Skip to main content
sharethis




สมชาย ปรีชาศิลปกุล


 


 


 


 


ผู้ประสานงานของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้แสดงความเห็นว่าควรมีการปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือกผู้แทนซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากกระบวนการการเลือกตั้ง ให้กลายเป็นมาจากการเลือกตั้งจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์ ให้สรรหามาจากบุคคลในกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ (รายการข่าว 19.00 น. สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. วันที่ 23 มิถุนายน 2551)


 


ด้วยการให้เหตุผลว่าระบบการคัดเลือกในแบบเลือกตั้ง 30/สรรหา 70 จะสามารถป้องกันปัญหาแบบที่เคยเกิดขึ้นภายใต้ระบอบทักษิณและรวมถึงการเกิดขึ้นของรัฐบาลนอมินีได้


 


ความเห็นเช่นนี้คงเป็นผลมาจากการตระหนักได้แล้วว่าถึงจะสามารถไปได้ไกลที่สุดเท่าที่พันธมิตรฯ จะสามารถปั่นให้เป็นไปตามความต้องการก็คือการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ถึงกระนั้นก็ตาม พรรคพลังประชาชนก็ยังคงใหญ่มากพอที่จะกลับมามีบทบาทในรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ หรือต่อให้มีการยุบสภาเกิดขึ้น สมาชิกของพรรคพลังประชาชนก็มีโอกาสไม่น้อยในการได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาใหม่


 


ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่ข้อเสนอที่แสนมหัศจรรย์พันลึกเช่นนี้น่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดพื้นฐานของบรรดาท่านผู้นำในขบวนการกู้ชาติได้อย่างชัดเจนที่สุด อันมีความหมายถึงความไม่เชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภาที่ยอมรับในสิทธิการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมของประชาชน หรือหากกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้นก็คือ การไม่เคารพต่อความสามารถในอัตตวินิจฉัยของคนส่วนใหญ่ในสังคมผ่านระบบการเลือกตั้ง


 


การอธิบายว่าระบบเลือกตั้งในปัจจุบันเป็นที่มาของปัญหา ย่อมหลีกไม่พ้นที่จะกราดนิ้วไปยังบรรดามวลเหล่ารากหญ้าซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนสืบเนื่องมาจนถึงพรรคพลังประชาชนว่าเป็นต้นตอของความยุ่งยาก ก็ไม่เห็นกันหรือว่าเมื่อให้มีการเลือกตั้งอย่างเสมอหน้า ก็ล้วนแต่เลือกเอาบรรดาเครือข่ายของระบอบทักษิณเข้ามาเป็น ส.ส. แทบทั้งสิ้น


 


เมื่อเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมดก็ไม่ต้องคิดอะไรกันให้มาก ทางออกที่ต้องกระทำก็ด้วยการให้เหลือสัดส่วนของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ดีกว่า จากนี้ไปในจำนวนนี้เหล่ารากหญ้าจะเลือกใครมาก็ย่อมไม่อาจเป็นใหญ่ได้ เพราะยังมีอีกกลุ่มใหญ่ที่คอยกำกับความเป็นไปในทางการเมืองเอาไว้    


ถ้ามีการเปลี่ยนระบบคัดเลือกผู้แทนให้เป็นไปตามที่พันธมิตรฯ ได้เสนอเอาไว้ ผมก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาแบบที่เคยเผชิญกันมาในยุคของพรรคไทยรักไทยก็คงยากจะเกิดขึ้นอีกครั้งอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแบบนี้นำไปสู่แสงสว่างหรือหลุมลึกที่ปลายอุโมงค์กันแน่


 


ควรจะต้องทบทวนกันก่อนว่าระบบการคัดเลือกผู้แทนในรูปแบบที่คล้ายกับที่ถูกเสนอขึ้นมา ได้เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมานับครั้งไม่ถ้วนโดยเฉพาะในยุคเผด็จการทหารครองเมือง ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 สืบเนื่องมาจนเกือบ 20 ปี และในช่วงเวลาหลัง พ.ศ. 2520 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 ก็ได้ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐสภา เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าหน้าที่หลักของบรรดา ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีนี้ก็คือ การค้ำยันอำนาจของสถาบันทหารในการเมืองไว้


 


ทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก จะมีบทบัญญัติกำกับเอาไว้เสมอว่าให้คัดเลือกจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่เขียนเอาไว้ว่าให้แต่งตั้งจากข้าราชการระดับสูง


 


แต่ทุกครั้งก็ลงท้ายด้วยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งก็มาจากคนกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่นั่นแหละ


 


แน่นอนอาจเถียงกันได้ว่าการสรรหานี้จะให้มาจากตัวแทนของแต่ละอาชีพ หรือด้วยกระบวนการสรรหาที่แตกต่างออกไปหรืออะไรก็ตามทีเถิด เรื่องนี้ก็ยังคงสามารถมีข้อโต้แย้งและถกเถียงกันได้อย่างกว้างขวาง แต่สิ่งหนึ่งที่ยากจะปฏิเสธได้คือข้อเสนอนี้มุ่งจะตอบสนองต่อความเห็นของกลุ่มตนเองเป็นหลัก โดยคิดว่าความเห็น ทรรศนะหรือจุดยืนทางการเมืองของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเท่านั้นที่ถูกต้องเหมาะสม และเป็นความดีงามอันประเสริฐที่ควรถูกยึดถือเอาไว้


 


การเลือกตั้งก็ต้องเลือกแบบอั๊วจึงจะเป็นการลงคะแนนที่ควรได้รับความสำคัญมากกว่าบรรดาพวกหน้าโง่ทั้งหลาย


 


โดยไม่เคยตั้งข้อสงสัยว่าทำไมรากหญ้าจำนวนมากจึงยังคงเหนียวแน่นกับพรรคไทยรักไทยหรือพลังประชาชน


 


ถ้าจะคิดทำความเข้าใจกันมากขึ้นก็จะทำให้เห็นได้ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนจำนวนมากยังคงตัดสินใจต่อการเลือกตั้งไปในทิศทางดังกล่าว อาจเป็นเพราะนโยบายที่เห็นหัวคนจนมากกว่าที่เคยมีรัฐบาลชุดใดได้เคยทำ หรืออาจเพราะได้ทุ่มเทเอางบประมาณจำนวนมากข้ามหัวราชการมาสู่ท้องถิ่น


 


จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงปัญหาของสังคมการเมืองไทย เมื่อมีความสามารถในการมองอย่างรอบด้านมากขึ้น การแก้ไขปัญหาก็จะดำเนินไปด้วยการตระหนักถึงสิ่งที่เป็นอยู่จริงในสังคมไทย เช่น อาจต้องมีการสร้างหลักประกันแก่คนชั้นล่างในสังคมไทยว่าจะได้รับสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึงไม่ว่าใครหน้าไหนจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม


 


แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่เกิดขึ้น นอกจากความเชื่อว่าเพราะรากหญ้าโง่ จน เจ็บและถูกมอมเมาด้วยนโยบายประชานิยม ดังนั้นจึงควรมีสิทธิในระบอบการคัดเลือกผู้แทนแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ก็พอแล้ว


 


พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยได้นำมาสู่ความคิดที่สำคัญคือความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างบุคคลไม่ว่าจะรวย จน ผิว เชื้อชาติ ศาสนาใดก็ตาม ด้วยการที่ทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ต่างคนจึงต่างมีเสียงที่สามารถสะท้อนความเห็น ความต้องการและความปรารถนาของตนหรือกลุ่มของตนออกมา


 


บางทีข้อเสนอของพันธมิตรฯ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดไปจากความคาดหมายแต่อย่างใด หากพิจารณาไปถึงแนวทางการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในหลายครั้ง ข้อที่อาจทำให้เกิดคำถามก็คือบางทีประชาธิปไตยในความหมายของพันธมิตรฯ อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยกำลังคิดกันอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบันนี้ก็ได้


 


 


 


 


หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2551


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net