Skip to main content
sharethis

ชื่อเดิม:  Ricardo Carrere ผู้ที่คิดว่า "ป่าคือชีวิต ชีวิตคือป่า"


ที่มา:  http://blogazine.prachatai.com/user/sumrubkonjon/post/1072



 


เมื่อวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551 ถือว่าเป็นความโชคดีของชุมชนทับเขือ และสมาชิกเครือข่ายองค์ชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง เนื่องจากมีแขกต่างเมืองมาเยือนถึงที่ หลายๆ คนอาจคาดไม่ถึงว่าบุคคลท่านนี้มาชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ทำไม และหลายๆ คนก็กำลังคิดว่าเขาเป็นใครมาจากไหน


 


คุณริคาร์โด คาร์เรเร (Ricardo Carrere) เป็นคนประเทศอุรุกวัย หน้าที่การงานในตอนนี้เป็นผู้ประสานเครือข่ายป่าไม้เขตร้อนระดับโลก องค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 หรือ 12 ปีล่วงมาแล้ว โดยเขาเริ่มต้นที่ทำการเคลื่อนไหวที่ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศแรก ซึ่งริคาร์โดเชื่อว่า "เวลาพูดถึงป่าไม้ ไม่ได้หมายถึงต้นไม้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงชุมชนเข้าไปด้วย เพราะชุมชนต้องอยู่คู่กับป่า"


 


ริคาร์โดต่อสู้ร่วมกับภาคประชาชนในเรื่องป่า อย่างเช่นในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ ซึ่งประชาชนทั่วโลกก็อยู่กับป่ามาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แต่รัฐบาลเกือบทุกประเทศมิได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ สิ่งที่รัฐบาลทั้งหลายมักจะทำคือ การอนุญาตให้สัมปทานป่าไม้ การทำเหมืองแร่ โดยเปิดช่องให้บริษัทเป็นนายทุนเข้ามา คล้ายๆ กับประเทศไทย


 


เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยสนับสนุนให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา บริเวณจังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จนมาวันนี้ชุมชนพยามยามกลับไปทำอย่างเดิมคือ ปลูกพืชผสมหลายๆ อย่างเข้าไว้ในสวนเดียวกัน


 


การเคลื่อนไหวของเครือข่ายป่าเขตร้อนของริคาร์โดเองก็ได้เรียนรู้จากชาวบ้าน ชาวบ้านรักษาป่าอย่างไร อยู่กับป่าอย่างไร และปกป้องป่าอย่างไร เป็นเวลาสิบกว่าปีที่เขาต้องเดินทางเพื่อเรียนรู้เรื่องแบบนี้ จนสามารถที่จะรวบรวมข้อมูลมาผลักดันในเชิงนโยบายได้ ร่วมถึงปัญหาเรื่องป่ายูคาลิปตัสด้วยเช่นกัน ขณะที่ในประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับเรื่องนี้ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เขาตั้งใจจะศึกษาเรียนรู้ความเดือดร้อนของชาวบ้านว่าเดือดร้อนอย่างไร และมีวิธีการปกป้องป่าแบบอย่างไร


 


เมื่อปี 2541 ทางเครือข่ายการเคลื่อนไหวป่าเขตร้อนได้ทำการรณรงค์ครั้งใหญ่ไม่ให้รัฐบาลและประเทศทั่วโลกส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส และยางพารา แม้ว่าต้นไม้เหล่านี้จะเป็นพืชเศรษฐกิจ ... เพราะอะไรน่ะหรือ ?


 


การเคลื่อนไหวขององค์กรนี้ต้องเข้าหาชาวบ้าน และชาวบ้านทั่วโลกก็พูดเป็นเสียงเดียวกันเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาวิถีการดำรงชีวิตที่ถูกทำลาย ไม่มีที่ดินทำกิน เช่น รัฐบาลสนับสนุนให้ปลูกต้นยูคาลิปตัส เพราะมันเป็นไม้เศรษฐกิจ แต่รัฐบาลกลับพูดคล้ายๆ กับว่าต้องการปลูกป่าใหม่ หรืออีกกรณีหนึ่งที่มีการประกาศเขตอุทยานทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยรัฐบาลอ้างว่ากำลังรักษาพื้นที่ป่าไม้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน จนในที่สุดต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง


 


ในช่วงที่อุตสาหกรรมการทำไม้กำลังไปได้ดี รัฐบาลหลายๆ ประเทศก็พยายามที่จะออกมากล่าว "ป่าคือไม้" แต่ชาวบ้านคิดว่าป่าคือ "วิถีชีวิตของเขาทั้งหมด" รัฐบาลก็จะแย้งว่าพวกชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องป่าหรอก ที่รู้มาก็เป็นความรู้ที่ผิดๆ กรมป่าไม้ก็จะกล่าวว่า กรมป่าไม้ต่างหากเป็นผู้ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับป่าไม้ทุกอย่าง ชาวบ้านอยู่ในป่า ชาวบ้านก็จะทำลายป่า การตัดสินใจก็ต้องอยู่ที่รัฐบาล รัฐบาลรักษาป่าได้ดีกว่าชุมชน


 


กรณีของประเทศไทย ริคาร์โดได้เรียนรู้เรื่องราวของไทยอย่างจริงจังก็ตอนที่มีการเรียกร้องเรื่องป่าชุมชนเมื่อหลายปีก่อน และโดยเฉพาะช่วงที่ชาวบ้านหรือชุมชนของประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกลุกขึ้นมารณรงค์ต่อต้านการขยายพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัส ชาวบ้านในแถบนี้ทำการต่อสู้กับนโยบายของรัฐอย่างแข็งขันในตอนนั้น และพยายามเรียกร้องป่าคืนมา นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาสนใจมาเยือนประเทศ


 


ริคาร์โดได้ลงศึกษาในพื้นที่ชุมชนทับเขือ องค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง ชุมชนทับเขือมีปัญหาเรื่องที่ทำกิน และได้รับการคุกคามจากนโยบายภาครัฐ ซึ่งตอนนี้พื้นที่แห่งนี้ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานเขาปูเขาย่า เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 และถูกประกาศทับเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยที่ชาวบ้านไม่มีส่วนรู้เห็น


 


ในขณะชุมชนทับเขือเองก็กำลังระดมแนวคิดกำหนดรัฐธรรมนูญชุมชน สืบเนื่องจากที่ผ่านมาชุมชนได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้วิถีชีวิตต้องลำบากมากขึ้น เมื่อริคาร์โด ได้ยินเรื่องราวเช่นนี้  เขาก็ให้กำลังใจขอให้ชุมชนเข็มแข็ง พร้อมพูดติดตลกให้ฟัง "ชุมชนทับเขือรวย เนื่องจากในสวนเต็มไปด้วยอาหาร สามารถหากินได้โดยไม่ต้องซื้อ ไม่เหมือนกับพวกที่นั่งเก้าอี้สูงๆ ที่ต้องกินอาหารราคาแพงๆ คนเหล่านั้นคงอิจฉาชุมชนแห่งนี้ที่มีอาหารกินโดยไม่ต้องซื้อ เลยพยายามที่จะกดดันให้ชาวบ้านออกไปอยู่ที่อื่น"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net