Skip to main content
sharethis

โชคชัย สุทธาเวศ


หัวหน้าพรรคสังคมธิปไตย


ประธานสมาพันธ์พรรคการเมืองเพื่อประชาชนและประชาธิปไตย


 


บทความนี้เขียนขึ้นในวาระครบรอบ 76 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ด้วยความเป็นห่วงชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง ไม่แพ้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาชนต้านเผด็จการในอดีต กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการในอดีต และ สภาสนามหลวงต่อต้านเผด็จการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 กลุ่มริบบิ้นสีขาว พรรคการเมืองในระบบรัฐสภา และ อื่นๆ ในปัจจุบัน


 


ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงและวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะต่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นโต้โผหลักในการเคลื่อนไหวเพื่อการเมืองใหม่ในปัจจุบัน จึงหวังว่าบรรดาแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะได้พิจารณาข้อเขียนนี้จากเพื่อนคนหนึ่งของท่านอย่างมีสติและใจกว้างตามหลักประชาธิปไตย โปรดอย่าโกรธหรือดุด่าข้าพเจ้าเลย เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ต้องการทำลายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังเห็นถึงข้อดีและต้องการให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูป (มากกว่าปฏิวัติ) ประชาธิปไตยต่อไป แต่ขอให้ทบทวนตนเองเพื่อให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างมีสัมมาทิฎฐิและระวังผลในทางลบของการเคลื่อนไหวแบบปัจจุบันให้มากๆ


 


วิกฤตการเมืองและประชาธิปไตยไทยสมัยปัจจุบันเป็นวิกฤตที่สะสมมาในอดีต นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้กฎหมาย จวบจนปัจจุบันเข้าสู่ค่อนศตวรรษแล้วที่การสร้างประชาธิปไตยซึ่งก็คือการจัดระเบียบการเมืองการปกครองอย่างหนึ่งของเราก็ยังไม่ลงตัว ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และ ทำให้เกิดผลประโยชน์ของประชาธิปไตยแก่ประเทศชาติได้อย่างเป็นจริงตามเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาธิปไตยของไทยถูกกระทำจากการเมืองแบบไทยๆที่ผู้ปกครองทั้งทหารและข้าราชการพลเรือน หรือ ที่เรียกกันว่าอำมาตยาธิปไตย และนักธุรกิจ หมุนเวียนมามีอำนาจและยังหวงแหนอำนาจของตน หาใช่ประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและใช้อำนาจอธิปไตยอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน และเกิดผลประโยชน์ของประชาธิปไตยต่อความอยู่ดีกินดีมีความสุขของประชาชนอย่างแท้จริงไม่


 


ความไร้มาตรฐานที่ดีของพรรคการเมืองหลายพรรค รวมทั้งปัญหาการขาดประชาธิปไตยภายในพรรคไทยรักไทยที่บริหารประเทศระหว่างต้นปี 2544 - ปลายปี 2549 การขยายความเป็นเผด็จการรัฐสภาของพรรคไทยรักไทยและผู้นำพรรคไปครอบงำศาลและองค์กรอิสระอื่นๆ นโยบายประชานิยมปัจเจกชนที่คนรากหญ้าติดใจ การไม่โปร่งใสในการบริหารประเทศ จุดอ่อนของระบอบรัฐสภาไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอง เป็นปัญหาหลักๆที่ทำให้การเมืองภาคประชาชนแบบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง การเคลื่อนไหวแบบที่เคยทำให้รัฐบาลทักษิณพ้นจากอำนาจไปโดยการทำให้ทหารลงมือทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ก็ได้กลับมาอีกครั้ง เมื่อกองทัพ รัฐบาลที่มีพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และพันธมิตรประชาเพื่อประชาธิปไตยไม่สามารถเอาชนะ "ระบอบทักษิณ" ในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ได้ พรรคพลังประชาชนที่รับช่วงต่อจากพรรคไทยรักไทยกลับมาเป็นผู้นำในการบริหารประเทศจากผลการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ล่าสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ปรับเพิ่มเป้าหมายจากการกดดันให้คดีอดีตนายกทักษิณต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างไม่ถูกรัฐบาลชุดนี้ขัดขวางและช่วยเหลือให้อดีตนายกผู้ถูก ค.ต.ส. กล่าวหาพ้นผิด ไปสู่การถอดถอนรัฐมนตรีจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ ไปสู่การล้มล้างรัฐบาลปัจจุบันที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่สังคมใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยปัจจุบันไปสู่การเมืองใหม่ และย่อมจะไปสู่การขอควบคุมความสงบเรียบร้อยของประเทศและประชาชนไทยในอนาคต


 


การเมืองและการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำลังต่อสู้และเชิญชวนให้สร้างขึ้นมีอะไรบ้าง เท่าที่ข้าพเจ้าฟังจากสถานีวิทยุ FM. 97.75 ดู ASTV อ่านหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ และ พบปะหารือกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิตรสหายที่ข้าพเจ้ารู้จัก ในช่วงเดือนมิถุนายน - ต้นเดือนกรกฎาคม 2551 พอประมวลได้ (คงไม่ทั้งหมด แต่เลือกเอาประเด็นเด่นๆ) คือ


1.การจำเป็นต้องล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 ด้วยเห็นว่าเป็นรัฐบาลตัวแทน (นอมินี) ของระบอบทักษิณที่ทุจริตมหาศาล พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียง พรรคการเมืองนี้พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญและช่วยอดีตนายกรัฐมนตรีให้พ้นผิดและยังช่วยให้อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้แสวงหาผลประโยชน์ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยต่อไป รวมทั้งรัฐบาลก็มีปัญหาการบริหารงานในหลายเรื่อง เช่น ปัญหาการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาและไทย ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น


2.การมีคณะรัฐบาลพิเศษชั่วคราวเพื่อจัดการการเมืองที่เป็นปัญหาปัจจุบันไปสู่ระบบใหม่ โดยเมื่อสามารถทำให้รัฐบาลที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ลาออกมากกว่ายุบสภาได้แล้ว ก็ให้มีรัฐบาลพิเศษชั่วคราว (Provisional Government) หรือ รัฐบาลแห่งชาติ ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง


3.ความจำเป็นต้องชักนำกองทัพแห่งชาติร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้ทำรัฐประหารหรือเข้าร่วมปลดรัฐบาลทุนนิยมสามานย์ขายชาติ และมีผู้นำพรรคที่ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์


4.ความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองใหม่ เพราะรัฐสภาไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้


5.การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อสร้างการเมืองใหม่ให้ได้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในความหมายที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการ โดยการใช้วิถีการเมืองภาคพลเมืองตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ให้การรับรอง


6.พรรคการเมืองปัจจุบันล้วนมีปัญหาคุณความดี เพราะนักการเมืองทุจริต แต่รัฐสภาของพรรคการเมืองเหล่านั้นก็ยังเก็บคนพวกนี้เอาไว้ โดยการยกมือให้ผ่านการไม่ไว้วางใจ ฉะนั้นแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคการเมืองเดิมที่พรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ รัฐสภาก็จะยังคงมีปัญหาเช่นเดิม


7.ข้าราชการระดับสูงตกอยู่ใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองและนักการเมืองชั่วร้าย หรือไม่เช่นนั้นก็ขายตัวให้นักการเมืองชั่วช้า ทางออกคือให้ข้าราชการระดับสูงในบางหน่วยงาน เช่น กองทัพ พ้นจากการบังคับบัญชาของนักการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรี


8.การยกเลิกระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากไม่เชื่อถือในความสุจริตไม่ซื้อเสียง โดยระบบการเลือกตั้งปัจจุบันที่นักการเมืองยังซื้อเสียงเข้าสู่สภาได้


9.การยกเลิกระบบนักการเมืองอาชีพและพรรคการเมือง และให้ ส.ส. ได้มาจากการเลือกตั้งกันเองของประชาชน ร้อยละ 30 และ ได้มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้งร้อยละ 70 หรือ อาจจะอย่างละครึ่งก็ได้ เพื่อให้ได้ ส.ส. ที่มาจากประชาชนในจังหวัดต่างๆ กระจายไปทุกกลุ่มอาชีพ และไม่ต้องรับเงินเดือน เนื่องจากเห็นว่าพรรคการเมืองเป็นเสมือนบริษัทที่นักการเมืองร่วมกันถือหุ้น จึงทำเพื่อตัวเอง มิได้ทำเพื่อประชาชนจริง ฉะนั้นจึงไม่ควรมีพรรคการเมือง รวมทั้งรัฐสภาแบบใหม่ไม่ต้องมีฝ่ายค้าน


10.การสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่ถูกทุนนิยมเสรีและลัทธิบริโภคนิยมครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จ แต่มีกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นอิสระจากระบบทุนนิยมได้


 


ข้อเสนอและการขับเคลื่อนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเหล่านี้ทำให้การเมืองไทยและประชาธิปไตยของประเทศเกิดการปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นได้ เช่น การระงับยับยั้งไม่ให้เกิดการเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญและไม่นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายยกเว้นโทษย้อนหลังให้ผู้ทำผิด การทำให้พรรคการเมืองต้องดำเนินงานอย่างสุจริตมากขึ้น นักการเมืองในอดีตถูกสังคมตีตราไม่ให้เป็นแบบอย่างที่ดีทำให้นักการเมืองปัจจุบันต้องปรับปรุงตัวเอง ทำให้ประชาชนตื่นตัวในทางการเมืองและการได้รับความรู้และความคิดเห็นถึงการสร้างสรรค์การเมืองไทยให้ดีขึ้นๆ รวมทั้งการเพิ่มคุณค่าของการเมืองภาคประชาชนในระบบการเมืองไทย แต่ในขณะเดียวกันการขับเคลื่อนและความใฝ่ฝันของขบวนการพันธมิตรประชาชนและประชาธิปไตยที่บานออกไปมากขึ้นๆเพื่อดึงพลังมวลชนและสร้างการยอมรับต่อคุณูปการการชุมนุมประท้วง ก็นำไปสู่ความสุ่มเสี่ยง ความสับสน และมีแนวโน้มถอยกลับไปสู่การทดลองครั้งใหญ่ ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งกำลังแสดงบทบาทเฉกเช่นพรรคการเมืองแนวอนาธิปไตยมากขึ้นๆ ไม่ได้บอกว่าจะรับผิดชอบอย่างไร หากเกิดผลลบหรือความเสียหายต่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตยของประเทศตามผลการเคลื่อนไหวของตน เช่นที่ทำให้เกิดการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เพื่อหยุดพักประชาธิปไตยไว้ก่อนนั้น ปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่ไปถึงไหน และยิ่งปรากฏว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นเจ้าของสื่อทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ในการนำเสนอการเคลื่อนไหวด้วยแล้ว ความที่ต้องระวังข่าวสารที่ประชาชนได้รับ และการไร้ระเบียบของสังคมที่อาจเกิดขึ้นจึงสำคัญมาก สภาพและปัญหาที่ควรพิจารณาอย่างยิ่งสำหรับรอยต่อสภาวะปัจจุบันกับการเข้าสู่การเมืองใหม่ก็คือ


 


1.                การที่รัฐบาลชั่วคราวอาจได้มาโดยการตกลงกันของ ส.ส. ทุกพรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการเข้าร่วมของบุคคลที่เด่นดังในสังคม หรือ อาจโดยอาศัยทหารเข้าทำการรัฐประหารจากการเรียกร้องและการสร้างความโกลาหลวุ่นวายให้เกิดขึ้นโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นสื่อนำ และโดยการปฏิเสธอำนาจรัฐแบบอนาธิปัตย์นิยมหรือไม่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่เรียกกันว่าอารยขัดขืนของประชาชนผู้เข้าร่วม การได้รัฐบาลมาดังกล่าวนี้จะมีปัญหาการยอมรับเพราะขัดหลักประชาธิปไตยสากล


2.                อำนาจการจัดการรูปแบบรัฐบาลชั่วคราวอยู่ในกำกับของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ทำงานร่วมกับทหารหรือกลุ่มอำนาจใดๆที่ถูกขับดันให้ร่วมมือกันทำหรือสนับสนุนรัฐประหาร รวมทั้งสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลและกลไกรัฐปัจจุบันโดยเฉพาะตำรวจไม่ให้ต่อสู้ขัดขืนจะนำไปสู่สภาพสังคมแห่งการปฏิเสธรัฐของกลุ่มพลังอื่นๆที่ไม่เห็นด้วยกับทหาร กลุ่มอำนาจใดๆ และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยไม่มีทางเลี่ยง และอาจเกิดการนองเลือด


3.                เป้าหมายและวิธีการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีปัญหาของการนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนลงประชามติเห็นด้วย กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมิได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยตามครรลองแห่งรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ผ่านกลไกรัฐสภาและระบบการเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนด ซึ่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ให้มีการแก้ไขจนกว่าคดีเอาผิดอดีตนายกรัฐมนตรีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีโดยศาลและอาจรวมถึงเมื่อคดียุติลง แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำลังกระทำการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญและล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อย่างโจ่งแจ้งเพื่อนำไปสู่การเมืองใหม่


4.                วิธีการรัฐประหารหรือการปฏิวัติจำแลงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเร่งเร้าให้เกิดขึ้นเองก็ได้หรือโดยการเข้าร่วมของกองทัพและตำรวจก็ดี เพื่อหวังความสำเร็จผลในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยเร็วนั้น เป็นวิธีการที่ล้าหลัง ไม่ใช่อริยวิถี เนื่องจากอาศัยพลังมวลประชาชนที่ถูกปลุกเร้าด้วยอวิชชา โทสะ และโมหะให้ปฏิเสธการเมืองในระบบปัจจุบัน ขาดขันติธรรมในการปรับปรุงพัฒนา มีแนวโน้มสร้างความรุนแรง เน้นการเผชิญหน้ามากกว่าการสมานฉันท์ รวมทั้งกล่าวให้ร้ายและข่มขู่พลังการเมืองอื่นๆฝ่ายตรงข้าม เพื่อล้มล้างระบบรัฐสภาที่ได้มาโดยสันติวิธี แม้ว่าผ่านการเลือกตั้งที่มีจุดอ่อนในทางความบริสุทธิ์ยุติธรรมก็ตาม แต่เราต้องแก้ไขการเลือกตั้งในอนาคตอย่างจริงจังและอดทนให้ได้ระบบที่ดีขึ้นๆ มิใช่การยกเลิกระบบการเลือกตั้งมันเสียเลยเพราะมีผู้ทุจริตการเลือกตั้ง ประเทศที่ใช้วิธีรัฐประหารโดยการโน้มนำของขบวนการภาคประชาชนดังกล่าว ซึ่งผู้นำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่สามารถหรือกล้ากล่าวอย่างตรงๆว่าคือ "การปฏิวัติสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบไทย" นั้น (ซึ่งมันกลับตาลปัตรกันไปแล้ว เพราะอันที่จริงวิธีการเช่นนี้น่าจะนำเสนอโดยกลุ่มแนวร่วมประชาชนต้านเผด็จการหรือกลุ่มสภาสนามหลวงต่อต้านเผด็จการ เพราะสองกลุ่มนี้มีแนวคิดแบบปฏิวัติสังคมนิยมต้านอมาตยาธิปไตยอยู่มาก) แม้ว่าอาจจะประสบชัยชนะในการยึดอำนาจรัฐ แต่ก็ต้องบังคับประชาชนจำนวนมากที่ไม่อยู่ภายใต้อุดมการณ์ตามลัทธิความเชื่อของตนให้เขายอมรับรัฐระบบใหม่อย่างไม่สมัครใจ ซึ่งในที่สุดเมื่อกาลเวลาผ่านไป รัฐปฏิวัติดังกล่าวก็ล้มเหลวในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยของประเทศ ดังที่เกิดขึ้นแล้วกับสหภาพโซเวียตรัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน คิวบา เวียดนาม และ เกาหลีเหนือ เป็นต้น วิธีที่เป็นอริยะมากกว่าคือการปฏิรูปสังคมอย่างรอบด้านและสันติ และผ่านการพัฒนาพรรคการเมืองให้ได้มาตรฐานสูงทั้งในทางอุดมการณ์ จริยธรรม และระบบการดำเนินงานพรรคที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ตัวอย่างที่น่าสนใจในปัจจุบันคือกลุ่มปฏิวัติเหมาอิสต์ของประเทศเนปาลก็ยังเลิกแนวทางปฏิวัติแล้วก็ประสบชัยชนะด้วยวิธีแข่งขันในระบบการเลือกตั้งระหว่างพรรคการเมืองในวิถีทางระบบรัฐสภา


5.                การยกเลิกระบบพรรคการเมืองตามข้อเสนอของผู้นำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยให้ ส.ส. มาจากการเลือกตั้งกันเองและสรรหาหรือแต่งตั้งนั้น คล้ายระบบ ส.ส. สองประเภทตามรัฐธรรมนูญถาวร พ.ศ. 2475 ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างจำกัดและแต่งตั้ง ระบบเช่นนี้ทำให้ประชาชนขาดการรวมตัวในทางประชาธิปไตยในรูปแบบพรรคการเมืองที่หลากหลายและถือว่าเป็นองค์กรการเมืองของประชาชนที่มีวิวัฒนาการก้าวหน้ากว่าบรรดาการรวมตัวเป็นกลุ่มการเมืองในรูปแบบอื่นๆ และอาจตกอยู่ภายใต้การควบคุมของระบอบการปกครองแบบพรรคๆเดียวคล้ายพรรคคอมมิวนิสต์หรือสถาบันเผด็จการอำนาจแบบหนึ่งแต่ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเอาไว้เพื่อจัดตั้งและครอบงำการเลือกตั้งและสรรหา ส.ส.


การเลือกตั้ง ส.ส. จากประชาชนเป็นรายคนก็ไม่มีหลักประกันความสุจริตเหนือระบบการเลือกตั้งจากพรรคการเมือง และ ไม่สามารถประกันความเสียสละและอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงได้ ระบบการสรรหาหรือแต่งตั้ง ส.ส. ก็มิใช่ระบบที่เหมาะสมเพราะเล่นพวกกันได้และกลายเป็นการทุจริตเชิงอำนาจหรือการให้สิทธิประโยชน์เบี่ยงเบนในการแต่งตั้งหรือสรรหาก็ได้ นอกจากนี้ การกลับไปเลือกตั้งกันเองของประชาชนโดยทิ้งระบบพรรคการเมืองและยกย่องการแต่งตั้งหรือสรรหาให้เป็นใหญ่แทนแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับพัฒนาการประชาธิปไตยของไทยเองและในโลกปัจจุบัน สังคมไทยควรดำเนินไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยอำนาจรัฐได้มาจากการแข่งขันของพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาแบบเสรีประชาธิปไตยมากกว่าแบบสภามหาประชาชนที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์เช่นที่ใช้กันในประเทศคอมมิวนิสต์ที่กำลังหมดยุค แต่การที่ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพพึงมีในรัฐสภาไทยนั้นเราสามารถใช้วิธีกำหนดสัดส่วนของ ส.ส. ประเภทปาร์ตี้ลิสต์ให้จำแนกตามประเภทอาชีพในระบบการเลือกตั้งที่เคยมีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เสริมขึ้นมาได้ หรือ แม้แต่กำหนดในประเภท ส.ส. เขตไว้บ้างก็ตาม (โดยผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.) แต่อย่างไรก็ตามอย่างลืมว่าการมี ส.ส. สังกัดอาชีพเท่านั้นก็จะทำให้เกิดอัตตาในการทำหน้าที่ ส.ส. จนมองข้ามความเป็นส่วนรวมของสังคมไปได้ ส.ส. ประเภทสาขาอาชีพหากมีจึงควรเป็นส่วนน้อย


การไม่ให้มีฝ่ายค้านตามระบบการเมืองใหม่ แต่มีเพียง ส.ส. ตามสาขาอาชีพ และจากการแต่ง


ตั้งหรือสรรหามาเท่านั้น จะทำให้พฤติกรรม ส.ส. ขาดการตรวจสอบการทำงานกันเองอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมส่วนรวมของประเทศที่อยู่นอกเหนือกิจกรรมเฉพาะกลุ่มอาชีพดังที่กล่าวแล้ว และหากทำเช่นนั้นจริง (ไม่มีฝ่ายค้าน) การกำกับและตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. ก็จะต้องอยู่ภายใต้ระบบราชการขนาดใหญ่และภายใต้อุดมการณ์แห่งชาติเชิงบังคับที่อยู่เบื้องบน การประชุมของ ส.ส. ก็จะมีแนวโน้มมาปรึกษาหารือกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ตัดสินใจไปตามสัญญาณที่ได้รับ เกิดการเฉื่อยชา หาใช่การกำกับการบริหารราชการแผ่นดินหรือที่ต้องแข่งขันกันทำความดีไม่ ซึ่งระบบแบบนี้มีทำกันในประเทศเผด็จการอำนาจนิยมหรือไม่ก็ตามแนวทางคอมมิวนิสต์เป็นหลัก ส่วนการไม่ให้ ส.ส. รับเงินเดือนนั้น ก็เป็นระบบแบบสังคมนิยมซ้ายจัดมิใช่สังคมเสรีและสังคมประชาธิปไตย ซึ่งย่อมทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำหน้าที่ ไม่ต่างกับการให้ผู้ใช้แรงงานทำงานฟรีไม่ต้องขายแรงงานคือไม่รับเงินเดือนจากนายจ้าง แต่รัฐเลี้ยงดูเอง สถานประกอบการแห่งนั้นก็ย่อมมีผลิตภาพต่ำ แต่อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้น่ารับฟังว่าควรจ่ายค่าตอบแทน ส.ส. อย่างไรจึงจะเหมาะสมแก่การทำหน้าที่


6.                การได้อำนาจมาโดยวิธีที่มิใช่การเลือกตั้งเพื่อหยุดยั้งระบอบทักษิณและสร้างการเมืองใหม่จะนำไปสู่การไม่ยอมรับในอำนาจรัฐและกลไกของรัฐจากประชาชนส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนำไปสู่การต่อสู้กันไม่สิ้นสุด การบังคับให้ประชาชนที่มิใช่พวกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยอมรับรัฐบาลที่รัฐธรรมนูญมิได้รับรองและอยู่ในความสงบโดยกำลังทหารหรือกฎอัยการศึกหรือกฎหมายความมั่นคงแบบใดก็ตามย่อมสำเร็จผลได้ยาก เพราะระบอบทักษิณกำลังกลายเป็น "วัฒนธรรมการเมืองแบบทักษิณ" หรือ "วัฒนธรรมการเมืองแบบประชานิยม" เข้าไปทุกทีๆ มันฝังลึกในวิถีชีวิต ไม่ใช่ไล่หัวหน้าโจร หรือ ยึดเงินโจร หรือ ควบคุมประเทศไว้ให้ได้ แล้วทุกอย่างจะจบ วิธีการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเช่นนี้จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันถูกมองในแง่ลบได้หรืออาจถึงกับมีมลทิน เนื่องจากต้องรับรองรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (อีกแล้ว) เพื่อความสงบสุขของประเทศ นอกจากนี้ หากเทิดทูนสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริงทำไมไม่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสันติวิธีจริงๆ ในหลวงจะทรงขมขื่นใจเพียงใดที่ผู้เทิดทูนสถาบันกษัตริย์และใส่สีเหลืองเคลื่อนไหวจะไปสู่การนองเลือดแดงทาแผ่นดินเข้าไปทุกทีๆ หรือว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีความเป็นเจ้ายิ่งกว่าเจ้าตัวจริง (Ultra Royalist) ??


7.                การที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยครอบครองสื่อทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ในการนำเสนอการเคลื่อนไหวทางการเมืองทำให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลระดับลึกและรวดเร็ว ถูกนักการหลอกหรือปกปิดไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องอันตราย เพราะพันธมิตรมิใช่ทำการเคลื่อนไหวชุมนุมสาธารณะอย่างปกติ แต่เป็นการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลหรือคู่ต่อสู้ทางการเมืองนอกเวทีรัฐสภา การนำเสนอข่าวสารจึงอาจทำให้สังคมปั่นป่วนขนานใหญ่ ประชาชนกันเองควบคุมสังคมร่วมกันไม่ได้ และกระทบให้รัฐแตกสลายได้


8.                การเปลี่ยนแปลงประเทศและจัดระบบการเมืองใหม่ตามแนวทางของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากแฟนๆของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มานั่งฟังการบอกกล่าวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยราชดำเนินหรือทางสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ ASTV แล้ว กลุ่มประชาชนอื่นๆหลายกลุ่มที่คิดอย่างอื่นถูกปฏิเสธ ไม่ได้รับการให้เกียรติหรือถูกมองเป็นศัตรู ไม่ได้รับการให้คุณค่า พวกที่เดินแนวสันติก็ถูกกล่าวหาว่าขี้ขลาดและไม่ได้ให้เข้าร่วมตัดสินใจต่อเป้าหมายและวิธีการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองไทยของคนทั้งประเทศ แต่ประชาชนทั้งประเทศจะต้องกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงประเทศแบบใหม่ตามผลงานที่ผ่านวิธีการอันไม่เป็นประชาธิปไตยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้นหรือ??


9.                การขับเคลื่อนทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพิสูจน์ตัวตนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่านำโดยนักการเมืองนอกสภาอย่างน้อย 5-6 คนนั้น ข้าพเจ้าแจ่มแจ้งด้วยตนเองมาพักใหญ่แล้วว่าการรวมตัวเช่นนี้ก็คือ "พรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" อันเป็นพรรคการเมืองที่อยู่นอกระบบรัฐสภาหรือรัฐธรรมนูญ และไม่เพียงไม่ส่ง ส.ส. รับสมัครเลือกตั้ง และปฏิเสธระบบพรรคการเมืองตามระบบรัฐสภาปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นเจ้าของสื่อซึ่งสามารถชักนำทิศทางการเปลี่ยนแปลงการเมืองของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจสร้างอันตรายต่อสังคมได้ เนื่องจากเลือกนำเสนอข่าวเพื่อผลสำเร็จในการเคลื่อนไหวในเป้าหมายทางการเมืองแห่งชาติของ "พรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เท่านั้น ในขณะที่นักการเมืองในระบบถูกห้ามตามกฎหมายและในทางจริยธรรมมิให้เป็นนายทุนเจ้าของสื่อหรือถือหุ้นใหญ่


10.           การเคลื่อนไหวที่สุดโต่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อล้มล้างรัฐบาลในทุกวิถีทางซึ่งอาจจะประสบความสำเร็จเข้าสักวัน แต่จะนำไปสู่ข้อกังขาถึงความไร้ขอบเขตของการเมืองภาคประชาชนที่นำไปสู่การล้มล้างพรรคการเมืองและการเมืองในระบบรัฐสภาก็ได้ ถึงเวลาแล้วหรือที่การเมืองภาคประชาชนในประเทศไทย ไม่ว่าจะควบคุมโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือพลังการเมืองอื่นจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพของการเมืองแบบระบอบรัฐสภาปัจจุบันของเราที่ยังไม่พัฒนาอย่างเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง ซึ่งระบอบรัฐสภาที่พรรคการเมืองแข่งขันกันให้ได้อำนาจรัฐเช่นนี้นั้น ประเทศเสรีนิยมและสังคมประชาธิปไตยในสากลส่วนใหญ่ในโลกได้ร่วมกันสร้างสรรค์มาอย่างยาวนานเกือบ 200 ปี จนเป็นแบบอย่างที่ส่งผลไปทั่วโลกและต่อประเทศไทย และยังนิยมกันในทุกวันนี้โดยส่วนใหญ่ในนานาชาติ ซึ่งแม้จะมีจุดอ่อนในเชิงปัญหาการตอบสนองความต้องการของประชาชนและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอยู่บ้าง แต่เราก็ต้องช่วยกันเสริมสร้างควบคู่กันไปให้อยู่อย่างเอื้อประโยชน์ต่อกันระหว่างการเมืองแบบในระบบกับนอกระบบ มิใช่แบบใดพึงล้มล้างอีกแบบหนึ่ง


นอกจากนี้การเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของสมาชิก หรือ อดีตผู้สมัคร ส.ส. หรือ ผู้ลงคะแนนให้พรรคการเมืองที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับพรรคร่วมรัฐบาล (พรรคประชาธิปัตย์) ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อการเมืองภาคประชาชนที่บริสุทธิ์และงดงามว่าควรเป็นเช่นไร หรือ ควรจะต้องคำนึงถึงหรือไม่


ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนไทยจำนวนมากน่าจะโชคร้าย ด้วยกำลังหนีเสือปะจระเข้เสียแล้ว เพราะว่าเมื่อหลายปีที่ผ่านมาต้องอยู่กับ "ระบอบทักษิณ" แต่ปัจจุบันต้องอยู่กับ "ระบอบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" อันเป็นเผด็จการประชาธิปไตยที่น่ากลัวไปอีกแบบ


 


ทางออกในการแก้ไขวิฤตการเมืองและประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน


            สภาพการเมืองไทยปัจจุบัน ประชาชนมิได้ต่อสู้กับผู้ปกครองเช่นในอดีต เรากำลังขัดแย้งและต่อสู้กันเอง ซ้ำยังกลายเป็นเครื่องมือของผู้ปกครอง ทั้งกลุ่มทุนธุรกิจและกลุ่มอำมาตยาธิปไตยที่อยู่เหนือประชาชนส่วนใหญ่ (ข้าพเจ้าเห็นว่าองค์พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่เหนือการเมืองจึงไม่สังกัดอยู่ในกลุ่มอำมาตยาธิปไตยและไม่ทรงเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุน แต่ทรงเป็นนักพัฒนาอิสระเพื่อมวลมหาชนชาวสยาม) แต่ความขัดแย้งในทางการเมืองการปกครองปัจจุบันมิใช่ความขัดแย้งที่ประนีประนอมไม่ได้ สภาพเช่นนี้ย่อมจำเป็นต้องให้การสร้างสรรค์การเมืองใหม่เป็นหน้าที่และสิทธิของประชาชนในทุกสถาบันและกลุ่มการเมือง มิใช่ผูกขาดโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น และจำเป็นต้องย้ำว่าฝ่ายที่คิดไม่เหมือนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เป็นพวกระบอบทักษิณไปทั้งหมด ฉะนั้นทุกกลุ่มมีสิทธิแสดงออก เราจึงต้องมาร่วมกันแก้ไข


 


ข้อเสนอที่ข้าพเจ้าระบุต่อไปนี้ ท่านประชาชนไทยที่รักทั้งหลายเห็นเป็นอย่างไร


1.               พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะต้องยุติการเคลื่อนไหวแบบสุดโต่ง ผูกขาดความถูกต้อง ท้ารบ ข่มขู่ ใจเร็วด่วนได้ เชื้อเชิญทหารและตำรวจให้เข้าร่วมกระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างโจ่งแจ้งและโดยกุศโลบายอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยกเลิกความเป็นเผด็จการประชาธิปไตย แต่เคลื่อนไหวอย่างพอเพียง ดังที่ว่า "ไม่ช้าเกินไปและไม่เร็วเกินไป" และสมานฉันท์ ตามวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเทิดทูน


2.               ทำให้บริษัทสื่อที่ทำงานการเมืองแห่งชาติให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพ้นจากการควบคุมโดยนายทุนสื่อ โดยแปลงรูปเป็นธุรกิจของส่วนรวมเพื่อทำให้สื่อการเมืองภาคประชาชนเป็นสมบัติของสังคมเสีย เช่น โอนหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และ สถานีโทรทัศน์ ASTV ไปเป็นบรรษัท/รัฐวิสาหกิจของชาติ พร้อมกับเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการสื่อสารมวลชนในกรณีเช่นนี้ ให้มีการจัดสรรเวลานำเสนออย่างมีกติกา ยุติธรรมแก่ทุกกลุ่ม และในขอบเขตที่รับผิดชอบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างรอบด้าน และมิให้ผูกขาดโดยนายทุนสื่อกลุ่มใด (มีข่าวล่าสุดมาว่าอดีตสมาชิกแนวร่วมประชาชนต้านเผด็จการกำลังรื้อฟื้น PTV เพื่อสู้กับ ASTV ก็พึงอยู่ในกฎเกณฑ์นี้เช่นเดียวกัน หาไม่แล้ว สังคมก็คงแตกเป็นเสี่ยงๆแน่ๆจากการต่อสู้กันของทุกกลุ่มไม่ว่าจะเล่นการเมืองในรัฐสภาและการเมืองภาคประชาชน โดยที่แต่ละกลุ่มล้วนหาทางครอบครองสื่อและคลื่นสาธารณะเพื่อสู้กับกลุ่มอื่นๆอย่างไร้กติกา)


3.               รัฐบาล และ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คู่ขัดแย้งหลัก ยอมรับการร่วมลงนามสัญญาประชาคมเพื่อยุติข้อขัดแย้ง ในประเด็นสำคัญๆ เช่น การไม่แทรกแซงของรัฐบาลต่อกระบวนการพิจารณาคดีของอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย การจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษระหว่างภาครัฐกับประชาชนเพื่อสนับสนุนความโปร่งใสในการดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรี การไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเว้นโทษย้อนหลังแก่ผู้กระทำผิด การจัดตั้ง "สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยของประเทศ" (ตามที่กล่าวถึงในข้อ 5.) การทำประชามติในประเด็นขัดแย้งเพื่อให้ประชาชนตัดสิน การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยนำฉบับ พ.ศ. 2540 และ 2550 มาใช้ประโยชน์ เป็นต้น โดยมีคณะบุคคลกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน เช่น ผู้นำภาครัฐ ภาคสังคม และ ภาคเอกชน และอาจรวมทั้ง กลุ่มสภาสนามหลวงต่อต้านเผด็จการ พรรคการเมืองที่มี ส.ส. สมาพันธ์พรรคการเมืองเพื่อประชาชนและประชาธิปไตย (ผู้แทนกลุ่มพรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.) และกลุ่มพลังการเมืองต่างๆ ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานด้วย


4.               ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาประชุมร่วมกันโดยเร็วที่สุดเพื่อหาข้อยุติในเรื่องการชุมนุมประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและการโต้ตอบของกลุ่มการเมืองอื่นๆในขณะนี้ ว่าควรดำเนินการอย่างไร รวมทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยควรปฏิบัติตนอย่างไร ใครจะเป็นรัฐบาลต่อไป หรือ ให้รัฐบาลปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปอย่างไร หรือ จำกัดภารกิจรัฐบาลไว้ในเรื่องใดบ้างเป็นการชั่วคราว และรัฐบาลจะต้องทำประการใดบ้างเพื่อสนับสนุนการให้ได้ข้อตกลงสัญญาประชาคมในข้อ 3. และการปฏิบัติตามข้อตกลง หากใช้แนวทางนี้ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลหรือรัฐบาลแห่งชาติ แต่ให้กระบวนการแก้ไขปัญหาการเมืองเป็นไปตามสัญญาประชาคมที่ลงนามร่วมกันดังกล่าว


5.               การประชุมร่วมกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาควรจะให้เกิดการจัดตั้งที่ประชุมและองค์การร่วมแห่งชาติเพื่อช่วยเหลืองานของสภาทั้งสองแห่ง ซึ่งอาจเรียกว่า "สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยของประเทศ" ที่มาจากประชาชนทุกภาคส่วนรวมทั้งการเข้าร่วมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มที่มีความคิดเห็นตรงข้ามหรือคล้ายคลึงกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนำข้อเสนอทุกประการของทุกกลุ่มต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเข้าร่วมถกเถียงอย่างสันติวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอต่างๆเพื่อระบบการเมืองใหม่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นก็ให้นำเข้าสู่การถกเถียงในสภาแห่งนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งหลายเรื่องก็น่าสนใจ เพื่อนำไปสู่การหาข้อสรุปภาพฝันการเมืองและประชาธิปไตยใหม่และการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการให้ได้ข้อยุติภาพฝันการเมืองและประชาธิปไตยไทยดังกล่าว


6.               ทางเลือกต่างๆที่มีการนำเสนอกันของหลายเวทีในระยะที่ผ่านมาก็ควรนำมาถกเถียงใน "สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยของประเทศ" ให้ได้ข้อยุติกันอย่างมีคุณภาพว่าจะเอาอย่างไร เช่น การทำประชามติในประเด็นหลักๆที่กลุ่มพลังประชาชนต่างๆมีความเห็นขัดแย้ง การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองของประเทศครั้งใหม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเอาฉบับ พ.ศ. 2540 และ 2550 มาใช้ประโยชน์ และ การยกเลิกการควบคุมบังคังบัญชาพรรคการเมืองโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ควรทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งอย่างเดียว เป็นต้น


7.               การปฏิรูประบบการเลือกตั้งในทุกส่วน ทุกสถาบัน และ ตัวประชาชนที่อาจถูกซื้อเสียง ให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง โดยยังคงยึดมั่นต่อการมีระบบพรรคการเมืองแต่ให้ได้มาตรฐานแห่งจริยธรรมทางการเมืองของพรรคและนักการเมือง และการมีประชาธิปไตยภายในพรรคที่เข้มแข็งเพื่อป้องกันเผด็จการของผู้นำพรรค รวมทั้งให้รัฐเพิ่มงบประมาณประชาสัมพันธ์ในการเลือกตั้งแก่พรรคการเมือง และในทางกลับกันให้ลดการใช้เงินหาเสียงของพรรคและนักการเมืองลงเพื่อลดการแข่งขันที่รุนแรงและนำไปสู่การซื้อเสียงได้ง่าย


8.               การจัดระเบียบการเมืองภาคประชาชนและการเมืองในระบอบรัฐสภาใหม่ให้เหมาะสม และไม่ทำลายล้างกันและกัน แต่ทำหน้าที่เสริมและถ่วงดุลกัน


9.               หากความขัดแย้งยังยืดเยื้อและมีแนวโน้มรุนแรงต่อไปอีกนาน และถ้าบุคคลหรือสถาบันต่างๆที่เรายอมรับไม่สามารถเป็นคนกลางช่วยแก้ไขวิกฤตความขัดแย้งในประเทศนี้ได้ เราก็อาจต้องนำเอาผู้แทนจากประเทศคนกลางที่ประสพความสำเร็จในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในอุดมการณ์ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้ความสำคัญและที่พลังการเมืองอื่นๆก็ให้ความยอมรับมาแนะนำและไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในประเทศเรา


วิกฤตการเมืองแก้ไขได้ แต่ข้อเสนอข้างต้นคงอยู่อย่างเลื่อนลอย หากเราไม่ตั้งหลักกันใหม่ ยอมรับเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติที่หลายฝ่ายร่วมกันกำหนด และหันหน้าเข้าหากันโดยลดอัตตาของคู่ขัดแย้งทั้งหลายลงเสียทีโดยเร็วที่สุด ก่อนที่ประเทศชาติจะล่มสลายเพราะความแตกร้าวในครั้งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net