Skip to main content
sharethis


อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)


shukur2003@yahoo.co.uk


http://www.oknation.net/blog/shukur


 



ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยเรื่อง คนตานี...มลายูมุสลิมที่ถูกลืมของ อ.วลัยลักษณ์ ทรงศิริ พบว่าคำถามที่ตอบไม่ได้ในขณะนี้คือ "คนมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งผู้วิจัยใช้คำว่าคนตานีขณะที่รัฐพึงพอใจจะเรียกว่า "ชาวไทยมุสลิม" จะเดินไปสู่หนใด ท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างไร ทั้งจากกระแสโลกและท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น การก้าวไปสู่ความทันสมัยของมาเลเซีย-ประเทศเพื่อนบ้าน กระแสการฟื้นฟูศาสนา (Religious Revivalism) โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม การเสาะแสวงหาทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้อย่างเต็มที่ในรูปแบบเศรษฐกิจทุนนิยมไทยและสภาพการณ์ทางการเมืองในประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการเมืองใต้ดินของขบวนการแบ่งแยกดินแดนสู่รัฐมลายูมุสลิมปัตตานี

หากลงไปในพื้นที่อ่าวปัตตานี จะรับรู้ได้ว่ามีความขัดแย้งคุกรุ่นสะสมและตกตะกอนมาอย่างยาวนาน ปัญหาที่หนักหนาสาหัส คือการแย่งชิงทรัพยากรจากขบวนการทุนนิยมที่รัฐเอื้อเฟื้อและสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยชอบ เพราะสามารถทำลายล้างสังคมมุสลิมที่ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงให้ย่อยยับไปถึงระดับครอบครัวที่เป็นรากฐานแห่งชีวิต

การรุกไล่ยึดชิงทรัพยากรไปจากบ้านเกิดกลายเป็นแรงกดทับมหาศาล เรืออวนลากอวนรุน ที่ลากกันทั้งคืน เหลือไว้เพียงผืนน้ำที่ว่างเปล่า เรือกอและเล็กๆ เทียบไม่ได้เลยกับเรือประมงจากในเมืองปัตตานี

นาเกลือแห่งเดียวในแหลมมลายู คือบริเวณปากน้ำปัตตานีมาจนถึงบ้านบางปู ปัจจุบันพื้นที่นาเกลือโบราณส่วนใหญ่ที่เป็นของราชพัสดุได้เปิดให้เช่าใช้ทำนากุ้งและโรงงานอุตสาหกรรม สงวนพื้นที่เพียงเล็กน้อยไว้ทำนาเกลือ ให้พอที่จะได้ชื่อว่าเคยเป็นนาเกลือแห่งเดียวในภาคใต้เท่านั้น

ทางชายฝั่งปัตตานีเห็นปล่องไฟจากโรงงานอุตสาหกรรมผุดขึ้นเป็นกลุ่มๆ นั่นคือเขตอุตสาหกรรมที่รัฐส่งเสริมและกำลังรุกที่ถมทะเลเข้ามาเรื่อยๆ และแน่นอนโรงงานเหล่านี้ปล่อยมลพิษสู่อ่าวปัตตานีสะสมต่อเนื่องกันมาหลายปี

อ่าวปัตตานีที่เคยได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดในแหลมมลายู เปลี่ยนไปเพียงเพื่อหวังประโยชน์เฉพาะหน้าด้วยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง และกำลังทำลายชีวิตวัฒนธรรมของชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีอย่างรุนแรงไปพร้อมกัน

ทุนนิยมในประเทศไทยมีผลต่อชุมชนของชาวประมงและชาวนา หรือสังคมแบบดั้งเดิมของชาวมลายูเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการดำรงชีวิต ที่ดินเปลี่ยนมือ เริ่มมีกรรมสิทธิ์และสูญเสียกรรมสิทธิ์นั้นไปอย่างง่ายดาย

การสูญเสียอาชีพการทำมาหากินไม่สมบูรณ์และปรับตัวไม่ได้กับการรุกของทุนนิยมที่ขัดกับหลักศีลธรรมทางศาสนา ค่านิยมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การค้าหาพื้นที่ของตนเองแบ่งออกในหลายกลุ่มคน

กลุ่มที่มีโอกาสมากกว่า เช่น สถานภาพสูงมีฐานะ มีรากฐานหรือเครือญาติในกรุงเทพฯ จะไปแสวงหาโอกาสทางการศึกษาหรือหางานทำ คนกลุ่มนี้สามารถปรับตัวได้และมีความยืดหยุ่นกว่า

อีกกลุ่มด้อยโอกาสกว่า แต่ต้องการเริ่มต้นมี "ทุน" เพื่อใช้ในการเริ่มกิจการของตัวเองหลังจากเปลี่ยนอาชีพทางเกษตรกรรมแล้ว เช่น ไม่มีที่ดินเพียงพอ ไม่มีสวนผลไม้ หรือสวนยาง การมองไปที่มาเลเซีย คือคำตอบ เพราะเมืองหลวงของเราไม่สามารถตอบสนองความเป็นอยู่แบบชาวมุสลิมด้วยกันหรือค่าตอบแทนที่คุ้มค่าให้ได้

การใช้ชีวิตด้วยวิถีไทยมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สามารถเผชิญกับกระแสการก่อการร้ายและสังคมทุนนิยมของโลกยุคโลกาภิวัตน์จึงเป็นเรื่องที่ท้ายสำหรับคนในพื้นที่

หากจะแบ่งกลุ่มคนที่มีวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าวจะสามารถแบ่งกลุ่มคนได้ 3 ประเภท

1.สมัยใหม่หรือก้าวหน้าซึ่งเป็นกลุ่มที่ยอมรับและเจริญรอยทุกฝีก้าวตามกระแสโลกาภิวัตน์

2.อนุรักษนิยมซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการหลีกหนีจากการเผชิญหน้าและต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์โดยกลุ่มนี้มีทัศนคติว่าโลกาภิวัตน์ (Globalization) คือ แนวคิดที่ต้องการจะขับเคลื่อนให้สังคมมุสลิมเป็นตะวันตก (westernization) คือ แนวคิดที่ต้องการจะขับเคลื่อนให้สังคมมุสลิมเป็นตะวันตก (westernization) มีวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม บริโภคนิยม ให้ชาวมุสลิม โดยอาศัยกระบวนการเคลื่อนไหวของข้อมูล ทุน และทรัพยากรอย่างรวดเร็ว ดังนั้น อินเตอร์เน็ต ระบบเชื่อมโยงข้อมูล ระบบการขนส่งที่ดีจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ

จากผลของสองกลุ่มดังกล่าวทำให้มีการปะทะทางความคิดอย่างรุนแรงให้สังคมมุสลิมเอง

ดังนั้น ควรมีกลุ่ม 3 ที่สามารถเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาและคนมุสลิมเองควรคิดแนวทางการจัดการปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองที่เหมาะสม บูรณาการได้กับวิถีมลายูท้องถิ่น หลักการศาสนาอิสลามและปรับเข้ากันอย่างกลมกลืนกับโลกาภิวัตน์กลุ่มมุสลิมกลุ่มนี้จะมีทัศนคติเป็นของตนเองและภาคภูมิใจในเอกลักษณ์แห่งไทยมลายูมุสลิม สำนึกต่อพันธกิจและยึดมั่นในศาสนาที่ตนเองนับถือ เชื่อในความเป็นสากลนิยม และอารยธรรมแห่งประชาชาติ

มุสลิมกลุ่มนี้จะไม่หลีกหนีจากกระแสการเผชิญหน้าทุกรูปแบบ และกล้าที่จะสนทนาแลกเปลี่ยน (Dialogue) ความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดอย่างสันติกับทุกกลุ่มของลัทธิโลกาภิวัตน์ซึ่งแน่นอนที่สุด
แนวคิดในกลุ่มที่สามจะสามารถบรรลุได้อย่างรวดเร็วโดยใช้ฐานการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนมุสลิมเอง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐ สถาบันปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และศูนย์การเรียนของมัสยิดที่สามารถปลูกฝังแนวคิด ทัศนคติ และค่านิยมที่ถูกต้องตั้งแต่เด็กตลอดจนผู้ใหญ่

และท้ายสุดจะสามารถทำให้คนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ด้วยวิถีไทยมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถเผชิญกับกระแสการก่อการร้าย การปะทะทางวัฒนธรรม และสังคมทุนนิยมของโลกยุคโลกาภิวัตน์



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net