ความสับสนของสุริยะใส พันธมิตรประชาชนเพื่ออะไร? และประชาธิปไตยแบบโควต้าอ้อย

โดย...ยุกต์ อิสรนันทน์

 

ข่าวจากเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ประจำวันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน 2551 ได้ลงข่าวว่า นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เสนอถึงแนวคิด การเมืองใหม่ เพื่อขจัดนักการเมืองหน้าเดิม คือ การจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 30% และคัดสรรจากภาคส่วนต่างๆ อีก 70% เพราะเห็นว่า การดำเนินการแบบรัฐสภาไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ไม่ใช่การสร้างเงื่อนไขให้สังคม

 

"ไม่ใช่การสร้างเงื่อนไข แต่ว่าการเมืองใหม่วันนี้ คิดว่าอาจจะไม่ใช่ต้องได้ข้อยุติพรุ่งนี้ มะรืน แต่ว่า เป็นการจุดประกายความคิดและจุดประเด็นให้สังคมได้หันมาถกเถียงกันดู ถ้าสังคมเห็นว่า การเมืองแบบปกติไปได้ ก็ต้องว่ากันไป แต่พันธมิตรฯ บอกว่าไปไม่ได้"

 

และข่าวจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ในวันเดียวกัน ได้ลงข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายสุริยะใสว่า ต้องไปให้พ้นจากการเมืองของเสียงข้างมาก การเมืองของตัวแทน และการเมืองของนักการเมือง แต่การออกแบบภาพใหญ่จะต้องพึ่งนักวิชาการ นักกฎหมาย และนักรัฐศาสตร์ ให้มาร่วมกันออกแบบ เพราะในขณะนี้การเมืองในรัฐสภา ไม่สามารถแก้ปัญหาของชาติได้แล้ว ตนคิดว่า การเมืองใหม่ดังกล่าวไม่ใช่การรัฐประหาร แต่ต้องร่วมกันหาวิธีการ

 

จากคำให้สัมภาษณ์ของนายสุริยะใสที่ปรากฏลงบนหน้าหนังสือพิมพ์ออนไลน์ทั้ง 2 ฉบับข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าคำกล่าวของนายสุริยะใสได้แสดงถึงความสับสน และข้อขัดแย้งในตนเองหลักๆ 3 ประการ ดังนี้

 

ประการแรก : การเมืองใหม่ VS. ไม่รัฐประหาร

นายสุริยะใสได้ให้เหตุผลสนับสนุนข้อเรียกร้องการเมืองแบบใหม่ว่า "เนื่องจากการเมืองในรัฐสภาไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองได้" ดังนั้น "ต้องไปให้พ้นจากการเมืองของเสียงข้างมาก การเมืองของตัวแทน และการเมืองของนักการเมือง" ซึ่งการออกแบบภาพใหญ่ของการเมืองจะต้องพึ่ง "นักวิชาการ นักกฎหมาย และนักรัฐศาสตร์ ให้มาร่วมกันออกแบบ" โดยระบบวิธีคิดของสุริยะใส อาจสามารถตีความตามตรรกะง่ายๆ ได้ว่า

 

การเมืองในสภาไม่สามารถแก้ปัญหา à         ไปให้พ้นการเมืองเสียงข้างมาก

ไปให้พ้นการเมืองเสียงข้างมาก        à         ออกแบบระบบการเมืองใหม่

ดังนั้น    การเมืองในสภาไม่สามารถแก้ปัญหา à         ออกแบบระบบการเมืองใหม่

 

หากเราพิจารณาตามขั้นตอนตรรกะของสุริยะใสแล้ว เราจะเห็นได้ว่า สาเหตุที่สุริยะใสออกมาเรียกร้องให้ออกแบบระบบการเมืองใหม่นั้น เป็นเพราะการเมืองในสภาไม่สามารถแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ทางออกของปัญหาทางการเมืองอาจไม่จำกัดอยู่เพียงในตรรกะที่คับแคบของสุริยะใสเท่านั้น

 

การที่การเมืองในสภาไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้ นั่นมิได้หมายความว่า เราจะหาทางออกโดยการปฏิเสธระบบเสียงข้างมาก เพราะ การปฏิเสธระบบเสียงข้างมาก ย่อมหมายถึงการปฏิเสธเจตจำนงค์ของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ว่าจะมาจากฐานะใด ชนชั้นใด การศึกษาใด ถูกมอมเมา ถูกจ้างวานหรือไม่ เสียงเหล่านั้นล้วนเป็นเสียงของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิอย่างเสมอภาคกัน ดังนั้น ควรหรือไม่ที่ใครคนใดคนหนึ่งจะยัดเยียดโลกทัศน์ของตน พยายามบั่นทอนเสียงอันชอบธรรมเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งด้อยค่า?

