กรรมาธิการฯ คองเกรส ติงผู้แทนการค้าสหรัฐ ไทยมีสิทธิใช้ CL เรียกร้องสร้างสมดุลการค้า-สาธารณสุข

26 มิ.ย.51  คณะกรรมาธิการ ways  and means ของสภาคองเกรส ซึ่งดูแลในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับด้านภาษี และด้านสังคม ทำหนังสือถึงนางซูซาน ชวาบ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เรียกร้องให้เปลี่ยนท่าทีมาส่งเสริมการวิจัย ค้นคว้านวัตกรรมด้านเภสัชกรรมและสุขภาพของผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาในการเจรจาการค้าใดๆ ของสหรัฐฯ นอกจากนี้คณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าวยังไม่สนับสนุนเนื้อหาในรายงานมาตรการ 301 พิเศษประจำปี 2008 (special 301) ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยได้ เพราะรายงานระบุว่า มาตรการบังคับใช้สิทธิ์ (CL) ภายใต้ข้อตกลงทริปส์ขัดกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา คำกล่าวอ้างนี้ปราศจากคำอธิบายและเห็นได้ชัดว่าขัดแย้งกับคำประกาศของประเทศสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกขององค์กรการค้าโลกที่ประกาศร่วมกันในปี พ.ศ. 2544  ในคำประกาศระบุว่า "สมาชิกทุกประเทศมีสิทธิในการนำมาตรการบังคับใช้สิทธิ์มาใช้ และมีเสรีภาพที่จะยกเหตุผลมากล่าวอ้างเพื่อที่จะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้"

 

ในจดหมายดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯ ยังเรียกร้องให้ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ดำเนินการเพื่อสร้างหลักประกันว่า คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจะเข้าไปเป็นตัวแทนอยู่ในระบบคณะกรรมการที่ปรึกษาการค้าที่เป็นทางการ ซึ่งกำลังจะมีการตั้งคณะที่ปรึกษาชุดใหม่ขึ้นเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาสาธารณสุขต่างๆ รวมถึงที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาด้วย

 

 

 

0000

 

 

 

 





26 มิถุนายน 2551

พณฯ ท่านซูซาน ซี. ชวาบ

ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ

600 ถนนเลขที่ 17 ต.น.

วอชิงตัน ดีซี 20508

 

เรียน ท่านฑูตชวาบ

 

เราขอเรียกร้องให้ท่านเปลี่ยนท่าที โดยส่งเสริมการวิจัยค้นคว้านวัตกรรมด้านเภสัชกรรมและสุขภาพของผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาในการเจรจาและการหารือใดๆ กับหุ้นส่วนการค้าของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้น  นอกจากนี้ เรายังเรียกร้องให้ท่านดำเนินการเพื่อให้คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขมีโอกาสให้คำปรึกษาแก่ท่านในเรื่องการพัฒนานโยบายด้านการค้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขอย่างเป็นทางการ

 

ตามที่สหประชาชาติได้มีรายงานออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ประชากรโลกร้อยละ 15 ในปัจจุบันเป็นกลุ่มที่บริโภคยาร้อยละ 90 ของจำนวนยาทั้งหมดในโลก  การพัฒนาการเข้าถึงยาในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้ตอบสนองวัตถุประสงค์ด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางที่บริษัทวิจัยและค้นคว้านวัตกรรมด้านเภสัชกรรมของสหรัฐฯ จะสามารถขยายโอกาสได้ด้วย  บริษัทยาจะไม่ได้รับอะไรเลยหากผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงเภสัชภัณฑ์ของบริษัทเหล่านี้

 

เช่นเดียวกับท่าน เราต่างทำงานมาตลอดเพื่อสร้างหลักประกันว่า หุ้นส่วนการค้าของเราจะไม่เลือกปฏิบัติกับบริษัทวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมทางเภสัชกรรมของสหรัฐฯ ที่ได้ทำงานเพื่อสร้างความก้าวหน้าที่แตกต่างในเรื่องสาธารณสุข  ตัวอย่างเช่น ประเทศหุ้นส่วนการค้าที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนหนึ่ง ได้นำมาตรการควบคุมราคาที่เรียกว่า "การอ้างอิงราคา (reference pricing)" และนโยบายชดเชยอื่นๆ มาใช้ ซึ่งในทางทฤษฏีแล้ว มาตรการและนโยบายดังกล่าวไม่น่าที่จะก่อให้เกิดข้อกังวลใดๆ แต่ในทางปฎิบัติ สามารถก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับยาที่วิจัยค้นคิดใหม่ของประเทศสหรัฐฯ โดยเอื้อประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศได้ มาตรการที่เลือกปฏิบัติเช่นนี้ไมได้นำไปสู่การทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง กลับก่อให้เกิดความเสียหาย  ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้สนับสนุนให้มีแนวทางการทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ไขมาตรการที่เลือกปฏิบัติ และเราสนับสนุนความพยายามที่ท่านและท่านอื่นๆ ในคณะรัฐบาลได้ทำงานร่วมกับเราในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

