Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องมาจากการชุมนุมของสมัชชาประชาชนและพันธมิตรจังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ บริเวณเทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี ได้เกิดการเผชิญหน้าของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดอุดรธานี และชมรมคนรักอุดร ซึ่งที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น


 


ในวันต่อมา (27 มิ.ย.) กลุ่มพันธมิตร อุดรฯ ได้ตั้งเวทีปราศรัยเพื่อโจมตีการทำงานของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี พร้อมเชิญนายชัยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำพันธมิตรฯ มาร่วมปราศรัย ก็มีการเผชิญหน้ากันอีกครั้ง โดยกลุ่มสมาชิกชมรมคนรักอุดร ซึ่งตั้งเวทีในบริเวณทุ่งศรี ต.หมากแข้ง อ.เมืองอุดรธานี ห่างจากจุดที่ตั้งเวทีของกลุ่มพันธมิตรอุดรฯ ประมาณ 400 เมตร ได้นำรถกระบะ ติดเครื่องขยายเสียงมากล่าวโจมตีกลุ่มพันธมิตร อุดรฯ ที่กำลังปราศรัย ก่อนจะเคลื่อนย้ายออกไปโดยที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น


 


จากนั้นรายงานข่าวระบุ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มคนรักอุดรฯ ภายใต้การนำของนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร และ กลุ่ม ส.ส.พรรคพลังประชาชน จ.อุดรธานี ได้เข้าปิดล้อมหน้าบ้านนายเจริญ หมู่ขจรพันธุ์ แกนนำพันธมิตรอุดรฯ หน้าตลาดบ้านห้วย ต.ในเมือง อ.เมืองอุดรธานี จนเกือบจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ทำให้ล่าสุดนายประกาศิต รูปสูง ผู้ประสานงานพันธมิตร อุดรฯ ออกมาประกาศตัดสินใจเลิกเวทีแล้วเพื่อยุติปัญหา โดยกล่าวว่าจะไปเข้าสมทบเวทีพันธมิตร ขอนแก่น และออกแถลงการณ์ประณามพฤติกรรมกลุ่มชมรมคนรักอุดร


 


ทั้งนี้ สมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด ได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 29 มิ.ย.ภายใต้ชื่อ "ในสถานการณ์สู้รบ ขอประณามการกระทำของกลุ่มอันธพาลอุดร และความเพิกเฉยไม่ดูแลประชาชนของผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และผู้บังคับการตำรวจอุดรธานี" ระบุประณามการกระทำที่อุกอาจและท้าทายกฎหมายของชมรมคนรักอุดร พร้อมเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจจังหวัดอุดรธานี ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดในการควบคุมดูแลความสงบ มิเช่นนั้นจะถือได้ว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่ทั้งสองยืนอยู่ข้างชมรมคนรักอุดรซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่เข้ามาก่อกวน


อีกทั้ง อาจเข้าข่ายละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ซึ่งอาจนำไปสู่การดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเรียกค่าเสียหายทางธุรกิจจากผู้ว่าฯ และผู้บังคับการตำรวจจังหวัดอุดรธานี ต่อไป


นอกจากนี้กลุ่มสันติอาสาอุดร ก็มีข้อเสนอ ต่อกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1.สำหรับกลุ่มประชาชนที่แสวงหาความสันติ ให้ช่วยกันออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกระทำอันป่าเถื่อน รุนแรง ด้วยการเสนอความเห็นของท่านไปยังส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีมาตรการ หรือการปฏิบัติอย่างจริงจังตามกฎหมาย ที่จะหยุดยั้งไม่ให้เหตุการณ์ต่างๆ ลุกลามออกไป จนเลยเถิดเกิดเหตุการณ์รุนแรง อีกทั้งเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ สร้างบรรทัดฐานที่ดีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน พร้อมแสวงหาขอมูล ข้อเท็จจริงเพื่อเผยแพร่สู่สังคมวงกว้าง


 


2.สำหรับกลุ่มชมรมคนรักอุดร ต้องยุติการกระทำอันก่อให้เกิดความแตกแยก ความรุนแรง การคุกคาม ข่มขู่ และยั่วยุปลุกระดม หันกลับมาใช้วิถีทางแห่งประชาธิปไตยภายใต้ฐานความรู้ ข้อมูล ความจริง และสันติวิธี การชุมนุม การจัดเวทีหรือการรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ ของกลุ่มคนรักอุดรต้องอยู่ภายใต้ของเขตของกฎหมาย และการเคารพซึ่งสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ส่วนสถานีวิทยุ FM 97.50 เมกกะเฮิร์ซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชมรมคนรักอุดร ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินรายการใหม่ ไม่ใช่ใช้เป็นกระบอกเสียงของกลุ่มผลประโยชน์ และทำความเสียหายให้สังคมโดยรวม


 


3. สำหรับสื่อมวลชนและหน่วยงานวิชาการ ควรร่วมกันจัดเวทีสาธารณะเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลและข้อเรียกร้องของทั้ง 2 ฝ่าย และแสวงหาทางออกร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคม นำเสนอข่าวสารอย่างอย่างสร้างสรรค์ โดยใช้กลไกประชาสังคมผู้สื่อข่าวท้องถิ่น เพื่อกำกับดูแล ควบคุมการเสนอข้อมูลตามสื่อต่างๆ ให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และเป็นธรรม มีมาตรการที่จริงจังในการป้องกันไม่ให้มีการใช้สื่อเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และยั่วยุให้เกิดความแตกแยกหรือความรุนแรง


 


4.สำหรับส่วนราชการ ต้องมีมาตรการอย่างจริงจัง ในการควบคุม ป้องกัน ไม่ให้มีแนวโน้มหรือเหตุการณ์รุนแรง จากการแสดงออกทางการเมืองที่ไม่อยู่ในกรอบกฎหมายและความสงบสุขอันดีของสังคม และส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มองค์กรต่างๆ ได้ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ และเหมาะสม เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง


 


5.สำหรับพรรคการเมือง ในพื้นที่ ควรยุติบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดเงื่อนไขความรุนแรง ความขัดแย้ง โดยวิธีการอาศัยแกนนำสมาชิกพรรคระดมมวลชน หรือการสร้างข้อมูลที่บิดเบือน เพื่อสร้างกระแส และเอื้อให้เกิดความได้เปรียบทางการเมือง พรรคการเมืองควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่กำลังวิกฤติ มากกว่าการดำเนินการในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะการแทรกแซงการพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net