 

แน่นอน ผู้เขียนย่อมเห็นด้วยว่า เราควรข้ามให้พ้นการเมืองแบบตัวแทน การเมืองแบบพรรคการเมือง เนื่องจากก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งปัญหานักการเมืองคอรัปชั่น บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน หาผลประโยชน์ใส่ตัว แต่นั่นมิได้หมายความว่า เราควรปฏิเสธประชาชนที่เลือกนักการเมืองเหล่านั้น มิใช่ว่าเราควรขจัดประชาชนที่เลือกนักการเมืองเหล่านั้นออกจากกระบวนการเลือกตั้ง หรือกระบวนการคัดสรรผู้นำ หากแต่โจทย์ของเราในวันนี้ คือ ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากที่สุด ทำอย่างไรถึงจะเพิ่มอำนาจของประชาชน ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบผู้แทนเหล่านั้นได้ และทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมือง

 

ในขั้นต่อไปของตรรกะแบบง่ายๆ ของสุริยะใส ซึ่งมองว่า เมื่อต้องการข้ามให้พ้นการเมืองแบบเสียงข้างมาก ดังนั้น ต้องมีการออกแบบระบบการเมืองใหม่ โดยให้ผู้มีคุณวุฒิสาขาต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม กระบวนการในการออกแบบการเมืองใหม่นี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นอัตโนมัติดังที่สุริยะใสได้เสนอ หากแต่ในการออกแบบระบบการเมืองใหม่นั้น ต้องมีการรื้อถอนระบบการเมืองแบบเดิมออกเสียก่อน คำถามคือ จะรื้อถอนระบบการเมืองอย่างไร?

 

ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าข้อเสนอของสุริยะใส (อย่างน้อย เราก็ยังมีนายกรัฐมนตรีและส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีคุณภาพหรือไม่) เป็นไปได้หรือจะให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และประชาชนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้ง ยอมรับข้อเสนอที่ลดอำนาจของประชาชน ลดอำนาจของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง และกลับไปให้อำนาจจากกลุ่มคนที่มาจากการแต่งตั้ง? แน่นอน ในความเป็นจริงแล้วต้องเกิดกระแสคัดค้านแนวคิดดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางรัฐบาล ดังนั้น ในสภาวการณ์เช่นนี้ ระบบการเมืองใหม่ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้โดยอัตโนมัติ

 

คำถาม คือ วิธีการใดที่จะทำให้ข้อเสนอของสุริยะใสเป็นจริงได้? คำตอบที่ง่ายที่สุด คือ สุริยะใสกำลังเรียกร้องกลายๆ ให้มีการทำรัฐประหารเกิดขึ้น เพราะการรัฐประหารเป็นวิถีทางที่รวดเร็วที่สุดในการทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้สังคมตกอยู่ในสภาวะ "จำยอม" ต่ออำนาจปลายกระบอกปืน และให้สังคมเลือกระหว่าง "ทหาร 100%" กับ "เลือก 30 แต่งตั้ง 70" ในสภาวการณ์เช่นนั้นสังคมคงไม่มีทางเลือกมากนัก

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า บทสัมภาษณ์ของสุริยะใสมีความขัดแย้งเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่สุริยะใสบอกว่า "ไม่ใช่รัฐประหาร" แต่กระบวนการขั้นตอนในการนำไปสู่การเมืองใหม่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการ "รัฐประหาร" เพื่อทำลายระบบเดิมเสียก่อน ข้อเรียกร้องของสุริยะใส ด้านหนึ่งจึงเป็นการบอกว่าไม่ต้องการรัฐประหาร เพื่อสร้างการยอมรับจากสังคม ทั้งที่แท้จริงแล้วข้อเสนอดังกล่าวเป็นการเรียกร้องอย่างกลายๆ ให้มีการทำรัฐประหาร

นอกจากนี้ การที่สุริยะใสได้เรียกร้องให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ นักวิชาการ นักกฎหมาย และนักรัฐศาสตร์มาร่วมมือกันในการออกแบบการเมืองใหม่นั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำแนวคิดของสุริยะใสที่มองว่าเสียงของประชาชนว่าเป็นเสียงที่ด้อยคุณภาพ ดังจะเห็นได้ว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีตัวแทนจากภาคประชาชนรวมอยู่เลย

 

ประการที่สอง : ไม่สร้างเงื่อนไข VS. "พันธมิตรบอกว่า ไม่ได้!!"

การที่สุริยะใสได้กล่าวไว้ว่า ข้อเสนอของเขาไม่ใช่การสร้างเงื่อนไขให้กับสังคมนั้น เปรียบเสมือนกับการส่งสาสน์ให้ผู้คนในสังคม "ข้อเสนอของเขาเป็นเพียงตัวเลือกในการแก้ปัญหาทางการเมืองตัวเลือกหนึ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน" ซึ่งแม้ข้อเสนอของสุริยะใสจะคล้ายคลึงกับข้อเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติของหมอประเวศ วะสี ทว่าในความเป็นจริงแล้ว "พลัง" ในการพูดของทั้งสองคนมีความแตกต่างกันมาก

 

ในขณะที่ด้านหนึ่ง ข้อเสนอของประเวศนั้นมาจากนักวิชาการที่วางตัวค่อนข้างเป็นกลาง ไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างออกนอกหน้า (แม้ว่าจะเป็นข้อเสนอที่ล้าหลัง และเอื้อประโยชน์ต่อระบอบอำมาตยาธิปไตยก็ตาม) ดังนั้น ข้อเสนอของประเวศจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่างๆ

