีโอก่อน 2.การจัดกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น จัดประชุมสาธารณะระดมความเห็นเสนอรัฐบาลในประเด็นต่างๆ รณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่จำกัดสิทธิมนุษยชน รวมถึงสนับสนุนกลุ่มการเมืองและผลประโยชน์ท้องถิ่น เช่น สหพันธ์ชาวนา สหภาพแรงงาน สหพันธ์ผู้หญิง ฯลฯ 3.การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในพัฒนาการประชาธิปไตยของไทย โดยในเบื้องต้นอาจทำวิจัยเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยของคนในสังคมไทย




ในงานดังกล่าวยังมี ม..ณัฏฐกรณ์ เทวกุล บรรยายพิเศษในหัวข้อ "การสร้างประชาธิปไตย ในทรรศนะของคนรุ่นใหม่" โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า แนวโน้มการเมืองระยะใกล้นี้คงไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารเนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองไม่สุกงอมและประชาชนหลายกลุ่มก็ออกมาต่อต้านล่วงหน้าชัดเจน




เขากล่าวด้วยว่า ในการวิเคราะห์การเมืองไทย หลักการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการนั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะในการคานอำนาจกันนั้น ยังมีอำนาจนอกเหนือจากนั้นที่สำคัญอีก 3 ส่วน คือ 1.สื่อมวลชน สื่อหลักในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ค่อนข้างเท่ากัน และไม่ active ในการตรวจสอบนักการเมือง แต่สื่อที่ตรวจสอบรัฐเต็มที่มักอยู่ในอินเตอร์เน็ต ผิดกับสื่อมวลชนไทยที่มีวัฒนธรรมในการเน้นการตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน ซึ่งบทบาทที่ over active อาจทำให้รัฐบาลโกงยากมากขึ้น แต่ถ้ามากไปก็อาจทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ยาก นอกจากนี้หากเจ้าของสื่อมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มเคลื่อนไหวมวลชนใดก็มักจะโน้มเอียงให้น้ำหนักในการนำเสนอข่าวมากเป็นพิเศษ




2.เอ็นจีโอ และกลุ่มมวลชน จะทำหน้าที่คอยตรวจ คานอำนาจกับฝ่ายบริหาร ซึ่งบางครั้งก็คานอำนาจในเวลาที่ควร บางครั้งก็ไม่ควร เช่น การปิดล้อมทำเนียบฯ เช่นขณะนี้น่าจะเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นเผด็จการจริงๆ เช่น พม่า




3.กองทัพ เป็นสถาบันที่มีบทบาทเข้ามาคานอำนาจด้วยในความเป็นจริง ความพยายาที่จะเปลี่ยนบทบาทของกองทัพดังเช่นที่เป็นเป้าหมายของมูลนิธินี้เป็นสิ่งดี แต่วิธีการลดบทบาทต้องไม่ให้สถาบันกองทัพรู้สึก ต้องค่อยเป็นค่อยไปผ่านสื่อมวลชนและกลุ่มมวลชนต่างๆ ไม่เช่นนั้นเขาก็จะตอบโต้ก่อน ดังเช่นการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยาฯ




..ณัฏฐกรณ์ กล่าววว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกระแสหลักกับการเคลื่อนไหวของมวลชนนั้นมีความสำคัญมาก เกมการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอและกลุ่มมวนจะถูกมองจากสังคมอย่างไร ชอบธรรมหรือไม่ ก็อยู่ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหลักๆ ของประเทศ การพาดหัวข่าวเด่นเกี่ยวกับพันธมิตรฯ ทุกวันก็ชัดเจนว่าสื่อก็ต้องการกดดันให้รัฐบาลออก ดังนั้น สื่อกระแสหลักจึงมีอำนาจมากว่าจะให้นายกฯ คนหนึ่งอยู่ได้กี่ปี และนี่เป็นปัญหาหลักของนายกฯ ไทยที่อยู่ยากกว่าที่อื่น เพราะต้องบริหารและปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มอำนาจต่างๆ ให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะอยู่ไม่รอด




อย่างไรก็ตาม เขามองว่าท้ายที่สุดอำนาจต่างๆ ต้องเรียนรู้ที่จะทำงานด้วยกัน ประนีประนอมกันให้ได้ นอกจากนี้พัฒนาการด้านประชาธิปไตยของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันไป ซึ่งสุดท้ายสิ่งที่จะอยู่ได้นานจริงๆ มักจะมีการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ แม้มันไม่ควรจะเป็นและไม่ถูกต้องตามหลักการก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net