บทความ: ระวัง "เห็ดเมา" พิษร้ายในหน้าฝน

ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย

 

 

 

ภาพเห็ดพิษเช่น Amanita muscaria เห็ดไข่ห่าน (Amanita virosa)

และเห็ดหัวกรวดครีบเขียวอ่อน (Chlorophyllum molybdites) ตามลำดับ (จากซ้ายไปขวา)

 

วันที่ 13 พฤษภาคม 2551 ชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง บ้านผาเยอหลวง ตำบลกองก๋อย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน บริโภคเห็ดพิษเสียชีวิตไป 2 คน

 

วันที่ 20 พฤษภาคม 2550 ชาวบ้านเมืองน่านเปิบ "เห็ดไข่ห่าน" เห็ดพิษจากชายแดนไทย-ลาวเสียชีวิตแล้วรวม 5 ศพ

 

เดือนพฤษภาคม 2547 สาธารณสุขจังหวัดกระบี่รายงานมีเหตุการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดป่า เกิดขึ้นไปแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย น่าน กระบี่ และเชียงใหม่ มีผู้ป่วยรวม 18 ราย เสียชีวิต 8 ราย

 

ตัวอย่างข่าวการป่วยและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในช่วงหน้าฝนของทุกปี สืบเนื่องมาจากชาวบ้านบางส่วนนิยมเก็บเห็ดป่าซึ่งมีมากในหน้าฝนมารับประทาน หากแต่ว่าในธรรมชาติมีเห็ดหลายชนิดที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งหากบริภาคเข้าไปอาจได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำข้อมูลผลการศึกษาการจำแนกเห็ดและกลไกการเกิดพิษจากเห็ดเมาในประเทศไทยมาแนะนำประชาชน พร้อมทั้งเสนอแนะให้เร่งศึกษาวิธีการจำแนกเห็ดที่ถูกต้อง ตลอดจนกลไกการเกิดพิษ เพื่อเป็นแนวทางในการหามาตรการในการป้องกันดูแลและรักษาอย่างทันท่วงที

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ กล่าวว่า เห็ดมีพิษที่พบอยู่ทั่วโลกมีประมาณ 100 ชนิด ซึ่งผลการศึกษาเห็ดเมาในประเทศไทยพบว่าเห็ดเมาที่พบมากในภาคเหนือ เช่น เห็ดไข่ห่าน (amanita virosa) ภาคกลาง เช่นเห็ดหัวกรวดครีบเขียวอ่อน ภาคใต้ เช่น เห็ดหัวกรวด เห็ดขี้ควาย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เห็ดระโงกหิน เป็นต้น

 

กลไกการเกิดพิษของเห็ดเมา

ผลการศึกษากลไกการเกิดพิษเห็ดเมาในประเทศไทย สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

 

1. กลุ่มเห็ดที่เป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร การเกิดพิษดังกล่าวพบได้ทั่วไปแม้กระทั่งในเมือง ชานเมือง หรือในการเก็บเห็ดจากป่า โดยเฉพาะเห็ดที่ขึ้นจากสนามที่โล่งแจ้ง ได้แก่ เห็ดในตระกูลเห็ดหัวกรวด เห็ดหัวกรวดมีเป็นจำนวนมากที่รับประทานได้ แต่ก็มีเห็ดหัวกรวดชนิดที่รับประทานแล้วเป็นพิษ คือเห็ดหัวกรวดครีบเขียวอ่อน (Chlorophyllum molybdites) แม้มีการตั้งชื่อครีบเขียวอ่อน แต่เมื่อสังเกตจากรูปร่างจริงๆ กลับไม่มีสีดังกล่าวเลย ดังนั้นการจำแนกเห็ดหัวกรวดชนิดที่รับประทานได้ด้วยการสังเกตลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องนำเห็ดที่บานเต็มที่แล้วมาเคาะดูสปอร์ซึ่งจะพบเป็นสีเขียวมะกอก (โดยเฉพาะถ้าดูจากกล้องจุลทรรศน์) หากมีการรับประทานเห็ดดังกล่าวเข้าไป จะเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหารแบบเฉียบพลัน คือหลังรับประทานตั้งแต่ครึ่งถึง 2 ชั่วโมงจะมีอาการปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียน อย่างรุนแรง และมีท้องเสีย ในกรณีเด็กอาจเกิดภาวะการขาดน้ำอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

 