 

อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถสนับสนุนเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในรายงานมาตราการ 301 พิเศษประจำปี 2551 (The 2008 Speical 301 Report) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยได้  ในรายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่ามาตรการบังคับใช้สิทธิ์ ซึ่งเป็นสิทธิภายใต้ข้อตกลงทริปส์ โดยตัวของมันเองขัดกับการคุ้มครองสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งควรมีในระดับที่ "เพียงพอและมีประสิทธิภาพ"  คำกล่าวอ้างนี้ปราศจากคำอธิบายและเห็นได้ชัดว่าขัดแย้งกับคำประกาศของประเทศสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกขององค์กรการค้าโลกที่ประกาศร่วมกันในปี พ.ศ. 2544  ในคำประกาศระบุว่า "สมาชิกทุกประเทศมีสิทธิในการนำมาตรการบังคับใช้สิทธิ์มาใช้ และมีเสรีภาพที่จะยกเหตุผลมากล่าวอ้างเพื่อที่จะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้"

 

การนำมาตรการบังคับใช้สิทธิ์มาใช้อาจทำให้เกิดข้อวิตกกังวลในทางกฎหมายในบางกรณี  ตัวอย่างเช่น มาตรการบังคับใช้สิทธิ์ควรจะนำมาใช้เป็นรายกรณีไป แทนที่จะนำมาใช้เป็นนโยบายแบบเหมารวม   นอกจากนี้ เมื่อรัฐบาลนำมาตรการบังคับใช้สิทธิ์มาใช้ รัฐบาลนั้นจำเป็นต้องจ่าย "ค่าตอบแทนที่เพียงพอเป็นรายกรณีไป" แก่ผู้ทรงสิทธิ์  แต่กระนั้น เราจะสรุปแบบง่ายๆ และหยาบๆ ไม่ได้ว่า มาตรการบังคับใช้สิทธิ์ โดยความจำเป็นและโดยตัวของมันเอง ขัดกับสิทธิการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

 

ความไม่สมดุลระหว่างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมกับการเข้าถึงยาในประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ในความเป็นจริง อาจสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมดุลในกระบวนการให้คำปรึกษาที่คณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้รับจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศ  ในรายงานประจำปี พ.ศ. 2545 ในเรื่องระบบการให้คำปรึกษาด้านการค้า สำนักงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐที่มีชื่อว่า U.S. Government Accountability Office หรือ GAO พบว่า "ผู้มีส่วนได้เสียใหม่ในกระบวนการทางการค้า เช่น การสาธารณสุข [ผู้เชี่ยวชาญ] ... ได้ถูกจำกัดหรือไม่ได้มีส่วนร่วมในระบบคณะกรรมการที่เป็นทางการ"  เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในอีกห้าปีต่อมา GAO กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐสภาสหรัฐฯ ได้มอบอำนาจในการส่งเสริมการค้าให้ไปในปี พ.ศ. 2545 "ข้อมูลสาธารณสุขไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาประกอบในการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ เท่าที่ควร"

 

ดังนั้น เราจึงเรียกร้องให้ท่านดำเนินการเพื่อสร้างหลักประกันว่า คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจะเข้าไปเป็นตัวแทนอยู่ในระบบคณะกรรมการที่ปรึกษาการค้าที่เป็นทางการ  ทั้งนี้ หมายถึงการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาชุดใหม่ขึ้น ที่จะสามารถแก้ไขประเด็นปัญหาสาธารณสุขต่างๆ รวมถึงที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาด้วย หรือตั้งคณะกรรมที่ปรึกษาในเรื่องการค้าและการพัฒนาชุดหนึ่งขึ้นมา โดยที่แต่งตั้งตัวแทนด้านสาธารณสุขอยู่ในคณะกรรมชุดนี้และคณะกรรมการที่ปรึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือท่านอาจจะดำเนินการตามแนวทางทั้งสองนี้ควบคู่ไปด้วยกัน

 

ในการตกลงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม เราสามารถสร้างสมดุลที่ดีขึ้นระหว่างการสนับสนุนเรื่องการค้นคว้าวิจัยเพื่อนวัตกรรมด้านเภสัชกรรมและการเข้าถึงยาในประเทศกำลังพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ และเราหวังว่าเราจะสามารถทำงานร่วมกันกับท่านในอันที่จะทำให้สมดุลในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในเรื่องอื่นๆ ที่มีนโยบายกาค้าและการสาธารณสุขมาเกี่ยวข้องกัน

 

 

 

ด้วยความนับถือ

 

 


           
            (ลายเซ็น)                                                                          (ลายเซ็น)

พณฯ ชาร์ลส บี.แรนเกิล                                                     พณฯ แซนเดอร์ เอ็ม. เลวิน

 

 

(ลายเซ็น)                                                                        (ลายเซ็น)

พณฯ ราฮ์ม เอ็มมานูเอล                                                        พณฯ คริส แวน โฮลเลน

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท