Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2551 นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (18 กรกฎาคม 2551) กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญนายอึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย มาพบเพื่อมอบหนังสือที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามถึงสมเด็จอัคคมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตอบหนังสือที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชามีมาถึงฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2551


 


หนังสือของนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขสถานการณ์ในบริเวณพื้นที่ที่ติดกับปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธีและเป็นธรรม โดยมอบหมายให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) สมัยพิเศษ ที่จังหวัดสระแก้ว ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 เพื่อหารืออย่างฉันมิตรกับฝ่ายกัมพูชา และย้ำว่าทั้งสองประเทศควรใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลุกลาม


 


นายกรัฐมนตรีไทยยืนยันว่าพื้นที่บริเวณวัดแก้วสิขเรศวรที่กล่าวถึงในหนังสือของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาอยู่ในดินแดนของไทย การที่ได้มีชาวกัมพูชาขึ้นไปสร้างวัด สิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมทั้งที่อยู่อาศัย กับทั้งมีทหารอยู่ในพื้นที่นั้น ถือว่าได้ละเมิดอธิปไตยและดินแดนของไทย ซึ่งเรื่องนี้ รัฐบาลไทยได้ทำการประท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรมาแล้ว 4 ครั้งตั้งแต่ปี 2547 2548 2550 และครั้งหลังสุดเมื่อเดือนเมษายน 2551


 


ฝ่ายไทยเห็นว่าการที่กัมพูชาเพิ่มกำลังทหารจาก 200 นายเป็นกว่า 1,000 นายได้ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น นายกรัฐมนตรีของไทยเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจและควรเร่งรัดให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission: JBC) หารือโดยเร็วเพื่อสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวระหว่างทั้งสองประเทศ อันจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นอีก และในระหว่างที่ JBC ดำเนินการอยู่ ฝ่ายไทยพร้อมที่จะเจรจาหารือถึงมาตรการชั่วคราวต่างๆ ที่จะใช้ไปก่อน เพื่อหยุดยั้งปัญหาใดๆ ที่อาจจะมีขึ้นหลังการมอบหนังสือให้เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยแล้ว กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนประจำ ประเทศไทยอีก 8 ประเทศมาพบเพื่อแจ้งท่าทีไทยและมอบสำเนาหนังสือลงวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.2008 จากนายกรัฐมนตรีกัมพูชาถึงนายกรัฐมนตรีไทย หนังสือลงวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ.2008 จากนายกรัฐมนตรีไทยถึงนายกรัฐมนตรีกัมพูชาพร้อมด้วยเอกสารแนบคือสำเนา หนังสือประท้วง 4 ฉบับ ตลอดจนบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2543 นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้เวียนเอกสารดังกล่าวให้แก่สถานเอกอัครราชทูตของประเทศอื่นๆ ในประเทศไทยด้วย


 


นายธฤตฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การประท้วงทั้ง 4 ครั้งของไทยนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจฯ ปี 2543 ซึ่งข้อ 5 ของบันทึกความเข้าใจฯ ระบุว่า ระหว่างที่การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างทั้งสองประเทศยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งสองฝ่ายจะไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ชายแดน บนพื้นฐานของข้อ 5 ของบันทึกความเข้าใจ ฝ่ายไทยทำการประท้วงต่อกัมพูชาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ประท้วงการขยายตัวของชุมชนกัมพูชาซึ่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ชายแดนและก่อปัญหาขยะมูลฝอยและปัญหาน้ำเสียซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนไทยในบริเวณที่อยู่ต่ำกว่า รวมทั้งการก่อสร้างอาคารที่ทำการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว


 


ต่อมา วันที่ 8 มีนาคม 2548 ได้ยื่นหนังสือประท้วงกัมพูชาเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของกัมพูชาในการก่อสร้างและปรับปรุงถนนจากบ้านโกมุย อำเภอจอมกสาน จังหวัดพระวิหาร ถึงปราสาทพระวิหาร ต่อมา วันที่ 17 พฤษภาคม 2550 ได้ยื่นหนังสือประท้วงคัดค้านเอกสารเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชี มรดกโลกของกัมพูชา และต่อการออกพระราชกฤษฎีกากัมพูชากำหนดเขตอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร ซึ่งล้ำดินแดนไทย และวันที่ 10 เมษายน 2551 ได้ยื่นหนังสือประท้วงกัมพูชาที่ละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย และละเมิดข้อ 5 ของบันทึกความเข้าใจฯ ปี 2543 โดยย้ำคำประท้วงที่ผ่านมาทั้งสามครั้ง รวมทั้งขอให้ถอนกำลังทหารและตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อน กันของกัมพูชาและไทยออกทันที อย่างไรก็ดี กัมพูชาไม่เคยตอบสนองคำประท้วงของไทย


 


ขณะนี้ สถานการณ์ทั่วไปยังเป็นปกติ


 


ทั้งนี้ สำหรับการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา จัดเป็นวาระพิเศษหลังจากที่คนไทย 3 คน บุกเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อน จนถูกกัมพูชานำตัวไป หลังจากถูกปล่อยออกมาทหารไทยจึงนำกำลังเข้าไปเสริมในพื้นที่ดังกล่าว จนทางกัมพูชาไม่พอใจและสุดท้ายจึงขอนัดประชุมวาระพิเศษขึ้นมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้ง 2 ประเทศเป็นประธานการประชุม แต่ฝ่ายไทยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมมอบหมายให้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส. เป็นตัวแทนฝ่ายไปไปเจรจา ส่วนของกัมพูชาจะให้ พล.อ.เตีย บัน รัฐมนตรีกลาโหมของกัมพูชาเป็นประธานมาเจรจา ในวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคมนี้ ที่รร.อินโดจีน จ.สระแก้ว เวลา 09.00 น.


 


 


ห้ามทหารให้ข่าวเขาพระวิหาร


กองบัญชาการกองทัพไทยมีคำสั่งห้ามนายทหารทุกนายให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหา ปราสาทเขาพระวิหารเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ความสับสนและเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งเนื่องจากเห็นว่า ปัญหาใน ขณะนี้ เกิดจากการออกมาให้ความเห็นกันมากเกินไป โดยเฉพาะการให้ความเห็นจากผู้ที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน


 


ทั้งนี้ ในคำสั่งดังกล่าว ยังได้มอบหมายให้ นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ให้ข่าวเกี่ยวกับปัญหาเขาพระวิหารแต่เพียงผู้เดียว


 


 


กองทัพไทยแจงกู้บึ้มรอบพระวิหาร


กองบัญชาการกองทัพไทย ออกหนังสือชี้แจงว่า ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน ได้เข้าเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแผนปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ประจำปี 2551 ซึ่งเป็นพันธะที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) โดยได้เริ่มปฏิบัติงานในพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ซึ่งอยู่ในเขตอธิปไตยของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา กองทัพไทยขอยืนยันว่า การปฏิบัติการดังกล่าวมีจุดประสงค์ เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับราษฎรในพื้นที่ เป็นการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม ตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาออตตาวา และเป็นการดำเนินการในพื้นที่เขตอธิปไตยของประเทศไทย โดยผลปฏิบัติการห้วงแรกสามารถทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยบริเวณใกล้เคียงเขาพระ วิหารประมาณ 91 ตารางเมตร     


 


รายงานข่าวแจ้งว่า เป็นที่น่าสังเกตุว่าหนังสือดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่ทหารของไทยลาดตระเวน ตามภารกิจปกติ แล้วเกิดอุบัติเหตุเหยียบระเบิดในเส้นทางแนวชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งกำลังมีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร


 


 