 

ทว่าในกรณีของสุริยะใสนั้นต่างออกไป เนื่องจากสุริยะใสมีจุดยืนเป็นผู้ประสานงานของกลุ่มพันธมิตรฯ ดังนั้น ข้อเสนอของสุริยะใสจึงเปรียบเสมือนเป็นข้อเสนอของทางพันธมิตร ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวย่อมเป็นการสร้างเงื่อนไขทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

นอกจากนี้ การที่สุริยะใสได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า "ถ้าสังคมเห็นว่า การเมืองแบบปกติไปได้ ก็ต้องว่ากันไป แต่พันธมิตรฯ บอกว่าไปไม่ได้" ย่อมเป็นการประกาศเงื่อนไขให้แก่สังคมอย่างชัดแจ้ง กล่าวคือ "ไม่ว่าสังคมจะมีความเห็นว่าอย่างไรก็ตาม พันธมิตรก็จะขอประกาศจุดยืนที่จะไม่เอาระบบการเมืองแบบเสียงข้างมาก แบบผู้แทน (และเลือกที่จะเอาระบบการเมืองใหม่มากกว่า)"

 

ประการที่สาม : พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย VS. การเมืองแบบโควต้าอ้อย

นับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ผู้ประสานงานของกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลับเรียกร้องให้มีระบบการเมืองแบบใหม่ ซึ่ง ส.ส.มาจากการแต่งตั้ง 70% และมาจากการเลือกตั้ง 30% ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องของบุคคลที่อ้างว่าทำเพื่อ "ประชาธิปไตย" กลับมีข้อเรียกร้องในเชิง "อำมาตยาธิปไตย" เช่นนี้

 

ผู้เขียนขอเรียกรูปแบบการเมือง 70:30 ของสุริยะใสว่า "ประชาธิปไตยแบบโควต้าอ้อย" สืบเนื่องมาจาก รูปแบบดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลของรัฐ ซึ่งกำหนดให้ชาวไร่ได้รับผลประโยชน์ 70% และผู้ประกอบการได้ประโยชน์ 30% ดังจะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนเช่นเดียวกับจำนวนส.ส.ที่มาจากการแต่งตั้ง/เลือกตั้งตามข้อเสนอของสุริยะใส

 

อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างประชาธิปไตยแบบโควต้าอ้อยของสุริยะใส กับ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลของรัฐ คือ ในขณะที่พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลได้ให้ประโยชน์แก่ชาวไร่ หรือ คนส่วนใหญ่ถึง 70% และผู้ประกอบการ หรือชนชั้นนายทุนเพียง 30% ประชาธิปไตยแบบโควต้าอ้อยได้ให้อำนาจแก่คนกลุ่มน้อย หรือส.ส.ที่มาจากการแต่งตั้งถึง 70% และให้อำนาจแก่ประชาชนเพียง 30% ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยแบบโควต้าอ้อยกลับล้าหลังยิ่งกว่าโควตาอ้อยเสียอีก

 

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบประชาธิปไตยแบบโควต้าอ้อย กับประชาธิปไตยแบบตัวแทนในปัจจุบันแล้ว จะเห็นได้ว่า ในขณะที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้ให้อำนาจแก่ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% หรือ ประชาชนมีอำนาจ 100% แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบโควต้าอ้อยของสุริยะใสกลับลดความสำคัญของประชาชนลง โดยประชาชนมีอำนาจเพียง 30% และบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจถึง 70% ข้อเสนอนี้จึงล้าหลังและบั่นทอนอำนาจประชาชนเป็นอย่างมาก

 

แม้บางคนอาจกล่าวว่า ให้อำนาจแก่คนดีมีคุณธรรมที่ถูกคัดเลือกมา 70% ดีกว่าให้อำนาจแก่คะแนนเสียงที่ด้อยคุณภาพ 100% เพราะ อย่างน้อยก็จะได้คนดีมาปกครอง ทว่าเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า "คนดี" ในที่นี้ คือ คนดีอย่างแท้จริง และ "ใครเป็นคนตัดสินว่าเป็นคนดี" เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราอาจได้เพียง "คนดี" ของผู้มีอำนาจในการแต่งตั้ง ซึ่งอาจเป็น "คนเลว" สำหรับประชาชนก็เป็นได้ (และอย่าลืมว่าพวกนี้มีอำนาจปกครองประชาชนเสียด้วย)

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่านายสุริยะใสนั้นได้แสดงตรรกะที่สับสนและขัดแย้งในตัวเองออกมา ด้านหนึ่งบอกว่า "ทำเพื่อประชาธิปไตย" แต่อีกด้านหนึ่ง กลับเสนอแนวทางที่ขัดต่อประชาธิปไตย และเรียกร้องการทำรัฐประหาร"ตกลงแล้วข้อเสนอของสุริยะใสเป็นข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่ออะไรกันนี่?"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท