Skip to main content
sharethis

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร


http://kriangsakt.blogspot.com


 


 


แนวนโยบายหลักของรัฐแบบเสรีนิยมใหม่ ประกอบด้วย การแปรรูปบริการของรัฐเป็นเอกชน (Privatisation) การเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน (Trade and Financial liberalization) และการผ่อนคลายและลดกฎระเบียบ (Deregulation) เพราะหลักการของเสรีนิยมใหม่ ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่า เงื่อนไขที่จำเป็นของการอยู่ดีมีสุขของมนุษย์นั้นคือ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล (ในการประกอบการ) ดังนั้น โครงสร้างเชิงสถาบันที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่คือ การคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดและระบบตลาดแข่งขันเสรี


 


ลัทธิเสรีนิยมใหม่ปรากฏโฉมหน้าให้เห็นอย่างชัดเจนในทศวรรษ 1970 ภายหลังผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศนำทางอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐฯและอังกฤษเสื่อมความเชื่อมั่นในลัทธิเศรษฐกิจการเมืองแบบเคนส์เซียน (Keynesianism) ที่ไม่สามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่มีปัญหาการว่างงานควบคู่กับภาวะเงินเฟ้อสูง (stagflation)  ได้ ในเดือนพฤษภาคม ปี 1979 มากาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ พร้อมด้วยภารกิจในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ด้วยอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ เธอยอมรับว่าจำเป็นจะต้องละทิ้งนโยบายแบบเคนส์เซียนและหันมาใช้วิธีการบริหารตามแนวทฤษฎีสำนักการเงินนิยม (monetarism) หรือแบบเน้นอุปทาน (supply-side) เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่อังกฤษประสบอยู่ในช่วงทศวรรษ 1970


 


กระบวนการทำให้เป็นเสรีนิยมใหม่ (neoliberalisation)  หยิบฉวยเอาทุนทางวัฒนธรรมแบบเสรีนิยมที่ฝังราก (Embedded liberalism) อย่างมั่นคงในสังคมตะวันตก โดยผู้นำกระบวนการนี้ได้เน้นนำคุณค่าที่เป็นเสาหลักของแนวคิดเสรีนิยมคือ "อิสรภาพและเสรีภาพส่วนบุคคล" รวมทั้งรังสรรค์ปั้นแต่งใหม่ด้วยกลวิธีตอกย้ำ (ละเลย) คุณค่าที่พึงปรารถนา (ไม่พึงปรารถนา) ในสายตาของตน เพื่อออกแบบ ผลิต และผลิตซ้ำคุณค่าเหล่านั้นให้เข้าแทนที่คุณค่าเดิมและผสมกลมกลืนกับคุณค่าอื่นอย่างแนบเนียนจนกลายเป็น "สามัญสำนึก" ของสมาชิกแต่ละคนในสังคม ดังคำกล่าวที่โด่งดังของแทตเชอร์ประโยคหนึ่งว่า « no such thing as society, only individual men and women » ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศสงครามต่ออุดมคติแบบสังคมนิยม (หรือคุณค่าที่เสนอโดยพรรคแรงงาน พรรคการเมืองคู่แข่งฝ่ายซ้าย) ด้วยการตอกย้ำอุดมคติแบบปัจเจกนิยม (individualism) ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 11 ปีที่เธอดำรงตำแหน่งนายกฯ ถึงความเป็นสากลแท้จริงและอยู่เหนือสังคมของสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกชน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เธอประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนโฉมหน้าของเศรษฐกิจและสังคมอังกฤษ และสามารถทำลายพื้นที่ในสังคมของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนชั้นแรงงานอย่างราบคาบ [1]


 


บทความนี้ต้องการเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเสรีนิยมใหม่ในฐานะลัทธิ (Doctrine) เศรษฐกิจการเมืองหนึ่งในมุมมองประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมือง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่มีอิทธิพลครอบงำความคิดกระแสหลักในสังคมไทยและสังคมโลกาภิวัตน์อย่างรู้เท่าทัน


 


สำนักเสรีนิยมใหม่กับบริบทการเมืองช่วงปลายศตวรรษที่ 20 


นักคิดที่ถือเป็นหัวหอกสำคัญของสำนักเสรีนิยมใหม่ คือ นักปรัชญาสำนักออสเตรียอย่าง ฟริดริช ฟอน ฮาเย็ค (Friedrich von Hayek, 1899-1992), ลุดวิก ฟอน มิสเซส (Ludwig von Mises, 1881-1973), คาร์ล ปอปเปอร์ (Karl Popper, 1902-1994) และนักเศรษฐศาสตร์ผู้ก่อตั้งสำนักการเงินนิยมของมหาวิทยาลัยชิคาโก มิลตัน ฟริดแมน (Milton Friedman, 1912-2006) ทั้งหมดเป็นสมาชิกของสมาคมที่เรียกตัวเองว่า Mont Pelerin Society ซึ่งตั้งชื่อตามสถานที่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่บุคคลเหล่านี้นัดพบกันและจัดตั้งสมาคมขึ้นอย่างเป็นทางการ


 


นักคิดเหล่านี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วโลก ในฐานะนักวิชาการที่สนับสนุนคุณค่าของเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดและความเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮาเย็คและฟริดแมนนั้น นอกจากได้รับการยอมรับในฐานะนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่สนับสนุนคุณค่าของระบบทุนนิยมและเสรีภาพของการประกอบธุรกิจตามแนวทางเศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิคแล้ว ทั้งคู่ยังได้รับการยอมรับในฐานะนักปรัชญาการเมืองที่มีงานเขียนสำคัญมากมายเกี่ยวกับปัจเจกชนนิยม เสรีภาพและการต่อต้านระบอบเผด็จการ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมอเมริกาในวงกว้างอย่างมาก ในอีกมุมหนึ่ง ฮาเย็คและฟริดแมนเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เสนอทฤษฎีที่ปฏิเสธแนวความคิดของมาร์กซ์และเคนส์ ซึ่งรายหลังมีอิทธิพลและบทบาทอย่างมากหลังเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 1930 กล่าวคือ เคนส์เป็นผู้เสนอให้รัฐเพิ่มบทบาทในด้านเศรษฐกิจ โดยเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐเพื่อกระตุ้นด้านอุปสงค์หรือความต้องการบริโภคสินค้าของครัวเรือนและสร้างงานให้กับแรงงานที่ประสบกับภาวะว่างงาน


 


ความสำเร็จส่วนหนึ่งของนักคิดเสรีนิยมใหม่กลุ่มนี้ มาจากการช่วยเหลือทางด้านการเงินและทางการเมืองจากกลุ่มทุนธุรกิจในสหรัฐฯ ที่ไม่ต้องการการแทรกแซงและการเพิ่มกฎระเบียบในด้านเศรษฐกิจจากรัฐ ทั้งนี้ ลัทธิเสรีนิยมใหม่เริ่มปรากฏบทบาทในทางการเมืองชัดเจนในสหรัฐฯ และอังกฤษในทศวรรษ 1970 เมื่อชื่อเสียงและอิทธิพลของนักคิดกลุ่ม Mont Pelerin Society แพร่กระจายไปมากในวงวิชาการ โดยผ่านทางสถาบันวิจัยทางด้านเศรษฐกิจหรือสถาบันผลิตนักคิด อย่างเช่น Institute of Economic Affairs ในลอนดอน และ the Heritage Foundation ในวอชิงตันยิ่งเมื่อภายหลังฮาเย็คและฟริดแมนได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1974 และ 1976 ตามลำดับด้วยแล้ว (ถึงแม้จะเป็นที่วิจารณ์ว่ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์นั้น มีที่มาและระบบการคัดเลือกที่แยกออกเป็นเอกเทศและไม่เกี่ยวข้องกับโนเบลของสาขาอื่น รวมทั้งยังถูกครอบงำและกำหนดทิศทางจากกลุ่มชนชั้นนำนายธนาคารของสวีเดน) เป็นที่ยอมรับว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่นั้นสามารถยึดครองพื้นที่สำคัญในทางการเมืองได้อย่างเป็นทางการในช่วงปี 1979 [2]


 


ปัจจัยที่เอื้อให้อุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ได้รับการยอมรับในสังคมขณะนั้น คือ บรรยากาศทางการเมืองเพื่อเรียกร้องเสรีภาพและความเป็นธรรมทางสังคมซึ่งกำลังเบ่งบานสุดขีดในช่วงทศวรรษ 1970 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องเสรีภาพของปัจเจกชน ที่นำโดยนักศึกษา ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในปี 1968 (3 ปีให้หลัง ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านเผด็จการทหารที่นำโดยของนิสิตนักศึกษา ในประเทศไทย ได้รับชัยชนะในการเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมืองในเดือนตุลาคม ก่อนที่จะถูกปราบปรามและเข่นฆ่าอย่างเลือดเย็นโดยเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายปฏิกิริยาฝั่งขวาในอีก 3 ปีต่อมา)  อาจกล่าวได้ว่าในขณะนั้น ขบวนการเคลื่อนไหวใดก็ตามที่ชูธงเสรีภาพและความเป็นธรรมทางสังคมสามารถผสมกลมกลืนและร่วมขบวนการปฏิวัติสังคมไปด้วยกันได้ทั้งสิ้นเนื่องจากมีศัตรูที่ชัดเจนเดียวกัน นั่นคือ รัฐอำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเรียกร้องสิทธิพลเมือง สิทธิในการแสดงออกทางเพศ กลุ่มต่อต้านกระแสบริโภคนิยม ไปจนถึงกลุ่มต่อต้านสงครามเวียตนาม