อภิสิทธิ์ ร้องรัฐแสดงจุดยืนพื้นที่ทับซ้อน


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ ที่โรงแรมอินโดจีน จังหวัดสระแก้ว โดยขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหารือบนพื้นฐานความสัมพันธ์อันดี และควรใช้โอกาสนี้ เพื่อแจ้งยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลกัมพูชา หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ซึ่งเบื้องต้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นเพียงการแจ้งระงับเท่านั้น โดยนายอภิสิทธิ์เชื่อว่า การแจ้งยกเลิกแถลงการณ์ดังกล่าว จะส่งผลดีต่อการเจรจาโดยเฉพาะการปักปันเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ ขณะที่รัฐบาลไทยควรเจรจาตามหลักเกณฑ์ไม่ให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิ ทั้งนี้มองว่าการประชุมดังกล่าว จะเป็นช่องทางที่ดีเพื่อคลี่คลายปัญหาที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศมีจดหมายตอบโต้กัน


 


หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเรียกร้องให้ประชาชนคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่กระทำการใดที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้ง ส่วนการบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร หลังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมองว่าผู้ที่จะมาบริหารพื้นที่ดังกล่าว ต้องดำเนินการไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา


 


 


"ณัฐวุฒิ"เชื่อหลังถกคกก.ร่วมไทย-เขมรสถานการณ์จะดีขึ้น


นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าหลังการประชุมคณะกรรมการกิจการชายแดนทั่วไป ในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวให้มาเป็นประเด็นการเมือง ซึ่งขอให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล หน่วยงานด้านความมั่นคงเป็นผู้ดำเนินการตามความชอบธรรม เพราะหากการเคลื่อนไหวทั้งจากทั้งกลุ่มธรรมยาตรา และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เข้าไปในพื้นที่ อาจทำให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรง เข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างลำบาก และแรงกดดันดังกล่าวก็จะไม่เกิดผลดีกับใคร


 


นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ จากบุคคลในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ มีการกล่าวปราศรัย และติดป้ายด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม กระทบความรู้สึกของคนในพื้นที่ ตนเองจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้รวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จ จริง หากพบว่ามีความผิดตามกฎหมาย จะดำเนินการในทันที


 


 


จนท.เข้ม รปภ.รอบเขาพระวิหาร-ห้ามพ่อค้าขายของที่ผามออีแดง


กลุ่มพันธมิตรฯ จากกรุงเทพมหานคร ได้นำข้าวสารอาหารแห้งมามอบให้กับทหารพรานที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความเรียบ ร้อยตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณทางขึ้นเชิงเขาพระวิหาร โดยมีกลุ่มธรรมยาตรา นำโดยพระวิจิตรญาณโสภโณ เดินทางมาให้การต้อนรับ โดยกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า ต้องการที่จะมาให้กำลังใจที่เจ้าหน้าที่ๆ ปฏิบัติหน้าที่ และมามอบอาหารให้กับกลุ่มธรรมยาตรา ที่ปฏิบัติธรรมที่ผามออีแดง


       


ส่วนพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ที่บริเวณผามออีแดง นำรถขึ้นไปขนสินค้ากลับลงมา หลังจากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ขายสินค้า เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย และเพื่อความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่


       


ขณะที่บรรยากาศการค้าขายตามแนวชายแดนที่ตลาดช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ก็ยังคงมีชาวกัมพูชาเดินทางมาซื้อสินค้าตามปกติ แต่แม่ค้าชาทวไทยยอมรับว่า สถานการณ์ที่ตึงเครียดที่บริเวณเขาพระวิหารทำให้ชาวกัมพูชาข้ามซื้อสินค้า น้อยลงทำให้รายได้ลดน้อยลงไปกว่าครึ่ง


       


บรรยากาศที่เชิงเขาพระวิหารตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมาพบว่า มีการสับเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่ ทหาร ที่จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา รอบบริเวณเชิงเขาพระวิหารอีกด้วย


 


 


  


เรียบเรียงจาก: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ เว็บไซต์มติชน โพสต์ทูเดย์ และผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net