Skip to main content
sharethis

ทิพย์อักษร มันปาติ ... เรียบเรียง


แนวคิดของรัฐบาลที่หวั่นวิตกยิ่งว่าประเทศไทยอาจเกิดปัญหาการมีทรัพยากรน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค จนกระทั่งเป็นเหตุผลหนึ่งของการชูนโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ นั่นหมายความว่า จะมีโครงการใหญ่ยักษ์ติดตามมาเพื่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ เช่น เขื่อน และโครงการผันน้ำจากแม่น้ำสายต่างๆ ทั่วประเทศมาใช้ รวมถึงแม่น้ำโขง-สายน้ำนานาชาติ ที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ และเป็นแหล่งทำมาหากินของชนชาติพันธุ์ที่หลากลายสายน้ำสาละวิน อีกหนึ่งแม่น้ำนานาชาติที่ยังไหลได้อย่างอิสระ ยังไม่มีสิ่งก่อสร้างอันไม่เป็นธรรมชาติมากีดขวาง ก็ถูกหมายมั่นไว้เป็นแหล่งทำโครงการเขื่อน-ผันน้ำแล้ว


นโยบายดังกล่าวของรัฐบาล นอกจากจะมีข้อถกเถียงหลายประการเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศแล้ว ยังมีคำถามเกี่ยวกับลักษณะการดำเนินงานว่ามีความโปร่งใส จริงใจ หรือจะเป็นโครงการที่นำไปสู่การสร้างผลประโยชน์มวลรวมแห่งชาติให้แก่ประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่...


ติดตามอ่านมุมมองความคิดของ อาจารย์ไพสิฐ พาณิชกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งบรรยายไว้ในงานเสวนา "ความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ในกระบวนการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ในภาคเหนือ" กรณี โครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล, โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น, โครงการเขื่อนสาละวิน ณ ห้องประชุม บ้านธารแก้ว มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2551 ที่ผ่านมา  


………………………………….


 


อาจารย์ไพสิฐ พาณิชกุล



ยึดหลักธรรมาภิบาลตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ เพื่อประโยชน์สุขสาธารณะ


โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งตามที่รัฐบาลนี้พยายามจะผลักดัน หลีกหนีไม่ได้ที่จะต้องโยงเข้ากับความโปร่งใสในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราจะต้องพูดกับผู้ใช้อำนาจรัฐ เราจะต้องพูดด้วยหลักการที่สามารถมัดให้อยู่หมัดได้ว่า รัฐต้องอยู่ภายใต้การใช้อำนาจทางกฎหมาย


ทั้งนี้ หากโยงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานที่ดีในทางการเมืองเข้ากับโครงการเขื่อน ซึ่งรัฐบาลต้องการผลักดัน มีประเด็น 2 ประเด็นหลักที่ต้องตั้งคำถาม คือ 1. ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดกระบวนการในการตั้งคำถามกับเป้าหมายของการตัดสินใจในการใช้อำนาจ ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ในฐานะที่เป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ 2. การตั้งคำถามกับกระบวนการใช้อำนาจกับคนที่เข้าไปอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ในฐานะบุคคล แต่เป็นในฐานะผู้นำประเทศ


สิ่งที่คุณสมัครพูดในรายการวิทยุ กรณีนโยบายเร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่ในภาคเหนือหลายโครงการ ได้แก่ โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำท่าซาง โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น และโครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล (บางโครงการไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทยโดย ได้แก่ โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำท่าซาง ทั้งสองโครงการตั้งอยู่ในประเทศพม่า ใกล้ชายแดนไทยด้าน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงใหม่ตามลำดับ) นั้น ไม่ได้พูดในฐานะนายสมัคร แต่พูดถึงในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำ ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมของเราในฐานะที่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ และเป็นคนที่อยู่ในระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย


"ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะตั้งคำถามได้ว่าผู้นำจะพาเราไปทางไหน? จะพาเราไปตายหมู่หรือไม่? พาเราไปเสี่ยงภัยกับปัญหาสิ่งแวดล้อมกับปัญหาเรื่องของเขื่อนพัง หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางสุขภาพหรือไม่? เป็นกระบวนการการตรวจสอบการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีว่า มีการใช้อำนาจนำพาประเทศชาติไปสู่การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือไม่?"  