2. กลุ่มเห็ดที่เป็นพิษต่อตับอย่างรุนแรง พบได้บ่อยทางภาคอีสานหรือภาคเหนือของประเทศไทยคือ เห็ดในกลุ่มระโงก เห็ดกลุ่มนี้มีทั้งรับประทานได้และรับประทานไม่ได้ ถ้าเป็นเห็ดเมาจะมีมีสีขาวถึงนวลหรือน้ำตาล และมีลักษณะมีวงแหวนที่ลำต้น การจำแนกกลุ่มเห็ดระโงกว่าเป็นชนิดใดด้วยตาเปล่าทำได้ยากมาก บางชนิดยังต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเห็ดดูลักษณะของสปอร์และส่วนอื่นๆ ประกอบ ขณะที่งานวิจัยด้านนี้ในประเทศไทยก็ยังมีการศึกษากันน้อยมาก แต่ทั้งนี้วิจัยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ไว้ชนิดหนึ่ง คือเห็ดไข่ห่านหรือที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Amanita virosa พบว่ามีสารพิษในกลุ่ม Amatotoxin มีฤทธิ์ขัดขวางการสร้างเซลล์โปรตีนของเซลล์ตับ ทำให้เซลล์ตับตาย ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ตับวายและเสียชีวิตในที่สุด ที่สำคัญเห็ดชนิดนี้ เคยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั้งครอบครัวของชาวบ้านที่จังหวัดอุดรธานีมาแล้ว

 

3. กลุ่มเห็ดที่เป็นพิษต่อระบบประสาท มักเกิดจากเห็ดเมาที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเห็ดระโงกหิน มีลักษณะคล้ายๆเห็ดระโงกทั่วไป บางชนิดมีสีสันฉูดฉาด เช่น เห็ด Aminita muscaria มีฤทธิ์ก่อให้เกิดอาการทางระบบประสาทที่รุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการชักกระตุก อาเจียน ท้องเสีย น้ำลายฟูมปาก น้ำตาไหล รูม่านตามีขนาดเล็กลง ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ และเสียชีวิตได้ 

 

ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการรับประทานเห็ด

 

เห็ดในธรรมชาติมีหลายชนิด ดังนั้นการจำแนกว่าเห็ดชนิดใดมีพิษหรือไม่มีพิษบางครั้งเป็นเรื่องยาก หลักสำคัญคือการรู้จักเห็ดชนิดนั้น ๆ เป็นอย่างดีก่อนจะเลือกมารับประทาน หากแต่ว่าชาวบ้านบางส่วนยังมีความเชื่อที่ผิดในการทดสอบความเป็นพิษของเห็ดเมา เช่น

 

1. เห็ดที่มีแมลงกัดกินย่อมรับประทานได้ หากแต่ว่าจากการศึกษาวิจัยในกรณีคนไข้นำเอาเห็ดไข่ห่านขาว (Amanita virosa) ที่รับประทานแล้วเสียชีวิตจากตับวาย มาทำการแยกชนิดและเพาะเชื้อเห็ดในห้องทดลอง ผลปรากฏว่ามีแมลงหวี่เกิดขึ้น บ่งชี้ว่ามีแมลงหวี่ในธรรมชาติมาไข่ไว้ในครีบของเห็ดและแมลงก็สามารถอาศัยอยู่ร่วมกับเห็ดได้

2. ถ้าเป็นเห็ดเมา หากขณะต้มหรือแกงให้ใส่ข้าวสารลงไปด้วยมันจะสุกๆ ดิบ ๆ

3. เห็ดที่มีสีสวยมักจะเป็นเห็ดเมา

4. ถ้าน้ำต้มเห็ดถูกกับช้อนเงิน ช้อนเงินจะเปลี่ยนเป็นสีดำแสดงว่าเห็ดพิษ

5. เห็ดเมาถ้าใส่หัวหอมลงไปปรุงอาหารจะเป็นสีดำ 

6. ใช้มือถูกลำต้นแล้วเป็นรอยดำแสดงว่าเห็ดนั้นมีพิษ

7. เห็ดที่ขึ้นผิดฤดูกาลมักเป็นเห็ดพิษ

 

ทั้งนี้ความเชื่อดังกล่าวยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสามารถทอสอบได้จริง จึงไม่ควรนำมาใช้เป็นข้อปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง 

 

เคล็ดลับดีๆ พ้นภัยเห็ดพิษ

 

สำหรับคำแนะนำดีๆเพื่อให้การรับประทานเห็ดในฤดูฝนนี้อร่อยและปลอดภัย ศ.นพ. ยง กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจและรู้จักลักษณะของเห็ดพิษและอันตรายจากพิษของเห็ด ควรเลือกรับประทานเห็ดที่รู้จักดีและเห็ดที่รับประทานได้อย่างปลอดภัยเสมอ โดยเฉพาะเป็นเห็ดที่เพาะขึ้นได้ สำหรับกรณีของเห็ดธรรมชาติหากไม่แน่ใจหรือไม่รู้จักไม่ควรนำมาประกอบอาหาร และในรายที่สงสัยว่าเกิดอาการจากเห็ดพิษให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อล้างท้องโดยด่วน ที่สำคัญควรนำเห็ดที่รับประทานไปให้แพทย์ดูด้วยจะทำให้ช่วยเหลือได้ทันการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท