Skip to main content
sharethis

มองกรณีปราสาทพระวิหารมองจากมุม "วิชาการ" ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรมร่วมของพื้นที่นี้ที่ถูกละเลย การตั้งคำถามต่อกระทรวงการต่างประเทศของไทย และคณะกรรมการมรดกโลก โดยไม่เกี่ยวข้องกับมายาคติของ "แผนที่" และ "ดินแดน" ที่ถูกนำมาเป็นประเด็นทางการเมืองคลั่งชาติที่รังแต่จะนำไปสู่สงครามที่ ปราศจากความหมาย

บางความเห็นต่อกรณีเขาพระวิหาร

 มหาวิทยาลัยศิลปากร

11 ก.ค. 51

 

 

 

"ไม่ ข้องใจคนกัมพูชา แต่ข้องใจกรรมการมรดกโลกและกระบวนการ ไม่เป็นมรดกโลกก็ได้ เพราะมันเหมือนป้ายเชลล์ชวนชิมเท่านั้น มันเหมือนการยืนยันว่ามีการจัดการที่ดีซึ่งการจัดการที่ดีไม่ต้องเป็นมรดก โลกก็ได้ แต่วิธีการไม่ตรงไปตรงมา เพราะถ้าตรงไปตรงมา ประเทศเช่นพม่าควรได้มรดกโลกตั้งนานแล้วทำไมจึงไม่ได้ และอย่าให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อทางการเมือง"

 

ศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม

ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

 

"ถ้า จะจัดการได้ต้องไม่มีเส้นแดน มีมรดกโลกในหลายประเทศถูกคุ้มครองโดยหลายประเทศ แต่รัฐพูดเรื่องอธิปไตย ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่เราจะปกปักรักษาว่าเป็นสิ่งร่วมกัน ชุมชนก็ไม่เคยได้มีส่วนร่วมเลย พอครอบครองแล้วเขาต้องเสียเงินเข้าไปทั้งที่เมื่อก่อนเขาเข้าไปเคารพบูชาได้ ถ้าหยิบประเด็นดินแดนมาพูดก็ทะเลาะ เพราะอ้างแผนที่คนละฉบับ และเราต้องเข้าใจแผนที่กัมพูชาเพราะเป็นแผนที่ที่เคยใช้ชนะในศาลโลกมาแล้ว ในขณะที่ไทยก็เคยทำสัญญากับฝรั่งเศสจึงเป็นพื้นที่ทับซ้อน ที่กัมพูชาคิดก็ถูก ที่ไทยคิดมันก็ถูก ถ้าเอาการเมืองน้อยลง เอาวิชาการมากขึ้น เอาสติ เอาความรู้ เอาปัญญามาไตร่ตรองก็ไม่มีปัญหา"

 

พิสิฐ เจริญวงศ์

ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านโบราณคดี และผู้อำนวยการศูนย์ Southeast Asian Ministry of Education Organization

 

"ดีใจที่ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่มันควรยิ่งใหญ่กว่านี้"

 

ภารณี สวัสดิรักษ์

นักวิชาการอิสระ และกรรมการบริหาร ICOMOS ไทย

 

 

000

 

กรณีเขาพระวิหารยังคงเป็น "ความเมือง" ของ สองประเทศที่มีการเมืองภายในอันซับซ้อนและกำลังถูกขยายจนกลายเป็นกรณีพิพาท ในระดับโลกอีกครั้ง สิ่งที่ถูกนำเสนอและเป็นประเด็นอย่างต่อเนื่องคือความทับซ้อนในเรื่อง "ดินแดน" อันมาจากความยอกย้อนของ "แผนที่" ใน ขณะที่ความเป็นหรือไม่เป็นมรดกโลกซึ่งเป็นเรื่องการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม นั้นได้ถูกโยงเข้ามาให้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง ทั้งที่ ความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าต่อมนุษยชาตินั้นไม่อาจเอ่ยอ้างความ เป็นเจ้าของได้แต่อย่างใด และในการเมืองที่ร้อนฉ่าสิ่งที่ไม่เคยถูกนำมาถกหรือเป็นประเด็นเลยกลับเป็น เรื่องของ "หลักวิชาการ"

 

ความหมายและความสำคัญของ "หลักวิชาการ" ในกรณีปราสาทพระวิหารอย่างน้อยก็ได้ส่งผลให้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศต้องสังเวยสถานการณ์และตุลาการภิวัตน์ไปแล้ว ในขณะที่ "หลักวิชาการ" ในแง่การตีความกฎหมายมาตรา 190 ยังคงเป็นข้อกังขาในบรรดานักวิชาการด้านกฎหมายซึ่งอาจส่งผลไม่น้อยต่อวิกฤติตุลาการในอนาคต

 

ยังมีกรณี "หลักวิชาการ" อีกมุมหนึ่งในกรณีการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งยังคงรอและท้าทาย "ความถูกต้องทางวิชาการ" อย่างเงียบงัน ในขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ

 

ก่อนมรดกโลกจะกลายเป็นกรณีพิพาทที่ประทุขึ้นอีกครั้ง หลัง พ.ศ. 2505 มี การศึกษาและจัดทำข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา เพียงแต่การเพิกเฉยต่อข้อมูลและไม่นำไม่ใช้ของผู้แทนเจรจา ผสานกับการไม่เดินไปบนฐานวิชาการและหลักการของคณะกรรมการมรดกโลกเองอาจเป็น เงื่อนสำคัญที่นำไปสู่กรณีพิพาทไม่รู้จบในเวลานี้  

 

"ประชาไท" จึง ขอย้อนไปนำเสนอข้อกังขาทางวิชาการที่รัฐบาลไทยไม่ได้ใช้นำเสนอต่อคณะกรรมการ มรดกโลกอย่างมีนัยยะสำคัญซึ่งเก็บตกมาจาก โครงการสนทนาวันศุกร์ : ปราสาทพระวิหาร ความข้อใหม่ทางวิชาการที่กัมพูชาและยูเนสโกขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2551 ณ หอประชุม ศร.305 มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

รศ. ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ข้อโต้แย้งทางวิชาการนี้มาจากการนำเสนอหลักฐานของทางกัมพูชาในการนำเสนอที่ เมืองไครสท์เชิร์ส ประเทศนิวซีแลนด์ พ.ศ. 2550 (กัมพูชานำเสนอขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเป็นแหล่งเพียงฝ่ายเดียวตั้งแต่ พ.ศ. 2535 และคณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาเอกสารใน พ.ศ. 2549 และนำเข้าที่ประชุมใน พ.ศ. 2550 ครั้งนั้นเนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนที่ยังไม่มีการตกลงกัน ดังนั้นในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกจึงเลื่อนการพิจารณาโดยมีข้อเสนอให้ฝ่ายกัมพูชามาเจรจาขอความเห็นชอบจากฝ่ายไทย ) ไม่ตรงกับการนำเสนอหลักฐานที่เมืองควิเบค ประเทศนิวซีแลนด์ พ.ศ. 2551

 

ข้อมูล ทางวิชาการที่จะกล่าวถึงนี้มาจากการสำรวจทางโบราณคดี หลังการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศนิวซีแลนด์ ทางกระทรวงต่างประเทศ (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ได้มอบหมายให้ทำข้อมูลเพื่อใช้เป็นข้อแย้งตามเงื่อนไขที่ต้องการให้กัมพูชา เจรจากับไทยเรื่องความทับซ้อนในพื้นที่เขาพระวิหารซึ่งทางกันพูชาขอขึ้น ทะเบียนมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียวและกัมพูชาต้องการหลักฐานว่าไทยรับรอง

 

ทางกรมศิลปากรได้ทำข้อมูลสำเร็จเมื่อปลายปี 2550 ใน ขณะที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล (รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช) อย่างไรก็ตาม ด้วยระเบียบราชการทำให้ไม่มีการเผยแพร่แต่มีการประชุมอีกครั้งโดยตัวแทนผู้ เข้าร่วมประชุมจากกระทรวงการต่างประเทศได้เปลี่ยนคน และเมื่อทางฝ่ายวิชาการนำเสนอ ทางกระทรวงต่างประเทศยืนยันว่าเป็นข้อมูลที่ดี แต่ไม่ต้องรีบนำเสนอ ให้ครบอีก 2 สัปดาห์ (ซึ่งผ่านการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองควิเบคไปแล้วจึงค่อยนำเสนอ และอีก 2 ปี จึงค่อยนำข้อมูลนี้มาใช้

 

ข้อมูลทางวิชาการที่นำเสนอไปนั้น มีข้อสังเกตว่า ICOMOS สากล (องค์กรที่ปรึกษาทางวิชาการของ UNESCO) เบี่ยงประเด็นทางวิชาการและใช้คำที่ไม่เป็นกลางที่เป็นประโยชน์แก่ทางกัมพูชา

 

ประการ แรก หลักฐานที่กัมพูชาใช้ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกคือ มีชุมชนในพื้นที่ประเทศกัมพูชาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นศูนย์กลางจักรวาล(โบราณ ) ซึ่งในความเป็นจริงชุมชนที่กล่าวถึงนั้นเป็นชุมชนสมัยบายน (พุทธศตวรรษที่ 18 นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน) ในขณะที่ปราสาทพระวิหารสร้างขึ้นในสมัยปาปวน ( พุทธศตวรรษที่ 16) และเป็นศานสถานที่สร้างในลัทธิไศวนิกาย มีจารึกที่ระบุว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 มาปก ครอง ซึ่งบริเวณนี้เป็นพื้นที่ของกลุ่มคนผิวดำที่เคยก่อกบฎบ่อยๆ เป็นดินแดนนอกเขตพระนครจึงได้สร้างศาสนสถานไว้คนพื้นเมืองให้ภักดีและปกครอง ได้รุ่นเดียว หลักฐานที่พบล้วนเกี่ยวข้องกับไศวนิกาย เป็นการสร้างศาสนสถานเพื่ออ้างอิงกับเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาสที่อยู่ของ พระศิวะที่สัมพันธ์กับศาสนาฮินดู

 

ในขณะที่ชุมชนที่กล่าวถึงในรายงานของ ICOMOS (สากล) ระบุว่า ชุมชนในกัมพูชา (สมัยบายน) ใช้เขาพระวิหารเป็นศูยนย์กลางจักรวาล และใช้สระน้ำ รวมทั้งมองไปทางเขาพระวิหารจะเห็นเป็นห้ายอดเหมือนเขาพระสุเมรุ อย่างไรก็ตาม โบราณสถานที่พบบริเวณนั้นเป็นสมัยบายนซึ่งสร้างทีหลังและเป็นอโรคยาศาล (ที่รักษาโรค) พื้นที่อาจจะเป็นป่า (และชุมชนปัจจุบันอาจจะมาตั้งถิ่นฐานด้วยผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว)

 

เมื่อ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขาพระวิหารกับชุมชนโบราณ จากการสำรวจ พบศิวลึงค์บนลานหินและมีลำห้วยเล็กๆที่เส้นแบ่งดินแดนชั่วคราวในปัจจุบัน มองจากศิวลึงค์ไปจะเห็นยอดปราสาท ซึ่งในสมัยโบราณจะมีสายน้ำที่ไหลจากปราสาทมาผ่านศิวลึงค์เป็นสายน้ำ ศักดิ์สิทธิ์ เหมือนที่พนมกุเลนต้นน้ำเสียมเรียบ มีภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์มากมายในสายน้ำ เป็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นพิธีกรรมสรงน้ำตามธรรมชาติแล้วไหลไปยังเมือง พระนคร

 

ส่วน น้ำศักดิ์สิทธิ์จากเขาพระวิหารจะไหลไปลงที่สระตราวแหล่งเก็บน้ำไว้สำหรับ ศาสนสถานและชุมชนที่อยู่รอบๆและชุมชนที่อยู่ที่ราบเบื้องล่าง (พบหลักฐานบนพื้นที่ราบฝั่งไทยมีชุมชน) และเนื่องจากสายน้ำที่ผ่านศิวลึงค์คือพิธีกรรมทางศาสนาตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นสายน้ำคือตัวกำหนดได้ว่าผู้ที่ใช้สายน้ำศักดิ์สิทธิ์คือชุมชนที่ สายน้ำไปถึง

 

จากภาพถ่ายทางอากาศจะพบว่าสายน้ำจากสระตราวได้ไหลไปรวมกันที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันเรียก "โนนหนองกะเจา" และ บริเวณใกล้เคียง จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่ามีชุมชนอยู่รอบๆ หลักฐานที่พบคือเครื่องถ้วยเป็นแบบเขมรที่ใช้ร่วมสมัยกับปราสาท ทั้งนี้ เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 มาปกครองก็ให้เปลี่ยนชื่อเป็นทุ่งกุรุเกษตร สอดคล้องกับความเชื่อในมหากาพย์มหาภารตะตามคติฮินดู

 

สำหรับ ประเด็นที่เกี่ยวกับบันไดทางขึ้นซึ่งอยู่ด้านเหนือตามการวางตัวของสันเขาก็ สอดคล้องกับชุมชนที่อยู่เบื้องล่างที่ต้องเดินทางขึ้นไปทำพิธีกรรมจากทาง ด้านหลักนี้ เพราะแนวคิดในการสร้างศาสนสถานบนยอดเขาทางเดินจะมีเสานางเรียง มีการยกระดับเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีโคปุระ มีสะพานนาค แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดในการก่อสร้างว่าเป็นสะพานสายรุ้งที่ทอดผ่านจากโลก มนุษย์ไปสู่สวรรค์คือยอดเขาพระสุเมรุ ดังนั้นทางขึ้นด้านหน้าจึงเป็นทางหลักและแสดงให้เห็นถึงชุมชนที่ใช้เส้นทาง

 

ใน จารึกกล่าวถึงชุมชนที่อยู่ที่ราบตามเชิงเขา ส่วนที่ว่ามีเส้นทางขึ้นทางด้านอื่นๆ เช่น ทิศตะวันออก (ขึ้นมาจากเขมรต่ำ) ก็อาจเป็นไปได้ คงใช้สำหรับพวกพราหมณ์หรือข้าทาสที่ขนของสำหรับทำนุบำรุงศาสนสถานหรือใช้ สำหรับทำพิธีกรรม หรืออาจจะเป็นเส้นทางที่ตัดใหม่ขึ้นในสมัยหลังสำหรับผู้ขึ้นมาทำพิธีกรรม แต่เส้นทางที่สำคัญคือทางขึ้นด้านหน้าที่ถูกต้องตามประเพณีในกรณีที่มี พิธีกรรมทางศาสนา

 

ดังนั้น การขึ้นทะเบียนเฉพาะปราสาทเท่ากับการตัดขาดระหว่างศาสนสถานกับผู้ใช้ที่อยู่ ข้างล่างออก ซึ่งเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นและไม่ใช้ข้อมูลวิชาการ นอกจากนี้การประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกยังสามารถประกาศขึ้นพร้อมกันได้ กลุ่มชนกลุ่มนี้คือผู้ที่สร้างและเป็นผู้ใช้ศาสนสถานอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นถ้ามีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเฉพาะส่วนตัว ปราสาทจะทำให้ขาดองค์ประกอบสำคัญคือ "คน" ที่เป็นผู้สร้างและผู้ใช้ศาสนสถานนี้ ไม่ครบตามหลักเกณฑ์ของ UNESCO ที่ ขาดความเป็นของแท้ดั้งเดิม ดังนั้นควรมีการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกันโดยไม่มีเส้นดินแดนมา แบ่ง ต้องมีการทบทวนเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนมรดกโลกใหม่ว่า ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ คุณค่าความเป็นสากลในแง่ภูมิทัศน์วัฒนธรรม (outstanding universal value of culture landscape) ความแท้จริงและดั้งเดิมของโบราณสถานนั้นๆ (authenticity) และสุดท้ายต้องมีองค์ประกอบที่ครบถ้วนของแหล่งโบราณสถาน (integrity)

 

ตามด้วยเหตุนี้ UNESCO และ คณะกรรมการมรดกโลกจึงยังไม่ควรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามข้อ เสนอของกัมพูชาฝ่ายเดียว เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาตลอดไป ตัวปราสาทพระวิหารเองก็จะไม่สมบูรณ์เพราะถูกตัดขาดระหว่างศาสนสถานกับคนผู้ ใช้ศาสนสถาน ความเป็นมรดกโลกก็ไม่สมบูรณ์ ตามเหตุผลทางวิชาการดังกล่าวข้อเสนอที่ควรพิจารณาเป็นทางออกและเพื่อไม่ให้ เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาคือการขึ้นทะเบียนร่วมกัน จะทำให้เกิดความสมบูรณ์ทั้งตัวปราสาทและผู้ใช้ศาสนสถานแห่งนี้ ซึ่งมีตัวอย่างในประวัติมรดกโลกหลายแห่งที่ทำได้ และจะเป็นภาพพจน์อันดีของคณะกรรมการมรดกโลกและองค์การสหประชาชาติที่เป็น องค์กรระหว่างประเทศในการประสานประโยชน์ของชาวโลก ไม่ใช่กระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกัน และที่สำคัญคือไม่ควรนำมาใช้เป็นประเด็นทางการเมืองหรือแสวงหาผลประโยชน์ทาง การเมือง ซึ่งจะทำให้คุณค่าและมูลค่าของปราสาทพระวิหารตกต่ำลง (ส่วนที่เน้นความเป้นการเรียบเรียงเพิ่มเติมจาก รศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์.ความเห็นแย้งในกรณีกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก.เอกสารประการการนำเสนอในโครงการสนทนาวันศุกร์ : ปราสาทพระวิหาร ความข้อใหม่ทางวิชาการที่กัมพูชาและยูเนสโกขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก 11 ก.ค. 2551 )

 

ด้าน ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระและ ICOMOS ไทย กล่าวว่า กัมพูชาได้ขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารฝ่ายเดียวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 และใช้เอกสารเดียวกันนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ไครสท์เชิร์ส ประเทศนิวซีแลนด์ใน พ.ศ. 2550 ที่ประชุมมีมติว่า ต้องเป็นการร่วมมือกันของทั้ง 2 ประเทศเพราะพรมแดนติดกันและเนื่องจากกัมพูชาได้ยื่นทะเบียนขอเป็นแหล่งจึงต้องมีแผนการบริหารจัดการ่วมกัน และไทยต้องมี Active Support (รับรอง) ต่อการยื่นขอของกัมพูชา ซึ่งแผนดังกล่าวต้องทำก่อนมีการประชุมที่เมืองควิเบค ประเทศแคนาดา พ.ศ. 2551

 

ต่อมา ICOMOS (ไทย) ได้ทำเอกสาร 1 ชิ้น โดยให้ความเห็นว่าหากกัมพูชายื่นขอเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวจะทำให้เป็นมรดกโลก ที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และได้ทำแผนบริหารจัดการเขาพระวิหารในพื้นที่ประเทศไทย มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมการไว้ในการประชุมที่ควิเบค มีองค์ประกอบชุมชนและประวัติศาสตร์ที่จะทำให้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมติคณะ กรรมการมรดกโลกที่ไครสท์เชิร์ส

 

จากนั้นข้าราชการจากไทยและตัวแทน ICOMOS ได้เดินทางไปที่เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาเพื่อยื่นเสนอร่วมบริหารจัดการ ทางกัมพูชาแสดงท่าทีปฏิเสธในการประชุมที่เสียมเรียบ ส่วนด้าน ICOMOS (สากล) ส่งผู้เชี่ยวชาญมาประเมิน อย่างไรก็ตาม ทาง ICOMOS (ไทย) เห็นว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ผู้เชี่ยวชาญ ICOMOS (สากล) นำเสนอไม่ถูกต้อง แต่ทำเพื่อให้กัมพูชาสามารถยื่นจดทะเบียนมรดกโลกได้ ซึ่งการเป็นมดกโลกได้ต้องมี outstanding universal value เป็นองค์ความรู้ที่ไม่ควรบิด (ดังที่เสนอไปแล้วโดย รศ.ดร.ศักดิชัย) ทาง ICOMOS (ไทย) จึงขอถอนตัวอย่างเป็นทางการ และไม่มี Active Support ใน เรื่องการทำงานวัฒนธรรมจากฝ่ายไทย และกลับมาทำแผนการบริหารจัดการเฉพาะในพื้นที่ประเทศไทย ดังนั้นจึงเห็นว่าคณะกรรมการมรดกโลกควรชะลอและควรเคารพหลักเกณฑ์ที่ตัวเอง ตั้งไว้ในการต้องทำงานร่วมกับประเทศไทย ซึ่งเป้นมติก่อนหน้านี้จากไครสท์เชิร์ส

 

นอก จากนี้ ในการนำเสนอข้อมูลทางกัมพูชานำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวในขณะที่ยังมี พื้นที่ทับซ้อนอยู่จึงควรต้องมองพื้นที่เชื่อมโยง การตีความเนื้อหาทางประวัติศาสตร์นั้น นักวิชาการไทยมองว่าไม่ถูกต้องเพราะกัมพูชามองว่าเป็นศาสนสถานเกี่ยวกับพุทธ แต่เขาพระวิหารเป็นศาสนสถานในฮินดู จึงเป็นองค์ความรู้ที่ไม่ถูกต้องและจะถูกโต้แย้งในอนาคต

 

อย่าง ไรก็ตาม เมื่อการลงนามในแถลงการณ์ร่วมโดยกระทรวงการต่างประเทศเกิดขึ้น ซึ่งนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้นได้ลงนามในลักษณะ Active Support ในขณะที่ Active Support ทาง วัฒนธรรมยังไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ นายนพดลยังกล่าวว่าทางกัมพูชาได้ขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท ในขณะที่เอกสารที่กัมพูชายื่นที่ควิเบคนั้นยังเป็นเอกสารเดิมที่ยื่นที่ไค รสท์เชิร์สซึ่งยื่นขอขึ้นทะเบียนนเป็นแหล่งและใช้แถลงการณ์ร่วมมาประกอบด้วย กัมพูชาไม่ได้บอกว่าทาง ICOMOS (ไทย) ไม่ยอมรับการประเมินทางวิชาการ ทั้งหมดจึงเป็นคำถามที่มีต่อ "คณะกรรมการมรดกโลก" ซึ่งกัมพูชาได้อ้าง แถลงการร่วมเป็น Active Support โดย ยังไม่มีการแก้ไขเนื้อหาทางวิชาการที่ฝ่ายไทยกังขาซึ่งผิดกติกาข้อบังคับที่ ต้องทำให้ถูกต้องก่อนการพิจารณา และไม่ใช่ว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะไม่รับรู้ในเรื่องดังกล่าว

 

สำหรับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือเมื่อปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดก โลกแล้ว ทางกัมพูชาจะต้องยื่นแผนการบริหารจัดการซึ่งไทยก็เป็นภาคี คำถามในอนาคตคือเราจะร่วมมือได้อย่างไรเพราะไม่รู้ว่าพื้นที่จัดการอยู่ตรง ไหนบ้าง ในขณะที่ความร่วมมือทางวัฒนธรรมก็ยังไม่ได้เห็นชอบ

 

การยื่นร่วมเป็นมรดกของไทยที่ถูกคณะกรรมการมรดกโลกปฏิเสธเป็นเรื่อง 2 มาตรฐาน เพราะถูกมองว่าเสียเวลาในการพิจารณา จึงอยากตั้งคำถามว่ามีการเมืองในเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมด้วยหรือไม่ และกรณีที่จะตั้ง 7 ประเทศเข้ามาร่วมบริหารมีเบื้องหลังอย่างไร หากดำเนินการด้วย 7 ประเทศและไทยแพ้ในการโหวตจะเป็นอย่างไร ประเด็นนี้ไม่ใช่มาตร 190 แต่เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องให้ข้อมูลต่อประชาชน

 

ดัง นั้น การที่ไทยเป็นอนุภาคีในคณะกรรมการมรดกมันสามารถตั้งคำถามต่อกัมพูชาได้ ไม่ใช่บอกเหมือนที่นายปองพล อดิเรกสาร บอกเพียงเขาให้มาถามว่าจะร่วมหรือไม่ ไม่ใช่แค่การตอบว่าไทยจะ Say Yes หรือ No แต่ต้องตั้งคำถามต่อความโปร่งใสชัดเจนด้วย

 

ในช่วงการรอเวลาการยื่นนำเสนอแผนบริหารจัดการของกัมพูชา คิดว่าแผนบริหารจัดการของ ICOMOS (ไทย) มีน้ำหนัก มีข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งมีโอกาสในการมีส่วนร่วมในพื้นที่ประเทศไทย ทั้งนี้คำว่า "ส่วนร่วม" กับ การยื่นเป็นมรดกโลกทีหลังมีนัยยะต่างกัน เพราะการยื่นทีหลังมันต้องอ้างอิงตัวปราสาทพระวิหารและอาจเป็นนัยยะที่อาจนำ ไปสู่การเสียเปรียบเรื่องเขตดินแดนซึ่งอาจมีการเมืองระหว่างประเทศเข้ามา แทรกแซง ดังนั้น ในการร่วมมือเรามีสิทธิในการตั้งคำถามไม่ใช่แค่การ Say Yes หรือ No ในการประชุมมรดกโลกที่ผ่านมาความเห็นในเรื่องคุณค่าทางวัฒนธรรมไม่ถูกนำเสนอเลย มรดกโลกจะถูกทำร้ายถ้านำการเมืองมาตัดสินใจ

 

 

เกี่ยวกับ มรดกโลกและ UNESCO

 

 

พิสิฐ เจริญวงศ์

ผู้อำนวยการศูนย์ SPAFA

 

 

หลายแหล่งมรดกโลกมีปัญหาเพราะมักเรียก อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Convention ConCerning the Protection of World Cultural and Natural) กันสั้นๆโดยตัดคำว่า "คุ้มครอง" ออกทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นเรียกว่า อนุสัญญมรดกโลก (World Heritage Convention ) ซึ่งรัฐภาคีต้องมีหน้าที่คุ้มครองแหล่งนั้นๆให้นานที่สุดเพราะมีคุณค่าสูงและสำคัญต่อมนุษยชาติไม่ใช่ตักตวงผลประโยชน์อย่างที่เข้าใจ และไม่มีข้อไหนในอนุสัญญาบอกว่าทำอะไรก็ได้ แต่พอตัดคำว่า "คุ้มครอง" ออกก็จะเอาประโยชน์กันท่าเดียว หลายแหล่งมีปัญหาเพราะใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

 

ในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น สิ่งที่รัฐภาคีต้องปฏิบัติเป็นประการแรกคือ การมีส่วนร่วมของประชากรทุกภาคส่วน ต้องส่งเสริมให้ประชาชนชื่นชมและเคารพแหล่งมรดกโลกโดยเฉพาะการให้ความรู้ละการศึกษา ขณะเดียวกันรัฐต้องแจ้งให้ประชาชนทราบถึงภัยคุกคามมรดกโลกทั้งจากภัยธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ที่ลักลอบทำลาย และต้องมีความรับผิดชอบต่อภาคีสมาชิก

 

แนวปฏิบัติก่อนขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้น จะต้องเตรียมรายชื่อชั่วคราวว่าจะยื่นอะไรบ้าง พร้อมเหตุผล การเตรียมรายชื่อทุกภาคส่วนต้องได้รับการหารือและทำงานร่วมกันตั้งแต่ผู้จัดการแหล่ง หน่วยปกครองส่วนท้องถิ่น ภูมิภาค ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มองค์กรที่สนใจ และในข้อ 123 ได้เตือนว่าต้องมีคนในท้องถิ่นเข้าร่วมด้วย เหตุผลเพื่อให้คนมีความรู้ในการทำงานดูแลรักาด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไม่เคยมีประเทศไหนทำเลย รวมทั้งไทยหรือกัมพูชา

 

ทั้งนี้แม้ว่าอนุสัญญานี้เป็นของ UNESCO แต่ความจริงแล้วอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการมรดกโลกที่ UNESCO วางไว้ให้เป็นผู้พิจารณา อนุสัญญานี้เกิดขึ้นในปี 2515 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีการขึ้นทะเบียนครั้งแรกใน พ.ศ. 2521  8 แห่ง ล่าสุดในการประชุมวันที่ 21 ก.ค. 2551 มีมรดกโลกทั้งสิ้น 878 แหล่ง จากประเทศภาคี 185 ประเทศ โดยมี 40 ประเทศไม่มีแหล่งมรดกโลก ส่วนหนึ่งพราะไม่มีใครช่วยศึกษาและเตรียมข้อมูลนำเสนอ

 

สำหรับประเทศไทย มีมรดกโลก 5 แหล่ง  เป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรม 3 แหล่งได้แก่

-          เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง (ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร)

-          นครประวัติศาสตร์อยุธยาและเมืองที่เกี่ยวข้อง

-          แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

 

มรดกโลกทางธรรมชาติ 2 แหล่ง ได้แก่

-          เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี

-          ป่าเขาใหญ่ - ดงพญาเย็น

 

ทั้งนี้ การขอเป็นมรดกโลกไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ติดกัน ที่มากที่สุดมี 10 ประเทศยื่นขอร่วมกัน เช่น Struve Geodetic Arc หรือเสาสำรวจโบราณ ส่วนกรณีการขอมรดกโลกร่วมกันของไทย - กัมพูชานั้น เมื่อไทยยื่นขอเป็นมรดกโลกร่วมกันและกัมพูชาปฏิเสธในปัจจุบันยังไม่มีใครบอกเหตุผลในการปฏิเสธหลังการคุยเมื่อ 1 ปี ก่อนเลย มีการบอกเพียงว่ากัมพูชาปฏิเสธ ในขณะที่ในโลกนี้มีพื้นที่ที่จัดการมรดกโลกร่วมกันหลายแหล่งที่ทำได้ เช่น

 

-          Senegambian stone circles พื้นที่ในแกมเบีย - เซเนกัล ประกาศมรดกโลกร่วมกันโดยมีพื้นที่ทั้งหมดเพียง 350 ตร.กม.

-          ธารนำแข็งที่กั้นระหว่าแคนาดาและอเมริกา ยื่นขอเป็นมรดกโลกเพื่อให้เข้าสู่ความร่วมมือในประชากรโลก

-          สวนสาธารณะและปราสาท Muskauer Park ในพื้นที่เยอรมันและโปแลนด์

-          ทุ่งหญ้าและภูเขาที่รัสเซียและมองโกเลีย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net