 


ความต้องการและถวิลหาเสรีภาพของปัจเจกชนนี้เอง ที่ช่วยให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านี้เต็มใจอ้าแขนรับแนวคิดเพื่อเรียกร้องเสรีภาพของนักคิดกลุ่มเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาย้อนหลังไปแล้ว ก็ดูเหมือนจะเข้ากันได้อย่างดีกับวัฒนธรรมความคิดแบบ "หลังสมัยใหม่ (postmodernism)" ที่ถูกดึงเข้ามาเป็นทางเลือกเชิงตรรกะของขบวนการเคลื่อนไหวในขณะนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ข้อเรียกร้องสำคัญอีกประการของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม คือความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งแท้จริงแล้ว ขัดแย้งและตรงข้ามกับข้อเสนอของเสรีนิยมใหม่ที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ข้อเท็จจริงประการนี้กลับไม่ปรากฏชัดเจนในขณะนั้น อาจเป็นเพราะข้ออ้างเชิงทฤษฎีในเรื่องการแข่งขันสมบูรณ์ของเสรีนิยมใหม่นั้นเอง ที่ยังสามารถใช้เป็นม่านบังให้กับระบบทุนนิยมอย่างได้ผล เช่นเดียวกับที่สำนักเสรีนิยมนีโอคลาสสิคเคยใช้ข้ออ้างข้อเดียวกันนี้มาแล้วในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนทำให้เกิดข้อเรียกร้องการปฏิวัติของชนชั้นจากมาร์กซ์ [3]


 


 


เสรีนิยมใหม่ กระบอกเสียงของนายทุนและเครื่องมือพิฆาตฝ่ายซ้าย


การผลิตซ้ำแนวความคิดของเสรีนิยมใหม่ในสหรัฐฯ นั้น เกิดขึ้นผ่านการให้ทุนสนับสนุนจากองค์กรธุรกิจไปยังสถาบันผลิตความคิด เช่น the Hoover Institute, the Center for the Study of American Business, the American Entreprise Institute ไปจนถึงสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงอย่างเช่น National Bureau of Economic Research (NBER) ซึ่งได้รับการกำหนดหัวข้อวิจัยจากกลุ่มทุน เพื่อเป้าหมายในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ ปรากฏว่า กว่าครึ่งหนึ่งของเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยของ NBER นั้น ได้จากองค์กรธุรกิจชั้นนำและกลุ่มบริษัท Fortune 500 จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมแนวความคิดแบบเสรีนิยมใหม่นี้จึงได้ถูกผลิตซ้ำอย่างกว้างขวางโดยคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยทั่วโลก  หรือหากจะพิจารณาให้ลึกซึ้งลงไปในแกนกลางของการผลิตความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์เอง อาจกล่าวได้ว่าทฤษฎีที่เกิดขึ้นหลังสำนักเคนส์เซียนนั้น สามารถนำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้กับเสรีนิยมใหม่ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีสายการเงินนิยมของฟริดแมน ทฤษฎีการคาดการณ์อย่างมีเหตุผล (rational expectations) ของโรเบิร์ต ลูคัส, ทฤษฎีทางเลือกสาธารณะ (public choice) ของสำนักชิคาโก หรือแม้กระทั่งทฤษฎีที่เน้นด้านอุปทาน (supply-side) ที่เสนอโดยอาร์เธอร์ ลาฟเฟอร์ ต่างก็เห็นไปในทางเดียวกันว่าการแทรกแซงของรัฐคือปัญหามากกว่าการแก้ไข และเสนอให้ใช้นโยบายการเงินแบบมีเสถียรภาพร่วมกับการลดภาษี เพื่อเป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการ แนวทฤษฎีและนโยบายลักษณะนี้ยังได้รับการผลิตซ้ำจากวารสารทางการเงินอย่าง Wall Street Journal และมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างสแตนฟอร์ดและฮาร์วาร์ด ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางของการผลิตความคิดเสรีนิยมกระแสหลักในปัจจุบัน ในพื้นที่นอกสังคมวิชาการ ซีรีย์ทางโทรทัศน์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเสรีภาพทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของฟริดแมนที่ชื่อว่า Free to choose (ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากกลุ่มทุนธุรกิจเช่นกัน) ก็เริ่มออกอากาศทางช่อง PBSในปี 1977 และประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะรายการคุณภาพ ซึ่งต่อมาได้รับการผลิตซ้ำเป็นหนังสือที่กลายเป็นหนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่งจนกระทั่งปัจจุบัน [4]


 


ผลของการเผยแพร่ลัทธิเสรีนิยมใหม่นี้ ปรากฏชัดเจนในประเทศสหรัฐฯ และอังกฤษก่อน แล้วจึงค่อยแผ่ขยายอาณาบริเวณไปยังประเทศอาณานิคมชั้นในของจักรวรรดินิยมรูปแบบใหม่ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นเจ้าอาณานิคม ประเทศอาณานิคมชั้นในนี้หมายถึงประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา นอกจากนี้ อิทธิพลของลัทธิเสรีนิยมยังแผ่ขยายไปยังประเทศรอบนอกผ่านทางองค์กรระหว่างประเทศอย่างไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก สักขีพยานที่ชัดเจนต่อคำกล่าวหานี้ก็คือคำกล่าวของโจเซฟ สติกลิทซ์ อดีตรองประธานและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกในหนังสือ Globalization and its discontents ของเขาว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญภายในองค์กรของไอเอ็มเอฟคือ การเปลี่ยนถ่ายเอานักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมใหม่เข้าแทนที่พวกเคนส์เซียนในช่วงปี 1982 ซึ่งทำให้ไอเอ็มเอฟกลายเป็นกลไกรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในสหรัฐฯ และกระบอกเสียงของเสรีนิยมใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเต็มตัว [5]


 


ในประเทศอังกฤษ ชัยชนะของแทตเชอร์หมายถึงการหยุดชะงักของการเมืองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ก่อตัวและเติบโตขึ้นภายหลังปี 1945  พลังของสหภาพแรงงานถูกทำลายลงด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ของตลาดแรงงาน เพื่อความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการจ้างงานและความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม แนวโน้มของรัฐสวัสดิการต้องกลับหลังหันอย่างทันทีทันใด บริการของรัฐอย่างเช่นโครงการสวัสดิการที่อยู่อาศัยถูกโอนไปเป็นของเอกชน มีการลดภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าบรรยากาศในการลงทุนที่ดีของประเทศและการไหลเข้าของทุนจากต่างประเทศ สังคมอังกฤษหันไปให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกชนและความรับผิดชอบของปัจเจก กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและคุณค่าของครอบครัว แทนที่ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของสังคม


 


ในสหรัฐฯ ภายหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งของเรแกนในปี 1980 นโยบายเศรษฐกิจแบบเคนส์เซียนตามหลักการนิวดีลของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการจ้างงานเต็มที่ถูกแทนที่ด้วยนโยบายแบบเสรีนิยมเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ที่ปรึกษาของเรแกนเห็นว่าตัวยาขนานการเงินนิยมของโวลค์เกอร์ ประธานของเฟดในสมัยของคาร์เตอร์นั้นใช้ได้ผล เรแกนจึงแต่งตั้งเขากลับเข้าดำรงตำแหน่งประธานของเฟดอีกครั้ง และสนับสนุนนโยบายในลักษณะเปิดเสรีมากขึ้น มีการลดภาษี ลดทอนอำนาจของสหภาพและสมาคมอาชีพต่างๆ ทั้งนี้ การลดหย่อนภาษีการลงทุนทำให้ทุนเคลื่อนย้ายจากภูมิภาคที่สหภาพแรงงานเข้มแข็ง โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและมิดเวสต์ไปในเขตที่ปลอดสหภาพ ทางใต้และตะวันตก ทุนทางการเงินเริ่มมองหาแหล่งลงทุนใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมไปลงทุนและทำการผลิตนอกประเทศเริ่มกลายเป็นปรากฏการณ์ปกติ ภาษีธุรกิจลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ของภาษีส่วนบุคคลลดลงจากที่เคยสูงถึง 70 เป็น 28 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์ลดภาษีที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ นี่คือจุดเริ่มต้นก่อตัวความเหลื่อมล้ำทางสังคมและอำนาจทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของชนชั้นรายได้สูง มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าความจริงแล้ว กระบวนการเสรีนิยมใหม่ ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดหรือทฤษฎีเศรษฐกิจมากเท่ากับเป็นผลของความพยายามรักษาอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรและสถานะทางสังคมของชนชั้นนายทุน [6]


 


ทักษิโณมิกส์กับเงาของเสรีนิยมใหม่


หากจะกล่าวถึงตัวอย่างของนักเศรษฐศาสตร์ลาตินอเมริกาที่คนไทยรู้จักดี  ตัวอย่างแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชาวเปรู เฮอนานโด เดอ โซโต (Hernando De Soto) เกี่ยวกับ "ทุนที่ตายแล้ว (dead capital)" ก็ได้รับอิทธิพลจากลัทธิเสรีนิยมใหม่อย่างชัดเจน ทฤษฎีของเขาได้รับการยกย่องจากอดีตนายกทักษิณ ชิณวัตร ที่ประกาศแนะนำให้หนังสือ The mystery of capital เป็นหนังสือสำคัญที่คนไทยต้องอ่าน และนำทฤษฏีของเดอ โซโตเรื่องทุนที่ตายแล้วและภาคธุรกิจใต้ดินมาประยุกต์เป็นนโยบาย "แปลงสินทรัพย์เป็นทุน" ซึ่งถูกใช้เป็นนโยบายสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน 


