Skip to main content
sharethis


ชื่อเดิม :  สัมภาษณ์ เดชา ศิริภัทร : สังคมไทยเหมือนลิ้นในปากงู มีเขี้ยว มีพิษเยอะต้องรู้เท่าทัน


โดย สุมาลี พะสิม                                                                                                            


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


----------------------


ที่มา : http://www.sathai.org


 


 


 


เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี หรือที่ใครๆ เรียกว่า "ลุงเด" ในวัย 60 ปี ที่มุ่งทำงานด้านการเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เขาสนใจอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี เขาคลุกคลีทำงานกับเกษตรกรจนเริ่มเปลี่ยนแนวคิดให้ชาวนาเลิกใช้ปุ๋ย ใช้ยาเคมี หันเข้าหาเกษตรกรรมธรรมชาติซึ่งเป็นวิถีที่เรียบง่ายและยั่งยืนกว่าด้วยลีลาธรรมดา จนเกิดกลุ่มโรงเรียนชาวนาเกิดขึ้น


จากสถานการณ์ข้าวแพง แต่ชาวนากลับไม่ได้อะไรมากนัก กลุ่มคนที่ได้ไปเต็มๆ ในสถานการณ์แบบนี้คือกลุ่มโรงสี และกลุ่มส่งออกข้าว ถึงแม้ภาคเกษตรจะผลิตข้าวและส่งออกข้าวได้ในราคาสูง แต่ความมั่นคงทางอาหารนั้นแท้จริงแล้วอยู่ที่การส่งออกข้าว หรือทฤษฎี 2 สูงของเจ้าสัวใหญ่ของซีพี นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารได้หรือไม่ และความมั่นคงทางอาหารในมุมมองของ เดชา ศิริภัทร จะเป็นอย่างไร ติดตามเรื่องราวเหล่านี้ได้


000


มองความหมายของความมั่นคงทางอาหารอย่างไร ?


ความมั่นคงทางอาหารต้องมองมันเป็นคนละความคิดกับเรื่องเศรษฐกิจ อาหารมันเหมือนกับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไม่มีอะไรแทนได้ เอาเศรษฐกิจมาวัดก็ไม่ได้เช่นกัน ถึงจะไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจก็ต้องรักษาเอาไว้ ความมั่นคงของทหาร เหมือนกับกระทรวงกลาโหมแต่ว่ามีค่าทางเศรษฐกิจไหม โดยตรงไม่มี มีแต่รายจ่ายต้องซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์แพงๆ ต้องเสียเงินเดือนทหาร ต้องเกณฑ์คนไปเป็นทหารเยอะแยะหมด ถ้ามองทางเศรษฐกิจที่ต้องเสียก็คือเสียค่าใช้จ่ายเยอะ เสียเวลา ต้องเกณฑ์แรงงานคนไปใช้เยอะ ซึ่งถ้าถามว่าจำเป็นไหม มันจำเป็นถ้าความมั่นคงทางทหารไม่มี ประเทศชาติก็อยู่ไม่ได้ ถูกรุกราน ไม่มีใครเชื่อถือ เศรษฐกิจก็เสียจนได้มองทางอ้อมชัดเจน แต่ว่าทางตรงมันไม่มี


ความมั่นคงทางทหารทุกคนยอมรับหมด ความมั่นคงทางอาหารคนมองไม่เห็น คนไปมองว่าอาหารเป็นสินค้า


มุมมองแรก ก็คือภาคเกษตร ไม่ได้มองภาคเกษตรเป็นความมั่นคง แต่มองเป็นภาคเศรษฐกิจ แต่ว่าความจริงแล้วความมั่นคงทางอาหารถ้าเราขาดอาหาร ความมั่นคงจะไม่มีเลย ความมั่นคงทางอาหารเหมือนความมั่นคงของชาติ ถ้าไม่มีความอยู่รอดของชาติจะไม่มี ประเทศชาติจะอ่อนแอ ต้องไปพึ่งอาหารของต่างชาติ เราก็ไปเสียดุลการค้าเขาเสียเศรษฐกิจซึ่งเห็นอยู่แล้ว


มุมมองที่สอง ก็คือมันไม่มีความแน่นอน ถ้าเกิดสงครามเขาไม่ขายให้ เราก็อด ถ้าเกิดสงครามขึ้นทหารไม่มีอาหารมันก็แพ้ กองทัพต้องเดินด้วยท้อง กองทัพจะเดินไปได้ก็ต้องมีอาหารก่อนกองทัพถึงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นความมั่นคงทางอาหารก็คือความมั่นคงทางทหารด้วย เป็นการมองโยงกัน ความมั่นคงทางอาหารมันเป็นปัจจัยที่จำเป็นที่สุด เพราะว่าปัจจัยสี่ของคน อาหารมาเป็นอันดับหนึ่ง เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้เลย ใครก็ขาดไม่ได้ แบบนี้ถ้าขาดไปมันก็ไม่มั่นคง


ความมั่นคงทางอาหารมันมองเห็นยากเพราะว่ามันเป็นคำพูดที่พูดขึ้นใหม่ ความมั่นคงทางทหารมันพูดมานานแล้วคนก็รู้จักแล้ว ความมั่นคงทางอาหารพึ่งพูดกันไม่นาน คนก็ยังแปลกๆอยู่ ยังนึกไม่ออก ไปนึกว่ามีเงินซะอย่างซื้อที่ไหนก็ได้มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น อาหารมันมีสิทธิ์ที่ซับซ้อน ถึงแม้เรามีเงินซื้อก็ตามแต่เขาจะขายให้หรือเปล่า ถึงเขาจะขายให้ มันจะเป็นสิ่งที่เรากินไหม มันจะเป็นข้าวหรือเปล่า หรือหันไปกินข้าวสาลี ขนมปัง ข้าวโอ๊ต ข้าวบาเลย์ก็ไม่รู้ มันก็จะเปลี่ยนวัฒนธรรมไปเลย ในการเปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นการเปลี่ยนความมั่นคงเหมือนกัน เพราะว่าวัฒนธรรมเป็นตัวชาติ ถ้าวัฒนธรรมเสียไป ชาติเราก็เสียไปด้วย ความมั่นคงทางวัฒนธรรมก็เป็นอันหนึ่งที่ต้องรักษาไว้


ถ้ามองให้เห็นชัดก็ต้องมองญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเศรษฐกิจเขาขึ้นอยู่ที่อุตสาหกรรม ภาคเกษตรไม่มีค่าทางเศรษฐกิจเลย ชาวนาญี่ปุ่นผลิตข้าวมาได้หนึ่งตัน รัฐบาลอุดหนุนสี่หมื่นบาท คือเศรษฐกิจติดลบเลย เพราะว่าไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเลย แต่ว่าต้องเอาภาษีไปอุ้ม เพื่อให้ภาคเกษตรอยู่ได้ เพราะเขามองว่าข้าวคือความมั่นคงขาดไม่ได้หรอก ถ้าชาวนาญี่ปุ่นไม่อยู่ประเทศก็จะขาดความมั่นคงไปเลย ถึงแม้จะผลิตแพงอย่างไรเขาก็ต้องผลิตเอง เขาไม่ซื้อ ถึงแม้จะมีอยู่น้อยเขาต้องรักษาให้ได้ ที่ดินปลูกข้าวญี่ปุ่นไม่ยอมแลกกับอะไรทั้งนั้น ญี่ปุ่นบอกเลยว่าไม่พูดเรื่องข้าวอย่างอื่นพูดหมด แต่ข้าวห้ามพูดเด็ดขาด เขาไม่ต่อรองเลยนะ เขารักษาขนาดนั้นยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น อะไรก็พูดได้หมดแต่ข้าวไม่พูดเด็ดขาด


