Skip to main content
sharethis

ดร.โสภณ พรโชคชัย* (sopon@area.co.th)


 


 


ท่านทราบหรือไม่ ธุรกิจใดที่รับผิดชอบต่อสังคมสูงสุด


คำตอบก็คือ ธุรกิจที่ทำกำไรสูงสุด นั่นเอง!


 


บางท่านอาจแย้งว่า ธุรกิจที่ทำกำไรได้สูงสุด อาจเป็นเพราะขูดรีดแรงงานสูงสุด หรือเป็นธุรกิจที่หลบเลี่ยงภาษีก็ได้ นี่คือมโนทัศน์ที่เกิดขึ้นจากสังคมที่บิดเบี้ยว บิดเบือนและด้อยพัฒนาที่เราเห็นจนเคยชินอยู่ทุกวัน


 


แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจที่ทำกำไรได้สูงสุด ย่อมหมายถึงธุรกิจที่มีระบบการบริหารที่ดีที่สุดในเชิงเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น ระบบบริหารที่ดีไม่ใช่ได้มาด้วยการเอาเงินไปซื้อมาเป็นสำคัญ แต่แสดงถึงการมีทักษะ หรือ Know-how ที่ดี ไม่ใช่ต้อง Know-who อย่างที่พบเห็นบ่อยครั้งในสังคมที่ต้องหมอบราบคาบแก้วกับความชั่วร้ายเพียงเพื่อการเอาตัวรอดทางธุรกิจไปวัน ๆ


 


ระบบบริหารที่ดีที่ทำให้ธุรกิจได้กำไรสูงสุดยังหมายถึงการมี CEO ที่ดี เราจึงควรส่งเสริมการเรียนรู้ว่า ธุรกิจและ CEO จะบริหารจนธุรกิจทำกำไรสูงสุดได้อย่างไร (บนพื้นฐานที่ไม่โกง) การทำกำไรสูงสุดโดยไม่เบียดเบียนใคร ไม่ใช่ตราบาปหรือเคราะห์กรรมที่เราพึงปกปิด หลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึง แต่ความสามารถในการทำกำไรสูงสุดควรได้รับการยกย่องอย่างโอ่อ่าเปิดเผย และเป็นการแสดงทักษะในการบริหารอย่างน่าภาคภูมิใจของ CEO ที่แท้จริง


 


นี่จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ศาสตร์และศิลปของการทำธุรกิจที่ตรงไปตรงมา สัตย์ซื่อถือคุณธรรมอย่างแท้จริง ที่ไม่ใช่การทำธุรกิจแบบ "มวยวัด" หรือเป็นแบบ "ปากคาบคัมภีร์ (CSR)" หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งเป็นเรื่องเหลวไหลไร้แก่นสาร


 


ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ ธุรกิจที่ทำกำไรสูงสุดนั้น ย่อมเสียภาษีสูงสุด ผู้ที่เสียภาษีสูงสุดย่อมเป็นผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมสูงสุดในทางหนึ่ง จะเห็นได้ว่าภาษีรายได้ของธุรกิจของไทยนั้นเสียในอัตราประมาณ 30% ของกำไรสุทธิ ยิ่งธุรกิจใดมีกำไรมาก ก็ยิ่งเสียภาษีมาก


 


กลุ่มผู้ที่เสียภาษีมากที่สุดในประเทศไทยก็คือธุรกิจเอกชนนั่นเอง เสียภาษีมากกว่าตาสีตาสาที่เสียภาษีทางอ้อมต่าง ๆ เสียอีก อาจกล่าวได้ว่าเฉพาะเขตบางรักเขตเดียว ธุรกิจทั้งหลายเสียภาษีสูงกว่าชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาคด้วยซ้ำไป


 


เราควรเข้าใจว่าภาษีทุกบาททุกสตางค์ นำไปพัฒนาประเทศ ที่ประเทศเรามีทางด่วน รถไฟฟ้า โทรศัพท์ ถนน ฯลฯ ก็ล้วนมาจากภาษีแทบทั้งสิ้น ส่วนที่จะมีใคร "งาบ" ภาษีไป ก็อยู่ที่กลไกของรัฐในการตรวจสอบ เราจะ "มั่ว" ใช้ "อารยะขัดขืน" พาลไม่จ่ายภาษี คงไม่ได้


 