พ.ร.ก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 เป็นกฎหมายที่ไม่ได้นำมาบังคับใช้แต่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เป็นราชการเท่านั้น แต่ยังใช้กับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วย โดยเฉพาะนโยบายที่จะเขื่อนโยงไปถึงเรื่องไฟฟ้า ทั้งนี้ พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นจากเคลื่อนไหวของภาคสังคมในระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปีที่ผ่าน ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งทำให้เกิดการปรับตัวของหน่วยงานภาครัฐ และนำไปสู่การมีกฎหมายที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องเคารพ ฉะนั้นหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เกณฑ์ภายใต้ พ.ร.ก.นี้ ถือเป็นรากฐานที่ประชาชนสามารถหยิบยกไปพูดกับรัฐได้


ทั้งนี้ มีแนวทางการใช้อำนาจของรัฐในการนำไปสู่การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีทั้งหมด 7 ประการ ในมาตรา 6 คือ 1. เกิดประโยชน์สุขของประชาชน 2. เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ 3. มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ 4. ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น 5. มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ 6. ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ และ 7. มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ


"การตรวจสอบการบริหารกิจการเพื่อสังคมที่ดี หรือธรรมาภิบาล (good governance) ไม่ได้พูดแต่เฉพาะเมืองไทย และไม่ได้พูดถึงแค่ภาครัฐ แต่ภาคเอกชนก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากคลี่เกี่ยวกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการผันน้ำในภาคเหนือจะพบว่ามีทั้ง รัฐบาลไทย รัฐบาลจีน รัฐบาลพม่า บริษัทที่เข้ามาลงทุน รวมทั้งรัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็ต้องถูกตรวจสอบเรื่องธรรมาภิบาลเหมือนกัน ว่าได้ใช้อำนาจ หรือทำโครงการตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาลด้วยหรือไม่"  


ทั้งนี้ ในกรณีของภาคเอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อน จำเป็นต้องถูกตั้งคำถามและถูกตรวจสอบด้วยว่า การที่บริษัทนั้นเข้ามาลงทุนดำเนินโครงการเขื่อนในระดับภูมิภาค ในขณะที่สิ่งที่บริษัทโฆษณาปรัชญาในตลาดหลักทรัพย์ไว้ว่าเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงหรือไม่ เพราะมีหลายบริษัทที่อ้างความเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อทำให้ภาพลักษณ์ในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ดูดี แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้มีการนำเอาหลักความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR: CORPORATE SOCIAL RESPONSIBILITY) มาใช้อย่างจริงจัง


"มีองค์กรภาคทางเงินที่คอยให้คะแนนวัดรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ว่าให้ความสำคัญ และดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ ดังนั้นในการเคลื่อนไหวต่อสู้ และตรวจสอบความโปร่งใส ไม่ชอบธรรมขององค์กรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน นอกจากการจะเคลื่อนโดยคนกลุ่มเล็กๆ แล้ว ยังต้องจับมือกับองค์กรภาคการเงินที่เขาทำหน้าที่ตรวจสอบบริษัทต่างๆ เหล่านี้ด้วยว่า บริษัทได้ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลจริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีนักการเงิน หรือนักทุนนิยมทางเลือกที่เป็นกระแสรองหยิบเอาประเด็นเหล่านี้ ขึ้นมาตั้งคำถามตรวจสอบบริษัท ตรงนี้จะมีผลต่อการปรับตัวของบริษัทในการตัดสินใจว่าต้องปรับตัวอย่างไร หรือจะถอนการลงทุนในโครงการที่ส่อเค้าว่าไม่โปร่งใส เป็นธรรม หรือไม่ เป็นแนวทางการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไม่ได้รุกแต่เฉพาะส่วนที่เป็นภาครัฐอย่างเดียว แต่ยังเป็นภาคส่วนที่เป็นคนลงทุนในการเข้ามาหาผลประโยชน์ด้วย"  


สร้างเขื่อนปลายน้ำ คุ้มค่าหรือไม่?


ภายใต้เกมส์ความร่วมมือกันของ 3 รัฐบาล คือ จีน พม่า และไทย ในการผลักดันโครงการเขื่อน มีประเด็นที่ต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลไทย รวมถึงเป้าหมายในการใช้อำนาจของรัฐบาลไทยว่าจะได้อะไรจากการสร้างโครงการนี้ เพราะทันทีที่ประเทศไทยตัดสินใจสร้างเขื่อนปลายน้ำ โดยที่มีจีน มีพม่าอยู่ด้านบนของสายน้ำ สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ เมื่อนั้นเราตกเป็นเชลยทันที เหตุผลก็เพราะว่าเมื่อเราลงทุนสร้างเขื่อนและหวังพึ่งน้ำจากสาละวิน เมื่อน้ำไม่ถูกปล่อยออกมา เขื่อนข้างล่างก็ไม่มีความหมาย ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ มีหลักประกันอย่างไรว่าการลงทุนของไทยจะไม่ทำให้ประเทศอยู่ในฐานะที่เป็นเบี้ยล่าง เหมือนกับบทเรียนที่เราต้องสรุปคือบทเรียน FTA ที่ไทยไปเซ็นต์สัญญากับจีน แต่แล้วสินค้าของเราก็ไม่สามารถเข้าไปขายในจีนได้ เนื่องจากว่ามีต้นทุนในการขนส่ง รวมถึงมาตรการกีดกันสินค้าต่างๆ ของจีน ซึ่งมันไม่ได้อยู่ในการคิดมาก่อน


สร้างเขื่อนบนสายน้ำนานาชาติ ก่ออาชญากรรมมนุษย์-สิ่งแวดล้อม ข้ามขอบแดน


การทำเขื่อนในลักษณะที่เป็นโครงการใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 ประเทศ จีน พม่า และไทย จะมีเขื่อนผุดขึ้นหลายแห่งตลอดทั้งสายน้ำสาละวิน การกระทำแบบนี้มันนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการทำให้เกิดอาชญากรรม ทั้ง อาชญากรรมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการละเมิดอันเป็นความผิดสากล และอาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน


"ต้องตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทย จีน และพม่า รวมถึงองค์กรการไฟฟ้า และบริษัทร่วมทุนทั้งหลาย ท่ามกลางกระแสโลกร้อนที่คนพยายามรณรงค์กันอยู่ บริษัทต่างๆ เหล่านี้ได้เห็นความสำคัญ หรือเข้าไปมีส่วนในฐานะเป็นตัวการผู้ใช้ ผู้สนับสนุนในการก่อให้เกิดอาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยขนาดไหน และอย่างไร เพราะไม่ว่าโครงการเขื่อนที่จะเกิดขึ้นอยู่ข้างนอกประเทศก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะมันจะเป็นผลกระทบต่อประชาชนทั้งในประเทศและต่อมนุษยชาติ เพราะสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังพูดถึงเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ไร้พรมแดน"  


อำนาจตัดสินใจโครงการใหญ่ ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม


โครงการสร้างเขื่อนเป็นโครงการเก่า แต่ยังไม่เกิดขึ้นสักที อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนโครงการที่อาศัยจังหวะทางการเมืองในขณะที่นายกรัฐมนตรีสมัครได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้นำ จากพรรคพลังประชาชนซึ่งได้เสียงข้างมากในสภา ดังนั้นจึงอ้างว่าเมื่อได้รับการเลือกตั้งมาแล้วจะตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างได้มันจริงหรือไม่?


"การอ้างใช้เสียงข้างมากในสภาตัดสินใจดำเนินโครงการ เป็นนัยยะสำคัญในทางการเมืองที่สะท้อนถึงอุดมการณ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบล้าหลังที่สุด คือมองว่า เมื่อประชาชนหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมีสิทธิ์ขาดอยู่ที่รัฐบาลที่ได้รับเลือก ในขณะที่โลก ขยับไปไกลแล้ว คือ คนในสังคมมีการรับรู้ประชาธิปไตยอีกแบบที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย"   


ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 2540 และ 2550 ระบุถึงความสำคัญในมิติสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการทำโครงการต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งเหล่านี้ ต้องตระหนักว่า 1. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งน่าจะเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในทางสิ่งแวดล้อม และมีหน้าที่ในการพิจารณาโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้ใช้ความกล้าหาญในทางจริยธรรมในการพิจารณาโครงการนี้อย่างตรงไปตรงมามากน้อยแค่ไหน 2. เรื่องสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิ์ขาดว่าไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจในเวทีการเมืองอีกต่อไป ฉะนั้นการหยิบโครงการขึ้นมาเพื่อที่จะปัดฝุ่นและผลักดันต่อไป ต้องใช้หลักวิชาการ ต้องใช้ความเห็นที่เป็นเหตุเป็นผล ต้องใช้กระบวนการในการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนท้องถิ่น เพื่อเป็นการตรวจสอบกระบวนการใช้อำนาจ ว่าเป้าหมายการใช้อำนาจนั้น ทำให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนหรือไม่ 


"การทำโครงการให้เกิดเกิดสัมฤทธิ์ผล และเกิดประโยชน์สุขของประชาชน ไม่ได้ดูที่ว่าได้ไฟฟ้ามากี่เมกกะวัตต์ หรือได้รายได้เข้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เท่าไร แต่ต้องดูที่ประโยชน์สุขของประชาชนทั้งประเทศ และเป็นแนวทางการพัฒนาพลังงานที่ไม่ทำลายความหลากหลายของสิ่งแวดล้อม ทำลายป่า และทำลายชาติพันธุ์"


นอกจากนี้ โครงการหรือนโยบายใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การบริหารดำเนินงานแบบธรรมาภิบาล ต้องมีการนำเสนอความคิด และข้อมูลทั้งหลายที่ถูกปกปิดอยู่ออกมาเพื่อทำให้เห็นภาพ ต้องมีกระบวนการที่ตั้งอยู่บนการเปิดกว้างในการมีส่วนร่วม


"การรณรงค์ ต่อสู้เพื่อให้ยุติโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบ ยังจำเป็นต้องทำให้กลายเป็นประเด็นในเวทีระหว่างประเทศด้วย ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งทำให้การเคลื่อนไหวมันมีน้ำหนัก จำเป็นต้องสร้างเวทีการพูดคุย เจรจา ต่อรองกัน ไม่ใช่มาปิดประตูทุบโต๊ะ."

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net