จะเห็นได้ว่าประเทศที่พัฒนาสูงๆเขายังเห็นความสำคัญของอาหารมากกว่าเศรษฐกิจ อุ้มเท่าไรก็ต้องอุ้มเพราะมันเป็นความมั่นคงที่ไม่มีอะไรจะไปแลกได้ อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าความมั่นคงทางอาหารมันเทียบกับเศรษฐกิจอะไรก็ไม่ได้ อะไรมาแลกก็ไม่ได้ มีไทยนี้แหละไม่อุ้มแล้วยังไปเก็บภาษี ชาวนาต้องจ่ายภาษีเวลาส่งออก เก็บภาษีทางอ้อม ชาวนาจะขายข้าวได้ถูกกว่ากลุ่มส่งออก


อาหารถือว่าเป็นอาวุธอย่างหนึ่ง การที่ไม่มีการส่งออกอาหารถือว่าเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรอง การช่วยเหลือเอาอาหารไปช่วยเหลือมันมีพลังมากกว่าเอาอาวุธไปขู่ด้วยซ้ำ


ภาคเกษตรต้องอุ้มไว้สุดชีวิต อันแรกก็คือเพื่อความมั่นคงประเทศ อันที่สองเอาไว้ต่อรอง เพื่อเอาไปใช้ในการหาประโยชน์อย่างอื่น ถ้าเห็นความสำคัญอย่างนี้ รัฐบาลต้องมองอีกแบบหนึ่งว่าชาวนาคือตัวความมั่นคง ต้องรักษาชาวนาให้ได้ เพราะฉะนั้นชาวนาชาวไร่เกษตรกรทั้งหลายมีหนี้สินรวมกันไม่เกินล้านล้านบาท ตัวเลขนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต้องจัดการหนี้สินตรงนี้ให้ได้ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นคง ถ้ามั่นคงแล้วนี้ประเทศก็เกิดความมั่นคงไปด้วย


เงินนี้มีนิดเดียวเองเพราะว่าเงินล้านล้านบาทรัฐบาลจัดการได้นะ เรามีกองทุนฟื้นฟูอยู่แล้ว กองทุนเกษตรกร เราก็โอนหนี้ทั้งหมดของเกษตรกรมาอยู่ในกองทุนนี้ โดยต่อรองกับเจ้าหนี้ไม่ว่าจะเป็น ธกส. หรือธนาคารต่างๆต่อรองเลยว่าโอนมาเงินต้นเท่าไร ตัดยอดได้เท่าไร คือเขาเรียกว่าการทำแฮร์คัต ก็คือตัดต้น ปกติมันจะตัดได้ไม่เกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ต่อรองกันแบบนี้ ดีกว่าไปเก็บทีละนิดละหน่อย

พวกเจ้าหนี้ก็ได้ประโยชน์เพราะว่าเขาได้เงินเป็นก้อนไป ถึงจะได้น้อยเขาก็ได้ดอกเบี้ยไปต้องเยอะแยะก็คุ้มแล้ว ให้ชาวนามาเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูแทน ซึ่งกองทุนฟื้นฟูคิดดอกเบี้ยร้อยละหนึ่งต่อปีเท่านั้นเอง แล้วก็ผ่อนให้ตั้ง 30 ปี ระหว่างนี้ไม่ส่งต้น ส่งแต่ดอกก็ได้ ร้อยละหนึ่งมันง่าย ถ้าใครโอนนี้มาแล้วจะมีเงินก้อนหนี่งไปฟื้นฟูเขาด้วย ให้เขาเอาเงินตัวนี้ไปฟื้นฟูตัวเอง การฟื้นฟูมันมีหลักอยู่ว่าต้องทำเป็นกลุ่ม แล้วก็ทำเกษตรอินทรีย์ เงินก้อนนี้ห้ามซื้อปุ๋ยซื้อยา ทำให้ระบบชีวะรอดได้ เพราะว่าในระบบเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืนนี้เขาพิสูจน์แล้วว่ามันรอดมันเป็นงานวิจัยของกระทรวงเกษตรด้วยซ้ำ


เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องเห็นความมั่นคงทางอาหารเป็นความมั่นคงของชาติ จะต้องจัดการเรื่องหนี้สินก่อน แล้วก็ต้องฟื้นฟูเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรแบบยั่งยืนให้ได้ก่อน หลังจากนั้นมันจะง่ายเพราะว่าประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรดีอยู่แล้ว ส่งออกข้าวเป็นที่หนึ่ง ยางพารา สับรปะรดอย่างนี้เยอะแยะไป อย่างอื่นก็เป็นที่สอง ที่สามไป ดังนั้นเราก็มีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว เกษตรกรมีหนี้อย่างนี้ยังส่งออกได้ตั้งเยอะแยะแบบนี้มั่นคงยังนี้ ถ้าเกษตรกรหมดหนี้สินแล้วฟื้นฟูเกษตรกรให้อยู่ในระบบเกษตรกรยั่งยืน ผมรับรองเลยว่าความมั่นคงของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ประเทศชาติจะยิ่งมั่นคงหนักเข้าไปอีก


 


ทฤษฎี 2 สูงของเจ้าสัวใหญ่ของซีพี "ธนินท์ เจียรวนนท์" จะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารได้หรือไม่ ?


ทฤษฎี 2 สูงดังกล่าว คือ การปล่อยให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร และหันมาปรับเพิ่มรายได้ของประชาชนให้สูงตาม โดยเจ้าสัวใหญ่เห็นว่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น และรัฐก็จะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหา และนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้มากกว่าการกดราคาสินค้าให้ต่ำ ขณะที่ประชาชนก็มีรายได้ไม่สูง ซึ่งมุมมองของเดชา มองว่า


มันน่าจะดีว่าราคาอาหารจะสูง เกษตรกรจะอยู่ได้แต่ว่าคนกินจะไม่รอด กรรมกรก็จะไม่รอด ต้องเพิ่มเงินเดือน ให้เพิ่มค่าแรงแล้วจะอยู่ด้วยกันได้ ฟังดูดี แต่ว่าสุดท้ายมันเป็นไม่ได้ดีอย่างที่ว่า


สูงอันที่หนึ่งคือ ราคาอาหารสูงแต่เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ เพราะว่าราคาอาหารสูงมันอยู่ที่ตลาด แต่ว่ามันกดที่เกษตรกรเท่าไรก็ได้ เพราะว่ามันไปปันที่ตลาดแล้วมากดซื้อที่เกษตรกรเท่าไรก็ได้ เดี๋ยวนี้ข้าวตลาดแพงแต่ว่ามากดเกษตรกร เดี๋ยวนี้จะเห็นมาเดินขบวนกันบ่อยๆ อย่างบอกว่าความชื้นของข้าวบ้าง ไม่มีเงินหมุนเวียนบ้าง ในขณะที่ในตลาดขายข้าวสารราคาแพงจะตายไป


ในเรื่องสูงอันดับแรกอย่างบอกว่าระบบปัจจุบันไม่มีประโยชน์กับเกษตรกรในปัจจุบันหรอก อย่าไปบอกว่าถ้าสูงแล้วเกษตรกรอยู่รอด ต้องเปลี่ยนระบบก่อน ถ้าสูงแล้วเกษตรกรต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยา ใช้เครื่องจักร ใช้น้ำมันสารพัด แบบนี้นะไม่รอดหรอกเพราะว่าต้นทุนมันจะสูงกว่าราคาที่มันสูงกว่าอีก เพราะว่าราคามันสูงพวกขายปุ๋ย ขายยา ถือโอกาสขึ้นราคาล่วงหน้าไปเลย พวกได้ประโยชน์คือพวกขายปุ๋ย ขายยา ขายเมล็ดพันธุ์ ขายทุกอย่าง เกษตรกรไม่ได้หรอก แต่ว่าไปกอบโกยขายให้เกษตรกรในราคาสูง ผลประโยชน์ก็เข้าตัวเอง ดังนั้นเกษตรกรก็ไม่เหลือเหมือนเดิม


เพราะฉะนั้นหนึ่งก็คือปัจจัยในการผลิตมันจะได้ประโยชน์ ถ้าเราไม่เปลี่ยนระบบการผลิตในปัจจุบันราคาอาหารสูงคนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนที่ขายปัจจัยการผลิต อันที่สองคือตลาดพอตลาดซื้อไปแล้วก็กดราคา ดังนั้นคนที่ได้ประโยชน์ก็คือ คนที่ขายปัจจัยการผลิตกับตลาดที่ได้ประโยชน์ทั้งคู่ เกษตรกรจะไม่ได้


แล้วก็ถ้าสูงแบบนั้นเกษตรกรจะเสียที่ดินเพราะว่านายทุนจะมาซื้อที่ดินแล้วจะจ้างเกษตรกรเป็นแรงงาน เอากำไรตั้งเยอะแยะเลย เพราะว่านายทุนคุมได้ทุกอย่างทั้งคุมตลาดก็ได้ พวกนี้จะรวยโดยเฉพาะบริษัทที่ทำเกษตรอยู่แล้ว มันก็จะมาลงทุนพวกนี้ เพราะฉะนั้นมันเป็นหลุมพรางถ้าในช่วงราคาอาหารสูงเกษตรกรจะต้องรวยมันไม่จริงมันเป็นภาพลวงตานะ


สูงอันที่สองก็คือเรื่องการเพิ่มค่าแรง อันนี้มันก็ไม่จริง เพราะว่าคนที่จะขึ้นค่าแรงได้ก็พวกที่มีงานประจำก็คือหนึ่งพวกข้าราชการใช่ไหม สองก็คือพวกคนงานหรือไม่ก็พวกพนักงานบริษัท แล้วถ้าถามว่าคนที่มีอาชีพอิสระถ้าสูงแล้วพวกเขาจะมีอะไรมาชดเชย เขาจะเอาเงินที่ไหนมาชดเชยให้ รายได้ที่หาได้เองแบบนี้


เพราะฉะนั้นเงินมันจะเฟ้อก็คือของมันจะแพง แต่ว่าเงินมันจะหายากยังงั้นตายทั้งขึ้นทั้งล่องเลย อาหารก็แพง หาเงินก็ไม่ได้ ตัวเองไม่มีอาหารกินอดตายเลยทีนี้ คนจนอดตายแน่นอนเลย เพราะว่าไม่มีงานทำ งานอิสระไม่พอกินหรอกคราวนี้ มันตายทั้งคู่ไง เกษตรกรก็ตาย คนกินก็ตาย


 


ทฤษฎี 2 สูงที่ควรจะเป็น…?


คน ที่พูดบอกว่ายึดสองสูงจะรวย คนที่พูดนะรวยอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ก็รวยยิ่งกว่าเก่าอีก ถ้าสองสูงนี้ต้องเปลี่ยนระบบใหม่หมดเลย จะต้องเปลี่ยนระบบต่างชาติเป็นสองสูงหมดเลย เพราะว่าเก็บภาษีคนรวยเยอะแยะ ภาษีมรดกอย่างนี้ เราก็อุดหนุนคนจนให้อยู่ได้ มีสวัสดิการที่ดี คนจนก็อยู่ได้ อาหารแพงก็อยู่ได้เพราะว่ามันมีระบบเกษตรกร ระบบสวัสดิการที่เอามาจากคนรวยนี่เอง เกษรตกรเขามีสหกรณ์ที่ต่อรองได้ราคาผลผลิตเท่าไร พวกเขาก็ได้เต็มๆ ปัจจัยการผลิตเขาก็คุมได้ ตลาดเขาก็คุมได้ ฉะนั้นราคาสูงเขาได้เต็มๆเลย ผู้บริโภคก็ได้ความคุ้มครองจากรัฐบาล จากภาษีที่เก็บมาจากคนรวยในระบบสองสูงนี้ได้


แต่ว่าประเทศไทยนี้ไม่ได้หรอก ปัจจุบันยังแย่อยู่ถ้าเอาทฤษฎีสองสูงมาใช้ตายเลย มันยิ่งรวยไปใหญ่คนจนก็ยิ่งจนไปใหญ่ แบบนี้มันต้องดูบริบทไปด้วย บางประเทศก็ดีเพราระบบมันดี แต่ประเทศเรานี้มันแย่กว่าเก่า ปัจจุบันมันก็แย่อยู่แล้ว


ถ้าจะดูต้องดูที่บริบทว่าดีบริบทแบบไหน ไม่ดีบริบทแบบไหน แล้วไทยเราเป็นบริบทแบบไหน แต่ผมว่ามันไม่ดีหรอก ถ้าดีมันต้องมีบริบทที่ดิน มีการเก็บภาษีก้าวหน้า ภาษีมรดก ที่ชัดเจนมันก็จะดีทั้งคู่ แต่ว่าไม่ดีทั้งคู่การที่สหกรณ์ดี การที่เกษตรกรดีแต่ว่าผู้บริโภคตาย แต่ว่าภาษีก้าวหน้าดูแลผู้บริโภคดีนั้น จะไม่มาประยุกต์ที่ดิน เกษตรกร สหกรณ์ นั้นเกษตรกรก็ตาย



ผู้บริโภคจะอยู่อย่างไรในสังคมที่มีปัญหา ?


ก็มีคนสองจำพวก สามด้วยซ้ำ บางคนก็อยู่เฉยๆ นะไม่ทำอะไร ไม่ทำบวกทำลบนะ อยู่เฉยๆ พวกนี้ไม่ได้ทำอะไรเอาตัวรอดไปวันวัน คือไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนไม่ช่วยใคร พวกหนึ่งก็เอาเปรียบเขา อีกพวกหนึ่งคือพวกที่พยายามแก้ปัญหาให้ตัวเองและแก้ปัญหาให้คนอื่นด้วย พวกนี้มันมีน้อยควรจะต้องมีคนพวกนี้เยอะๆ พวกเอาเปรียบคนมันเยอะ ต้องให้สมดุลกัน สังคมที่มีปัญหาคือมันไม่สมดุลกันคือคนที่แก้ปัญหากับคนที่สร้างปัญหา


สังคมไหนมีคนแก้ปัญหาเยอะสังคมก็จะไม่มีปัญหา มันเป็นเรื่องธรรมดาเราพยายามจะสร้างคนแก้ปัญหาลดคนที่สร้างปัญหาแล้วเปลี่ยนคนที่อยู่เฉยๆมาอยู่ข้างเราให้ได้ มันจะแก้ปัญหาแต่ว่ามันเป็นเรื่องยาก


เราพยายามทำงานกับคนที่เสียเปรียบก็คือชาวนานี้แหละ ขนาดเขาเสียเปรียบยังไม่ได้ช่วยอะไรตนเองเลยคือว่ากิเลสมันครอบงำ ไม่รู้ว่าอะไรมันดีไม่ดีนะ ก็เป็นเหยื่อทำตามที่เขากำหนดให้ตัวเองนะดี คิดว่าทำแล้วจะรวย ที่ไหนได้ทำให้คนอื่นรวย เป็นหนี้สินเท่าไรก็ไม่รู้ ทำให้คนอื่นรวยตัวเองจนนี้ให้คนอื่นรวยมันมองไม่ออกหรอก เพราะว่าปัญญา ไม่รู้เท่าทันอีกฝ่าย เพราะว่าระบบหลวกลวงมันซับซ้อน คนที่ตามไม่ทันคือชาวนา ระบบหลอกลวงมันมีเทคนิคไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโฆษณา เรื่องเทคนิค การตลาด เรื่องการบริโภค เรื่องค่านิยมลุมเข้ามาจนเขาแยกอะไรไม่ออกเลยมันซับซ้อนมาก


ดังนั้นคนที่จะอยู่บนโลกนี้ได้อย่างรอด ก็คือคนที่มีปัญญาแยกแยะอะไรออก รู้เท่าทันและเลือกบริโภค หรือเลือกดำเนินชีวิตตามที่เราเห็นว่าดี มันมีช่องทางเยอะคือปัจจุบันมันมีกิเลส มันมีอุปสรรคมันมีอะไรก็ตามแต่มันมีเยอะแยะ แต่มันก็เปิดโอกาสให้เราเลือกได้ว่าจะเป็นอะไร คนที่ถูกเอาเปรียบไม่ใช่ถูกเขาบังคับหรอกนะ แต่เขาล่อเขามาบอกอันนี้นะดี ให้ทำเองคือไม่มีใครบังคับ เขาทำเองเพราะไม่รู้เท่าทันมัน แต่ก่อนเขาบังคับแต่เดี๋ยวนี้เขาไม่บังคับแต่เขามาล่อ


เพราฉะนั้นสมัยนี้เราเลือกอะไรก็ได้แต่ต้องเลือกให้เป็นเดี๋ยวนี้มันเลือกไม่เป็น เพราะว่ามันรู้ไม่เท่าทัน คือปัญหามันต้องรู้ให้เท่าทันไม่ใช่ว่าไปปฏิเสธต่อสู้เขาแบบไปล้มล้าง อยู่ด้วยกันนี้แหละแต่ต้องรู้เท่าทัน คือเขาจะขายก็ขายไปแต่เราไม่ซื้อเขาก็ทำอะไรไม่ได้ เขาไม่ได้บังคับให้ใช้ให้ซื้อใช่ไหม แต่เราไปซื้อเขาเอง ปัญหาก็มีอยู่ว่าทำไมต้องไปซื้อเราไม่รู้ ไม่ซื้อไม่ได้ ไม่ใช้ไม่ได้ ทำเองไม่ได้


ปัญญาตรงนี้ไม่มี เราต้องสร้างตรงนี้ให้ได้เป็นทางออกที่มันง่ายกว่า ดีกว่าไปบอกว่าห้ามขายปุ๋ย ขายอะไรต่างๆนี้มันยากมาก มันต้องใช้ระบบอย่างรู้เท่าทันมัน อย่างลิ้นที่อยู่ในปากงูลิ้นมันอยู่กับสี่เขี้ยวงับขึ้นงับลงนี้มันจะโดนงับเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ลิ้นมันรู้งับมาเมื่อไรมันก็หลบได้


ดังนั้นลิ้นในปากงูก็เป็นตัวอย่าง คนอยู่ในสังคมมันก็มีอันตรายเหมือนกับลิ้นในปากงูนั้นแหละในสังคมมันมีเขี้ยว มีพิษอะไรเยอะแยะ แต่ถ้ารู้เท่าทันนี้อยู่สบายเลย ลิ้นงูอยู่ในปากงูมีประโยชน์แต่อยู่นอกปากงูมันไม่มีประโยชน์ ถ้าอยู่ในสังคมนี้มีประโยชน์ถ้าไปอยู่ในป่ามันก็อยู่รอดแต่ทำประโยชน์ไม่ได้เพราะว่าไม่ได้อยู่ในสังคม ลิ้นงูอยู่ในปากงูถ้ารู้เท่าทันมันก็ไม่มีอันตราย


อันที่สองก็ใช้ประโยชน์ได้สองอย่างเลย ถ้าอยู่ข้างนอกมันไม่มีอันตรายแต่ก็ทำประโยชน์ไม่ได้ แต่ถ้าอยู่ในปากงูต้องรู้ให้เท่าทัน มันงับมันเสียอย่างได้อย่าง ทำอย่างไงจะไม่เสียสองอย่าง ก็คือต้องรู้ให้เท่าทันงูงับ ถ้าอยู่ในปากงู แต่ถ้าไม่เสียเลยไม่ได้อะไรเลยก็คือไปอยู่ข้างนอกปาก แต่ถ้าไปอยู่ในปากแต่รู้ไม่ทันก็โดดงับอันนี้ต้องเลือก ที่ดีที่สุดก็อยู่ในปากงูรู้เท่าทันงูก็อยู่ได้


นี่คือคนปัจจุบันต้องรู้เท่าทันกันนะไม่ต้องหนีไปไหนแต่ว่าคนไม่มีปัญญาก็ถูกงับทุกวัน เพราะส่วนหนึ่งเป็นลิ้นที่รู้ไม่เท่าทันก็ถูกงับ ส่วนหนึ่งก็เป็นเขี้ยวไปงับเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net