 


ถึงแม้นิตยสารชั้นนำทางธุรกิจอย่าง Time, Forbes, หรือ The New York Times Magazine จะสรรเสริญให้เดอ โซโตเป็นดาวเด่นในศตวรรษ ในฐานะผู้สร้างนวัตกรรมทางความรู้เกี่ยวกับ "ทุน" และการแก้ปัญหา "ความยากจน" แต่สถาบันเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ก่อตั้งโดยเดอ โซโตเอง รวมทั้งหนังสือของเขาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในวารสารวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองหรือกระบอกเสียงที่ใช้เผยแพร่อุดมคติแบบเสรีนิยมใหม่ของสำนักชิคาโก ยิ่งไปกว่านั้น หนังสือหรือบทความที่ผลิตโดยสถาบันนี้ยังถูกวิจารณ์ว่าขาดมาตรฐานตามบรรทัดฐานทางวิชาการและมีลักษณะใกล้เคียงกับบทความเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองมากกว่า สักขีพยานที่สำคัญที่แสดงว่าเดอ โซโตนั้นทำหน้าที่กระบอกเสียงนี้ได้อย่างดีเยี่ยมคือรางวัล "Milton Friedman prize for the advancing liberty" ที่เขาได้รับเกียรติในปี 2004 จากสถาบันคาโต (Cato Institute) ซึ่งเป็นสถาบันที่ส่งเสริมคุณค่าทางด้านเสรีนิยมอย่างเข้มแข็งในสหรัฐฯ


 


ทั้งนี้ รายชื่อคณะกรรมการนานาชาติสำหรับการมอบรางวัลมิลตัน ฟริดแมน ในปี 2008 นี้ ประกอบด้วย ประธานของสถาบันคาโต, ภริยาของ ฟริดแมน ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนโรส-ฟริดแมน ซึ่งมีบทบาทสำคัญร่วมกับฟริดแมนในการเผยแพร่แนวคิดเสรีนิยมใหม่ในอเมริกาผ่านหนังสือของเขาและรายการโทรทัศน์ Free to Choose, อดีตรัฐมนตรีคลังของเม็กซิโก Francisco Gil Díaz, ประธานบริษัทและซีอีโอของ Koch Industries Inc. ของสหรัฐฯ, ประธานบริษัทสื่อ Next Media ของฮ่องกง, รวมทั้ง Editorial Board ของ The Wall Street Journal (Mary Anastasia O"Grady) และบรรณาธิการของนิตยสาร Newsweek International (Fareed Zakaria)  ส่วนคณะกรรมการในอดีตที่สำคัญคือ อดีตนายกฯ อังกฤษมากาเรต แทตเชอร์, ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเชค Václav Klaus รวมทั้งประธานและซีอีโอของเฟดเอ็กซ์ คอร์ปอเรชัน [7]


 


อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเสรีนิยมใหม่ในสหรัฐฯจะรอดพ้นจากวิกฤตด้านความชอบธรรมอย่างหมดจด นักวิจารณ์และนักวิชาการจำนวนมากตั้งคำถามกับกระบวนการผลิตซ้ำลัทธิเสรีนิยมใหม่ของสถาบันการศึกษษระดับสูง อย่างเช่นมหาวิทยาลัยชิคาโก ตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนคือ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บุคลากรด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยชิคาโกจำนวนร้อยกว่าคนเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานมหาวิทยาลัยเพื่อคัดค้านการทุ่มงบประมาณ 200 ล้านเหรียญเพื่อสร้างสถาบันฟริดแมน โดยในจดหมายดังกล่าว บุคลากรเหล่านี้ได้ให้เหตุผลแสดงความห่วงใยต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในทางลบที่เกิดจาก "neoliberal global order" [8]


 


ทั้งนี้ ในหนังสือเล่มล่าสุดของ Naomi Klein ที่ชื่อว่า The Shock Doctrine : The Rise of Disaster Capitalism [9] 


 


เธอถึงกับตั้งสมมุติฐานว่าแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของฟริดแมนอยู่บนหลักการพื้นฐานเดียวกับที่หน่วยงาน CIA ใช้ทรมานและสอบสวนผู้ต้องขังคดีก่อการร้ายในคุก Abu Ghraib ของอิรัก ซึ่งตกเป็นข่าวฉาวโฉ่ไปทั่วโลกกับกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ถูกคุมขัง


 


Naomi Klein นำสมมุติฐานที่ผู้เขียนขอแปลว่า "ทุนนิยมหายนะ" มาอธิบายการครอบงำทางอุดมการณ์ของลัทธิเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ที่นำโดยสหรัฐฯในปัจจุบัน โดยเนื้อหาสำคัญคือการพยายามแสดงให้เห็นว่าฟริดแมนเองนำหลักการของความกลัวและวิธีการเดียวกับที่ใช้บำบัดผู้ป่วยทางจิตในอดีตโดยสร้างอาการช็อกมาประยุกต์ในระดับสังคมอย่างไร กล่าวคือ ในระดับปัจเจก วิธีการบำบัดแบบ Shock Therapy นี้ทำลายสภาวะแห่งเหตุผลและลดทอนให้บุคคลมีสภาพไม่ต่างจากทารก เมื่อประยุกต์ใช้ในระดับสังคม ความกลัวความไม่มั่นคง เศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อ การตกงาน ความยากจน วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากแนวนโยบายที่ฝ่ายเสรีนิยมใหม่เสนอ ในทางสังคมและการเมือง ก็ทำให้ประชาชนไม่ต่างจากทารก ที่ต้องพึ่งพาและเชื่อฟังผู้นำ รวมทั้งสามารถบ่อนทำลายเสรีภาพและประชาธิปไตยได้อย่างชะงัดนัก


 


การเมืองแบบเสรีนิยมในประเทศไทย


การครอบงำของวัฒนธรรมแบบเสรีนิยมใหม่ในเศรษฐกิจโลก ทำให้เงื่อนไขการเปิดเสรีทางการเงินและการค้าปรากฏต่อรัฐไทยในฐานะภาวะที่จำเป็นหรือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในนัยที่ "ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้" แทนที่จะเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในเชิงนโยบาย  ในทางการเมือง วัฒนธรรมเศรษฐกิจตามแบบเสรีนิยมใหม่ยังมีส่วนไม่น้อยในการกำหนดทิศทางและโฉมหน้าการเมืองไทยในช่วงรอยต่อ โดยผ่านสิ่งที่ ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคริส เบเคอร์เรียกว่า "การเมืองของการเปิดเสรี" ที่เกิดขึ้นหลังกระบวนการทำให้เป็นอุตสาหกรรม (industrialisation) และเปิดเสรีตลาดสินค้าอย่างรวดเร็วของไทยในช่วงหลังทศวรรษ 2520 [10] 


 


ตัวอย่างที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าการยอมรับวัฒนธรรมเศรษฐกิจตามรูปแบบเสรีนิยมใหม่นั้น ได้ทำให้กระบวนการจัดสรรอำนาจทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป คือ การเมืองไทยตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารในเดือนพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ไปจนกระทั่งการปฏิรูปการเมืองในช่วงปี 2540 อันนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและเกิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2540   (ที่ถูกฉีกในเวลา 10 ต่อมาโดยคณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549) ทั้งนี้ วัฒนธรรมทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ที่กำลังพูดถึงนั้น เข้ามามีอิทธิพลในกระบวนการจัดสรรอำนาจ โดยผ่านปัจจัยสำคัญ คือ อิทธิพลของสื่อตะวันตกและการขยายตัวของชนชั้นกลางในเมืองของไทย


 


ตามการวิเคราะห์ของ ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคริส เบเคอร์ ภายหลังทศวรรษ 2520 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่สำคัญกับเศรษฐกิจไทย 2 ประการคือ ประการแรก ไทยหันมาเน้นอุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งในขณะเดียวกัน เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2530 ก็เพิ่มมากขึ้นในปริมาณที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประการที่สอง ระหว่างปี 2532-2536 ภาคการเงินระหว่างประเทศถูกเปิดเสรีบางส่วน ในปี 2538 ปีเดียว เงินทุนหมุนเวียนในบัญชีทุนมากเท่ากับทั้งหมดที่ปรากฏในช่วง 10 ปีระหว่างต้นทศวรรษ 2510-2520 และหนี้ต่างประเทศของเอกชนเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าในเวลา 8 ปี 


 


ทั้งหมดนี้ ทำให้อิทธิพลของปัจจัยภายนอกเข้ามามีบทบาทกับการเมืองไทยโดยผ่าน "การจับจ้องอย่างใกล้ชิด" ของสื่อการเงินต่างประเทศและสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (เช่นธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ เอดีบี บีไอเอส แกตต์) หรือที่อาจารย์ทั้งสองท่านใช้คำว่า "การกำกับสอดส่องจากภายนอก" โดยท่านได้ยกตัวอย่างของการขยายกิจกรรมของนิตยสารการเงินหลายฉบับในประเทศไทย เช่น The Economist และ Institutional Investor  ที่เริ่มจ้างตำแหน่งประจำในประเทศไทย หรือ Asian Wall Street Journal ก็เพิ่มพื้นที่และเริ่มเปิดแผนกภาษาไทย หรือกระทั่งที่ดาวน์โจนส์หันมาสนใจถูมิภาคนี้โดยเริ่มเป็นสมาชิกนิตยสาร FEER ในช่วงเวลาเดียวกันนี้


 


บทความวิเคราะห์ทางด้านการเงินจากนิตยสารเหล่านี้ รวมทั้งที่ผลิตจากนักวิเคราะห์ขององค์กร ถูกผลิตซ้ำอย่างเป็นระบบจากสื่อท้องถิ่นหรือสื่อไทยเพราะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทางเทคนิคที่ยังขาดแคลนในประเทศ สื่อเหล่านี้มีตลาดที่สำคัญคือชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานคอปกขาวในเมือง ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็และเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนหน้า สิ่งที่สำคัญคือ ฐานะทางเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้ผูกติดกับระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ


 


ถึงจะมีจำนวนไม่มากนัก และมีอิทธิพลทางการเมืองเพียงสามารถกำหนดจำนวนที่นั่งส.ส. ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่าคนกลุ่มนี้เองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงปี 2534-2535 และเปิดโอกาสให้ทหารเข้ายึดอำนาจคณะรัฐบาล "บุฟเฟท์"ในขณะนั้น โดยข้อหาคอรัปชั่นและเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจโดยตรงคือ ดัชนีตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรงประกอบกับนักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนเนื่องจากขาดความเชื่อมั่น [11]  ที่น่าสนใจและเป็นเรื่องเหมือนเรื่องตลกเสียดสีก็คือ การเสื่อมความนิยมของคนกลุ่มเดียวกันนี้เองกลับมีส่วนทำให้กลุ่มทหารต้องถอนบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิงในช่วง 10 ปีหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เราอาจเรียกปรากฏการณ์ลุกฮือของชนชั้นแรงงานคอปกขาวนี้อย่างที่สื่อมักนิยมใช้คำว่า "ม็อบมือถือ" ตามการสำรวจที่พบว่าผู้มาร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ณ ท้องสนามหลวงนั้นร้อยละ 45.7 ทำงานเอกชน ในขณะที่เป็นข้าราชการร้อยละ 14.8 เป็นเจ้าของกิจการ 13.7 โดยที่เป็นนิสิตนักศึกษาร้อยละ 8.4 [12] 


 


ควรกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า ความสำเร็จในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2535 นั้น ถึงแม้จะเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่ค่อนข้างหลากหลาย กล่าวคือประกอบด้วยหลากหลายสาขาอาชีพเมื่อเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ก็เกิดขึ้นจากความสามารถผสมผสานลงตัวของการเรียกร้องที่มีหัวใจอยู่ที่ "เสรีภาพในการแสดงออก ความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการบริหาร"  ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของการเคลื่อนไหวแบบ "เสรีนิยมใหม่" ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ


 


นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของอิทธิพลของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในประเทศไทยซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดสรรอำนาจในพื้นที่การเมือง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยทางอ้อมและค่อยเป็นค่อยไปและไม่สามารถเปรียบเทียบได้เลยกับอิทธิพลที่แผ่ขยายโดยตรงในแกนกลางของแวดวงผลิตความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่สำนักเสรีนิยมใหม่นี้ได้ครอบงำมาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ ในที่สุดแล้ว อาจกล่าวได้ว่าอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการศึกษาวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ของไทยนั้น ได้ทำให้เสรีภาพของปัจเจกชนและกรรมสิทธิ์นั้นกลายเป็น raison d"être ของระบบเศรษฐกิจไทยไปโดยปริยาย


 


สรุป


อิทธิพลของลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้ประสบความสำเร็จในการปลูกฝังระบบคุณค่าและกระบวนการคิด ไม่เพียงแต่ในสังคมของประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก แต่ยังรวมไปถึงในสังคมของประเทศกำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจ อย่างประเทศไทย ทั้งนี้ ความแยบยลของการเผยแพร่กระบวนทัศน์นี้ ถูกกระทำผ่านกระบวนการกำหนดทิศทางและผลิตประเด็นการศึกษาวิจัย รวมทั้งกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจนำ ภายในระยะเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ จนสามารถสร้างความชอบธรรมให้กับระเบียบใหม่ที่เป็นส่วนผสมระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการปกครองเสรีประชาธิปไตย ในลักษณะที่เรียกว่า "โดยดุษฎีและโดยปริยาย"


 


หมายเหตุ บทความนี้เรียบเรียงจากบทความเดิมชื่อ "ลัทธิเสรีนิยม เสรีนิยมใหม่ อิทธิพลทางความคิดต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย"


 


อ้างอิง


[1]  See David Harvey, A Brief History of Neoliberalism, Oxford University Press, 2007 (paperback)


[2]  David Harvey p. 23


[3]ลัทธิเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมนั้นมีวิวัฒนาการในลักษณะต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่องมาโดยตลอด นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17  กล่าวคือ ตามแนวคิดของกลุ่มเสรีนิยมคลาสสิค ที่นำโดย จอห์น ลอค สิทธิและเสรีภาพถูกอ้างอิงอยู่กับหลักสิทธิธรรมชาติ เขาจึงถือสิทธิและเสรีภาพเป็นเป้าหมายสูงสุดในตัวเอง นอกจากนี้ มนุษย์มีสิทธิพื้นฐานในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินเพราะมนุษย์เป็นเจ้าของแรงงานของตนเอง ตามความเชื่อของลอค สิทธิที่เรารู้จักในภายหลังว่า "กรรมสิทธิ์" นี้จึงไม่ได้เกิดจากรัฐ (ถือว่ามีลักษณะปฏิกิริยากับระบอบศักดินา ซึ่งขุนนางและชนชั้นสูงเท่านั้นสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สิน)  หลักการเรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนี้ ถือเป็นหลักการสำคัญที่ถูกนำมาปรับปรุงและพัฒนาในภายหลัง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราละเลยคือคำกล่าวของเขาว่า "กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องไม่นำไปสู่การกดขี่หรือขูดรีด แต่ต้องช่วยสนับสนุนให้มนุษย์มีอิสระ" กรรมสิทธิ์จึงเป็นเครื่องมือไปสู่เสรีภาพ  ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 อดัม สมิท ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักคิดรุ่นก่อนและนักคิดร่วมสมัย ไม่ว่าเรื่องความมีกฎเกณฑ์และระเบียบของธรรมชาติ รวมทั้งมนุษย์มีศีลธรรม สามารถแยกแยะการกระทำที่ถูกและผิดออกจากกันได้ สังคมจึงมีระเบียบและกฏเกณฑ์เช่นเดียวกับโลกกายภาพ ผลประโยชน์ของทุกฝ่ายในสังคมจึงสามารถประสานลงตัวกันได้ แนวคิดลักษณะนี้ ทำให้เขาเชื่อว่าความเห็นแก่ตัวหรือการที่แต่ละคนต่างมุ่งหาประโยชน์ส่วนตัว จะทำให้สังคมได้ประโยชน์สูงสุดตามไปด้วยจากสิ่งที่เขาเรียกว่า "มือที่มองไม่เห็น" (ที่ภายหลังสำนักนีโอคลาสสิคทำให้กลายเป็นเพียง "กลไกตลาด" หรือกลไกของอุปสงค์และอุปทานนั่นเอง)   ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 นักคิดกลุ่มเสรีนิยมนีโอคลาสสิคหรือสำนักประโยชน์นิยม ที่นำโดยเจเรมี เบนแทมนำหลักจริยธรรมที่เรียกว่าหลักแห่งประโยชน์ (Principle of Utility) เข้ามาแทนที่หลักสิทธิธรรมชาติ ทำให้สิทธิและเสรีภาพถูกลดความสำคัญลงเป็นเพียงเครื่องมืออันนำไปสู่เป้าหมาย นั่นคือ ความสุข และความสุขของปัจเจกต้องหลีกทางให้กับสังคม ตามแนวความคิดที่โด่งดังของเขาที่ว่าด้วย "ความสุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด (the greatest happiness of the great number)"  อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวถูกท้าทายและทัดทานจากนักคิดอีกหลายคนเช่น จอห์น สจ๊วต มิลล์ที่หันเหความสำคัญกลับมาที่ปัจเจกและเน้นความสำคัญของความสุขทางสติปัญญาและศีลธรรมมากกว่าทางกายภาพ แต่อิทธิพลของประโยชน์นิยม ที่เดินคล้องแขนร่วมไปกับแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบ laissez-faire ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการและคนชั้นกลางที่ขยายตัวขึ้นในยุโรป ทำให้แนวความคิดตามแบบเบนแทมและอดัม สมิทกลายเป็นเสาหลักให้กับเสรีนิยมใหม่ในเวลาต่อมา (ตำราที่สมบูรณ์ด้านลัทธิเศรษฐกิจการเมือง ได้แก่ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๐)


[4]  David Harvey p. 54


[5]  See Joseph. Stiglitz, Globalization and Its Discontents, W.W.Norton & Company, 2001


[6]  Ibid. David Harvey


[7] ข้อมูลจาก http://www.cato.org/friedmanprize


[8] อ่านจดหมายได้ที่ https://www.naomiklein.org/shock-doctrine/resources/faculty-letter-mfi


[9] See Naomi Klein, The Shock Doctrine: The Rise of Disaster Capitalism, Metropolitan Books, 2007


[10]  Pasuk Phongpaichit and Chris Baker, Democracy, Capitalism and Crisis: Examining Recent Political Transitions in Thailand, speech at Princeton University, 15 November 2001


[11]  Ibid. Pasuk Phongpaichit and Chris Baker


[12]  การสำรวจโดยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยสุ่มสำรวจตัวอย่าง เผยแพร่ในนิตยสารสารคดี ฉบับ เดือนมิถุนายน 2535 : 123 อ้างโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล ใน "เงาคนเดือนตุลาในพฤษภาทมิฬ" http://www.midnightuniv.org/midnightweb222/newpage04.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net