Skip to main content
sharethis

เมื่อ 30 มิ.ย. ที่ห้องประชุมจุมภฎ - พันธุ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเสนองานวิจัยในหัวข้อ "การปกครองท้องถิ่นพิเศษจังวัดชายแดนภาคใต้" โดยมี ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายสุกรี หลังปูเต๊ะ นักวิชาการคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และ รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้นำเสนองานวิจัย


 


ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า งานวิจัย "รูปแบบการจัดการปกครองท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่ตนและคณะร่วมกันจัดทำมาตั้งแต่ปี 2548 ต้องการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาว ซึ่งจะต้องเข้าใจปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างและปัญหาความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ที่ก่อตัวมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันเกิดเหตุทั้งสิ้น 8,064 ครั้ง หัวใจสำคัญคือจะต้องแก้ปัญหาอัตลักษณ์ของคนในท้องถิ่น และจะต้องสร้างความมั่นใจของประชาชนต่ออำนาจรัฐ เป็นที่มาของการเก็บข้อมูลจากผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปเพื่อเสนอรูปแบบการปกครองที่คนในพื้นที่ต้องการ


 


ทั้งนี้ แนวคิดสำคัญของงานวิจัยขึ้นอยู่กับหลัก 3 ประการ ได้แก่ ความสมดุลระหว่างองค์ประกอบทางอำนาจและทางวัฒนธรรม สำนึกทางวัฒนธรรมซึ่งถือเป็นตัวแปรที่เร่งให้เกิดความรุนแรงขึ้น และสุดท้ายคืออำนาจรัฐที่ปัญหาคือมีความแปลกแยกกับประชาชน การคิดรูปแบบการปกครองจะต้องเชื่อมโยงระหว่างการปกครองส่วนท้องถิ่นกับการปกครองส่วนภูมิภาคที่จะต้องปรับให้สอดคล้องกับลักษณะพิเศษในท้องถิ่น


 


ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่ามีข้อเสนอการปกครองส่วนภูมิภาคจะต้องมีการปรับองค์กรที่คล้ายกับ ศอบต. แต่จะต้องมีกฎหมายรองรับในลักษณะทบวงการบริหาร มีรัฐมนตรีรับผิดชอบชัดเจน ส่วนโครงสร้างจะมีปลัดทบวง รองปลัดทบวงซึ่งรับผิดชอบแต่ละจังหวัด และในระดับผู้อำนวยการเขตหรือเดิมคือตำแหน่งนายอำเภอ ขณะที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านอาจต้องปรับบทบาทของตนเองในการปกครองส่วนท้องถิ่น


 


สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีสมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีตัวแทนประชาชนกลุ่มอาชีพและกลุ่มต่างๆ เข้ามากำหนดนโยบายภาคประชาชนเสนอให้ฝ่ายบริหาร โดยมีที่มาจากการสรรหา ส่วนในระดับชุมชนจะมีสภาท้องถิ่นในระดับล่าง ซึ่งมีที่มาจากการสรรหาจากผู้นำศาสนาที่มีการคัดเลือกตามกลไกภายใน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนพุทธหรือชุมชนมุสลิม โดยในที่นี้คือสภาชูรอในระดับชุมชนของมุสลิม ทั้งนี้ สภาเหล่านี้จะคู่ขนานไปกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม ไม่วาจะเป็น อบจ. หรือ อบต.


 


"รูปแบบนี้เป็นรูปแบบการปกครองแบบพิเศษในรัฐเดี่ยว ซึ่งในประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวอื่นๆ ก็มีการจัดการใกล้เคียงกัน ทั้งอังกฤษที่มีมีรูปแบบจัดการเวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ส่วนญี่ปุ่นก็มีทบวง ฮอกไกโด" 


 


ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อว่า ในข้อเสนอรูปแบบการปกครองแบบใหม่นี้ กองกำลังของทางการไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจก็ยังอยู่เหมือนเดิม แต่อาจจะผ่อนภารกิจ ขณะที่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็อาจจะอยู่ในโครงสร้างใหม่นี้ โดยมีเงื่อนไขว่าหากจะอยู่ในโมเดลนี้จะต้องไม่ใช้ความรุนแรง โครงสร้างเช่นนี้เพื่อจัดการปัญหาความรุนแรงในระยะยาว


 


ด้าน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ตั้งคำถามต่องานวิจัยว่า ข้อเสนองานวิจัยดังกล่าวได้มาอย่างไร เพราะเชื่อว่าประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน รูปแบบที่นำเสนอมาจะได้รับการยอมรับมากเพียงใด อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าอำนาจในการบริหารก็เป็นของคนในพื้นที่อยู่แล้วโดยผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกฎทางสังคมที่ควบคุมคนอยู่ เกรงว่าข้อเสนอที่ให้มีการปรับการบริหารส่วนภูมิภาคโดยให้อำนาจการจัดการอยู่ที่ราชการอีกก็อาจไม่มีผลมาก


 


พล.อ.เอกชัย ยังอภิปรายสถานการณ์ภาคใต้ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ด้วยว่า เทรนด์ของโลกเรื่องภาวะประชากร ในปี 2006 พบว่ามีมุสลิม 1,600 ล้านคน ในขณะที่ประชากรโลกมี 6,300 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 อัตราการเกิดมุสลิมเพิ่มขึ้นปีละ 3 % หรือประมาณ  50 ล้านคนต่อปี ดังนั้นหากผ่านไปร้อยปีประชากรมุสลิมจะเพิ่มเป็น 2,500 ล้านคน เท่ากับ 2 ใน 3 ของโลก ดังนั้นโดยธรรมชาติองค์กรที่จะตั้งขึ้นจะต้องเกิดในอนาคตอยู่แล้ว และต้องตั้งคำถามว่าสังคมไทยจะอยู่กับมุสลิมอย่างไร


 


ในรูปแบบการจัดการ พล.อ.เอกชัย เปรียบเทียบกับกรณีต่างประเทศว่า ไทยมีประชากรเป็นมุสลิม 10 เปอร์เซ็นต์หรือเท่าๆกับฝรั่งเศส แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือฝรั่งเศสสามารถใช้การกดดันทางนโยบายในการควบคุมผ่านประชามติได้เพราะทุกคนยอมรับระบบประชามติ เช่น การลงประชามติเช่นเรื่องการห้ามสวมใส่ฮิญาบซึ่งเป็นการบังคับให้เกิดแต่ทุกคนยอมรับ


 


พล.อ.เอกชัย ยังตั้งคำถามต่อไปว่านโยบายการจัดตั้งทบวงมาบังคับจะทำได้จริงหรือ เพราะคนไทยยอมรับเรื่องกฎสังคมได้หรือไม่ ดังกรณีการจัดระเบียบสังคมของ ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ซึ่งลักษณะนี้ต่างจากในบางประเทศที่เป็นตัวแบบที่ดี เช่น มาเลเซียซึ่งมีมุสลิมถึง 59 เปอร์เซ็นต์และสามารถกำหนดนโยบายที่เป็นมุสลิมได้แต่ก็ดูแลคนจีนที่มีในประเทศด้วยโดยมีการจัดความสัมพันธ์ เช่นผ่านระบบศาล และทุกคนยอมรับการจัดระเบียบสังคมที่สร้างวินัยแบบนั้น


 


กรณีของประเทศแคนาดา พบว่ามีโครงสร้างความเชื่อในระบบที่ดี เขาเชื่อในระบบประชามติ แต่ต่างจากไทยซึ่งไม่เชื่ออะไรที่เป็นระบบ มีกรณีตัวอย่างการพยายามขอแบ่งพื้นที่พิเศษเป็นชนชาติที่พูดฝรั่งเศส ออกมาแต่เมื่อแพ้การลงประชามติประชามติ เขาก็ยอมรับ


 


ในขณะที่อินเดียทีความน่าสนใจมาก มีมุสลิม 13.5 เปอร์เซ็นต์ ในอนาคตจะมีกลุ่มคนมุสลิมมากขึ้น และแนวโน้มประชากรจะมากขึ้นที่สุดในโลก แต่อินเดียมีระบบชนชั้นในขณะที่เป็นประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยที่ดีระดับต้นๆของโลก เพราะเขาชี้ไปที่หัวใจคือการเปิดรับฟังความเห็นของคนทุกคน และฟังเสียงคนส่วนน้อย รัฐสภาไม่ติดกับรูปลักษณ์ที่ต้องสวยงามแต่เป็นระบบชัดเจน แม้ว่ายอมรับในเรื่องชนชั้นแต่ก็ยอมรับสภาพที่แตกต่าง และเป็นพหุลักษณ์ทางกฎหมาย 


 


พล.อ.เอกชัย ตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งทบวงคือการพัฒนาไปสู่จุดจบ เพราะไปติดกับระบบราชการเช่นเดียวกับพัฒนาการของมหาวิทยาลัยไทยหรือการพัฒนาไปสู่ความเหมือน ทั้งนี้ถ้าอยู่อย่างหลากหลายโดยมีกฎสังคมซึ่งเคร่งอยู่แล้วในพื้นที่ 3 จังหวัด ก็ควรใช้กฎสังคมดีกว่า เช่น การเลือก อบต. อบจ. ซึ่งสามารถออกระเบียบที่เคร่งแบบมุสลิมก็สามารถทำได้


 


นอกจากนี้ คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีส่วนร่วมทางการเมืองสูงมาก การประเมินส่วนร่วมทางการเมืองของ UNDP ระดับ 5 คือระดับสูงสุด ซึ่งคนในพื้นที่ 3 จังหวัดได้รับการประเมินสูงถึงระดับ 4-5  ดังนั้นหากยึดเกณฑ์ความมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นตัวตั้งควรให้จังหวัดนั้นๆสามารถเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเอง  ซึ่งเป็นการเอากฎธรรมชาติมาทำให้เกิดและดีกว่าการบังคับเพราะต้องทำอะไรที่สังคมค่อนข้างยอมรับ การเสนอทบวงอาจจะยิ่งสร้างปัญหา ต้องให้มองยาวๆเชิงป้องกัน การสร้างโครงสร้างมาครอบเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะที่ผ่านมา การตั้ง กอ.สสส.จชต. (กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้) ก็เป็นการปกครองพิเศษหรือมีรัฐบาลน้อยที่มีหน่วยงานต่างๆมาทำงานร่วมกันแต่ก็ล้มเหลว


 


สำหรับ รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอผลการวิจัย "เรื่องการปกครองความแตกต่างทางวัฒนธรรม ประสบการณ์จากต่างประเทศ" ว่า กระแสยอมรับความแตกต่างในโลกมีในหลายองค์กรสากลเช่น UNESCO ให้ความยอมรับสิทธิทางวัฒนธรรมและภาษา หรือ UNDP 2004 เคยนำเสนอรายงานพัฒนาสังคมมนุษย์และยอมรับว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นทุนทางสังคมซึ่งเป็นการโต้แย้งความคิดว่าความแตกต่างนำไปสู่ความแตกแยกและไม่สามารภสร้างเอกภาพให้สังคม


 


ในขณะที่ช่วง 40-50 ปีมานี้ ประเทศต่างๆพยายามวางกติกาใหม่ในประเทศเพื่อยอมรับความแตกต่าง แต่สำหรับปัญหาใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยบางคนมองว่ามีปัญหามาร้อยกว่าปีแล้ว แต่ยังไม่ย่างก้าวไปสู่การปรับตัวเลย


 


รศ.ดร.ฉันทนา กล่าวถึงกระแสของการการแสวงหารูปแบบพิเศษในการจัดการว่า ในหลายประเทศมีเหตุผลมาจากการเคยมีนโยบายชาตินิยมรุนแรง เช่น สเปนในยุคของนายพลยุคฟรังโกที่ไม่ยอมให้แสดงสัญลักษณ์ ในขณะที่สเปนมีความหลากหลายและพระมหากษัตริย์สเปนก็สนับสนุนความหลากหลายทำให้เกิดการแสวงหากติกาใหม่


 


ในกรณีของจีน การแสวงหารูปแบบพิเศษมาจากการสร้างชาติใหม่เพราะผ่านทั้งการครอบครองของต่างชาติและเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมที่ทำให้สามารถวางกฎได้ใหม่ ส่วนประเทศหลังอาณานิคมหลายประเทศได้สร้างชาติโดยการกลายเป็นสาธารณรัฐ


 


นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลมาจากขบวนการเรียกร้องความเป็นอิสระจากปัญหาอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์และดินแดน รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนาและการครอบครองทรัพยากร


 


ต่อมา รศ.ดร.ฉันทนา ได้พูดถึงหลักการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง ประการแรกคือ การยอมรับสัญลักษณ์ การแบ่งอำนาจหรือสามารถตัดสินใจเลือกทางที่จะเป็นตัวของตัวเองทางวัฒนธรรมซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับกันมากขึ้น บางประเทศสามารถมีตัวแทนทางการเมือง และสามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อการพัฒนาเองได้


 


ในบางประเทศหลักการยอมรับความแตกต่างไปปรากฏในรัฐธรรมนูญด้วย เช่น จีน รัฐธรรมนูญบอกว่าสร้างมาจากคนหลายเชื้อชาติ แม้ว่าฮั่นจะเป็นคนส่วนใหญ่ก็ต้องจำกัดไว้ อย่างไรก็ตาม จีนยังเป็นระบอบเผด็จการและมีข้อน่าสังเกตในเรื่องการฏิบัติ แต่จีนก็เปิดกว้างในการใช้ภาษา ส่วนในสเปน ในเขตคาสสิเลี่ยน ยอมให้ภาษาคาสสิเลี่ยนเป็นภาษาประจำชาติแแต่ก็ยอมรับภาษาอื่นๆด้วย อีกทั้งยังรองรับธงชาติและสัญลักษณ์อื่นๆคู่กับของสเปนได้


 


สำหรับความจำเป็นของการปกครองพิเศษในในไทย จุดเน้นควรอยู่ที่การจัดความสัมพันธ์ทางสังคมและส่วนราชการ เพราะประชาชนไม่ได้มีปัญหากับการเมืองแต่รูปแบบการเลือกตั้งที่อาจต้องคิดใหม่ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคกับท้องถิ่นยังต้องคิดใหม่ เพราะเห็นความเหลื่อมล้ำใน 3 จังหวัดมาก แต่อาจไม่ไปไกลถึงเขตพิเศษที่ตัดแยกจากทุกส่วนของประเทศเพราะเชื่อว่ายังอยู่ร่วมกันได้ เรื่องการกระจายอำนาจแบบก้าวหน้าหรือเสริมลักษณะพิเศษทางวัฒนธรรมเข้าไปเป็นเรื่องที่น่าคิด อาจจะต้องมองการเปลี่ยนแปลงระยะยาวและช่วงจังหวะ ต้องให้ความสำคัญกับประชาสังคมและสร้างพื้นที่สาธารณะขึ้นมาก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net