ผมขอขยายความประเด็นการ "งาบ" หรือโกงกินทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ ซึ่งผู้มีอำนาจควรดำเนินการให้เด็ดขาด ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง การโกงกินไม่อาจหมดไปได้ด้วยการออกมารณรงค์ต่อต้าน ซึ่งถือว่าเป็นการ "เกาไม่ถูกที่คัน" และดำเนินไปเพียงเพื่อปกปิดความชั่วด้วยการเบนให้ประชาชนเข้าใจว่าเราพยายามต่อสู้กับการโกงกิน แต่แท้ที่จริง กลับ "เอาหูไปนา ตาไปไร่" เปิดโอกาสให้เกิดการโกงกินเพิ่มขึ้นทุกหย่อมหญ้านั่นเอง


 


กลับมาเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เราลองคิดดูว่า ธุรกิจที่เสียภาษี 10 ล้านบาท กับธุรกิจที่เสียภาษี 1 ล้านบาท ใครแสดงว่ามีความรับผิดชอบหรือเกื้อหนุนต่อประเทศชาติมากกว่ากัน หรือถ้าคิดให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นก็คือการเปรียบเทียบระหว่างธุรกิจที่เสียภาษี 10 ล้าน แต่บริจาคเพียง 1 แสนบาท (1% ของกำไรซึ่งดูคล้ายตระหนี่) กับธุรกิจที่กำไร 1 ล้าน แต่ก็บริจาค 1 แสนบาท (10% ของกำไรซึ่งดูคล้ายใจกว้าง)


 


โดยนัยนี้เราจึงคงพอเห็นได้ว่า การทำดีเอาหน้านั้นเป็นเช่นใด การทำดีเช่นนี้ ไม่ได้ก่อโภคผลใด ๆ ให้กับสังคม นอกจากการ "ได้หน้า" ของคนทำดีเป็นสำคัญ ในการทำดี "เอาหน้า" นั้น CEO ควรเป็นผู้ควักเงินออกเอง ไม่ใช่ไป "ไถ" จากคู่ค้า (Suppliers) และไม่ควรทำโดยเอาที่เงินปันผลที่พึงได้ของผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะรายย่อยไปทำดีเอาหน้าให้กับตัว CEO เอง


 


ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมี CEO ที่บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะเสียภาษีถูกต้องและเป็นจำนวนมากเพื่อนำมาพัฒนาประเทศแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ยังไม่เป็นภาระให้รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีอากรมาโอบอุ้มอีกต่างหาก


 


เราคงเคยเห็นธนาคารที่เชิดหน้าชูตาหรือได้รับรางวัลมากมายด้าน "ความรับผิดชอบต่อสังคม" กลับ "ล้มบนฟูก" รัฐบาลต้องตั้งกองทุนมาฟื้นฟูต่าง ๆ นานา ธุรกิจหลายแห่ง หลายแขนง รัฐบาลก็ต้องเอาเงินภาษีอากรไปอุดหนุน เช่น ช่วยค่าน้ำมัน ช่วยประกันราคา ช่วยรับซื้อสินค้า ฯลฯ บางแห่งถึงขนาดนัดหยุดให้บริการจนประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ธุรกิจเหล่านี้ นอกจากจะขาดความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ยังเป็นปัญหาและสร้างภาระให้กับสังคมด้วยหรือไม่


 


ดังนั้นธุรกิจที่ทำกำไรมาก เสียภาษีมาก จึงมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมเป็นอย่างมาก ธุรกิจถือเป็น "กระดูกสันหลัง" ของความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะหากไม่มีภาษีจากธุรกิจเหล่านี้มาหล่อเลี้ยงประเทศแล้ว ประเทศไทยก็คงตกต่ำไม่ต่างจากประเทศหลายแห่งในทวีปอาฟริกาที่มีแต่คนจนที่รอเศษซากความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติเท่านั้น


 


CEO และสังคมจึงควรทำความเข้าใจความรับผิดชอบต่อสังคมในแนวใหม่ อย่าลืมนะครับ ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมสูงสุด ก็คือ ธุรกิจที่ทำกำไรสูงสุด นั่นเอง!


 


--------------------------


 


* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นประธานกรรมการศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA (www.area.co.th) ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีฐานข้อมูลที่กว้างขวางที่สุดในไทยและเริ่มสำรวจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 ขณะนี้ยังเป็นประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@area.co.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net